รองขาโต๊ะ เพจรีวิวหนังสือที่คะแนน -10/5 แปลว่าน่าอ่าน แต่ 5/5 คือเอาไปรองขาโต๊ะเถอะ

เคยคาดหวังว่าหนังสือเล่มที่เพิ่งซื้อมาจากร้านหรืองานหนังสือต้องสนุกและให้ความรู้เต็มเปี่ยมแต่เมื่อได้อ่านจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไหม เพราะเหตุผลแบบนั้นแหละ ‘รองขาโต๊ะ’ เพจรีวิวหนังสือของ อัฑฒ์–ปฐม ภู่ระหงษ์ จึงเกิดขึ้น จากครั้งแรกที่คิดว่าหนังสือเล่มที่ซื้อมานั้นต้องให้ความรู้เรื่อง data analysis อย่างลงลึกมากๆ เขากลับพบว่าหนังสือเล่มนั้นให้เพียงความรู้พื้นฐานที่หาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต ไม่คุ้มเสียกับเงินเดือนที่มีไม่มากของเขา

ความอึดอัดคับแค้นต่อหนังสือเล่มที่ว่าจึงทำให้เขาก่นด่าลงเฟซบุ๊กส่วนตัว 3 วัน 7 วัน จนเกิดไอเดียว่าถ้าจะบ่นขนาดนี้ไปเปิดเพจเลยจะดีกว่าไหม จากความคิดวันนั้น เพียงเปิดเพจได้แค่ 4 วันยอดผู้ติดตามก็ขึ้นแตะเลข 9,000 และภายใน 1 ปีก็เกิน 40,000 คนไปแล้ว 

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้คนติดตามเพจมากขนาดนั้นอาจเพราะแทนที่นักรีวิวหนังสือคนนี้จะให้คะแนน 0/5 เมื่อเกลียดหนังสือเข้าไส้ อัฑฒ์เลือกให้คะแนน 5/5 สำหรับความน่า ‘รองขาโต๊ะ’ ซึ่งไม่เคยมีเพจรีวิวหนังสือเพจไหนเคยทำ เสมือนหนอนนักอ่านทุกเพศทุกวัยได้เพื่อนสนิทที่คอยบอกว่าควรซื้อ (หรืออย่าไปซื้อ) หนังสือเล่มนี้แบบตรงๆ

ฤกษ์งามยามดี หลังอัฑฒ์รีวิวหนังสือมาหลายสิบเล่ม เราจึงขอรีวิวเพจรองขาโต๊ะของเขากันบ้าง

ชื่อเพจ :

รองขาโต๊ะ

ชื่อแอดมิน :

อัฑฒ์-ปฐม ภู่ระหงษ์

ประเภท :

เพจรีวิวหนังสือ

เรื่องย่อ :

รองขาโต๊ะคือเพจรีวิวหนังสือที่มีแบบฉบับการรีวิวคล้ายเพจรีวิวทั่วไป ตั้งแต่ความน่าสนใจของหนังสือ เนื้อเรื่องฉบับรวบรัด และความเห็นหลังการอ่าน แต่สิ่งที่ทำให้รองขาโต๊ะแตกต่างคือการให้คะแนนหนังสือตามความน่ารองขาโต๊ะซึ่งเป็นกิมมิกที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด และชวนติดตามจนทำให้ใครหลายคนอยากกลับมาอ่านหนังสืออีกครั้ง

นอกจากการรีวิวหนังสือ รองขาโต๊ะยังพูดถึงประเด็นการเมืองและสังคมทั้งที่มีและไม่มีสาระสลับไปมา เพื่อคงความสนุกน่าติดตามและเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตะบี้ตะบันอ่านหนังสือมากไปด้วย แถมยังเพิ่มโอกาสการเปิดบทสนทนาร่วมกับผู้ติดตามอีกต่างหาก

ความเห็นหลังอ่าน :

หลายคนบอกว่าการรีวิวหนังสือนั้นง่ายแสนง่ายเพียงแค่อ่านแล้วสรุปมาเล่าให้ฟัง แต่เพราะอัฑฒ์อยากให้คนอ่านได้อะไรจากการรีวิวของเขาจริงๆ การรีวิวแต่ละครั้งจึงต้องอาศัยเวลาในการคิดวิเคราะห์พอสมควร หากมองในแง่รายได้ที่เป็นศูนย์จากการทำรีวิวก็อาจไม่คุ้มเสียกับแรงและเวลาที่ลงไป แต่เพราะเชื่อในพลังของหนังสือ อัฑฒ์จึงอยากรีวิวหนังสือให้ผู้ติดตามทุกคน เผื่อว่าหนังสือที่เขารีวิวจะจุดประกายให้คนอื่นบ้าง

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนไม่อ่านหนังสือเลย ตอนเพิ่งจบมัธยมผมเป็นเด็กเกเรที่ไปพัวพันกับการติดยาและทำอะไรที่ไร้สาระมากๆ จนช่วงหนึ่งก็คิดว่าผมจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เหรอ แล้วอยู่ๆ ก็หยิบหนังสือมาอ่าน

“ตอนแรกอ่าน เพชรพระอุมา วันละ 2 เล่มเพราะมันสนุกมากๆ หลังจากนั้นเลยได้อ่านหนังสือมาเรื่อยๆ จนช่วงม็อบ กปปส.ผมก็สงสัยว่าทำไมการเมืองไทยเป็นอย่างนี้เลยตามหาหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ ปรัชญาต่างๆ มาอ่านจนเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และทำให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้นจากแต่ก่อนที่เดินไปไหนคนก็รังเกียจ

“เพราะอย่างนี้ผมเลยอยากผลักดันให้คนได้หาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆ บางคนอาจเป็นการฟังพ็อดแคสต์ บางคนอาจดูยูทูบ แต่สำหรับผมและอีกหลายคนมันคือการอ่านหนังสือ”

ถ้าดูเพียงองค์ประกอบการรีวิวอย่างคร่าวๆ รองขาโต๊ะอาจเหมือนเพจรีวิวหนังสือทั่วไป แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำเพจ เราจะพบเหตุผลที่ทำให้คนติดตามเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รีวิวหนังสือที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

หนังสือที่รองขาโต๊ะมักหยิบมารีวิวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 

หนึ่ง–คือหนังสือการเมือง สังคม และปรัชญาที่อัฑฒ์สนใจแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะอาจเข้าใจยากหรือกระทบต่อความปลอดภัยของแต่ละคน เขาจึงอุดช่องโหว่ด้วยการย่อยหนังสือเหล่านี้ให้เข้าใจง่ายจนได้ยอดแชร์และยอดไลก์จำนวนมาก 

ตัวอย่างหนึ่งคือหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของณัฐพล ใจจริง ที่มีคนพูดถึงอยู่บ้างแต่ไม่เคยมีใครรีวิวอย่างละเอียด เขาก็นำหนังสือเล่มนั้นมารีวิวโดยไม่เพียงเล่าเรื่องย่อแต่จับประเด็นสำคัญที่เห็นว่าควรค่าแก่การอ่านมาเล่าให้ฟัง เช่น การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐอเมริกาและการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ ซึ่งทำให้หนังสือเล่มที่หลายคนอาจมองว่าหนาเกินจะอ่านน่าสนใจขึ้น จนโพสต์นั้นได้ยอดแชร์กว่า 766 แชร์และยอดไลก์กว่า 2,100 ไลก์ 

“ที่คนสนใจเพจรองขาโต๊ะอาจเพราะหนังสือส่วนใหญ่ที่รีวิวค่อนข้างสวนทางกับเพจอื่น คือพวกหนังสือการเมือง ปรัชญา และสังคมที่คนอื่นอาจจะรู้สึกไม่กล้าพูดเพราะดูไม่ค่อยปลอดภัยกับชีวิตเขาเท่าไหร่ พอผมโพสต์สิ่งนี้ลงไปมันก็ทำให้คอนเทนต์ผมต่างจากเพจอื่นแล้ว อีกอย่างคือคนอยากพูดถึงเรื่องเหล่านี้กันแต่ไม่กล้าพูดเอง เขาก็แชร์เพื่อให้โพสต์ผมบอกแทน”

ส่วนหนังสืออีกประเภทที่เขาจะอ่านคือหนังสือฮาวทูหรือไลฟ์โค้ชซึ่งส่วนตัวเขาไม่ชอบเอามากๆ แต่กลับได้ยอดไลก์ถล่มทลายกว่า อัฑฒ์จึงบาลานซ์คอนเทนต์หนังสือ 2 ประเภทนี้เพื่อให้เพจดำเนินต่อไปได้

“เมื่อก่อนผมไม่อ่านพวกฮาวทูเลย แต่คนก็อยากให้อ่านและรอรีวิวเพราะเขาคาดหวังให้ผมด่าหนังสือ แต่กลายเป็นว่าหนังสือบางเล่มของหมวดนี้มันก็มีประโยชน์จริงๆ ส่วนบางเล่มก็ยังไม่ชอบเหมือนเดิม (หัวเราะ) แต่ก็ต้องพยายามหามาผสมกับหนังสือที่ผมสนใจด้วย”

รีวิวหนังสืออย่างละเอียดและรีวิวให้เห็นข้อเสียบ้าง

รองขาโต๊ะไม่เพียงรีวิวว่าหนังสือเล่มหนึ่งมีข้อดียังไง แต่ยังพูดถึงข้อเสียของหนังสือตรงๆ พร้อมเหตุผล เพราะอัฑฒ์คิดว่าการบอกข้อเสียจะช่วยประกอบการตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มหนึ่งๆ ของผู้อ่านได้ดี 

ส่วนเหตุผลที่ชอบหรือไม่ชอบนั้นช่วยให้เพจน่าเชื่อถือ ไม่ดูหลักลอย ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ติดตามที่ต้องการเลือกซื้อหนังสือเล่มหนึ่งจริงๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่หนอนหนังสือในเพจด้วย

“คนอาจคาดหวังให้ผมด่าหนังสือเยอะๆ รีวิวหนังสือที่ดูไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะเขามองว่าผมด่าอร่อยกว่าคนอื่น แต่พอทำเพจไปเรื่อยๆ และได้รู้ข้อจำกัดของคนที่ติดตามเพจบางคน เช่น ลูกเพจหลายคนอินบอกซ์มาบอกผมว่าช่วยซื้อหนังสือเล่มนี้ๆ มารีวิวให้หน่อยได้ไหม เพราะเขาไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทุกเล่มมาอ่าน ผมเลยอยากรีวิวหนังสือให้ดีขึ้นกว่าการมานั่งด่าเฉยๆ แล้วก่อนหน้านี้ก็คิดอยากทำห้องสมุดฟรีเพื่อให้คนที่ไม่มีรายได้มากนักได้มาอ่าน แต่เพราะเพจยังไม่มีรายได้เลยต้องพับโครงการไปก่อน (หัวเราะ)”

รีวิวด้วยภาษาเป็นกันเองและแทรกมุกกวนประสาท

จุดเด่นที่เห็นได้ชัดอีกอย่างของเพจคือการใช้ภาษาเป็นกันเองสุดๆ อย่างการใช้คำหยาบคาย มุกตลก หรือการใส่อารมณ์ของอัฑฒ์ลงไปในการบรรยายถึงหนังสือ เพราะนี่คือตัวตนที่แท้จริงของเขาและลูกเพจที่ติดตามส่วนใหญ่

“สิ่งสำคัญคือผมมองว่าการใช้คำเหล่านี้หรือเล่าให้มันตลกๆ ไปเลยทำให้หนังสือไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงยาก ไม่ใช่สิ่งที่คนฉลาดหรือมีเงินเท่านั้นที่จะมาอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ได้ มันทำให้คนเห็นว่าคนห่ามๆ อย่างผมยังสนุกกับการอ่านหนังสือเหล่านี้ได้ พวกเขาก็น่าจะสนุกกับมันได้หมือนกัน”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาใช้ภาษาระดับนี้ผสมด้วยอารมณ์ส่วนตัวเพื่อทำให้การรีวิวมีรสชาติและความเป็นมนุษย์ ซึ่งจับใจและเข้าถึงผู้อ่านได้ง่ายกว่าการใช้คำสุภาพเนิบๆ ทั่วไป

รีวิวหนังสือด้วยการให้คะแนนตามความน่ารองขาโต๊ะ

แน่นอนว่าเอกลักษณ์หลักที่ทำให้รองขาโต๊ะแตกต่างจากเพจอื่นคือการให้คะแนนหนังสือด้วย ‘ความน่ารองขาโต๊ะ’ ซึ่งได้ไอเดียมาจากรุ่นพี่ของอัฑฒ์ที่แนะนำให้เอาหนังสือที่เขาก่นด่าไป ‘รองขาตู้’ แต่เพราะจำผิดเป็น ‘รองขาโต๊ะ’ เขาจึงนำไปตั้งเป็นชื่อเพจ และปิ๊งไอเดียว่าถ้าให้คะแนนตามความน่ารองขาโต๊ะก็น่าจะเข้าท่า

“ผมไม่มีมาตรฐานการให้คะแนนมากนักและจริงๆ ก็ไม่ได้ชอบการให้คะแนนเท่าไหร่ ไม่ว่าจะหนังสือ หนัง หรือเพลง เพราะคิดว่าการใส่คะแนนเข้าไปจะทำให้คนบางกลุ่มติดภาพจำว่าหนังสือเรื่องนี้มันห่วยหรือดีมากทั้งที่มันก็ขึ้นอยู่กับความชอบและรสนิยมของแต่ละคน

“แต่ด้วยครั้งแรกที่เปิดเพจผมให้คะแนนจนเป็นสิ่งสำคัญของเพจไปแล้วจึงต้องให้คะแนนมาเรื่อยๆ ที่สำคัญคือการคอยย้ำว่าความชอบของผมอาจแตกต่างจากคนอื่นได้ คนติดตามไม่ควรเอาคะแนนของผมไปกำหนดความอยากอ่านของเขาเอง”

อัฑฒ์จะให้คะแนนติดลบกับหนังสือที่อ่านแล้วสนุกหรือนำเสนอข้อคิดใหม่ๆ ให้สังคม แต่จะให้คะแนนบวกกับหนังสือที่เขาคาดหวังว่าควรให้ข้อมูลเชิงลึกกว่านี้แต่กลับให้ข้อมูลพื้นฐานที่หาอ่านตามอินเทอร์เน็ตก็ได้ หรือเป็นหนังสือที่เอาทฤษฎีมายึดโยงให้ดูน่าเชื่อถือแต่ไม่เกี่ยวกัน

ดังนั้นถ้าเล่มไหนที่ชอบหรือไม่ชอบมากๆ เขาก็ใส่คะแนนเว่อร์ๆ เช่น -10/5 หรือ 999,999/5 ไปเลย เพราะนอกจากจะเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ตัวเลขนี้ยังดึงยอดไลก์ยอดแชร์ได้ดีแท้เพราะดูตลกและน่าสนใจ

ความน่ารองขาโต๊ะ :

_/5 (ลองให้คะแนนกันเอง)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone