กตัญญู สว่างศรี – ชายผู้ยืนหยัดกับความฝันบ้าๆ ที่น่าจะเป็นไปได้

01

เสื้อยืดลายขวางสีขาวดำตัวเดิม
โดดเด่นเตะตาตรงหน้า

เจ้าของผู้สวมใส่คือ
ยู-กตัญญู สว่างศรี นักเขียน นักคิด พิธีกรงานอีเวนต์ อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์และเจ้าของโปรดักชันเฮาส์ ผู้ก่อตั้งและจัดรายการ Get
Talks ผ่านทาง Podcast เป็น Editor-in-Chief
ของ Moonshot ดิจิทัลพีอาร์และคอนเทนต์ เอเจนซีที่กำลังมาแรง
และนิยมใส่เสื้อยืดลายขวางสีขาวดำ
ถึงขั้นมีเสื้อแบบคล้ายกันสะสมอยู่เป็นสิบตัวในตู้

ด้วยอายุแค่
31 ปี เขาทำทุกอย่างที่ว่ามาด้านบน
และทำให้ผู้คนจดจำตัวเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจากการใส่เสื้อซ้ำ
จากฝีไม้ลายมือในการทำงาน จากบุคลิกยียวนแต่เป็นมิตร
หรือจากฝีปากในการเล่าเรื่องและสร้างบรรยากาศพิเศษที่สามารถเปลี่ยนความเงียบให้เป็นเสียงหัวเราะ

“ทุกครั้งที่ผมได้ขึ้นไปเป็นพิธีกร ได้เล่นมุก ได้โชว์
ฟีลลิ่งแม่งโคตรดีเลย” ยูว่าพลางคีบซูชิเข้าปาก

เรานั่งคุยกันในร้านแห่งหนึ่งใจกลางเมือง
ไม่มีใครอื่นนอกจากพนักงาน วันนี้ยูมีคิวงานทั้งก่อนและหลังที่เรานัดพบกัน
ชวนทึ่งว่าจะทำอะไรเยอะแยะนักหนาชีวิตนี้

หลายคนอาจทราบแล้วว่า ยูเคยจัดสแตนด์อัพคอเมดี้ครั้งแรกในชีวิตชื่อ A-Katanyu และอีกครั้งถัดมาไม่นานในชื่อ A-Katanyu & Friends ซึ่งแสดงร่วมกับมิตรสหายอื่นๆ และในอนาคตอันใกล้มากนี้ เขากำลังจะจัด ‘The Man Who Stand Up’ สแตนด์อัพคอเมดี้ครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตในโรงละครใจกลางกรุงเทพฯ เพียงเพราะเคยมีโอกาสไปยืนบนเวทีนั้น แล้วได้ยินเสียงในใจตัวเองดังขึ้นว่า “มันเป็นไปได้ กูจะทำ”

ฟังดูเท่และเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แต่ที่จริงแล้ว ขนาดเจ้าตัวยังให้คำจำกัดความว่ามันคือ “ความฝันบ้าๆ” ไม่ใช่แค่ยืนหยัดในความบ้า เขายังขยายอาณาเขตให้มันกลายเป็น “ความฝันบ้าๆ ที่น่าจะเป็นไปได้”

วันนี้ท่ามกลางปลาดิบ ซูชิ และโรล บนโต๊ะอาหาร

เราขอให้ยูเล่าถึงแนวคิดสำคัญที่ทำให้ผู้ชายธรรมดาๆ คนนึงแถมเคยตกที่นั่ง loser อย่างเขา ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินตัว สิ่งที่เขาเรียกมันว่า ‘ความเหยอ’ (ความเผยอ / ผยอง / กล้าดี) ให้รู้กันไปว่าคนเราจะเอาจริงเอาจังกับความฝัน ความบ้า และความน่าจะเป็นไปได้ ได้สุดขนาดไหน

ของมันมีเชื้อ

โชยุถูกรินจากขวด ละลายก้อนวาซาบิให้เป็นเนื้อเดียวกัน ยูใช้ตะเกียบแกว่งผสมเบาๆ ก่อนเล่าย้อนหลังถึงอดีต

“ทุกคนรู้ดีว่าเวลาประชุมผมชอบกวนตีน”

ไม่ใช่แค่ประชุมหรอก ยูยอมรับว่าตั้งแต่สมัยเรียนเขาอดไม่ได้จริงๆ ที่จะหยอด ล้อ หรือแซว อาจารย์เป็นนิสัย แถมดันชอบเลือกเล่นกับคนที่มีอำนาจที่สุด ซึ่งถ้าจะเจาะลึกสักหน่อย เขาบอกว่าอาจเพราะชอบท้าทายกับอำนาจที่ใหญ่ที่สุด ชอบดึงให้คนคนนั้นลงมาอยู่ในจุดเท่ากัน แต่ขณะเดียวกันก็พยายามจะรักษาบาลานซ์ ไม่โจมตีหรือฉีกหน้าใครจนน่าเกลียด แต่จะทำให้ดูน่ารัก เฮฮา สนุกสนาน ซึ่งนิสัยนี้เป็นเชื้อที่เก็บไว้มานาน โดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่ทันรู้

จนกระทั่งมีโอกาสไปพูดในงาน a book Lecture Show ของสำนักพิมพ์ a book ที่เชียงใหม่เมื่อสองสามปีที่แล้ว ภายในเวลาแค่ 1 ชั่วโมง เขาค้นพบบางอย่างในตัวเองจนถึงขั้นต้องโทรเรียก แซม-พลสัน นกน่วม (แซม นักเขียนจากสื่อออนไลน์ Mango Zero) เพื่อนสนิทที่วนเวียนอยู่แถวนั้นพอดีมาคุยโปรเจกต์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ในหัว

และสิ่งที่เขาคิดก็คือ “สแตนด์อัพคอเมดี้”

“มันมีความห้าวอะไรบางอย่าง มันมี energy บางอย่างที่เราอยากจะปล่อยมันออกมา” ยูบอก

ทั้งที่จริง เขาไม่ได้เป็นแฟนสแตนด์อัพคอเมดี้เหนียวแน่นอะไรขนาดนั้น รู้แค่ว่ามันมีการละเล่นแบบนี้อยู่ แต่เพราะทุกครั้งที่ได้ขึ้นเป็นพิธีกร ได้เล่นมุก ได้โชว์ รวมทั้งการผ่านงานพิธีกรจากหลายๆ จ๊อบ โดยเฉพาะงาน Happening@house ที่นิตยสาร happening จัดขึ้น และมีผู้ชมถึงจะแค่ไม่กี่คนจากจำนวน 500 – 600 คน เดินมาบอกเขาว่าชอบมาก พูดตลกมาก มันยิ่งทำให้เขารู้สึกดีและสนุก

“ปีที่สนุกมากเป็นปีที่พี่วิภว์ (วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ happening) บอกว่าให้คิวพี่พิธีกรอีกคนบ้าง อย่าพูดอยู่คนเดียว ซึ่งเราก็เข้าใจพี่วิภว์นะ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ตอนนั้นแหละมันก็แว้บขึ้นมาว่า เฮ้ย! หรือกูพูดคนเดียวได้วะ”

แต่จากวันที่รู้สึกอย่างนั้น และจากวันที่นั่งคุยกับแซมที่เชียงใหม่

ผ่านมา 2 ปี เขาก็ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรต่อ รู้แค่ข้างในมันมีเชื้อบางอย่างอยู่เสมอ

เราอาจจะมีแค่ชีวิตเดียว

ชาเขียวในถ้วยกำลังร้อนกรุ่น ไอจางๆ
ลอยขึ้นเพราะพนักงานเดินมารีฟิลให้เราเมื่อสักครู่
เราถามถึงความฝันที่คุกรุ่นว่าทำไมถึงไม่เกิดขึ้นจริงในตอนนั้น

หลังจากแยกย้ายกับแซมที่เชียงใหม่
ยูเดินหน้าเป็นฟรีแลนซ์พร้อมกับทำงานส่วนตัวหลายๆ อย่าง
ถึงจะยังเจอแซมอยู่เป็นระยะ แต่ไอเดียที่เคยโยนกันไว้ก็ยังไม่ได้ไปต่อ

“บรรยากาศของประเทศนี้คือ
ไม่มีใครกล้าบอกหรอกว่าตัวเองจะทำแบบเดียวกับพี่โน้ต อุดม พูดกันตรงๆ สแตนด์อัพคอเมดี้มันฟังดูเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้
มึงต้องมีความพิเศษ มีความมหัศจรรย์ ถึงจะเสกเสียงหัวเราะได้ขนาดนั้น”

กว่าจะได้จังหวะที่เขาและแซมตัดสินใจโพสต์สเตตัส
Facebook รับสมัครทีมงาน จนพบกับ แฟกซ์-คณิตกรณ์
ศรีมากรณ์ ที่อาสาเข้ามาเป็นผู้ช่วยเขียนบทก็นานพอสมควร
แถมพอเจอกันแล้วก็ได้แต่นั่งมึนๆ อยู่เป็นชั่วโมง ก่อนจะแยกย้ายหายกันไปอีกครั้ง

“การไม่รู้วิธีทำก็ส่วนหนึ่ง
แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะเรายังไม่กล้าพอ จะเอายังไง จะจัดที่ไหน คือมันไม่มีความรู้
ไม่มีความชัดเจน ไม่ทำก็ได้ ไม่เป็นไร พอคิดว่ายังไม่รีบเลยหายกันไปอีกเป็นปี”

จนกระทั่งวันที่เขาพบจุดเปลี่ยนสำคัญ

ยูบอกว่า
สิ่งที่เปลี่ยนความคิดของเขาไม่ได้เกิดขึ้นจากการอ่านวรรณกรรมระดับโลก
ไม่ใช่การฟังแรงบันดาลใจจากใครอื่น
มันเกิดขึ้นอย่างง่ายดายในวันที่เขาตกงานและขอตังค์แม่กินไอศครีม แต่แม่ไม่ให้
บอกแค่ว่า โอ๊ย กินทำไม เปลือง ถึงจะเป็นการพูดเล่นๆ แต่จังหวะนั้นเขาขำไม่ออก

“ผมน้อยใจชีวิตตัวเอง
แค่ไอติมถ้วยหนึ่งเรายังกินไม่ได้ ขอตังค์แม่ โดนแม่บ่น รู้สึกกระจอกมาก อยู่ๆ
วันนึงผมก็คิดว่าไม่เอาแล้ว ไอ้เหี้ย กูไม่เอาชีวิตแบบนี้แล้ว ชีวิตแม่งอาจจะมีชีวิตเดียวก็ได้ปะวะ
ทำให้แม่งดีดีกว่า อยากกินอะไรก็ต้องได้กิน ซื้อของดีให้แม่ได้
ซื้อของดีให้ตัวเองได้ ต้องมีชีวิตที่ดี เอาแค่นี้ก่อน มันเป็นจุดที่ทำให้ผมโตขึ้น
ถึงจะไม่ได้เป็นแผลใหญ่แต่มันเป็นแผลที่ทำให้เรากระตุกความคิด”

หลังจากหยุดทำโปรดักชันเฮาส์ของตัวเอง ผ่านงานนิตยสารที่ GM และขยับขยายย้ายมาทำงานที่
Moonshot ซึ่งเป็นดิจิทัลพีอาร์และคอนเทนต์เอเจนซี่ได้แค่เดือนเดียว เขาโพสต์สเตตัสประกาศทำ ‘A-Katanyu 30 ปีชีวิตห่วยสัส’
สแตนด์อัพคอเมดี้ครั้งแรกในชีวิตอย่างเป็นทางการ

และคราวนี้ดูเหมือนว่า
ทุกอย่างจะชัดเจนกว่าที่ผ่านมา

Before I stand up บทความ 4 ตอนจบเล่าเบื้องหลังการทำเดี่ยวไมโครโฟนของ กตัญญู สว่างศรี นักเขียนและพิธีกรผู้กล้าหาญจัดงานเดี่ยวไมโครโฟนของตัวเอง
เขาเคยจัดงานขนาดเล็กชื่อ A-Katanyu 30 ปีชีวิตห่วยสัส และ One Night Stand Up ซึ่งจัดร่วมกับเพื่อนผู้หลงใหลการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน เขากำลังจะจัดงานเดี่ยวไมโครโฟนครั้งใหม่ A-KATANYU The Man Who Stand Up ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน วันที่ 22-23 กันยายน
ดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/akatanyu

AUTHOR