สาวเสิร์ฟในชุดกิโมโนและผ้ากันเปื้อนในยุคหนึ่งของคาเฟ่ไต้หวัน

ไม่กี่เดือนก่อนมีซีรีส์ไต้หวันเรื่อง Light the Night ติดอันดับ 1 บน Netflix ไต้หวันอยู่หลายวัน อันที่จริงเราไม่ได้ดูซีรีส์ไต้หวันมานานแล้ว แต่เพราะงานอาร์ตไดเรกชั่นและคำโปรยที่บอกว่าเรื่องนี้ดำเนินอยู่ในช่วง 1980 ในย่านเริงรมย์ของไทเป ทำให้เราอดไม่ได้ต้องลองดูสักตอน

แล้วตั้งแต่นั้นมาก็ติดงอมแงมเลยค่ะ

ซีรีส์เรื่องนี้ดำเนินมาแล้ว 2 ซีซั่น ซีซั่นละ 8 ตอน แต่จนตอนนี้ปมของเนื้อเรื่องยังคลี่คลายไม่หมด เห็นว่าซีซั่นที่ 3 จะเริ่มวันที่ 18 มีนาคม ตอนบทความนี้ลงให้อ่าน เราก็คงได้เริ่มดูไปบ้างแล้ว

ถ้าใครที่ผ่านตาซีรีส์ไต้หวันยุค 2000s มาบ้าง น่าจะคุ้นหน้านักแสดงนำของเรื่องนี้ หลิน ซินหรู หรือ Ruby Lin ที่เรื่องนี้เธอยังรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ด้วย เราเคยได้ยินมาบ้างว่าเธอเริ่มทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ควบคู่ไปกับงานแสดงตั้งแต่หลายปีก่อน แต่ก็ไม่เคยติดตามผลงานจริงจัง และขอสารภาพว่าไม่ได้คิดเลยว่าผลงานของเธอจะออกมาดีขนาดนี้ นอกจากนี้ยังมี หยาง จิ่งหวา หยาง โย่วหนิง เฟิ่ง เสี่ยวเยว่ จาง เซวียนรุ่ย ที่เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในไต้หวันมารับบทนำร่วมด้วย

Light the Night หรือชื่อภาษาไทยว่า แสงราตรี เป็นซีรีส์แนวดราม่าสืบสวนสอบสวน โดยเรื่องราวทั้งหมดมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ไนต์คลับสไตล์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เรื่องค่อยๆ ถูกเล่าผ่านความขัดแย้งของเหล่าหญิงสาวที่ทำงานเป็นสาวนั่งดริงก์ในร้าน ทั้งเรื่องธุรกิจ ความสัมพันธ์ ครอบครัว นำไปสู่ปมอาชญากรรมที่ดูจะใหญ่ขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านมาแล้ว 2 ซีซั่น คนดูอย่างเราที่คิดว่าเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ก็ยังจะคอยถูกตลบหลังด้วยเรื่องราวที่พลิกผันไปมาอยู่ไม่สิ้นสุด

จากตอนแรกที่คิดว่าเรื่องนี้คงเป็นแค่ซีรีส์แนวแก่งแย่งกันในที่ทำงานก็ต้องเซอร์ไพรส์กับเรื่องราวที่ซับซ้อน และดราม่ากว่าที่คิด และทำให้เราได้เห็นสังคมไต้หวันในอีกมุม ที่เป็นชีวิตของคนในย่านเริงรมย์และได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด 

เราตั้งใจให้บทความนี้ไม่มีการสปอยล์เนื้อเรื่อง และคิดว่าถ้าใครสนใจซีรีส์เรื่องนี้และไปตามดูก็จะรู้ได้เลยว่าตรงไหนบ้างในเรื่องที่แสดงถึงมุมความเป็นญี่ปุ่นในไต้หวัน แต่อยากมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับร้านที่มีสาวๆ เป็นเพื่อนกินดื่มลักษณะนี้ในไต้หวันกันค่ะ

ครั้งหนึ่งระหว่างที่เลือกบทความไปอ่านประกอบการรายงานในคลาสเรียนภาษาจีน เราเลือกหัวข้อประวัติศาสตร์คาเฟ่ในไต้หวัน เพราะเคยคุยกับเหล่าซือว่าสมัยก่อนอากงอาม่าเคยเปิดร้านกาแฟ ซึ่งร้านกาแฟในความหมายของเราก็คือร้านกาแฟโบราณในห้องแถวไม้แบบที่มีสภากาแฟ แต่เหล่าซือก็ดูจะตื่นเต้นมาก อาจเพราะไต้หวันไม่ได้มีร้านลักษณะนี้ในสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้คาเฟ่ดีๆ ก็ดูจะมีอยู่ทั่วทุกมุมเมืองทั้งในไทเป และเมืองอื่นๆ แล้วคาเฟ่เหล่านี้มาจากไหนนะ 

อันที่จริงคาเฟ่ในไต้หวันมีมานานตั้งแต่สมัยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น แต่เพราะคาเฟ่สมัยนั้นเป็นร้านสำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น คนในชนชั้นปกครอง ศิลปิน นักเขียน ไม่ใช่ร้านที่คนทั่วไปจะเข้าไปใช้บริการแบบร้านกาแฟโบราณตามห้องแถวที่คนไทยคุ้นเคยกับโอเลี้ยง โอยัวะ กันมาตั้งแต่รุ่นอากงอาม่า คาเฟ่ในยุคแรกๆ ของไต้หวันนั้นตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์อย่างดี ให้ความรู้สึกหรูหรา และอาจเสิร์ฟอาหารตะวันตกด้วย เช่น ร้าน Bolero ที่เปิดให้บริการ ณ ย่านต้าเต้าเฉิงตั้งแต่ปี 1934 มาจนปัจจุบัน เสิร์ฟเครื่องดื่มและอาหารฝรั่งเศส หรือร้าน Cafe Astoria ที่มีประวัติยาวนาน เคยเปิดร้านครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ก่อนจะย้ายมายังไทเปในปี 1949 ก็เสิร์ฟอาหารสูตรดั้งเดิมจากตำราอาหารรัสเซีย คาเฟ่ทั้งสองแห่งนี้เคยเป็นแหล่งรวมตัวของศิลปิน นักคิด นักเขียนชั้นนำของไต้หวัน ที่มาถกกันเรื่องแวดวงศิลปะและความเป็นไปของสังคม

ในยุคหนึ่ง คำว่า ‘คาเฟ่’ ในสังคมไทยชวนให้นึกถึงแหล่งเที่ยวกลางคืนที่มีการแสดงตลก ร้องเพลง แอลกอฮอล์ และเพื่อนนั่งดื่ม คาเฟ่ในไต้หวันเองก็เช่นกัน ในยุคหนึ่ง ช่วงประมาณทศวรรษที่ 1930s ถูกเรียกว่า​ ‘ยุคของพนักงานเสิร์ฟหญิง’ (女給時代) 

พนักงานเสิร์ฟหญิงที่ว่าเป็นพนักงานที่ทำหน้าที่บริการผู้มาใช้บริการในคาเฟ่ แต่งตัวในชุดกิโมโนและมีผ้ากันเปื้อนสีขาว ให้ความรู้สึกคล้าย ‘เมดคาเฟ่’ ในยุคปัจจุบัน พวกเธอจะไม่ได้รับค่าจ้างจากร้านแม้จะทำงานในร้านก็ตาม แต่รายได้ของพวกเธอคือทิปที่ได้รับจากลูกค้า เพราะฉะนั้นงานที่สำคัญกว่าการเสิร์ฟและทำความสะอาด คือต้องสื่อสารกับลูกค้าให้ได้ทั้งในภาษาไต้หวัน ภาษาจีนกลาง และภาษาญี่ปุ่น ต้องรอบรู้ในทุกหัวข้อบทสนทนา และหลายครั้งก็ต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนแฟนสาวชั่วคราวเมื่อลูกค้าอยู่ในร้าน งานของพวกเธอแทบไม่ต่างจากงานของตัวละครนำในเรื่อง Light the Night 

ปัจจุบันคาเฟ่ที่มีพนักงานเสิร์ฟสาวในชุดกิโมโนไม่มีอีกต่อไป แต่ร้านคาเฟ่สไตล์วินเทจอย่าง Bolero และ Cafe Astoria ยังให้บริการอยู่สำหรับคนที่ต้องการย้อนไปสัมผัสบรรยากาศไทเปยุคเกือบร้อยปีก่อน เช่นกันกับย่านเถียวทง ใกล้สถานีจงซาน ที่เป็นฉากของเรื่อง Light the Night ยังมีบาร์ญี่ปุ่น ร้านอาหารแบบอิซากายะ ไคเซกิเปิดอยู่ทั่วไป

ข้อมูลสถานที่

Bolero

ร้านอาหารเก่าแก่ที่ผ่านมือเจ้าของมาแล้ว 3 เจเนอเรชั่น การตกแต่งให้อารมณ์แบบภัตตาคารย้อนยุค เสิร์ฟอาหารฝรั่งเศส และมีเมนูสเต็กเนื้อที่ขึ้นชื่อ
No. 308, Minsheng West Road, Datong District, Taipei City, 103

Cafe Astoria

คาเฟ่ที่มีการตกแต่งและเสิร์ฟอาหารสไตล์ยุโรป มีอาหารรัสเซียที่หาทานได้ยากในไต้หวันทั้งคาวและหวาน

No. 5, Section 1, Wuchang Street, Zhongzheng District, Taipei City, 100

ย่านเถียวทง (條通商圈)

ย่านช้อปปิ้งใกล้สถานีจงซาน เป็นย่านการค้าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยการปกครองของญี่ปุ่น ทำให้ย่านนี้มีร้านค้า ร้านอาหาร และบาร์สไตล์ญี่ปุ่นมากมาย ตั้งอยู่ระหว่างสถานี Zhongshan ทางออก 2 และสถานี Songjiang Nanjing ทางออก 1 ถนน Zhongshan North ไปถึงถนน Xinsheng North

อ้างอิง

https://www.storm.mg/lifestyle/1749723?mode=whole

https://cafeworker.pixnet.net/blog/post/240271340

https://www.astoria.com.tw

https://bolero1934.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ