stw.wts ศิลปินที่เปลี่ยนความบ้าเกมในวัยเด็ก เป็นงานออกแบบ 3D ที่อัดแน่นด้วยกลิ่นอาย nostalgia

ต่อให้ไม่เคยติดตามผลงานกันมาก่อน แต่หลายคนก็คงจะรู้ได้ตั้งแต่แรกเห็นว่าผลงานของ stw.wts หรือ ‘ปืน–ศาสตราวุธ ศิลปอนันต์’ นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมในยุคปลาย 90s ถึงต้น 00s 

“ตอนเด็กๆ เราหมกมุ่นเรื่องเกมมาก แต่ที่บ้านก็ไม่ได้รวยพอที่จะซื้อเครื่องเกมได้ พ่อแม่ก็ไม่ปล่อยไปร้านเกมเลย เราเลยทำได้แค่เก็บเงินค่าขนมไปซื้อหนังสือเกมมาดูแล้วก็นั่งวาดตาม จำได้ว่าซื้อมาเป็นร้อยเล่ม อ่านซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นแหละ พวกนี้มันเลยกลายเป็นสิ่งที่ฝังลึกในตัว

“กระทั่งเรามาสังเกตวิธีการจัดวางกราฟิกของเรา จึงได้เห็นว่าการวางฟอนต์แบบนี้ องค์ประกอบภาพแบบนี้ จุดนำสายตาแบบนี้ มันมีอิทธิพลมาจากเกมทั้งหมด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราไม่ได้เรียนเรื่องการออกแบบมาโดยตรงด้วย”

แม้มีใจรักในเกมและการออกแบบแค่ไหน แต่ปืนในวัย ม.ปลายกลับตัดสินใจเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันมากนัก หากแต่ในระหว่างที่เรียนนั้นเขาก็ค่อยๆ ศึกษาและฝึกฝนการออกแบบ 3D พร้อมเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อลงผลงานของตัวเองควบคู่ไปด้วย stw.wts

“หลังเรียนจบเราก็กระโดดมาทำงานกราฟิกดีไซน์ เพราะถ้าพูดกันตรงๆ อาชีพศิลปินหรือคาแร็กเตอร์ดีไซเนอร์มันหางานยากมากนะ โดยเฉพาะในยุคก่อนหน้านี้ เราจึงผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์ ค่อยๆ ฝึกด้วยตัวเองก่อนจะเบนสายมาเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้”

จากประสบการณ์ในฐานะนักออกแบบภาพประกอบของปืนตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาพัฒนาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานมาหลายครั้ง จากคาแร็กเตอร์ดีไซน์แนว low poly สู่รูปทรงสามมิติที่มีความโค้งมน นิ่มนวล ถ่ายทอดประเด็นสุขภาพจิต ซึ่งคอลเลกชั่นนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและทำให้เขาได้รับเชิญเข้าสู่แวดวง NFT ในช่วงต้นปี 2564

“เราตัดสินใจลงขายงานชุด mental health เป็นชุดแรกใน NFT แต่ปรากฏว่าขายไม่ออกเลยเกือบ 3 เดือน เราเฟลมาก แต่มันก็ทำให้เราจับจุดอะไรบางอย่างได้ นั่นคือธรรมชาติของ NFT ที่จะต้องกระตุ้นด้วยความตื่นเต้นและเข้าใจได้ไม่ยากเกินไปนัก เพราะทุกวันนี้มีศิลปิน NFT เยอะมาก เราจึงต้องหาวิธีให้งานเราฉายแววออกมาจากผลงานชิ้นอื่นๆ ให้ได้ ซึ่งงานชุด mental health ของเรามันต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจค่อนข้างมาก”

ไม่ใช่ว่าปืนไม่รักผลงานชุดเก่า เขามองเห็นความงามในผลงานแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจน หากภายใต้เงื่อนไขของแพลตฟอร์มใหม่อย่าง NFT ปืนจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางบางอย่าง

“เราตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นสไตล์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นคาแร็กเตอร์สามมิติที่มีพื้นผิวเงาๆ ดูแล้วรู้สึกสนุก เห็นแล้วอยากลุกไปเล่นเกม แค่นั้นเลย เพราะความตั้งใจของเราคืออยากให้มันทำงานเหมือนเราเป็นเพื่อนสมัยเด็กของเขา แม้ว่ามันจะไม่ใช่เกมเดียวกันกับที่เขาเคยเห็นในตอนเด็กๆ เพราะเราไม่ได้ลอกมา แต่มันเป็นผลงานยุคใหม่ที่ทำให้เขาหวนคิดถึงวัยเด็กและสร้างความรู้สึก nostalgia ที่แรงมากๆ” 

สำหรับปืน NFT ช่วยทลายข้อจำกัดเดิมๆ ของอาชีพนักวาดภาพประกอบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือการสร้างฐานผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อโอกาสในการถูกว่าจ้าง หรือการได้สร้างผลงานคอลแล็บกับแบรนด์ใหญ่ๆ I woke up and think sould I start writing morning pages or not? Could you please give me some advice?

“เราคิดว่ายอดฟอลโลเวอร์ในโลก NFT ไม่สำคัญมากเท่ากับโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพราะสิ่งที่เราต้องแคร์มากกว่าคือผู้ติดตามของเรามีโอกาสที่จะซื้อผลงานเรามากน้อยแค่ไหน ดังนั้นตัวเลขฟอลโลเวอร์ของเราไม่จำเป็นต้องเยอะมากก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องอยู่ให้ถูกที่ ถูกคอมมิวนิตี้มากกว่า

“ที่สำคัญคือ NFT ก็ไม่ใช่เรื่องของดิจิทัลอาร์ตเฉยๆ แต่มันยังเป็นเรื่อง tokenomics (เศรษฐศาสตร์สกุลเงินดิจิทัล) เพราะการที่เราจะทำให้ตัวเองมีดีมานด์ที่สูงมันก็มีตัวแปรหลายอย่าง ดังนั้นในตลาดนี้เราจึงต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ มาร์เก็ตติ้ง และแบรนด์ดิ้งด้วย

“และด้วยความที่สังคมใน NFT ทำให้เราเห็นผลงานของเพื่อนๆ ที่ปล่อยออกมาใหม่อยู่ตลอด ทำให้เราได้รับ motivation ไปโดยปริยาย มันเหมือนเราได้กลับไปอยู่ในยุค exteen หรือเว็บบอร์ดสมัยที่งานดิจิทัลอาร์ตเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ในไทย ทุกคนขยันและมีไฟมากๆ”

ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ปืนขยายบทบาทของตัวเองจากศิลปิน NFT ไปสู่การเป็นนักสะสม โดยปัจจุบันเขามีผลงานของศิลปินอื่นๆ อยู่ในมือมากถึง 40-50 ชิ้น

“เรารู้ว่าศิลปินบางคนอาจจะกำลังปรับตัวและเรียนรู้ ช่วงแรกเขาอาจจะยังขายไม่ค่อยได้ แต่ถ้างานมันสวยเราก็อยากเป็นคนแรกที่ซื้องานเขา ไม่ใช่ซื้อเพื่อเก็งกำไรด้วยนะ แต่เป็นเพราะเรารู้ว่าเขาจะมีความสุขสุดๆ ตอนที่เห็นอีเมลเด้งขึ้นมา” ปืนทิ้งท้าย

MONSTΞRS

“เราท้าทายตัวเองด้วยการออกแบบคาแร็กเตอร์ออกมาให้เยอะที่สุดภายในเวลา 100 วัน ได้มอนสเตอร์ออกมาประมาณ 50 ตัวทั้งสเกตช์และปั้นสามมิติ โดยให้ฟอลโลเวอร์ในเพจช่วยกันตั้งชื่อ ดังนั้นทุกตัวจึงมีชื่อด้วย ชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เราขายได้ใน NFT

“คอนเซปต์ของงานชิ้นนี้เราครอบด้วยวิธีการทำเป็นหลัก คือการท้าทายตัวเองตลอด 100 วัน ดึงศักยภาพตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด และพยายามที่จะสร้างเอนเกจเมนต์กับผู้คนด้วย”

Thank you, Slimes.

stw.wts

“ชิ้นนี้ผมชอบมาก ถ้าดูก็จะรู้เลยว่ามันได้แรงบันดาลใจมาจากเกมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราอยากจะบิดเนื้อเรื่องเกม ปกติถ้าใครเคยเล่นพวกเกมผจญภัย ตัวละครหลักของเราคือนักรบที่จะต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาดเพื่อสะสมค่าประสบการณ์ให้เก่งขึ้นถูกไหม แต่คราวนี้เราอยากทวิสต์ให้น่าสนใจมากขึ้น คือการพูดถึง empathy ที่เกมไม่ค่อยหยิบยกมาพูดถึงเท่าไหร่

“สมมติว่าเราเล่นเกมจนเก่งประมาณหนึ่งแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องฆ่ามอนสเตอร์ห่วยๆ ที่เราเคยตีเพื่อเก็บเลเวลหรือเปล่า ดังนั้นเราจึงนำเสนอผลงานนี้ออกมาในลักษณะของการขอบคุณมอนสเตอร์เล็กๆ เหล่านั้น ซึ่งก็อาจจะเป็นมุมมองที่แปลกประหลาดว่าทำไมนักรบคนนี้ถึงมีมุมมองที่อ่อนโยนขนาดนี้”

Ethereum Eternity

stw.wts

“ชิ้นนี้เป็นการทดลองเรื่องเทคนิคล้วนๆ เลย เราอยากนำเทคนิคในปัจจุบันไปประยุกต์ให้เหมือนอยู่ในยุคเก่า เพราะคอมโพสของภาพนี้จะเหมือนกับคอมโพสของโปสเตอร์ยุคเก่าเชยๆ แต่เรานำมาจับคู่กับโมชั่นกราฟิกเพื่อให้มันหวือหวามากขึ้น เป็น NFT ชิ้นแรกของเราที่เป็นภาพเคลื่อนไหว

“อีกอย่างคือการตั้งชื่อและทำโลโก้ที่เราตั้งใจพ้องเสียงด้วยตัวอักษรนำเดียวกัน เหมือนวิธีการตั้งชื่อเกม หรือชื่อตัวละครในสมัยก่อน อย่าง Dungeons & Dragons และ Final Fantasy

“ผลตอบรับของชิ้นนี้ดีมาก หลายคนตื่นเต้นมากๆ เพราะเราโปรโมตค่อนข้างหนัก ตั้งแต่การปล่อยโลโก้ล่วงหน้าหลายวัน และด้วยความที่โลโก้หน้าตาเกมมากๆ ทุกคนก็เลยยิ่งเห็นสไตล์งานของเราชัดยิ่งขึ้นไปอีก”

ตามไปชมภาพ Ethereum Eternity แบบเคลื่อนไหวพร้อมซาวนด์ประกอบได้ที่ foundation.app/@stwwts/ethereum-eternity-56932

Trash Data

“ในภาพนี้มีเนื้อเรื่องอยู่ว่า มอนสเตอร์แต่ละตัวคือสิ่งที่อาศัยอยู่ใน Recycle Bin หรือถังขยะของคอมพิวเตอร์เราเอง เป็นสิ่งที่เราทิ้งไว้สักพักโดยที่ไม่ได้ไปยุ่งกับมันจนเหล่ามอนสเตอร์กลายร่างขึ้นมา หรืออาจจะกลายเป็นไวรัสในคอมพิวเตอร์ของเราอีกทีหนึ่ง

“ในแง่วิธีการพรีเซนต์ เราตั้งใจทำออกมา 2 เวอร์ชั่นเป็นขาวกับดำ (​​ΣIGMA Ver. และ ZΞTA Ver.) คล้ายกับเกมสมัยก่อนที่มักจะออกมา 2 เวอร์ชั่นเสมอ อย่างโปเกมอนที่จะมีเวอร์ชั่นน้ำเงินกับแดง เงินกับทอง หรือเขียวกับฟ้า เป็นมาร์เก็ตติ้งแบบโบราณที่เรานำมาประยุกต์ใช้กับ NFT ซึ่งคนที่ติดตามเราเขาก็สนุกมากว่าเขาจะเลือกแบบขาวหรือดำดี

“แต่งานนี้เราไม่ได้ทำเป็นโมชั่นเพราะว่าทำไม่ไหวจริงๆ ทั้งสองภาพมีมอนสเตอร์รวมกันเป็นร้อยตัว ใช้เวลาทำอยู่เป็นเดือนเพราะนอกจากสเกตช์แล้วก็ต้องแต่งเรื่องด้วย ทุกตัวที่เห็นอยู่ในนี้มีเรื่องราวของตัวเองทั้งหมด ถึงแม้ว่างานเราจะดูเหมือน doodle แต่เบื้องหลังเราจะวางโลกของมันเอาไว้เสมอ เพื่อให้ภาพที่ออกมาไม่สะเปะสะปะหรือหลุดจากกรอบ

“ปกติเวลาทำงานแอนิเมชั่นหรืองาน 3D เขาจะต้องมีหลายฝ่ายใช่ไหม ทั้งคนปั้น คนออกแบบ คนลงสี คนแอนิเมต ต้องแยกฝ่ายกันเพื่อที่จะทำได้เร็ว แต่สำหรับเราที่จบงานคนเดียวจึงต้องใช้เวลานานและต้องกำหนดสโคปเอาไว้ก่อนด้วย”

Super Tiny World

“โปรเจกต์นี้น่าจะเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่และครบเครื่องที่สุดสำหรับเรา

“เป็นคาแร็กเตอร์ดีไซน์ที่เราวางเนื้อเรื่องเอาไว้ด้วย คือปกติเกมส่วนใหญ่จะจบลงที่มอนสเตอร์ตัวบอสถูกฆ่าตายใช่ไหม แต่คราวนี้เราอยากลองคิดเนื้อเรื่องหลังจากนั้น ถ้าหัวหน้าตายแล้วลูกน้องยังอยู่ล่ะ พวกมันจะทำยังไงดี ดังนั้นมอนสเตอร์จิ๋วๆ พวกนี้จึงเป็นลูกน้องตัวร้ายที่ยังเหลือรอดและมารวมตัวกัน

“เราทำขายแยกตัวกันเป็น 1:1 collectible และทุกตัวก็มีเนื้อเรื่องของตัวเอง ถ้าเข้าไปดูจะเห็นว่าคอลเลกชั่นนี้มีเว็บไซต์แยกออกมาเป็นของตัวเองด้วย มันเป็นเหมือนโครงสร้างของโปรเจกต์นี้ สามารถเข้าไปดูคอลเลกชั่นได้ มี Discord เอาไว้คุยกันและมีเพลงของเกมนี้ให้ฟังด้วย เป็นเพลงที่เราทำเองทั้งหมด อาศัยประสบการณ์จากที่เคยทำเพลง bedroom indy มาก่อน”

เยี่ยมชมเว็บไซต์ของเหล่ามอนสเตอร์ตัวจิ๋ว Super Tiny World ได้ที่ www.stwwts.net


Illus Station : NFT Edition คือซีรีส์บทสัมภาษณ์ศิลปินและนักวาดภาพประกอบชาวไทยที่ทำผลงานโดดเด่นและน่าสนใจในสนาม NFT แพลตฟอร์มการทำงานในรูปแบบดิจิทัลที่ทำงานด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินทั่วโลกได้ซื้อ-ขายผลงานและแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจแบบไร้พรมแดน

AUTHOR