เราพบ อาชว์–อรุษ เอ่งฉ้วน เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 (ณ ตอนนั้น เขายังใช้นามปากกาว่า Apolar) ในการสัมภาษณ์ว่าด้วยการเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้ออกแบบปกหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับพิมพ์ใหม่ ในวาระที่ฉบับแปลไทยของวรรณกรรมเรื่องนี้มีอายุครบรอบ 20 ปี
จากการสนทนากัน เราจำประโยคหนึ่งของเขาได้ขึ้นใจ อาชว์เล่าให้ฟังว่าเขาอยากให้ภาพปกที่วาดเป็นเหมือนจดหมายรักจากแฟน แฮร์รี่ ถึงแฟน แฮร์รี่ ด้วยกัน (Letter from fan to fan.) เพราะอาชว์ก็นับตัวเองเป็นพอตเตอร์เฮดตัวยง
ตอนนั้น เขาเปิดปก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ออกแบบให้เราดูได้แค่ 3 ภาคแรก ได้แก่ ศิลาอาถรรพ์, ห้องแห่งความลับ และ นักโทษแห่งอัซคาบัน ซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แต่เห็นเพียงแค่นั้นเราก็รู้ได้เลยว่างานของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผสมผสานระหว่างหลายเทคนิควาดภาพ มีแนวคิดเบื้องหลังในการหยิบองค์ประกอบต่างๆ ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาใส่ได้อย่างพอเหมาะ ทั้งยังแอบซ่อนรายละเอียดเล็กๆ ไว้ตามจุดที่ใครก็คาดไม่ถึง
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนานมีบุ๊คส์และต้นสังกัดของ J.K.Rowling ถึงเลือกเขา ท่ามกลางนักวาดไทยหลายคนที่เป็นผู้เข้าชิง
รู้ตัวอีกที ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเราก็พบตัวเองกำลังรอลุ้นกับการปล่อยปกใหม่ สนุกกับการมองหา easter egg ในปกของอาชว์ที่นานมีบุ๊คส์ปล่อยออกมาจนครบเซต
ไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะได้คุยกับเขาอีกครั้งในฐานะคนออกแบบปก a day
เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากคุยกับอาชว์ได้ไม่นาน a day ก็ตัดสินใจทำฉบับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เนื่องด้วยวาระการเฉลิมฉลอง 20 ปีที่ไม่ได้มีมาบ่อยๆ ซึ่งได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากนานมีบุ๊คส์และบริษัทตัวแทนของเจ.เค. โรว์ลิ่ง
a team เห็นตรงกันตั้งแต่ก่อนเริ่มทำเล่มว่า ทำ a day เล่ม 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยทั้งที ฉบับนี้ต้องได้ Arch Apolar (นามปากกาปัจจุบัน) มาวาดให้เท่านั้น
แต่กว่าจะมาเป็นปกที่ทุกคนเห็น งานนี้ไม่ได้มีแค่การโบกนิดสะบัดหน่อยแล้วจะได้ปกนิตยสารที่สนุกและสวยงาม หากแต่มีขั้นตอนระหว่างทางที่ทำให้เราลุ้นไม่ต่างจากการผจญภัยของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในโลกเวทมนตร์
ถ้าอยากรู้ก็หยิบผงฟลู แล้วตามไปดูถึงโต๊ะทำงานของอาชว์กันเลย
“ผมทราบข่าวลือว่า a day กำลังจะทำฉบับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตั้งแต่ยังไม่ปิดงานปกกับนานมีบุ๊คส์เลย เพราะทีมงานที่นานมีฯ ก็ถามเปรยๆ ไว้ว่าอยากวาดปก a day ฉบับ แฮร์รี่ ไหม” อาชว์เล่าและเผยเรื่องที่ทำให้เราแอบตกใจว่า หลังจากวาดปกและบอกซ์เซตนี้ให้นานมีบุ๊คส์ จริงๆ เขาจะไม่มีสิทธิวาดและเผยแพร่ภาพวาดใดๆ เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้อีกเลย เพราะทุกอย่างเกี่ยวกับ แฮร์รี่ ที่มาจากเขาจะกลายเป็นสินค้าของ Wizarding World ซึ่งเป็นเงื่อนไขในสัญญาลิขสิทธิ์ที่ตกลงไว้กับนานมีบุ๊คส์และต้นสังกัดของเจ.เค. โรว์ลิ่ง ตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ดีปก a day ฉบับนี้ถือเป็นข้อยกเว้นพิเศษ
และนั่นหมายความว่า นี่อาจเป็นรูปวาดสุดท้ายที่เขาจะได้วาดเกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์
“พอ a day ติดต่อมาก็รีบตกลงทันที ก่อนคุยผมก็เคยคิดเล่นๆ ไว้เหมือนกันว่าอยากให้เป็นปกที่เล่าเรื่องรวมๆ ของเหตุการณ์ทั้งหมด คล้ายเล่มจบของหนังสือชุด เรานึกถึงหนังสือครบรอบ 20 ปี 100 ปี ของการ์ตูนที่ชอบ หรือหนังสือรวมภาพวาดของศิลปินท่านนั้นท่านนี้ หน้าปกจะเป็นคอลลาจที่รวมองค์ประกอบหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน ก็แอบคิดทิศทางนั้นไว้”
a day 239
แต่เมื่อ a day ฉบับนี้เล่าเรื่องราวการเดินทางของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โจทย์ที่ a team ส่งต่อให้อาชว์คือ หนึ่ง อยากให้เป็นปกที่สื่อถึงการเฉลิมฉลอง 20 ปี สอง มี 2 ชั้นเพื่อเพิ่มความพิเศษและสามารถใส่องค์ประกอบจากเรื่องได้อย่างจุใจ สาม อยากให้มีองค์ประกอบแบบไทยๆ แทรกลงไป และสี่ อยากให้มีภาพปรากฏการณ์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในไทยเพื่อสะท้อนเนื้อหาสำคัญของเล่ม
ไอเดียแรกที่เราเสนออาชว์คือ ภาพกลุ่มคนที่ช่วยผลักดัน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยให้ได้ตีพิมพ์อยู่ท่ามกลางตัวละครที่เป็นภาพจำในบริบทไทยๆ เราคิดถึงภาพแฮร์รี่ขี่ไม้กวาดทางมะพร้าว รอนซื้อหวยและดื่มน้ำยานำโชค เฮอร์ไมโอนี่เรียนวิชามักเกิ้ลไทยศึกษา มีสุมาลี บำรุงสุข นักแปล กำลังนั่งรถตุ๊กๆ ลอยได้อยู่กับสุวดี จงสถิตย์วัฒนา และคิม จงสถิตย์วัฒนา ผู้บริหารนานมีบุ๊คส์ นอกจากนี้เรายังอยากบันทึกเหตุการณ์สำคัญของวรรณกรรมเรื่องนี้ในไทย อย่างการเปิดขายเล่ม ภาคีนกฟีนิกซ์ ที่ตึกนานมีบุ๊คส์ตอนเที่ยงคืนไว้ด้วย
หลังจากปรึกษากันเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด วัชรพงศ์ แหล่งหล้า บรรณาธิการศิลปกรรมของ a day เห็นตรงกับอาชว์ว่า ปกที่สื่อถึงการเฉลิมฉลองนั้นควรเป็นสีทอง มีโครงสร้างคล้ายกับปกหนังสือและบอกซ์เซต แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีการแบ่งสัดส่วนเป็นช่องๆ อย่างสมมาตร ซึ่งมีข้อดีคือสามารถหยิบองค์ประกอบในเรื่องมาใส่ได้อย่างหลากหลาย ในขณะเดียวกันก็กันพื้นที่ให้กับตัวละครหลักได้มากเป็นพิเศษ
“ผมคิดว่าต้องให้ตัวละครหลักทั้งสามตัวเด่น โดยให้แฮร์รี่เด่นที่สุด อยากให้มันเป็นเหมือนปกนิตยสารสไตล์พอร์เทรตที่มีตัวละครเยอะ แต่มีรูปตัวหลักใหญ่กว่า เรานึกถึงตอนมันอยู่บนแผงหนังสือแล้วเตะตาคน การมีใบหน้าแฮร์รี่ใหญ่ขึ้นมาคือเทคนิคในการจับความสนใจ” อาชว์อธิบายไอเดีย
“ก่อนลงมือทำก็รีเสิร์ชงานเยอะ จริงๆ มี reference พวกกรอบหรืองานอาร์ตหลายยุคสมัย ผมก็ลองดูงานที่มันเป็นสีทอง แต่มีส่วนผสมของพาเลตสีอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน ผมก็ลองดูว่าเขาจะบาลานซ์สียังไง ก็คิดต่อยอดว่านอกจากสีทองที่เด่นอยู่แล้ว ก็จะมีสีแดงเด่นรองลงมา ซึ่งเป็นสีประจำบ้านกริฟฟินดอร์ บ้านของตัวละครหลักทั้งสามตัว ส่วนสีอื่นก็ทอนสเกลกันลงไป”
นอกจากนี้อาชว์เผยว่า แม้ a day จะอยากให้ปกมีโครงสร้างคล้ายๆ บอกซ์เซต แต่เขาก็ไม่อยากวาดเป็นโครงสร้างอาคารแบบเดิมซ้ำอีกแล้ว อาชว์จึงออกแบบโครงสร้างให้มีลักษณะของปราสาทสไตล์กอทิก มีกรอบเป็นวงกตหน้าต่างรูปทรงโค้งแหลมที่มองทะลุจากภายนอกเข้าไปด้านใน (หรือจะมองจากภายในออกมาก็ได้) มีเสา 2 ข้างขนาบกันโดยมีโลโก้ 20 ปี a day และข้อมูลตัวเลขของฉบับนี้อยู่เหนือเสาทั้งสองฝั่ง รวมทั้งมีโลโก้ a day อยู่ตรงกลาง และโลโก้ชื่อฉบับอยู่ด้านล่างสุด
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับอาชว์คือการหยิบองค์ประกอบไทยๆ มาใส่ลงบนปกโดยไม่รบกวนเนื้อหาของ แฮร์รี่ พอตเตอร์

องค์ประกอบที่ไม่ได้ถูกใช้จริง
“จากการทำงานกับบริษัทตัวแทนของเจ.เค. โรว์ลิ่ง มา เรารู้ว่าเขาคงไม่อยากให้เราเอาองค์ประกอบของเรื่องมาปรับหรือใส่บริบทไทยลงไปเพราะเขาจะรักษาแบรนด์เขามาก เรากลัวว่าจะเป็นการไม่ให้เกียรติเขาหรือเปล่า เลยคิดว่าควรมีการแบ่งพื้นที่ ให้ปกครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของแฮร์รี่ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ของไทยไปเลย โดยแต่ละด้านก็จะมีความคล้ายคลึงบางอย่างที่สะท้อนกันอยู่”
ในฐานะของคนที่เติบโตมากับศิลปะไทย อาชว์มองเห็นจุดร่วมขององค์ประกอบใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับองค์ประกอบในวรรณคดีไทยบางเรื่องที่ตรงกัน
“ผมรู้สึกว่าไทยเรามีวรรณคดีและวรรณกรรมที่ทรงเกียรติและคนไทยชื่นชมอยู่เยอะ สิ่งนี้มันฝังรากอยู่ในตัวเรา ในขณะเดียวกันวรรณกรรมที่เข้ามาใหม่อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็เป็นที่รักของคนไทยเหมือนกัน สิ่งนี้คล้ายเป็นอิทธิพลภายนอกและภายใน (ประเทศไทย) ที่เป็นรากฐานของศิลปินไทยหลายๆ คน” ดังนั้นอาชว์จึงเลือกหยิบจุดร่วมที่เขามองเห็นมาใส่ เช่น ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีปุกปุย หมาสามหัวที่เชื่อมโยงกับความเชื่อต่างชาติว่าด้วย เซอร์เบอรัส หมาสามหัวในตำนาน ตัวนี้ถูกหยิบมาใส่เป็นภาพสะท้อนกับช้างเอราวัณ สัตว์ในตำนานที่คนไทยรู้จักและมักนำเสนอให้มีสามหัวเหมือนกัน
หรืออย่างฮิปโปกริฟฟ์ก็ถูกหยิบมาอยู่คนละฝั่งกับม้านิลมังกร เพราะเป็นสัตว์วิเศษที่ตัวเอกอย่างแฮร์รี่และสุดสาครใช้เป็นพาหนะในช่วงเวลาหนึ่ง

องค์ประกอบที่ไม่ได้ถูกใช้จริง
ไม่หมดเท่านั้น ยังมียักษ์ที่จับมาคู่กับรูปปั้นอัศวินเพราะเป็นผู้คุ้มกันบ้านเมือง (หรือในกรณีรูปปั้นอัศวินคือคุ้มกันฮอกวอตส์) เหมือนกัน มีสุพรรณหงส์มาจับคู่กับฟอกส์ (นกฟีนิกซ์) ในปกหลังยังมีผีตาโขนที่เป็นขั้วตรงข้ามของผู้คุมวิญญาณเพราะใส่หน้ากากเหมือนกัน มีพญานาคจับคู่บาซิลิสก์ และมีรูปวาดของแถมต่างๆ ที่นานมีบุ๊คส์เคยทำแจกพร้อม แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ละภาครวมอยู่ด้วย
แต่สุดท้ายด้วยข้อจำกัดเรื่องลิขสิทธิ์จากบริษัทตัวแทนต้นสังกัดของเจ.เค. โรว์ลิ่ง อาชว์จึงไม่อาจใส่องค์ประกอบที่ร่ายมาลงบนปกได้และต้องปรับให้เหลือเพียงบางองค์ประกอบที่ไม่กระทบต่อโลกของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เท่านั้น

องค์ประกอบที่ไม่ได้ถูกใช้จริง
ถึงแม้จะถูกตัดบางองค์ประกอบออก แต่ความสนุกตื่นเต้นบนหน้าปกก็ไม่ได้ลดลง อาชว์พบว่าพื้นที่ที่เหลืออยู่เอื้อให้เขาสามารถใส่องค์ประกอบจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้มากขึ้น ในแง่หนึ่งนี่ถือเป็นการส่งท้ายการวาดรูป แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับโลกของผู้วิเศษได้อย่างสุดทาง
ท้ายที่สุดอาชว์ได้วาดปก 2 ชั้นที่เขาภูมิใจ โดยไม่ลืมใส่ easter egg ให้แฟนๆ ได้สนุกกับการตามหาอย่างเคย
และต่อไปนี้คือเบื้องหลังการคิดปก a day 239 ฉบับเสร็จสมบูรณ์
(คำเตือน มีสปอยล์ easter egg บนปกทุกจุด ถ้าอยากตามหาเองให้ทำก่อน แล้วค่อยมาดูเฉลยกับเรานะ)
ปก 2 ชั้น
ก่อนจะออกแบบปกให้ a day อาชว์เคยอยากใช้ไอเดีย ‘ด้านมืดและด้านสว่าง’ กับบอกซ์เซต แต่ก็ตัดสินใจไม่ทำ พอ a day เสนอว่าอยากให้ออกแบบ 2 ปก เขาคิดถึงปกหน้าที่สื่อถึงการเฉลิมฉลอง มีความร่าเริงสดใส และพอเปิดมาด้านในก็จะเจอกับปกสีดำทมิฬที่สื่อถึงด้านมืดเพื่อให้คนอ่านรู้สึกเซอร์ไพรส์
อย่างไรก็ตามเขาเคยวาดปกโทนสีดำไปแล้วในเล่ม เครื่องรางยมทูต จึงไม่อยากซ้ำรอยตัวเอง อาชว์ตั้งคำถามว่าอยากให้ปกด้านในสื่อถึงความร้ายกาจขนาดนั้นเลยหรือเปล่า และได้ข้อสรุปว่าจริงๆ แล้วเขาแค่อยากให้ปกทั้งสองคอนทราสต์กันเท่านั้น
ผลลัพธ์สุดท้ายจึงออกมาเป็นปกหน้าที่ใช้สีทองกับสีแดงเป็นหลัก ซึ่งแม้ทั้งสองสีจะโดดเด้งออกมา แต่อาชว์เผยว่าความจริงเขาอยากให้เป็นปกที่สื่อถึงทั้งสี่บ้านของฮอกวอตส์มากกว่าจะเป็นปกกริฟฟินดอร์ ในขณะที่ปกด้านในใช้โทนสีเงินและสีเขียว ตั้งใจให้เป็นปกของบ้านสลีธีรินโดยเฉพาะ เพราะเขารู้ว่ามีแฟนๆ ของบ้านสลีธีรินอยู่เยอะ และพวกเขาอาจไม่ค่อยได้เห็นปกที่รวมตัวละครที่มาจากบ้านนี้เท่าไหร่นัก
แต่ก็อย่างที่บอก ปกนี้ไม่ได้สื่อถึงด้านมืดเท่านั้น เพราะตัวละครที่หยิบมาวาดบนปกมีทั้งโวลเดอมอร์, ทอม ริดเดิล ตอนเด็ก, สเนป และมัลฟอย เพราะอาชว์ต้องการสื่อว่า ถึงจะอยู่บ้านเดียวกันแต่ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ด้านมืดไปเสียทุกคน สิ่งที่ตัดสินว่าเราเป็นคนดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราเลือกเดิน

โลโก้แบบเดิมที่ไม่ได้ใช้
โลโก้ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย
ด้วยเงื่อนไขจากต้นสังกัดของเจ.เค.โรว์ลิ่งที่ไม่อนุญาตให้ใช้โลโก้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แบบเดียวกับที่อาชว์เคยใช้บนปก เพราะ a day ฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นสินค้าของ Wizarding World อาชว์จึงต้องออกแบบฟอนต์ขึ้นมาใหม่โดยคำนึงถึงความแตกต่าง ทว่าก็อยากให้มีกลิ่นอายแบบเดียวกัน
เขาเริ่มจากการปรับโลโก้ให้หนาและอ่านง่ายขึ้นในระยะไกล ขณะเดียวกันก็หยิบองค์ประกอบบางอย่างจากฟอนต์เดิมมาใช้ นั่นคือตัว พ.พาน ที่เป็นรูปสายฟ้า และรูปงูที่แฝงใน ร.เรือ เผื่อสื่อว่าในตัวแฮร์รี่ก็มีเสี้ยวหนึ่งของโวลเดอร์มอร์อยู่ในตัว นอกจากนี้ยังตีความได้ว่าสายฟ้ากับงูกำลังต่อสู้ฟาดฟันกัน
ส่อง easter egg ปกนอก
ดัมเบิลดอร์
เนื่องจากอยากให้เป็นปกฮอกวอตส์ อาจารย์ใหญ่ในตำนานจึงจับจองพื้นที่ด้านบนสุด ในภาพเขากำลังโบกไม้กายสิทธิ์สมกับเป็นพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่
ฟีนิกซ์และมังกร
ถ้าคิดถึงสัตว์วิเศษตัวเด่นในโลกเวทมนตร์ หนึ่งในนั้นต้องมีนกฟีนิกซ์อย่างฟอกซ์ ที่โผล่มาในหลายภาค อาชว์อยากให้มีอีกตัวมาประกบคู่ คล้ายเป็นเงาสะท้อนของกัน จึงคิดถึงมังกรจากกริงกอตส์ ซึ่งแม้จะปรากฏตัวสั้นๆ ในภาค 7 แต่ก็สร้างซีนที่น่าจดจำร่วมกับ 3 ตัวละครหลัก นั่นคือซีนหนีออกมาจากกริงกอตส์นั่นเอง
ปุกปุย
หลังจากปล่อยปก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 ภาคออกไป ฟีดแบ็กส่วนใหญ่ที่แฟนๆ ส่งมาให้เขาคือ ทำไมปกภาคแรกอย่าง ศิลาอาถรรพ์ ถึงไม่มีปุกปุย หมาสามหัวซึ่งเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวของเรื่อง อาชว์เผยว่าเพราะเขาอยากใส่หมาตัวนี้ในบอกซ์เซตเพื่อให้รู้สึกพิเศษสำหรับคนจองบอกซ์เซตเท่านั้นจึงเลือกไม่ใส่ลงในปก
แต่พอได้ฟังเสียงของแฟนๆ อาชว์ก็ต้องยอมแพ้ และเมื่อมีโอกาสได้วาดปก a day เขาจึงไม่พลาดที่จะใส่ easter egg ที่แฟนๆ ตัวนี้รักลงไปด้วย
บัคบีค
เดิมทีบัคบีคในปกฉบับเดิมจะอยู่ในปกด้านในและเป็นขั้วตรงข้ามของม้านิลมังกร สื่อถึงสัตว์พันธุ์ผสมที่เป็นพาหนะของตัวเอก แต่เมื่อม้านิลมังกรถูกตัดออก อาชว์จึงหยิบบัคบีคมาไว้บนปกด้านหน้าและพบว่ามันเหมาะสมมากกว่าจริงๆ เพราะบัคบีคเชื่อมโยงกับแฮร์รี่ที่อยู่ปกหน้าด้วยเช่นกัน
ลูกสนิช
ลูกสนิชถือเป็นภาพจำที่ติดตัวแฮร์รี่มาโดยตลอด และมันก็แทนกีฬาควิดดิชในฮอกวอตส์ด้วย อาชว์เลยหยิบมาใส่ไว้บนหัวเสาทั้งสองด้าน
รูปปั้นอัศวิน
รูปปั้นอัศวินเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ถูกพูดถึงค่อนข้างเยอะในเรื่อง ใครเคยอ่านจะรู้ดีว่าเจ.เค. โรว์ลิ่ง พูดถึงรูปปั้นนี้ในช่วงคริสต์มาสหรือตอนตัวละครเดินผ่านโถงเสมอ อาชว์คิดว่ารูปปั้นนี้เหมาะสมที่จะอารักขาที่เสาทั้งสองฝั่ง แถมข้างๆ ยังเป็นรูปปราสาทฮอกวอตส์ที่เห็นอยู่ไกลๆ ก็รู้สึกเหมือนรูปปั้นนี้กำลังอารักขาฮอกวอตส์อยู่ยังไงยังงั้น
ตัวอักษรจาก 4 บ้าน และโลโก้ฮอกวอตส์ภาษาไทย
อาชว์อยากให้ปกหน้าสื่อถึงความเป็นฮอกวอตส์มากกว่าเป็นแค่บ้านกริฟฟินดอร์ จึงใส่ธงที่มีตัวอักษรประจำบ้านทั้งสี่และโลโก้ฮอกวอตส์ที่เขียนด้วยภาษาไทยไว้ตรงกลาง
ฮอกวอตส์
มองทะลุหน้าต่างจากปกนอกเข้าไปจะเห็นปราสาทฮอกวอตส์อยู่ไกลๆ ส่วนอีกสถานที่ในหน้าต่างอีกบานคืออะไร รอเปิดไปเจอความลับในปกชั้นในนะ
แฮร์รี่กับเฮ็ดวิก
อาชว์เล่าความหลังตอนเด็กให้ฟังว่า เขามีโปสเตอร์ภาพถ่ายโปรโมตหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ รูป Daniel Radcliffe ที่มีนกฮูกหิมะเกาะอยู่บนแขนติดบนผนังบ้าน เป็นเพียงรูปเด็กผู้ชายกับนกฮูกแต่กลับดูทรงพลัง โปสเตอร์นี้อยู่ในความทรงจำเรื่อยมา และเขาสารภาพว่าอยากวาดภาพนี้มานานแต่ไม่มีโอกาสสักที
รอนกับขนมน้ำตาลปั้น
ขนมน้ำตาลปั้นเป็นขนมที่อาชว์คุ้นเคยตั้งแต่ช่วงประถม ปัจจุบันหากินยากแล้ว เขาจึงหยิบขนมไทยในความทรงจำมาให้รอน ตัวละครที่ติดขนมตลอดเวลาให้ลองชิม ซึ่งขนมน้ำตาลปั้นในรูปยังเป็นนกฮูก แตกต่างจากรูปคุณลุงตกปลาที่หลายคนเคยกินตอนเด็กๆ
เฮอร์ไมโอนี่กับหนังสือมักเกิ้ลไทยศึกษา
ถ้าตัวละครผู้รักหนังสืออย่างเฮอร์ไมโอนี่ต้องมาเมืองไทย (หรือปรากฏตัวบนปกนิตยสารไทย) เธอต้องศึกษาเรื่องมักเกิ้ลไทยแน่ๆ และหากสังเกตดีๆ หนังสือเล่มสีแดงในอ้อมแขนเธอยังมีเครื่องหมาย ‘เครื่องรางยมทูต’ ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับที่ปรากฏในภาพประกอบจากเล่ม ศิลาอาถรรพ์ ตอนที่เฮอร์ไมโอนี่หาหนังสือเพื่อศึกษาข้อมูลเรื่องนิโคลัส แฟลมเมล ในห้องสมุดอีกด้วย
กบช็อกโกแลต
ตัวนี้เคยปรากฏบนปก ศิลาอาถรรพ์ ที่อาชว์วาดด้วย
แฮกริดขี่มอเตอร์ไซค์ รถด่วนฮอกวอตส์ และรถเมล์อัศวินกับซีเรียส
เพราะเป็น a day ที่เล่าเรื่องการเดินทางของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในประเทศไทย อาชว์จึงเลือกใส่องค์ประกอบที่เกี่ยวกับการเดินทางเข้ามา ทั้งมอเตอร์ไซค์ของแฮกริด รถด่วนฮอกวอตส์ และรถเมล์อัศวิน (รวมถึงซีเรียสเวอร์ชั่นสุนัขตัวสีดำที่ปรากฏตัวในภาคเดียวกัน)
ซุ้มประตูโค้งรถไฟข้างล่าง
เชื่อมโยงกับปกภาค ศิลาอาถรรพ์ ที่มีซุ้มประตูโค้งรถไฟอยู่ด้านล่าง และเป็นการสดุดีให้ปกแรกที่คนไทยได้เห็น คือปกของ Mary GrandPré อีกด้วย
ไม้กวาดม้าก้านกล้วย
เคยปรากฏในปกภาค ถ้วยอัคนี ที่อาชว์วาด เป็นไม้กวาดไฟร์โบลต์ที่ผสมผสานความเป็นม้าก้านกล้วยแบบไทย
ส่อง easter egg ปกใน
โวลเดอมอร์
จะเห็นได้ว่าโวลเดอมอร์อยู่ตำแหน่งเดียวกับดัมเบิลดอร์ที่ปกหน้า เพราะอาชว์ต้องการให้เปิดมาแล้วได้ความคอนทราสต์กันอย่างชัดเจน
นากินีและบาซิลิสก์
สัตว์วิเศษ 2 ตัวที่โดดเด่นเด่นไม่แพ้ฟีนิกซ์และมังกรจากปกหน้า พวกมันเป็นสัญลักษณ์ของด้านมืดที่ล้วนเชื่อมโยงกับโวลเดอมอร์ด้วยกันทั้งคู่
แมงมุม
อาชว์บอกว่าแมงมุมในรูปนี้ไม่ได้หมายถึงแมงมุมอาราก็อกที่ทุกคนรู้จักเท่านั้น แต่สามารถตีความเป็นแมงมุมยักษ์ที่เข้าร่วมรบในภาค เครื่องรางยมทูต ด้วยเช่นกัน
เฟนเรียร์ เกรย์แบ็ก
มนุษย์หมาป่าฝ่ายร้าย ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าแตกต่างจากรูปวาดมนุษย์หมาป่าของรีมัส ลูปิน บนปก นักโทษแห่งอัซคาบัน เกรย์แบ็กมีรูปร่างบึกบึนกว่า ดูร้ายกาจและน่ากลัวยิ่งกว่า
ผู้เสพความตายและผู้คุมวิญญาณ
ประจำอยู่ในตำแหน่งเดียวกับรูปปั้นอัศวินบนปกหน้าเพื่อสื่อว่าเป็นผู้คุกคามฮอกวอตส์ที่พร้อมจะต่อกรกับผู้พิทักษ์
เพนซีฟ
อยู่ในตำแหน่งหัวเสาเพื่อสื่อว่าเพนซีฟเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่แฮร์รี่ใช้ดูอดีตของทอม ริดเดิล ในตอนเด็ก (ซึ่งทอม ริดเดิล ที่เป็นตัวละครเด่นบนปกนี้ก็เป็นอีกหนึ่งช่วงวัยที่แฮร์รี่เคยใช้เพนซีฟส่องเช่นกัน)
ฮอกวอตส์และคฤหาสน์มัลฟอย
ฮอกวอตส์ในภาพนี้คือส่วนขยายของปราสาทฮอกวอตส์ที่อยู่หลังปกเล่ม ศิลาอาถรรพ์ (ในรูปนั้นมีต้นไม้บังอยู่) จะเห็นเรือของเด็กปี 1 กำลังแล่นเข้าสู่ปราสาท เป็นสถานที่สำคัญต่อตัว แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ปรากฏในภาคแรก ในขณะที่คฤหาสน์มัลฟอยที่อยู่อีกด้านหนึ่งคือสถานที่สำคัญในภาค เครื่องรางยมทูต ภาคสุดท้าย
ทอม ริดเดิล วัยเด็ก
ที่อาชว์เลือกวาดทอม ริดเดิล ในวัยเด็กแทนที่จะวาดโวลเดอมอร์ในวัยผู้ใหญ่ที่มีพลังอำนาจเต็มกำลัง เพราะเขาอยากสื่อว่าทอมกำลังอยู่ในช่วงเลือกทางเดินของชีวิตซึ่งไม่ต่างจากแฮร์รี่ในปกแรก อาชว์อ้างอิงทอม ริดเดิลคนนี้มาจากในหนังสือช่วงที่เขากำลังจบการศึกษาใหม่ๆ ซึ่งเจ.เค.โรว์ลิ่งชอบบรรยายว่าทอมจะใช้ชุดสูทที่เรียบหรูสีดำ หรือไม่ก็เสื้อเชิ้ตสุภาพสีดำ
สเนปและมัลฟอย
ที่อาชว์เลือกใส่เสนปและมัลฟอยบนปก เพราะต้องการชี้ชัดว่าพวกเขาทั้งสองคือหลักฐานว่านักเรียนสลีธีรินไม่จำเป็นต้องร้ายกาจเสมอไป ลึกๆ แล้วทั้งคู่สามารถมีจิตใจที่อ่อนโยน และเลือกเส้นทางที่ดีให้ตัวเองได้
ด๊อบบี้
ในรูปนี้ด๊อบบี้ยังเป็นผู้รับใช้ของบ้านมัลฟอยจึงดูหงอๆ
ฮอร์ครักซ์ทั้งเจ็ด
easter egg สุดท้ายที่สื่อถึงฮอร์ครักซ์ที่เก็บเสี้ยววิญญาณของโวลเดอมอร์ สลักอยู่บนตัวงูนากินี
บทความนี้ต่อยอดมาจาก aday 239 ฉบับ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย