PHAR ศิลปินที่จับความซึมเซาของบ้านเมืองมาสร้างความสดใสในนามของ ‘Running Against Sadness’

ถ้าคุณกำลังเศร้า หดหู่ใจ ลองให้เหล่าคาแร็กเตอร์ ‘Running Against Sadness’ เยียวยาดูสิ!

เจ้าคาแร็กเตอร์สุดน่ารักที่มีทั้งมะเขือเทศ แมว ดอกไม้ ไปจนถึงคุณลุงจับผีเสื้อด้วยความสดใสสส (เน้นเสียง) คือผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิค digital paint และอะนิเมตแบบเฟรมต่อเฟรมทุกชิ้น โดยศิลปิน NFT หน้าใหม่อย่างฟ้า–พัชชา ชัยมงคลทรัพย์

ย้อนไปในวัยเด็ก ฟ้าชื่นชอบการวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้ แต่กว่าจะมาเป็นลายเส้นน่ารักเรียบง่ายอย่างทุกวันนี้ ก็ผ่านการทดลองและค้นหาสไตล์ใหม่ๆ อยู่นานหลายปี จากที่เคยวาดภาพโดยเน้นดีเทลเป็นหลัก ลายเส้นปัจจุบันของฟ้ากลับถูกลดทอนให้เรียบง่ายกว่าเดิมหลายเท่า โดยหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อสไตล์งานของเธอก็คือหน้าที่การงาน

ปัจจุบันฟ้าทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่ที่ iLaw ซึ่งด้วยเนื้องานก็ทำให้เธอจำเป็นต้องคลุกคลีกับคอนเทนต์หนักๆ อย่างเรื่องกฎหมาย การเมือง หรือการรณรงค์ แต่ในแง่ของการนำเสนอ ฟ้าตั้งใจอยากให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจข้อมูลยากๆ เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น จึงมักออกแบบภาพวาดให้ดูเป็นมิตร และสื่อสารด้วยโทนที่สดใสเป็นหลัก 

“ช่วงนี้สไตล์งานของเราเลยมักจะคล้ายกันกับที่วาดในงานประจำ ต่อให้เป็นงานที่วาดเล่นแต่ก็ยังใช้สีสดๆ น่ารักๆ เหมือนกัน”

ฟ้าเปิดตัวเข้าสู่โลก NFT ด้วยคาแร็กเตอร์ที่ชื่อว่า ‘Running Against Sadness’ เธอบอกว่าด้วยบรรยากาศบ้านเมือง การบริหารของรัฐที่ชวนให้เครียดและซึมเซา เธอจึงคิดหาอะไรทำแก้คิดมาก เพราะอยากวาดอะไรที่นำมาอะนิเมตได้ เธอจึงนึกถึงท่าวิ่งของอาราเล่ หรือการวิ่งแบบโลกสวยในทุ่งลาเวนเดอร์ 

“ไอเดียคือในเมื่อบ้านเมืองมันซึมเซานัก งั้นก็วาดคาแร็กเตอร์ให้ออกมาวิ่งต้านเศร้ากันไปเลย ช่วงที่วาดตัวแรกๆ เรายังไม่ได้คิดอะไรมากนัก เน้นด้นสดเป็นส่วนใหญ่ ชอบแมว ชอบดอกไม้ ชอบมะเขือเทศ ก็วาดให้มันวิ่งไป”

กระทั่งเริ่มจับทิศทางการอะนิเมตได้ ฟ้าจึงเริ่มใส่กิมมิกเป็นพร็อพที่ทำให้คาแร็กเตอร์แต่ละตัววิ่งแล้วดูเด้งดึ๋ง น่ารักยิ่งขึ้นไปอีก! ยกตัวอย่างเช่น จังหวะการวิ่งแล้วหมวกลอย วิ่งแล้วหน้าซูชิกระเด็น วิ่งแล้วเดาะแอปเปิลไปด้วย ซึ่งก็เป็นลูกเล่นที่ใครผ่านมาเห็นเป็นต้องเอ็นดู เพราะดูแล้วอารมณ์ดีจนอยากบิดราคาใน NFT เพื่อที่จะได้น้องๆ มาครอบครอง 

แต่แน่นอนว่าบิดแรกของเธอก็ไม่ได้มาง่ายๆ ทำเอาฟ้าเกือบถอดใจเลิกทำไปหลายครั้งเหมือนกัน

“ช่วงแรกที่เริ่มเข้าวงการ NFT เราไม่เข้าใจตลาดเลยว่าเขาเล่นกันยังไง จนกระทั่งวาดขายไปได้สักพักถึงเข้าใจว่า NFT มันเป็นการสะสมจริงๆ คล้ายกับการซื้อพระเครื่อง มีการซื้อมาขายไป เก็งราคากัน” 

เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเหล่านักสะสม งานของฟ้าส่วนใหญ่จึงมักทำออกมาเป็นคอลเลกชั่น เธอว่ายิ่งคอลเลกชั่นเป็นที่นิยมมากขึ้นเท่าไหร่ มูลค่าของคอลเลกชั่นนั้นก็จะสูงขึ้นตาม งานออกแบบชิ้นถัดๆ ไปก็จะมีความต้องการมากขึ้น ทำให้สามารถคิดไอเดียสนุกๆ ในการขายได้มากขึ้นด้วย

“ที่สำคัญคือ NFT ทำให้เราได้วาดรูปเล่น ถ้าไม่นับการวาดรูปที่เป็นงานประจำ นี่เป็นช่วงที่เราได้วาดรูปเยอะที่สุดในรอบหลายปีเลย” ด้วยเหตุนี้ฟ้าจึงยังขะมักเขม้นสร้างสรรค์งานคอลเลกชั่นอื่นๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าการลงขายงานใน NFT จะไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว และไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ของแต่ละภาพได้เลยก็ตาม

KK. the People

“นี่คือตัวที่เราชอบที่สุดในคอลเลกชั่น Running Against Sadness ชื่อว่า KK. the People เป็นชาวม็อบเป็ดที่ออกไปลุยกับรถจีโน่สาดสี ถ้าดูแบบขยับร่มมันจะอ้าๆ หุบๆ ได้ด้วย ยิ่งมีชาวต่างชาติหลายคนมาถามเราว่างานนี้คืออะไร เราเลยได้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้เขาฟังไปได้ต่อ”

Skull Spirit

running against sadness

“ชิ้นนี้ชื่อ Skull Spirit เป็นงานที่ลงในเว็บ Foundation ชิ้นเดียวที่ไม่ได้ทำแบบคอลเลกชั่น มันเป็นภาพที่เราฟุ้งๆ ถึงโลกหลังความตายของสัตว์โบราณที่วิญญาณจะวนเวียนอยู่ในกระดูก แต่ในโลกนี้จะมีทูตคอยปลูกต้นไม้เพื่อหล่อเลี้ยงพลังอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตอนนั้นอยากวาดต้นไม้เขียวๆ เป็นการส่วนตัว (หัวเราะ)

“งานนี้ทำให้เราได้สัมผัสบรรยากาศการถูกประมูลงานเป็นครั้งแรก ตื่นเต้นมาก และมันก็ทำให้เรามั่นใจขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยมั่นใจในงานตัวเองเท่าไหร่ เวลาคนชมว่างานสวยเราก็ไม่รู้เขาชมว่าสวยแค่ไหน แต่พอมีคนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้องานเราแสดงว่ามันก็ต้องดีในระดับหนึ่งแหละมั้ง เหมือนเพิ่มความมั่นใจขึ้นมานิดหนึ่ง”

DOT EYES

running against sadness

“DOT EYES เป็นคาแร็กเตอร์ตาจุด ที่มีทั้งคน หมา แมวและสิ่งมีชีวิตแบบอื่นๆ เป็นอีกคอลเลกชั่นที่ตอนนี้เรากำลังสนุกกับการทำมาก ตอนนี้ทำมา 64 ตัวแล้ว แต่เราวางแผนไว้ว่าจะทำให้ถึง 100 ตัว

“ตอนแรกที่ทำเราคิดว่าจะเน้นขายแบบราคาเบาๆ ชิ้นแรกเราเลยขายในราคา 0.002 ETH (ประมาณ 150 บาท) พอทำมาถึงตัวที่ 49 จังหวะขายก็เริ่มนิ่งๆ แต่พอดีมีคอลเลกเตอร์ต่างชาติเขาชอบและซื้อไป จากนั้นเลยทำให้มีคนตามมาซื้อกันเยอะเลย ตอนนี้ตัวที่ขาย second sell ได้ราคาสูงสุดอยู่ที่ 0.1 ETH (ประมาณ 7,500 บาท) ถึงเราจะไม่ได้เงินในส่วนนี้ แต่พอเห็นเพื่อนๆ ที่ช่วยซื้อเก็บตั้งแต่ตัวแรกๆ เอาไปตั้งขายใหม่แล้วเขาขายได้ก็ดีใจมาก

Ketchupan

“บางทีเวลาวาดเราก็ไม่ได้คิดอะไรมากจริงๆ วาดเอามันซะเยอะ อย่างตัวนี้ก็ชอบเพราะชอบสีแดง (หัวเราะ)

“ตัวนี้เป็นตัวที่สามในคอลเลกชั่นที่เริ่มทำ ที่เราทำออกมาเป็นคาแร็กเตอร์แบบนี้ได้ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะเราชอบงานแนวคาแร็กเตอร์ดีไซน์อยู่แล้ว เราสนุกเวลาได้หยิบจับคอนเซปต์ที่หลากหลายแล้วนำมาสร้างเป็นคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะได้อิทธิพลมาจากงานสไตล์ Cartoon Network ที่มีรูปทรงชัดเจน มองแล้วทำให้รู้สึกได้ว่าตัวการ์ตูนแต่ละตัวมีนิสัยหรือความชอบอะไร”

Kentaro

running against sadness

“เราเคยทำการแจก NFT หนึ่งชิ้น โดยมีเงื่อนไขว่าให้เสนอไอเดียของคอลเลกชั่นต่อไป อันไหนที่ได้รับเลือกเราจะแจก แต่ให้สิทธิเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของคอลเลกชั่นเท่านั้น
“การแจกครั้งนั้นมันทำให้คอลเลกชั่น Running Agaist Sadness ขาย second sell ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร อาจเป็นเพราะคอลเลกเตอร์เริ่มเห็นว่าการเป็นเจ้าของคอลเลกชั่นจะทำให้เขาได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ ของเรามากขึ้น หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าคนเห็นคาแร็กเตอร์ตัวที่แถมแล้วชอบก็เลยตามไปซื้อตัวเก่าๆ ก็ได้
“ซึ่งตัวที่แถมก็คือลุง Kentaro นี่แหละ ถ้าดูแบบเคลื่อนไหวจะเห็นว่าปลาดิบบนซูชิมันลอยได้ เหมือนลุงกำลังปั้นซูชิอยู่”

AUTHOR