It takes two to tango : สตูดิโอเสื้อผ้าของฝาแฝดที่ใช้ดนตรีจากแผ่นเสียงเป็นวัตถุดิบ

SOUNDTRACK OF MY LIFE

เสียงเพลงจากแผ่นเสียงไวนิลของดีไซเนอร์สองพี่น้องฝาแฝด เอ-สุพัตรา และบี-สุภลักษณ์ ศรบรรจง ได้เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ It takes two to tango ของทั้งคู่เมื่อไรไม่มีใครรู้

สองพี่น้องรู้เพียงแต่เสียงเพลงเหล่านั้นได้แทรกซึมเข้ามาในชีวิตตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียน “เราสองคนชอบฟังเพลงตั้งแต่สมัยเรียน ชอบดูรายละเอียดในแผ่นเสียง เทป จนกระทั่งโลกดนตรีเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคยูทูบ เราก็ยังชอบแผ่นเสียงกับเทปอยู่ดี เพราะชอบความตั้งใจของคนดีไซน์ปกเทป เรื่องราวเบื้องหลังว่าทำไมต้องเป็นปกดีไซน์แบบนี้ มีรายละเอียดด้านในแพ็คเกจที่ต้องเปิดอ่าน เราชอบอ่าน ชอบรายละเอียดอะไรแบบนี้”

หลังบีลาออกจากงานเอเจนซี่โฆษณา โบกมือลาชีวิตสาวเมือง กลับมาใช้ชีวิตธรรมดาง่ายๆ พร้อมตามหาสิ่งที่รัก โดยออกเรียนรู้งานศิลปะและภูมิปัญญาไทยประยุกต์อย่างการทอผ้า การย้อมครามกับคนท้องถิ่นในจังหวัดสกลนคร ทดลองทำงานย้อมสีด้วยวัตถุดิบธรรมชาติ ตั้งแต่มะเกลือ ประดู่ และหูกวาง ตลอดจนงานปักผ้า

“ตอนเริ่มทำเรารู้สึกว่าตลาดครามกำลังแข่งขันสูงมากๆ เลย มีแต่คนย้อมคราม มีแต่คนทำงานปัก แต่พวกเราเรียนมาสิบคืนครูไปซะเกือบหมด (หัวเราะ) คือไม่ได้เรื่องสักอย่าง แต่กลายเป็นว่าพวกเราก็เอาไอ้ความที่เป็นทุกอย่างแต่ไม่สุดสักอย่างนี่แหละมาสร้างงาน แล้วก็มีเสียงเพลงที่พวกเราชอบฟังเป็นแรงบันดาลใจการคิดคอลเลกชันต่างๆ”

SOUNDTRACK OF MY WORK

ทำเสื้อผ้าอย่างที่อยากใส่ ปักลวดลายลงไปอย่างภาพที่เกิดขึ้นในหัว ร่างภาพในหัวออกมาอย่างที่รู้สึกกับเพลงที่ฟังจากเครื่องเล่นไวนิลตัวโปรดประจำบ้าน ถือเป็นกระบวนการทำงานหลักๆ ของสองพี่น้องเอและบี

อย่างคอลเลกชัน Frida Kahlo ทั้งคู่ก็หยิบเอาเพลง Burn It Blue เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ดึงเอาสีน้ำเงินและสีขาวมาใช้ ตีความฟรีดาจากชีวิตรันทดในบทเพลง ความสัมพันธ์ love-hate relationship กับ Diego Rivera ศิลปินชาวเม็กซิกัน สามีของเธอ หรือเสื้อกล้ามสีรุ้งคอลเลกชันแรกๆ ของทั้งคู่ก็หยิบเอาเพลง Sing Me A Rainbow มาต่อยอดเป็นด้ายย้อมสีธรรมชาติหลากสีปักลงไปบนผ้าทอมือใยกัญชงตามใจต้องการ แม้จะไม่มีใครเข้าใจก็ตาม

“แผ่นเสียงมันเป็นวงกลมหมุนไปได้รอบ เราก็จะหมุนวนอย่างอิสระภายในแผ่นเสียงนี้ แต่จะไม่เละเทะสะเปะสะปะออกนอกวงกลมแบบแต่ก่อน เราเอาแรงบันดาลใจมาแค่หนึ่งเพลงแล้วตีความ ไม่ใช่การตีความแบบแปลตามเนื้อเพลง”

“อย่าง Burn It Blue เราเลือกใช้สีขาวกับสีน้ำเงินซะส่วนใหญ่ เราอาจจะดึงสีของเนื้อเพลงกับซาวนด์ของเพลงที่รันทดมา แต่ไม่ใช่การที่เราแปลเนื้อเพลงออกมาเป็นงาน เราใช้วิธีฟังเพลงแล้วนึกถึงอะไร เรานึกถึงฟรีดา งานศพของฟรีดา นึกถึงการปลดปล่อยความทุกข์ทรมาน”

บี คนน้อง คือผู้ซึมซับบทเพลงเข้าไปในห้วงความคิด แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพลงบนสมุดสเกตซ์ บางครั้งก็ร่างลงบนตัวเสื้อทรงชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เอผู้พี่เป็นคนเลือกสรร บางครั้งก็วาดลงไปบนผืนผ้า ต่อจากนั้น เอจะเลือกเส้นด้ายสีธรรมชาติให้เข้ากับแบบที่บีเตรียมไว้ นำดีไซน์จากจินตนาการของน้องสาวมาจัดวางบนเครื่องแต่งกาย แล้วส่งชิ้นงานกลับไปให้บีอิมโพรไวส์ต่อ กลับไปกลับมาแบบนี้เป็นประจำ นี่คือกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานของฝาแฝดคู่นี้ที่เราประทับใจ

SOUNDTRACK OF MY ROOM

เราเดินตามเสียงเพลงจากแผ่นเสียงไวนิลเก่าผ่านซุ้มประตูน่ารักด้วยผ้าถักลายลูกไม้สีสันสดใสสู่ห้องทำงานสีขาวของบี วินาทีที่เราเดินไปถึง แสงอาทิตย์ได้สาดส่องผ่านหน้าต่างบานเกล็ดเข้ายังตัวอักษรไทยเรียงเป็นวลีอบอุ่น ‘สองคน’ บนผนังด้านใน

“เราสองคนชอบเดินตลาด มีตลาดที่ไหนก็จะไปหมด ตอนนั้นเราเดินไปเจอคนขายตัวอักษรเก่า แล้วทีนี้เขาให้ลองเรียงคำเล่นๆ เราก็เลยลองเรียงเป็นคำนี้ แล้วซื้อกลับมาเก็บไว้เฉยๆ เพราะอยู่กันหลายคน มีน้องชายอยู่ด้วย พอเขาย้ายออกไปเหลือแค่เอกับบีเลยหยิบออกมาติด (หัวเราะเขิน)”

ผนังอีกฝั่งมีโต๊ะไม้ตัวเก่าของคุณพ่อ บีเล่าว่าถึงจะดูเทอะทะไปหน่อย แต่น่ารักน่าเอ็นดูเมื่อมาอยู่ในห้องทำงานของบี

“เราเป็นคนรักของ เก็บของ ไม่อยากทิ้ง เพราะมันมีความทรงจำอยู่ อย่างเจ้าโต๊ะตัวนี้เป็นโต๊ะทำงานของคุณพ่อ ตอนนั้นเราไม่รู้จะทำไงกับเจ้าโต๊ะตัวนี้เหมือนกัน เพราะใหญ่ก็ใหญ่ เทอะทะก็เทอะทะ เลยเก็บไว้ชั้นบนมาตลอด แต่พอถึงวันที่ต้องการสเปซใหญ่ๆ ไว้ทำงาน ต้องการโต๊ะสีสะอาดตาแต่มีร่องรอยความทรงจำ โต๊ะคุณพ่อก็ตอบโจทย์เรา” บีเล่า

“ส่วนเก้าอี้ เราก็ไปลองนั่งเก้าอี้ของพี่เอแล้วพบว่านั่งสบายมาก (หัวเราะ) เลยขอพี่เอมา ส่วนใหญ่ในห้องก็จะมีตู้กับข้าวเต็มไปหมด แต่เราเอามาใช้เก็บวัตถุดิบทำงาน เก็บผ้า เก็บชุดแทน แล้วด้านบนตู้ก็เอาไว้วางวิทยุ วางเครื่องเล่นแผ่นเสียง แล้วก็เหล่าตุ๊กตาทำมือซึ่งเป็นตัวแทนน้องๆ ที่อยู่เบื้องหลังการตัดเย็บแพตเทิร์นเสื้อผ้า อยากใส่ตัวละครเหล่านี้ไว้ในชีวิตเรา ห้องเรามีตุ๊กตาทีมงานทั้งหมด 7 คน ตอนเราไปออกงานที่เชียงใหม่ครั้งแรกก็พาเขาไปด้วย กลับมาบ้านก็เอามาอยู่ด้วย”

ไม่ใช่แค่บรรยากาศห้องที่บอกเล่าเรื่องราว แต่ข้าวของบนโต๊ะก็บอกเล่าความเฉพาะตัวของงานที่ทำเช่นกัน

“สิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะคือปากกาวาดผ้าซึ่งลบได้ด้วยไอน้ำ เรามีสองสี ดำกับแดง เราไม่สามารถใช้เมจิกสีเขียนได้ เพราะเวลาโดนแดดไม่นานสีก็หาย ส่วนพวกปากกาปากแหลมสำหรับเขียนบนผ้าก็ไม่เหมาะกับเนื้อผ้าเรา เนื่องจากผ้าธรรมชาติจะมีรอยห่างเยอะจำเป็นต้องใช้ปากกาหัวมน ตัวปากกาลบด้วยไอน้ำมีหัวมนทำให้เนื้อผ้ายังอยู่ดี วาดติดดี อยากจะลบเราก็เอากาต้มน้ำกาแฟร้อนๆ วาง หรือไม่ก็เอาเตารีดรีดลบออกหายไปหมด แต่ปัญหาของตัวนี้คือหมึกหมดเร็วมาก เสื้อตัวหนึ่งอาจต้องเขียน 2 – 3 แท่ง บนโต๊ะเลยมีปากกาเยอะมาก”

“นอกจากอุปกรณ์ทำงาน ก็จะมีของที่ไม่เกี่ยวกับงานปนอยู่ ขาดไม่ได้จริงๆ (หัวเราะ) เพราะเราชอบไปเดินตลาด โต๊ะเราเลยจัดเหมือนเป็นตลาดนัดเล็กๆ เอาของที่ได้จากเพื่อนๆ ของสะสมมารวมๆ ไว้”

เมื่อบีเขียนแบบลงบนเสื้อผ้าเสร็จ เธอก็จะเดินเอาชิ้นงานไปให้พี่สาวช่วยดูและสานต่อในห้องทำงานเอนกประสงค์ ซึ่งจัดวางด้วยโต๊ะไม้สักตัวเก่ายาวกว่า 2 เมตรกลางบ้านเป็นพื้นที่ที่สองพี่น้องมักมานั่งทำงานตัด เย็บ และลงมือปักผ้าด้วยกัน มีประตูเปิดโล่งออกสู่ธรรมชาติ รับอากาศสดชื่นจากสวนที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกไว้เต็มที่

“โต๊ะจำเป็นต้องใหญ่เพื่อปูและวัดผ้าได้เต็มผืน มีลิ้นชักเล็กๆ ซ่อนอยู่เอาไว้เก็บอุปกรณ์ต่างๆ จริงๆ เราสองคนก็จะมาช่วยกันปักผ้าตรงนี้ เช้ามาก็เริ่มละ ปกติบีเขาจะเปิดเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไวนิล”

ชุดน้ำชา ขนมทานเล่น ผลไม้สด กองกระดุม ผ้าทอมือผืนใหญ่ กรรไกรตัดผ้า สายวัดตัว เศษผ้าใบกัญชงที่เหลือจากการตัดชุด และด้ายย้อมสีธรรมชาติ คือสารพัดข้าวของที่เรียงรายบนโต๊ะนี้

“สำหรับเราพื้นที่ทำงานสำคัญกับความรู้สึกในการทำงานมากนะ เราสองคนเป็นคนที่ชอบตื่นมาแล้วใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีต้นไม้ มีกระรอก มีนก ซึ่งพวกเขาจะมากันเป็นเวลา ยิ่งหลังจากเราตัดสินใจออกจากงานประจำในเมืองมาทำงานที่รักที่บ้าน ชีวิตเราเย็นลงมาก อารมณ์เรานิ่งขึ้น แทบจะไม่ค่อยมีอะไรมากวนใจให้รู้สึกลบๆ ไม่ต้องฝ่ารถติด อยู่กับกระรอกกับต้นไม้ในบ้าน เปิดเพลงที่เราอยากฟัง เหนื่อยก็พัก”

“แต่บางครั้ง Work-life balance ก็เสีย (หัวเราะ) ทำกันจนดึกดื่นเพราะมีคนรองานเราอยู่เยอะมาก ต้องรีบทำ ช่วงออกแฟร์บ่อยๆ ก็จะทำงานกันหนักมาก แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่เราจะสโลว์ดาวน์ทุกอย่าง เตรียมออกเดินทางเพื่อไปค้นหาแรงบันดาลใจในคอลเลกชันใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้อะไรกลับมาบ้าง” เอส่งยิ้มหวาน ก่อนบอกให้เราหลับตาลง “หลับตาก่อน ยื่นมือออกมา (หัวเราะเขิน)”

เราลืมตาขึ้นพบเข็มกลัดของฟรีดา คาร์โลห์ขนาดเท่าฝ่ามือ “จำได้ไหม พี่เคยบอกเราว่าของที่เราทำมันเลือกคนที่จะอยู่”

ไม่ใช่แค่ข้าวของที่เลือกคน แต่คนก็สามารถเลือกสถานที่ที่ใช่ให้กับงานที่รักได้เหมือนกัน

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR