กตัญญู สว่างศรี – แปรรูปความฝันและความคิดให้มีชีวิตจริง

03

จักรวาลในใจของเราเอง

ไข่ปลาแซลมอนสีส้มสดใส มันวาว ชวนให้เราเพ่งมองใกล้ๆ
ก่อนจะใช้ตะเกียบคีบทีละเม็ดไข่เข้าปากอย่างบรรจง ที่นั่งฝั่งตรงข้ามเราคือ ยู-กตัญญู สว่างศรี ในเสื้อยืดลายขวางสีขาวดำตัวเดิม
เขาอมยิ้มทะเล้นก่อนเอ่ยขึ้นว่า “ผมมีความลับของจักรวาลมาบอก”

ตกใจเบาๆ เหมือนถูกชวนขายคอร์ส แต่ไม่ใช่ ยูกำลังเล่าถึงวันที่เขาได้นั่งข้างๆ
ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง
บนโซฟาของร้าน The
Never Ending Summer เมื่อหลายปีก่อนต่างหาก วันนั้นด้วงขยับมาข้างเขาแล้วบอกว่า
จะบอก ‘ความลับของจักรวาล’ ให้ ถึงจะงงๆ แต่ยูก็ตั้งใจฟังเต็มที่

ความลับคือ “ให้มองรอบๆ ตัวว่าคุณทำอะไรได้บ้าง
มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดจากสิ่งนั้น พอเจอแล้วให้คิดขั้นตอน 1- 10 ว่าต้องทำอะไรบ้างแล้วลงมือทำ
มันจะเกิดผลแน่นอน”

ยูคีบโรลใส่ลงจานก่อนเสริมว่า
เคล็ดลับเพิ่มเติมที่ด้วงบอกไว้ก็คือ
ต้องเห็นให้ชัดทั้งหมดว่าสิ่งที่คุณกำลังทำมีอะไร เช่น ถ้าจะทำโรงแรม พรมโซฟา เก้าอี้ ทุกอย่างเป็นยังไง
ยิ่งชัดเท่าไหร่จะยิ่งถึงปลายทางได้ชัดเจนขึ้น และความลับนี้เองที่ช่วยให้ยูเห็นภาพ
The Man Who Stand Up สแตนด์อัพคอเมดี้เต็มรูปแบบที่เขากำลังจะจัดขึ้นจริงในเดือนกันยายนนี้

“ผมไปดูสถานที่ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ตอนแรกเลือกไปดูส่วน The
Playhouse จุได้ประมาณ 200 – 300 คน แล้ววันนั้นมันไม่ว่างมั้ง
ผมเลยขึ้นไปดูส่วนของ The
Theatre ซึ่งเป็นโรงละครขนาด 1,069 ที่นั่ง โมเมนต์ที่ยืนบนเวทีหันหน้าเข้าผู้ชมที่ยังเป็นเก้าอี้ว่างเปล่าตรงนั้น
จู่ๆ ผมก็รู้สึกว่าเชี่ย มันเป็นไปได้ เหมือนมันมีเสียงบอก
อาจเป็นเสียงมโนหรือความเพี้ยนแต่ลึกๆ ในใจผมรู้ตัวเองแหละว่าแม่งเป็นไปได้
ผมแน่ใจแล้วว่า กูจะทำตรงนี้”

ยูปรับแนวคิดนี้มาใช้กับทุกอย่างในชีวิต
เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ตัวเองเหมือนอยู่ในป่าแล้วออกล่าไปเรื่อย “เป็นเหมือนเสือที่หิวก็กิน
วิ่งไปหากลุ่มกวางที ไปกินหมูป่าที” เขาว่างั้น
จนวันนึงเกิดวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ที่สามารถจัดเสบียง จัดสรรและจัดโครงสร้างต่างๆ
จนทำให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการเรียบเรียง
เกิดจากการคิดและเกิดจากความตั้งใจมากๆ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จด้วยการไปทีละขั้น

พลังงานมีขีดจำกัด โฟกัสให้ดี

อาหารบนโต๊ะทยอยหมดลงเรื่อยๆ
รสชาติของปลาดิบและขิงดองดูจืดไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่ยูเล่า เขาว่าสำหรับเขาจังหวะชีวิตในวัย 30 – 40 ถือเป็นจุดที่ควรเรียนรู้มาประมาณนึงแล้วว่าจะจัดการกับพลังในตัวเองยังไง
ยิ่งถ้าเจอเป้าหมายก็จะยิ่งทำให้โฟกัสได้ถูกจุด

“โฟกัสเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับทุกคน
โดยเฉพาะยุคสมัยนี้ที่มันสับสนเหลือเกิน คนทำอะไรก็ได้ ทุกคนมีโอกาสนะผมว่า
แต่การโฟกัสจะทำให้รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ โดยเฉพาะในวัย 30+ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นหรือเปล่า
แต่ผมรู้สึกว่ามันอยู่ในจุดที่ร่างกายฟื้นฟูตัวเองยากขึ้น อ้วนง่ายขึ้น
มันไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แต่ก็แข็งแรงอยู่ และยังไม่ได้อ้วนง่ายขนาดนั้น ที่แน่ๆ
สภาพร่างกายเราไม่ได้มีพลังล้นเหลือเหมือนเดิม พอทำสแตนด์อัพคอเมดี้ ผมเลยอยากใช้ความคิดมากขึ้นในการบริหารพลังงานที่จำกัดให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

ยูบอกว่าโดยเนื้อแท้เขาไม่ใช่คนขยันอะไรแต่ที่ทำเพราะสนุก
ทำอีกก็สนุกอีก แต่ความจริงก็คือ
เขาไม่ใช่เด็กหนุ่มที่จะออกไปทำความฝันโดยที่ไม่ต้องแบกรับอะไร
เขาเลยพยายามจัดสรรไปตามสิ่งที่ทำได้และทำไหว
รวมทั้งตั้งใจว่าถ้าจะจัดงานต้องหาเงินมารองรับ
ต้องไม่เดือดร้อนและต้องได้กำไรจากมัน นั่นแปลว่าเขาต้องวางแผนอย่างจริงจังทั้งการประชาสัมพันธ์
ขายบัตร วิ่งหาลูกค้า รวมทั้งงานเอกสารและวางระบบต่างๆ ซึ่งกลายเป็น “งานงอก” เพราะไม่ได้ทำแค่เดี่ยวไมโครโฟนที่ตัวเองชื่นชอบอย่างเดียวเสียแล้ว

“ผมมองว่าทุกๆ ความฝัน ทุกๆ ความสนุก
ทุกๆ เรื่อง เลยนะจะมีสิ่งที่เราไม่อยากทำอยู่เสมอ
ทุกงานมันจะมีสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบผม
ผมว่าชีวิตมันจะเป็นอย่างนี้ไปทั้งชีวิตแหละ
ต่อให้รักใครสักคนมันก็จะต้องเป็นคนที่เราทั้งชอบและไม่ชอบในคนเดียวกัน
ผมคิดว่าสิ่งที่ผมไม่ชอบ ถ้าเทียบกับความสุขที่ได้มา
ผมยอมรับได้ไม่ว่ามันจะเป็นยังไง”

คอเมเดี้ยนที่คิดแบบคนดิจิทัล

เป็นคนอื่นคงฝืดคอไม่น้อย หากรู้ว่างานสเกลใหญ่อย่าง The Man Who Stand Up ครั้งนี้ต้องเตรียมอะไรบ้าง นอกจากบทและทีมโปรดักชันที่ใหญ่ขึ้น (แน่นอนเพื่อนๆ
ยังตามมาช่วยเหลืออย่างเหนียวแน่น) หนึ่งในสิ่งที่ยูมองว่าต้องแตกต่างจากสแตนด์อัพคอเมดี้ครั้งก่อน
คือ ‘การวางแผนพีอาร์’ ที่เคยทำกันแค่หลวมๆ ถึงจะน่าดีใจที่คนมางานจน ‘ร้านแตก’ แต่ครั้งนี้มันไม่พอ

เราเอื้อมหยิบแก้วชาขึ้นดื่ม ชาอุ่นๆ แตะปลายลิ้นก่อนผ่านลงคอ
พร้อมฟังต่อ

“ตั้งแต่เดือนเมษาถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เป็น 3 เดือนที่ผมลงมือวางแผนการขายและประชาสัมพันธ์ และทยอยทำ execution หรือชิ้นงานต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่โชว์
แต่ก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องขอบคุณ บี-สโรจ
เลาหศิริ และ พี่ปอง-จักรพงษ์ คงมาลัย แห่ง Moonshot มาก ผมคิดว่าการที่ผมทำงานเป็น Editor-in-chief ได้เกี่ยวข้องกับงานคอนเทนต์ พีอาร์ การวางมีเดีย มีส่วนช่วยอย่างมากในการวางแผนงานของ The Man Who Stand
Up”

ยูบอกว่า นั่นเพราะโลกของดิจิทัลมีเรื่องเยอะมาก
ทั้งช่องทางและแพลตฟอร์มกระจายเยอะไปหมด
เลยค่อนข้างยากที่จะนำเสนอเรื่องสักเรื่องทั้งที่ยังไม่มีแบ็คอัพเป็นองค์กรใหญ่ๆ
หรือเป็น ‘ผลิตภัณฑ์’ ที่มีคนสนใจอยู่แล้ว
เพราะสแตนด์อัพคอเมดี้เป็นของใหม่ทั้งในแง่การทำงาน
และใหม่ในเชิงผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้ก็หมายถึง ‘ตัวเขา’ เองด้วย

“ถ้าอยากให้คนเห็นและเข้าใจงานนี้ แต่ทำด้วยวิธีการแบบโลกเก่าคือลงข่าวในแมกกาซีน
ผมว่าตายหยังเขียดแน่นอน Moonshot เป็นโรงเรียนที่ผมเรียนมา
มีคำที่บี สโรจ พูดในสไลด์แล้วผมชอบคือสำหรับคนที่มีงบฯ น้อย ท่ามกลางทะเลมหาศาลของมวลชน ถ้าเราโยนหินก้อนเล็กหรืองบก้อนนั้นลงไป มันก็ยากที่จะเกิดแรงกระเพื่อม เราต้องหาถังน้ำของเราให้เจอ
เป็นถังที่เหมาะกับหินของเรา เมื่อโยนลงไปมันถึงจะเห็นผล ซึ่งหมายถึงว่า เราต้องหากลุ่มคนที่จะดูเราให้เจอ
เค้าจะอยู่ตรงไหน คอมมูนิตี้นั้นเป็นใครซึ่งจะเชื่อมโยงกับมีเดียและ Publisher หรือ แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เหมาะสม
เรียกว่าเป็นการมอนิเตอร์โซเชียล แต่ถ้าพูดเป็นภาษาคนที่สุดก็คือ คนเพจไหนจะดูกู
เพจไหนลงข่าวไปแล้วคนสนใจกู แล้วมันก็ทำให้เราแบ่งวัตถุประสงค์ในเรื่องที่เราจะพูด
ออกมาถูกต้อง เช่น เพจนี้เอาไว้พีอาร์ให้คนมาดู เพจนี้เน้นลูกค้าด้านแบรนด์ดิ้ง เพจนี้เน้นผลิตภัณฑ์
เพจนี้สแตนด์อัพ เพจนี้เน้นสร้าง Awareness ให้คนรับรู้และจำเราได้ ฯลฯ
ผมจะตีกรอบเอาไว้เลยว่า อันไหนเป็นตรงกลาง อันไหนเป็นจุดแดงที่ผมต้องถมลงไป
อันไหนเป็นวงกว้างผมก็ค่อยๆ เกาะไป ทำให้คนอื่นเห็นเรามากขึ้น
ผมเองก็ยังทำได้ไม่ดีนักหรอกแต่ก็เท่าที่มีแรง เท่าที่ทำลงไป ผมก็ถือว่าพอใจแล้ว”

ก่อนจะสรุปชื่อ The Man Who Stand Up จริงๆ ยูเขียนไว้หลายชื่อทีเดียว แต่ที่เขาเลือกชื่อนี้ก็เพราะอยากสื่อสารว่า
กำลังมีคนหนึ่งลุกยืนขึ้นมาเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้
มีคนหนึ่งที่ยืนขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่ต่างออกไป เป็นการสื่อสารง่ายๆ
ที่ไม่ต้องตลก

เข้ากันดีกับที่แฟกซ์-คณิตกรณ์ ศรีมากรณ์
มือเขียนบทที่ทำงานร่วมกับยูมาตั้งแต่สแตนด์อัพคอเมดี้ 2 ครั้งแรกและยาวมาถึงครั้งนี้ด้วย พูดถึงยูเอาไว้

“ถ้าคนอื่นทำสแตนด์อัพคอเมดี้ เขาอาจทำเพื่อเล่าเรื่องหรือแสดงเพื่อความตลก
สำหรับผม ผมว่าพี่ยูเขาทำทั้งสองอย่างแหละ แต่สิ่งที่เขายืนหยัดจริงๆ
คือถ้าเขาจะทำอะไรสักอย่าง เขาทำจริงและเขาทำได้
เหมือนเป็นวัยที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างแล้วเลือกทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า
ชีวิตเขากำลังเดินไปข้างหน้า”

ถูกของแฟกซ์ เพราะงานนี้ยูยังคงเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการสร้างคอนเนกชันเพื่อเข้าถึงสปอนเซอร์รายใหญ่แบบที่ไม่เคยมีคอเมเดี้ยนหน้าใหม่คนไหนกล้าคิด
การเตรียมงานและเตรียมตัวยืนหยัดบนเวทีพร้อมรองเท้าคู่ใจคู่ใหม่

ยูเคี้ยวปลาฮามาจิคำนี้เสร็จเมื่อไหร่ เราจะขอให้เขาเล่าต่อ

Before I stand up บทความ 4 ตอนจบเล่าเบื้องหลังการทำเดี่ยวไมโครโฟนของ กตัญญู สว่างศรี นักเขียนและพิธีกรผู้กล้าหาญจัดงานเดี่ยวไมโครโฟนของตัวเอง เขาเคยจัดงานขนาดเล็กชื่อ A-Katanyu 30 ปีชีวิตห่วยสัส และ One Night Stand Up ซึ่งจัดร่วมกับเพื่อนผู้หลงใหลการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน เขากำลังจะจัดงานเดี่ยวไมโครโฟนครั้งใหม่ A-KATANYU The Man Who Stand Up ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน วันที่ 22 – 23 กันยายน ดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/akatanyu

AUTHOR