ใน Squid Game ซีรีส์เกาหลีแนวเอาชีวิตรอดที่โด่งดังไปทั่วโลก ผู้เข้าเล่นเกมต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อเงินรางวัลมหาศาล มีผู้สมัครเข้าเล่นเกมหลายร้อยคน แต่สิ่งที่สะดุดตาผู้ชมหลายคน (รวมถึงเรา) คือในบรรดาผู้เข้าแข่งขันสัญชาติเกาหลีส่วนใหญ่นั้น ยังมีตัวละครที่พื้นเพไม่ได้เป็นคนเกาหลีใต้อย่าง Ali (รับบทโดย Anupam Tripathi) แรงงานชาวปากีสถาน และ Kang Sae-byeok (รับบทโดย Jung HoYeon) ผู้หลบหนีมาจากเกาหลีเหนือ ปะปนอยู่ในเกมด้วย
ชีวิตของอาลีและคังแซบย็อกบนผืนแผ่นดินใหม่ไม่ได้สวยงาม พวกเขาต้องเจอกับการถูกเอารัดเอาเปรียบ เหยียดหยาม เสี่ยงภัย และอดอยาก สิ่งเหล่านี้ผลักให้พวกเขาตัดสินใจร่วมเล่นเกมที่เดิมพันด้วยลมหายใจของตัวเอง


ซึ่งในความเป็นจริง ก็มีแรงงานต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกันนี้บนแผ่นดินเกาหลีใต้
นายเอ (นามสมมติ) แรงงานต่างชาติเล่าว่า ทันทีที่เขาเหยียบเท้าเข้ามาที่ประเทศเกาหลีในปี 2018 มีคนบอกเขาว่า คนเกาหลีบางคนอาจเรียกชาว ‘ทงนามา’ (동남아; เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ว่า ‘ตงนามา’ (똥남아; ไอ้ขี้หมา) และบอกเขาว่า ถึงจะได้ยินแล้วโกรธก็ให้นิ่งไว้ จะได้ไม่มีเรื่อง
ซึ่งนายเอเล่าว่า เขาเคยโดนเรียกแบบนี้จริงๆ
งานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศเกาหลีใต้ ปี 2020 พบว่า มีแรงงานต่างชาติที่เคยถูกดูหมิ่นทางวาจา 56 เปอร์เซ็นต์ และมีแรงงานต่างชาติที่เคยถูกมองด้วยสายตาดูหมิ่นดูแคลนจำนวน 43 เปอร์เซ็นต์
แบบสำรวจของกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัย (행정안전부; Ministry of the Interior and Safety) บอกว่า สาเหตุที่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติในประเทศเกาหลี 62 เปอร์เซ็นต์เป็นเพราะชาวต่างชาติมักมีปัญหาในการพูดภาษาเกาหลี นอกจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยร่วมอื่นๆ คือเพราะไม่ใช่คนเกาหลี เพราะตัดสินจากชาติกำเนิด เพราะสำเนียง เชื้อชาติ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เป็นต้น
ขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่มักมีประสบการณ์ถูกดูหมิ่นดูแคลนเรื่องทักษะการใช้ภาษาเกาหลี ยังมีชาวต่างชาติบางส่วนที่บอกว่า พวกเขาถูกก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวเกินความจำเป็น ถูกมองด้วยสายตาที่ทำให้รู้สึกอึดอัด โดยสถานที่ที่พบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติคือในศาล ที่ทำงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมไปถึงร้านค้าต่างๆ
ชาวเวียดนามอายุ 32 ปี ผู้ทำงานในฟาร์มมีนารี (minari) เล่าว่า ในสภาพอากาศหนาวยะเยือกช่วงฤดูหนาว เขาต้องทำงานวันละสิบกว่าชั่วโมงต่อวัน แถมยังถูกนายจ้างเบี้ยวค่าจ้าง ส่วนหญิงสาวชาวเวียดนามอีกสองคนและชาวฟิลิปปินส์อีกหนึ่งคนนั้นได้รับค่าจ้างแค่เพียงบางส่วน หากเมื่อไปทวงค่าจ้าง พวกเขากลับถูกต่อว่าและถูกข่มขู่กลับมา
สิ่งเหล่านี้คือเครื่องยืนยันว่า เรื่องราวของอาลีใน Squid Game นั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย

ย้อนไปเมื่อปี 2020 มีรายงานว่า คนต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานในเกาหลีใต้จำนวน 848,000 คน และยังมีผู้ที่อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมายอีกราว 392,000 คน
ถึงแม้ว่าแรงงานต่างชาติจะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเกาหลี แต่ก็มีข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพนักงานต่างชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี จากสถิติระบุว่า แรงงานต่างชาติ 1 ใน 10 คนเคยประสบอุบัติเหตุขณะทำงาน และในปี 2017-2019 ก็มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตราวๆ 100 คนต่อปี
รายงานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและแรงงาน (Environment and Labor Committee) ในช่วงปี 2020 ถึงกลางปี 2021 พบว่า งานที่คนเกาหลีหลีกเลี่ยงคืองาน 3D ซึ่งประกอบไปด้วย dirty (สกปรก) difficult (ยากลำบาก) และ dangerous (อันตราย)
งานดังกล่าวจะตกเป็นของใครไม่ได้นอกจากแรงงานต่างชาติทั้งหลายที่ต้องแบกรับทั้งความเสี่ยงและความยากลำบากในขณะทำงาน ยิ่งเมื่อเป็นคนต่างชาติที่อยู่อย่างผิดกฎหมายหรือคนที่ไม่ได้สมัครประกันการจ้างงานเอาไว้ จะยิ่งประสบปัญหาอย่างหนัก แค่เฉพาะแรงงานต่างชาติที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย มีเพียง 54 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ทำประกันการจ้างงาน และมีเพียง 68 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ทำประกันอุบัติภัยในการทำงาน


จากการสำรวจที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติในจังหวัดคย็องกีพบว่า แรงงานต่างชาติประมาณครึ่งหนึ่งพักอยู่ในบริเวณที่ไม่ใช่เขตที่อยู่อาศัย เช่น อาคารชั่วคราวที่สร้างด้วยแผงหรือตู้คอนเทนเนอร์สำเร็จรูป ในสิบคนจะมีราว 4 คนที่อาศัยอยู่ในโรงเรือนพลาสติก และที่พักจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้ติดตั้ง boiler หรือหม้อไอน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตในประเทศที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างเกาหลีใต้
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อากาศที่เกาหลีหนาวเย็นมากจนติดลบสิบกว่าองศาเซลเซียส มีแรงงานหญิงชาวกัมพูชาวัย 31 ปี เสียชีวิตในโรงเรือนพลาสติก โดยเพื่อนร่วมงานกล่าวว่า ไฟฟ้าดับทำให้ระบบทำความร้อนไม่ทำงาน

แน่นอนว่า มีแรงงานชาวต่างชาติหลายคนที่ทำงานในเกาหลีแล้วไม่มีปัญหาใดๆ แต่ก็มีแรงงานชาวต่างชาติอีกเป็นจำนวนมากที่ประสบกับปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวมา
นอกจากปัญหาของแรงงานต่างชาติแล้ว ชีวิตของคนเกาหลีเหนือที่ตัดสินใจหลบหนีมายังแผ่นดินเกาหลีใต้นั้นก็ไม่ได้ราบรื่นไปกว่ากัน

ในซีรีส์ Squid Game คังแซบย็อก หญิงสาวรูปร่างผอมบาง เข้มแข็ง ภายนอกดูลึกลับไม่น่าไว้ใจ อาจเป็นภาพจำของคนเกาหลีใต้หลายคนที่มีต่อคนเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยมาศัยอยู่ที่เกาหลีใต้ คังแซบย็อกถูกนายหน้าหลอกลวง ทำให้สูญเสียเงินไปทั้งหมด ชีวิตที่จนตรอกทำให้เธอตัดสินใจลงสนามแข่งขันอันโหดร้าย ความหวังสุดท้ายกับเงินก้อนโตที่จะทำให้เธอได้กลับไปพบหน้าครอบครัวอีกครั้ง
รายงานระบุว่า ปัจจุบันมีผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนืออยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 34,000 คน และราว 7,000 คนในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในกรุงโซลเพียงลำพัง
ผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือโดยมากมีปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ สืบเนื่องจากการสำรวจผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือเมื่อปีที่แล้ว พบว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือการพรากจากครอบครัว เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวของผู้หลบหนีส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกาหลีเหนือ หรือยังอยู่ในประเทศอื่นก่อนที่จะเดินทางมาถึงประเทศเกาหลีใต้
อย่างที่หลายคนอาจเคยได้ยินว่า คนที่หลบหนีมาส่วนใหญ่ไม่สามารถหลบหนีเข้ามาที่เกาหลีใต้ได้โดยตรง แต่จะต้องเดินทางไปยังประเทศอื่นก่อน เช่น ประเทศจีน หรือประเทศอื่นๆ บางคนอาจใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าที่จะมีโอกาสเดินทางเข้ามาถึงประเทศเกาหลีใต้ได้ ระหว่างการเดินทางอันยาวนานที่แสนทรหดนั้นทำให้ผู้หลบหนีมีความบอบช้ำ โดยเฉพาะในทางจิตใจ

แต่เมื่อเดินทางมายังเกาหลีใต้ได้แล้ว อุปสรรคก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น
ผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือหลายคนรู้สึกว่าตนถูกเลือกปฏิบัติ จึงไม่แปลกที่ในการสมัครงานพาร์ตไทม์ หลายครั้งพวกเขาเลือกที่จะบอกว่าตัวเองเป็นคนเกาหลีที่เติบโตในประเทศจีนมากกว่าจะบอกว่ามาจากเกาหลีเหนือ เพราะทำให้ได้งานมากกว่าพูดความจริง
“ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาจากเกาหลีเหนือหรือจีนก็ได้ค่าแรงเท่าๆ กัน แต่เวลาต้องสั่งงานยากๆ คนเกาหลีใต้จะสั่งให้คนเกาหลีเหนือทำมากกว่าสั่งให้คนจีนทำ ฉันถูกทำให้รู้สึกว่าคนที่มาจากเกาหลีเหนือเป็นคนล้าหลัง อยู่ในสังคมปิด มีชีวิตไม่ต่างจากหนอนแมลง พอเจอเรื่องแบบนี้หลายครั้งเข้าก็ทำให้ทุกครั้งที่มีคนถามว่ามาจากไหน ฉันจะตอบว่ามาจากประเทศจีน” ผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือคนหนึ่งกล่าว
โซแทย็อง ผู้อำนวยการ HANA Center ประจำคย็องกีทางใต้ กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือเข้ามาในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก แต่อคติและการเลือกปฏิบัติในสังคมนั้นยังมีอยู่ เมื่อก่อนชาวเกาหลีเหนือหลบหนีมายังเกาหลีใต้เพราะความอดอยาก แต่ในปัจจุบัน นอกจากความหิวโหยแล้ว พวกเขาทำเพื่อที่จะได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้งเพื่อการศึกษาของลูก ฯลฯ
มีชาวเกาหลีใต้ไม่พอใจผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือ เพราะรู้สึกว่าได้รับสิทธิประโยชน์มากเกินไป ผู้อำนวยการโซแทย็องให้ความเห็นว่า จริงอยู่ที่อัตราการจ้างงานคนที่มาจากเกาหลีเหนือในปี 2018 เพิ่มขึ้น และค่าจ้างรายเดือนเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้น 112,000 วอน (ประมาณ 3,100 บาท) ตกเดือนละ 1,899,000 วอน (53,000 บาท) แต่ค่าจ้างรายเดือนนั้นก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วไป และผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือจำนวนมากก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว
จากรายงานการเสียชีวิตของผู้ที่หลบหนีจากเกาหลีเหนือ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ แต่ที่น่าเศร้าคือมีชาวเกาหลีเหนือบางคนที่ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองด้วย ในปี 2020 มีผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือที่เคยมีความคิดฆ่าตัวตายอยู่จำนวน 13 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุมาจากความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความยากจน ปัญหาในครอบครัว และความรู้สึกโดดเดี่ยว
เมื่อปี 2019 หญิงผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือและลูกชายวัย 6 ขวบ ถูกพบเสียชีวิตอยู่ในที่พัก โดยคาดว่าทั้งคู่เสียชีวิตมาสองเดือนกว่าแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าสาเหตุเป็นเพราะความอดอยาก


แน่นอนว่าผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือบางคนก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่เกาหลีใต้ โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสังคมที่แข่งขันกันอย่างเสรีของเกาหลีใต้ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีประสบการณ์ทำงานในเกาหลีเหนือมาบ้างแล้ว
แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ปรับตัวในสังคมเกาหลียาก ไหนจะต้นทุนที่มีไม่เท่าคนอื่น
ผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่รู้สึกว่า พวกเขาอยู่ที่เกาหลีเหนือต่อไปไม่ได้เพราะความหิว แต่จะอยู่ที่ประเทศจีนก็ไม่ได้เพราะกลัวจะถูกจับ ส่วนที่เกาหลีใต้นั้นก็น่ากลัวว่าจะอยู่ไม่ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากพวกเขามีความรู้ไม่เพียงพอ ชาวเกาหลีเหนือหลายคนรู้สึกเจ็บปวดที่ถูกคนเกาหลีใต้ระแวงและมองในแง่ลบ บางคนถึงขั้นกล่าวว่า พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติหนักยิ่งกว่าแรงงานต่างชาติเสียอีก
จากการสำรวจในปี 2019 โดย Maeil Business News Korea และ Hankook Research พบว่า ถึงแม้คนเกาหลีใต้จำนวน 83 เปอร์เซ็นต์จะมีความเห็นว่า ‘ผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือคือพลเมืองของประเทศเรา’ แต่กลับมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีความคิดว่า จะรับผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือเป็นลูกเขยหรือลูกสะใภ้ และจากการสำรวจล่าสุดโดย The Seoul Institute ระบุว่า มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยินดีรับผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือเป็นเพื่อนร่วมงาน
ชายผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือวัย 43 ปี เล่าว่า เขาเคยแสดงความคิดเห็นในที่ทำงาน แต่กลับถูกตอกกลับมาว่า ‘มาจากเกาหลีเหนือก็ควรสงบปากสงบคำสิ ไอ้ XX’ ขณะที่หญิงคนหนึ่งผู้สูญเสียลูกไประหว่างข้ามแม่น้ำไปประเทศจีน ก็ได้ยินคำนินทาของคนในที่ทำงานว่า ‘ได้ยินว่าผู้หญิงคนนั้นมาจากเกาหลีเหนือ คงทิ้งลูกทิ้งเต้ามา’ ส่วนผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนืออีกคนกล่าวว่า แม้ไม่มองว่าตนเป็นคนชาติเดียวกัน ก็อยากให้คนเกาหลีใต้ปฏิบัติกับตนให้เท่าเทียมกับชาวต่างชาติก็ยังดี

คำถามที่น่าสนใจก็คือ มาตรการของหน่วยงานรัฐบาลเกาหลีใต้ในการช่วยเหลือแรงงานต่างชาติและผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือนั้นมีอะไรบ้าง
ซงอกจู ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและแรงงาน (Environment and Labor Committee) กล่าวว่า ทั้งชาวต่างชาติและชาวเกาหลีต่างประสบอุบัติเหตุจากงานอุตสาหกรรมอย่างมาก ต้องมีการจัดการที่ปลอดภัยและควรมีการฝึกอบรม และยังกล่าวว่า เราไม่ควรเพิกเฉยต่อความเจ็บปวดของแรงงานต่างชาติ และควรดูแลพวกเขาให้ดีเช่นเดียวกับคนในประเทศ
ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2022 จะมีกฎหมายบังคับให้ลงโทษเจ้าของธุรกิจหรือผู้เกี่ยวข้องในกรณีที่มีคนงานเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จะมีการผ่อนผันเรื่องนี้เป็นระยะเวลาสามปีสำหรับบริษัทที่มีแรงงานต่ำกว่า 50 คน และจะไม่มีผลในทางกฎหมายสำหรับบริษัทที่มีคนงานต่ำกว่าห้าคน
ส่วนในปีนี้ จังหวัดคย็องกีได้มีการจัดตั้งกองนโยบายต่างประเทศ การเกษตร และปศุสัตว์ พร้อมทั้งเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงานต่างชาติ นอกจากนี้ สถาบันวิจัยคย็องกียังมีแผนการจัดทำที่พักสำหรับแรงงานต่างชาติในพื้นที่ชนบท และยังมีการส่งเสริมโครงการใหม่ๆ เช่น การให้คำปรึกษาและล่ามมืออาชีพในหมู่บ้านชนบทและประมง เพื่อให้คำปรึกษาด้านการดำรงชีวิต แรงงาน และสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติ
คิมกยูชิก ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานจังหวัดคย็องกี กล่าวว่า จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อขจัดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยหรือที่ทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติ

กระทรวงรวมชาติ (Ministry of Unification) ได้ประกาศว่า มีแผนสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานสำหรับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ (ปี 2021-2023) นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือเพื่อให้สามารถปรับตัวในสังคมได้
ส่วนในมุมของผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือนั้น ในปีนี้สภากาชาดเกาหลีประจำกรุงโซลได้จัดหาอุปกรณ์บรรเทาทุกข์ฉุกเฉินสำหรับผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือและแรงงานต่างชาติจำนวน 4,000 คน ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สุขอนามัยและผักผลไม้ต่างๆ
ในสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้วนอกจากนี้ ภาครัฐยังประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติผู้อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมายไปตรวจโควิด และลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่น และข้อมูลจากการเข้าตรวจหรือฉีดวัดซีนจะไม่ส่งต่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริง แรงงานต่างชาติและผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องเผชิญปัญหาชีวิตไม่ต่างจากในซีรีส์ Squid Game แต่อย่างน้อยก็ยังพอมีความหวังจากกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่คอยพยุงผู้คนกลุ่มนี้ไว้
อย่างไรก็ตาม คงต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า สถานการณ์ของแรงงานต่างชาติและผู้หลบหนีชาวเกาหลีเหนือจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ในอนาคตข้างหน้า

อ้างอิง
hani.co.kr/arti/area/capital/984640.html
hani.co.kr/arti/society/rights/915039.html
hani.co.kr/arti/society/society_general/905709.html
hkn24.com/news/articleView.html?idxno=321079
joongang.co.kr/article/23583798#home
joongang.co.kr/article/24052654#home
kbmaeil.com/news/articleView.html?idxno=905913
kmib.co.kr/article/view.asp?arcid=0924087476&code=11131100
mk.co.kr/news/society/view/2021/05/445683/
mstoday.co.kr/news/articleView.html?idxno=74954
news.kbs.co.kr/news/view.do?ncd=4325128
ntoday.co.kr/news/articleView.html?idxno=75383
segye.com/newsView/20210919503490