กตัญญู สว่างศรี – ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองก่อน แล้วคนอื่นจะพร้อมยืนไปกับเรา

04

วางแผนสร้างตัวตนบนโลกโซเชียล

จานเซรามิกตรงหน้าว่างเปล่า
ซูชิ ปลาดิบ และโรล ที่เราละเลียดกินด้วยกันหมดลงแล้ว เหลือแค่แผ่นขิงดอง 2 – 3 ชิ้นที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจนักนอนแผ่อยู่ริมขอบจาน
ข้างกันเป็นชาเขียวร้อนที่ค่อยๆ เย็นตัวลง

เราถามยูว่าจะสั่งขนมเพิ่มไหม
ยูส่ายหน้าบอกไม่เป็นไร
เขากำลังสนุกกับการเล่าถึงแผนพีอาร์บนโลกออนไลน์ที่กำลังทำอยู่
เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทั้งสปอนเซอร์และผู้ชมได้รู้จักและสนใจงาน The Man Who Stand Up เดี่ยวไมโครโฟนเต็มรูปแบบที่เขาตั้งใจจัดขึ้น
รวมทั้งจดจำเขาได้ในฐานะ
‘สแตนด์อัพคอเมเดี้ยน’ คนล่าสุดของประเทศไทย

และสถานที่ที่ยูปักหมุดไว้ก็คือ
โลกโซเชียล

“มันคือการมองภาพกว้างๆ ก่อนว่า เราน่าจะทำอะไรกับใครบ้าง แต่พอลงมือทำ
กระบวนการมันเปลี่ยนแปลงเกือบตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความสนใจของคนดูตอนนั้นด้วย
และผมเองก็เปลี่ยนแปลงตลอด

“ทราย-วิไลลักษณ์ โพธิ์ตระกูล ซึ่งเป็นเพื่อนที่คอยช่วยดูแลงานโปรดักชันกันมาตั้งแต่งานก่อนๆ
จนถึงงานนี้จะรู้และอดทนกับผมมาก เพราะผมกังวลทุกเรื่อง
มันสัมพันธ์การรับรู้ของคน กับโพสิชันที่เราจะนำเสนอตัวเองออกไป
หรือแม้แต่ยอดตั๋ว ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม ช่วยเสนอว่าเอาโปสเตอร์ไปแปะรถเมล์หรือคอนโดไหม
ผมคิดว่ามันก็ไม่เลวนะ แต่เราต้องคิดว่าเราอยู่ที่จุดไหน
เป้าหมายตรงกับสิ่งที่คนจะเห็นไหม”

ในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ที่ทุกคนสามารถสร้างตัวตนกันอย่างง่ายดาย
บางคนเลือกทำจากเนื้อหาที่น่าสนใจ บางคนกระหน่ำถ่ายคลิป แต่สำหรับยู
เขาเริ่มวางแผนพีอาร์จากการกำหนด objective งานที่ชัดเจน
กำหนดวันและเวลาตามไทม์ไลน์ในมีเดียต่างๆ รวมทั้งดึง blogger, influencer และ micro influencer เข้ามาช่วยเชียร์
ผสมกับคอนเทนต์ที่เขาทำขึ้นเองโดยแบ่งเนื้อหาที่อยากบอก ออกเป็นเฟสตามระยะเวลา

เฟสที่หนึ่ง-ยูมองว่าเริ่มต้นคนต้องเห็นก่อนว่าเขากำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่
เขาจึงเน้นการเล่าเรื่องความฝันและความมุ่งมั่นที่จะจัดงานเป็นหลัก

เฟสที่สอง-ถ้าบอกแต่ความฝันก็อาจเฝือ และคนดูอาจสงสัยว่าจริงๆ หมอนี่ทำอะไรอยู่กันแน่
เฟสนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่จะทำให้คนเห็นสิ่งที่เขาทำ นั่นคือ การเล่าเรื่อง
ความกวนและความสนุก ถ่ายทอดออกมาให้คนดูเห็นภาพชัดเจนขึ้น
โดยใช้วิธีการหยิบจับสิ่งที่สังคมกำลังสนใจมาล้อเล่นและสนุกไปด้วยกัน เช่น
การหยิบภาพและ CI (Corporate Identity) ของ TED Talks
มาปรับล้อเป็นโปสเตอร์ขายบัตร หรือการรับสมัครทีมงาน 12 คน ด้วยแคมเปญ AKU 12
ล้อเล่นกับกลุ่มไอดอลสาวสุดดัง BNK 48
ซึ่งทำให้เกิดยอดแชร์ต่อเพราะถูกใจหลายคน ซึ่งกิมมิกเหล่านี้จะทยอยมาอีกเรื่อยๆ
ยูบอกอย่างนั้น

เฟสสุดท้าย-เฟสนี้จะเป็นโค้งสุดท้ายก่อนถึงงาน
เป็นสิ่งที่ยูซ้อมมาเพื่อให้คนดูได้เห็นมุกตัวอย่างก่อนจะได้ดูของจริงกันแบบเต็มๆ
บนเวที

นอกจากนี้ยังมีมิตรสหายในสื่อต่างๆ
ที่คุ้นเคยกันดียังคอยช่วยกระจายข่าว ทำให้เราได้เห็นหน้าของยูและข่าวของ The
Man Who Stand Up ในโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง

เรื่องโรมานซ์ระหว่างแบรนด์และผม

ในขณะที่หลายคนไปไม่ถึงฝัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาหาฝันปลายทางไม่เจอ
แต่เพราะขาดแรงสนับสนุนให้ไปถึงจุดนั้น ไม่ว่าแรงกาย แรงใจและแรงเงินล้วนเป็น must have ที่ขาดไม่ได้
แล้วสแตนด์อัพคอเมเดี้ยนหน้าใหม่ที่ดันพกงานสเกลใหญ่ไว้ในกระเป๋า
จะไปหาแรงสนับสนุนขนาดนั้นจากที่ไหน

“เคล็ดลับก็คือ ‘คอนเนกชัน’ สำหรับผมคอนเนกชันที่ใช่มันจะเกิดจากความจริงใจและเกิดจากจังหวะที่ใช่
จังหวะแรกคือจังหวะที่เรามีโอกาสสนทนากันอย่างสบายปลอดโปร่ง
มีความสนใจซึ่งกันและกัน
จังหวะที่สองคือจังหวะที่เราจะได้แสดงศักยภาพหรือของบางอย่างให้เขาเห็น
เรื่องแบบนี้คงต้องไปหาจังหวะกันเอาเอง ผมว่าผมเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนะ
ถึงแม้ว่าจะดูเหยอมาก แต่ผมไม่เคยคิดจะไปข่มใครหรือคิดว่ากูเจ๋ง เวลาเจอใครผมก็สวัสดีครับพี่
ผมจริงใจแมนๆ ถ้าไม่ชอบใครผมก็หนี ถ้าชอบผมก็คุย แต่ถ้าชอบแต่เราไม่รู้จัก
ผมก็ไม่ไปเสนอหน้า มันอยู่ที่จังหวะในการคุย”

และดูเหมือนยูจะหาจังหวะของตัวเองได้ถูกที่ถูกทาง
การหอบพรีเซนต์และแผนพีอาร์ที่เตรียมไว้ไปเสนองาน The Man Who Stand Up จึงสำเร็จด้วยดี
เขาได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์รายใหญ่มากมาย ชนิดว่าเด็กใหม่ทั่วไปคงไม่กล้าฝัน

“ผมประทับใจ U Beer มาก เพราะเขาบอกว่า
สิ่งที่เขาต้องการและสำเร็จจากโชว์นี้ คือ “คุณดัง
เราต้องการแค่นั้นแหละ เราไม่ได้อยากจะขายเบียร์” โอ้โห โคตรเท่เลย
ผมว่าดี ผมก็อยากดังและไม่ได้อยากขายเบียร์เหมือนกัน” ยูเล่าติดตลก
และอาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ดีเมื่อชื่อยูเข้ากับผลิตภัณฑ์ของลูกค้าเฉยเลย

“ชื่อเรากับเขาแมตช์กัน
กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน มันเกิดเพื่อซึ่งกันและกัน” ยูหัวเราะชอบใจ

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เก๋าอย่าง
โก๋แก่ ที่มาดูยูแสดงตั้งแต่งาน A-Katanyu 30
ปีชีวิตห่วยสัส และเป็นผู้สนับสนุนในงาน A Katanyu
and Friends One Night Stand (Up) แน่นอนงานนี้โก๋แก่ก็ไม่พลาด
แถมการพูดคุยนำเสนอโปรเจกต์ยังเป็นกันเองเหลือเชื่อ
เพราะสถานที่นัดพบของยูและตอง-กฤษดา รวยเจริญทรัพย์ ผู้บริหารหนุ่มของโก๋แก่ คือ
ร้าน Maid Cafe สุดกุ๊กกิ๊กแห่งหนึ่งในห้างมาบุญครอง

“มันเป็นบรรยากาศที่ตลกมาก
คือเราใส่หูกระต่ายคุยงาน คุยเรื่องลูกพี่ตอง คุยเรื่องเงิน กินข้าวกัน
เสร็จแล้วถ่ายรูปกัน”

นอกจากนี้ยังมีค่ายมือถือยักษ์ใหญ่อย่าง AIS และบริษัทคอมพิวเตอร์ Dell ที่แสดงความเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ รวมทั้งคุณเอก-ชยานันต์ เทพวนินกร
กรรมการผู้จัดการโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ที่ร่วมสนับสนุนและช่วยเหลือ

“ผมต้องขอบคุณคนพวกนี้มากๆ
ผมตอบไม่ได้หรอกว่าทำไมเขาถึงเชื่อ ผมว่าแม่งโคตรเสี่ยง เขาน่าจะสติไม่ดี
(หัวเราะ) หรือดูหนังแบบ Jerry Maguire มากไปหน่อย หรือหนังแบบรอมคอม หรือเขาอาจจะไม่ได้เชื่อแต่เขากำลังอยู่ในโรมานซ์
เป็นหน้าที่ของผมเองที่ต้องพยามทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้โรแมนซ์ไปเอง
แต่มันเกิดขึ้นจริง”

มองไปไกลๆ
แล้วก้าวต่อไปไม่หยุด

นอกจากการเตรียมบทและการแสดงสำหรับงานวันจริง
ยูยังมีความตั้งใจสำคัญอีกอย่างคือ การทำ
Stand
Land
สารคดี Making Of ของงาน The Man
Who Stand Up ซึ่งตั้งชื่อและกำกับโดย ‘มันดา เอช (กานต์ หงษ์ทอง) นักเขียนหนุ่มที่มีประสบการณ์ด้านงานเขียนหนังสือและบทละคร มาร่วมทำด้วย

ยูบอกว่า ไอเดียของ Stand
Land คือดินแดนที่อยากสร้างใหม่ หนังจะเล่าเรื่องการทำสแตนด์อัพของเขาและสัมภาษณ์บุคคลอื่นๆ
ที่พยามจะทำเพอร์ฟอร์มานซ์นี้
ซึ่งกานต์ ‘มันดา เอช ก็จะทำโชว์ของตัวเองด้วยเช่นกัน ส่วนคนอื่นจะค่อยๆ ทยอยติดต่อไป
ในปลายทางสุดท้าย เขาหวังว่ามันจะนำไปสู่อีเวนต์ที่มีการฉายหนัง
ผสมไปกับการจัดแสดงเพอร์ฟอร์มานซ์ต่างๆ ซึ่งอาจจัดขึ้นปีหน้าหลังโชว์ครั้งนี้จบ

“มองกลับไป ผมผ่านความดื้อดึงดัน ความไม่รู้
ความไม่ลงตัว ของตัวเองหลายอย่าง แต่ถ้าคุณดื้อแล้ววันนึงคุณค้นพบความคิด
พบสิ่งที่มันลงตัว ผมว่าความดื้อมันก็ทำให้คุณได้อยู่กับสิ่งที่คุณอยากทำจริงๆ
และยิ่งถ้าคุณโตไวๆ คุณจะหลอมรวมไปกับโลกแล้วใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
มันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่คุณเคยอยากจะเป็น แต่ตัวผม
ผมรู้สึกว่าการทำสแตนด์อัพคอเมดี้กลายเป็นจุดร่วมของทั้งหมดที่ผมเคยอยากจะเป็น
ถ้าต้องให้คะแนนความชอบตัวเองตอนนี้ ผมขอให้เต็ม 10 เลย เพราะนี่เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด
รู้สึกว่าตัวเราทำอะไรเกินคาดไปเยอะ”

แสงไฟในร้านซูชิที่เราสองคนนั่งอยู่ค่อยๆ
สลัวลง โดยไม่ทันรู้ตัว ทั้งร้านเหลือแค่เรากับพนักงานที่เริ่มเก็บข้าวของเพื่อปิดร้าน
อาหารมื้อนี้ทำให้อิ่มท้อง
แต่บทสนทนาของมื้อนี้กลับทำให้เรารู้สึกหิวโหยอย่างประหลาด เราบอกลากันและแยกย้าย
ปล่อยให้ยูไปทำงานต่อ

อาจถึงเวลากลับไปคิดว่าเราเองก็คงต้องยืนหยัดเพื่ออะไรสักอย่างแล้วเหมือนกัน

Before I stand up บทความ 4 ตอนจบเล่าเบื้องหลังการทำเดี่ยวไมโครโฟนของ กตัญญู สว่างศรี นักเขียนและพิธีกรผู้กล้าหาญจัดงานเดี่ยวไมโครโฟนของตัวเอง เขาเคยจัดงานขนาดเล็กชื่อ A-Katanyu 30 ปีชีวิตห่วยสัส และ One Night Stand Up ซึ่งจัดร่วมกับเพื่อนผู้หลงใหลการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน เขากำลังจะจัดงานเดี่ยวไมโครโฟนครั้งใหม่ A-KATANYU The Man Who Stand Up ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน วันที่ 22-23 กันยายน ดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/akatanyu

AUTHOR