SunnyCotton ผ้าอนามัยซักได้ และข้อข้องใจเรื่องประจำเดือนที่รู้แล้วจะรักร่างกายตัวเองขึ้น

Highlights

  • SunnyCotton คือแบรนด์ผ้าอนามัยซักได้ง่ายๆ ของ เก๋–เกศินี จิรวณิชชากร ผู้เริ่มรู้จักผ้าอนามัยซักได้ขณะไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นจนติดใจ หันมาทำใส่และทำขายเอง
  • นอกเหนือจากการทำผ้าอนามัยซักได้ เก๋ยังสนใจศึกษาหาอ่านเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนในแง่มุมต่างๆ ทั้งที่สัมพันธ์กับศาสนาและแนวคิดโลกสมัยใหม่ที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ 

ให้ทายว่าในเดือนหนึ่งๆ เรามีประจำเดือนกันมากแค่ไหน

แม้จะพบกันเป็นประจำทุกเดือน แต่เชื่อว่าหลายคนจะกะปริมาณกันไม่ค่อยถูก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สนิทใจจะรู้จักกับเจ้ากองเลือดสุดอี๋ชวนปวดหัวนี้เท่าไหร่นัก

และเราก็อาจไม่ได้ใส่ใจในการดูแลรับมือกับมันเท่าที่ควร

ทุกวันนี้ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น ชนิดใช้แล้วทิ้ง เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เริ่มเข้าวัยสาว รวมทั้งยังหาซื้อง่าย หาได้ตั้งแต่ร้านของชำ ร้านสะดวกซื้อ ยันซูเปอร์มาร์เก็ต จนหลายคนอาจจะไม่เอะใจว่า เรายังมีทางเลือกอื่นๆ ให้ลองสำรวจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

ผ้าอนามัยแบบสอด​ : แม้จะใช้แล้วทิ้งเหมือนกัน แต่ใช้วิธีซึมซับจากภายใน ทำให้สามารถว่ายน้ำ เที่ยวทะเลได้แบบไม่ต้องกังวล

ผ้าอนามัยซักได้ : พึ่งพาคุณสมบัติของผ้าในการซับเลือด มีความเป็นธรรมชาติ ทำให้สามารถนำกลับไปซักตากแล้วใช้ซ้ำได้ ไม่ต้องเสียเงินซื้อทุกเดือน แถมยังช่วยลดการใช้พลาสติกอีกด้วย

ถ้วยอนามัย : ถ้วยรองรับประจำเดือนจากด้านใน ผลิตจากซิลิโคนทางการแพทย์ที่ไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ใส่ได้นานไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย และสามารถล้าง รวมทั้งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลดการใช้พลาสติกเช่นเดียวกับแบบซักได้ เป็นต้น

เพราะอยากตั้งวงคุยกันเรื่องประจำเดือนกันอย่างจริงจังดูสักที เราจึงชวน เก๋–เกศินี จิรวณิชชากร หญิงสาวเจ้าของแบรนด์ SunnyCotton ผ้าอนามัยซักง่าย ผู้เริ่มรู้จักผ้าอนามัยซักได้ขณะไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นจนติดใจ หันมาทำใส่และทำขายเอง รวมทั้งยังสนใจศึกษาหาอ่านเรื่องเกี่ยวกับประจำเดือนในแง่มุมต่างๆ

ก่อนจะไปอ่านกัน เราขอแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านคำถามแรกและเดาคำตอบกันไว้ในใจให้ดี เพราะคำเฉลยอาจชวนให้คุณต้องตกใจ

ประจำเดือนสกปรกกว่าเลือดจากบริเวณอื่นจริงไหม

หลายคนอาจรู้สึกว่าการเข้าห้องน้ำทำธุระหนักเบากลายเป็นเรื่องชวนอี๋ทันทีที่มีประจำเดือน เพราะทันทีที่ดึงกางเกงในออกมา เราก็ได้กลิ่นคาวเลือด เหม็นอับ ให้ความรู้สึกเป็นของเสียของเน่า และชวนให้อยากกลั้นหายใจ แน่ล่ะว่าเลือดโดยทั่วไปก็ไม่ได้มีกลิ่นหอมชื่นใจ แต่เวลาเราเป็นแผล โดนมีดบาด กลิ่นที่เรารับรู้ก็ไม่รุนแรงอย่างเลือดประจำเดือน

แต่อันที่จริง เลือดประจำเดือนก็ไม่ต่างจากเลือดส่วนอื่นๆ เลย

“ปกติเราจะเกลียดเลือดตรงนั้นเพราะคิดว่ามันเหม็น สกปรก แต่พอมาใช้ผ้าอนามัยซักได้ครั้งแรกก็รู้เลยว่ามันไม่ได้เหม็นหรือสกปรกอย่างที่เข้าใจ” เก๋บอก และอธิบายให้เราฟังว่า สาเหตุของกลิ่นเหม็นและความอับชื้นที่เราได้กลิ่นกันมาจากการใช้ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งที่มีลักษณะเป็นพลาสติก ไม่ระบายอากาศและความชื้น ทำให้เกิดการหมักหมม ไม่ถ่ายเท แบคทีเรียเติบโตได้ง่าย ยิ่งใส่ยิ่งเหม็น ต่อให้เลือดไหลไม่มากก็มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ต่างจากผ้าอนามัยแบบผ้าที่มีความเป็นธรรมชาติ ปล่อยให้เลือดได้ซึมไปในเนื้อผ้า สามารถระบายอากาศได้

ถ้าเราไม่อยากได้กลิ่นกวนใจ นอกจากจะใช้ผ้าอนามัยซักได้ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ อย่างถ้วยอนามัย และผ้าอนามัยแบบสอด ก็ไม่ส่งกลิ่นเหม็นเช่นเดียวกัน แต่ข้อควรระวังสำหรับผ้าอนามัยแบบสอดคือเมื่ออยู่ภายในนานๆ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน จึงควรเปลี่ยนบ่อยๆ และไม่ใส่ค้างคืน

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่ารังเกียจเลือดประจำเดือนเลยนะ

ประจำเดือนแต่ละรอบมีปริมาณเยอะมากเลยใช่ไหม

“พอเราทำผ้าอนามัยซักได้ขาย คำถามหลักๆ ที่ผู้หญิงสงสัยคือมันจะไม่เลอะเหรอ” หญิงสาวเล่า

เพราะภาพผ้าอนามัยที่มีเลือดเต็มทั้งแผ่น กระฉอกเลอะกางเกงใน คือภาพที่ไม่มีใครอยากเห็น ทุกครั้งที่เราจาม ไอ หัวเราะ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นวาบช่วงล่างชวนให้เกิดความกังวลในใจ เพราะมันมาพร้อมกับจินตนาการว่าเลือดเรากำลังไหลออกมาเป็นลิตรๆ

“เราไม่ค่อยรู้ปริมาณที่แท้จริงของเลือดประจำเดือนและนึกว่ามันเยอะมาก เพราะเวลาใช้ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง ตอนก่อนใช้ที่แกะออกมามันดูแผ่นบาง แต่ใช้เสร็จแล้วแผ่นจะบวม ดูเหมือนชุ่มเลือด แต่จริงๆ มันเกิดจากเขาใช้เทคโนโลยีผงเจลที่จะบวมขึ้นเมื่อโดนของเหลว ซึ่งไปอ่านข้อมูลงานวิจัยต่างๆ จะพบว่า สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาปกติ เดือนหนึ่งเรามีประจำเดือนกันแค่ประมาณ 6 ช้อนชาเท่านั้นเอง”

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังบอกด้วยว่าประจำเดือนส่วนใหญ่จะมาเยอะที่สุดในวันแรกและวันที่สองของการมีประจำเดือน จากนั้นก็จะอยู่กับเราไปไม่เกิน 8 วัน

สำหรับคนที่มีประจำเดือนมาในระดับปกติ การเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกอื่นๆ อย่างถ้วยอนามัยไซส์มาตรฐานก็อยู่ได้ทั้งวันแบบสบายๆ ไม่ต้องดึงถ้วยออกมาเทเลือดทิ้งระหว่างวันให้ยุ่งยาก ส่วนผ้าอนามัยซักได้ก็สามารถใส่ได้นานพอๆ กับผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง และหากมาน้อยจริงๆ จะใส่ทั้งวันก็ยังได้ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องความอับชื้น

“เวลาใส่ผ้าอนามัยแบบผ้า ข้างในมันจะมีผ้า 7 ชั้น เวลาเลือดซึม มันจะไม่ซึมเร็วแบบน้ำ แต่จะค่อยๆ ลงไปทีละชั้น ต่อให้มันเลอะก็จะเลอะเป็นแต้มนิดเดียว เราก็จะเห็นและเปลี่ยนได้ทัน ไม่ซึมไปถึงเสื้อผ้า ไม่เหมือนผ้าอนามัยพลาสติกที่พอเลอะออกมาก็จะทะลัก ตู้ม เลอะเยอะ” เก๋เล่าให้เราฟังอย่างเห็นภาพ และด้วยความเข้าใจถึงความกังวลของผู้หญิง แบรนด์ SunnyCotton ของเธอจึงมีผ้าอนามัยรุ่นที่เสริมผ้ากันน้ำไว้เผื่อความมั่นใจ เหมาะกับคนเริ่มต้นหันมาใส่ผ้าอนามัยซักได้

ส่วนในวันมามาก หรือคนที่มีประจำเดือนหนักหน่วงกว่าปกติ เก๋จะแนะนำเป็นผ้าเสริม ซึ่งเป็นผ้าผืนสี่เหลี่ยมที่ใช้พับทบ สอดกับสายคาดเพื่อเพิ่มการซึมซับ

“คุยกับลูกค้าที่มีประจำเดือนเยอะ เขาจะเปลี่ยนเฉพาะผ้าเสริมวันละสามผืน ก็โอเคอยู่”

แต่อย่างไรก็ตาม ใครรู้สึกว่าตัวเองมีประจำเดือนมากจนผิดปกติ หรือรู้สึกว่าชีวิตประจำวันถูกรบกวนเพราะประจำเดือน ก็อย่าเขินที่จะแวะไปปรึกษาคุณหมอในคลินิกนรีเวชที่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย

ประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอายหรือเปล่า

“ถ้าเรากลับไปสืบค้นดูในวัฒนธรรมเก่าๆ ประจำเดือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลยนะ มันเป็นสิ่งที่บอกถึงพลังอำนาจ การเป็นเพศผู้ให้กำเนิด และผู้หญิงมีความสอดคล้องกับธรรมชาติทั้งหมด มีสี่ฤดูในหนึ่งเดือน” เก๋เล่าอย่างกระตือรือร้นถึงศาสตร์ที่เชื่อมโยงระดับฮอร์โมนในรอบเดือนของผู้หญิงเข้ากับธรรมชาติ

ฤดูหนาว เปรียบได้กับช่วงเวลาที่ผู้หญิงกำลังมีประจำเดือน ในช่วงนี้ผู้หญิงจะกลับมาอยู่กับธรรมชาติ เป็นช่วงเวลาแห่งการยอมรับและปล่อยวางความเครียดและภาระต่างๆ ที่แบกรับไว้ในใจ

ฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูและดูแลตัวเอง กลับมาเห็นคุณค่า ให้กำลังใจตัวเอง เริ่มต้นมองหาไอเดียใหม่ๆ

ฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาไข่ตก ผู้หญิงจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ พร้อมจะเบ่งบานอย่างเต็มที่

ฤดูใบไม้ร่วง หรือช่วงก่อนจะมีประจำเดือน เป็นช่วงเวลาแห่งการวิพากษ์ตัวเอง เผชิญหน้ากับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ รับมือกับความว้าวุ่นภายในใจ

“เพราะผู้ชายไม่มีลักษณะแบบนี้ เลยมองว่าผู้หญิงเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แนวคิดโลกสมัยใหม่ที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะแนวคิดแบบวิกตอเรียน ศาสนาต่างๆ จึงต้องการจะควบคุมผู้หญิงให้กลายเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ มีการพยายามสร้างความหมายใหม่ให้ประจำเดือนว่าเป็นสิ่งสกปรก นอกรีต ทำให้ผู้หญิงคิดว่าสิ่งที่เป็นนั้นไม่ถูก ต่ำต้อย สกปรก น่าอาย เป็นสิ่งที่ต้องปกปิด

“แนวคิดแบบนี้นำมาสู่การเกิดขึ้นของผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งด้วย เพราะเมื่อคิดว่าสกปรก ใช้แล้วก็ต้องโยนทิ้งไป” หญิงสาวเล่าด้วยความอิน

ทุกวันที่มีประจำเดือน เก๋ใช้ผ้าอนามัยแบบซักได้และเมื่อต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย เธอก็จะเก็บใส่กล่องที่มีล็อก แล้วใส่กระเป๋ากลับมาแช่น้ำเย็นที่บ้านแล้วซักด้วยสบู่ให้คราบเลือดหลุด

“การใช้มือสัมผัสตอนซักล้างทำให้เรารู้สึกว่านี่คือความธรรมดาของประจำเดือน เลือดประจำเดือนในแต่ละวันจะสีไม่เหมือนกัน บางครั้งเราแช่น้ำแล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย วันนี้สีสวยจัง หรือถ้าวันไหนสีไม่สวยเราก็ไม่ได้รังเกียจ เพราะคิดว่าประจำเดือนมันสะท้อนออกมาว่าเดือนที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตยังไง กินอะไร นอนหลับพักผ่อนเพียงพอไหม ทำให้เราได้สื่อสารกับร่างกายของเรา”

ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่น่าอายเลยสักนิด และผ้าอนามัยก็ไม่ใช่เรื่องต้องปกปิด เก๋คิดอย่างนั้น

แล้วผลิตภัณฑ์ไหนที่ดีที่สุดสำหรับประจำเดือน

เราถามเก๋ว่า เธอเคยลองผ้าอนามัยแบบสอดหรือแบบถ้วยไหม

หญิงสาวบอกกับเราว่าเธอเคยคิดจะลอง แต่สุดท้ายก็รู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องใส่อะไรเข้าไปในร่างกาย จึงสบายใจกับการใช้ผ้าอนามัยซักได้มากกว่า

“ทุกทางเลือกอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน” เธอว่า และเราก็เห็นด้วยกับประโยคนั้น เพราะแต่ละคนมีเกณฑ์ความสบายใจและมีเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป

เพราะสำหรับคนที่ยังไม่สะดวกใจจะลองทางเลือกอื่นๆ ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งเสมอ

สำหรับคนเล่นกีฬาแม้วันมามากแต่ไม่กล้าใช้ถ้วยเพราะดูใส่ยาก ผ้าอนามัยแบบสอดก็อาจเป็นคำตอบ

สำหรับคนแพ้พลาสติกและเป็นผื่นง่าย ชอบความได้ปลดปล่อยอย่างเป็นธรรมชาติ ก็น่าจะเหมาะกับผ้าอนามัยซักได้

สำหรับคนที่อยากลดการใช้พลาสติกแต่ขี้เกียจซักผ้า ถ้วยอนามัยก็อาจเป็นทางออก

จริงอยู่ว่าการรับมือกับประจำเดือนและฮอร์โมนที่แปรปรวนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความเข้าใจและทางเลือกใหม่ๆ จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกับร่างกายตัวเองได้ราบรื่นยิ่งขึ้น

ไม่แน่ว่าอนาคตอาจมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจกว่าในตอนนี้ก็ได้นะ

facebook.com/SunnyCottonPad

ขอบคุณสถานที่ : ร้าน River & Roads

อ้างอิง

Fraser IS, Critchley HO, Broder M, Munro MG. The FIGO recommendations on terminologies and definitions for normal and abnormal uterine bleeding. Semin Reprod Med. 2011 Sep;29(5):383-90.

Munro MG. Practical aspects of the two FIGO systems for management of abnormal uterine bleeding in the reproductive years. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol. 2017 Apr 01;40:3-22.

redschool.net

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!