‘สไปรท์’ ในความทรงจำของคุณเป็นแบบไหน? ใช่สไปรท์ขวดสีเขียวที่บรรจุน้ำสีใสหอมเลมอนซ่าสดชื่นหรือเปล่า
ขอให้คุณจดจำภาพสไปรท์ขวดสีเขียวอายุกว่า 60 ปีในวัยเด็กนั้นไว้ในใจ แล้วเปิดรับภาพสไปรท์แบบใหม่ในขวดใสที่ยังคงความซ่าเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ไฉไลกว่าเดิมเพราะช่วยลดขั้นตอนการรีไซเคิลขวดและป้องกันการหลุดรอดของขวดมีสีที่ค่อนข้างรีไซเคิลยากสู่ธรรมชาตินั่นเอง
สไปรท์และ a day ชวนศิลปินไทยแนวมินิมอลอย่าง ‘SUNTUR’ หรือ เต๋อ–ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล มาตีความการเปลี่ยนผ่านที่ว่าจากโจทย์ ‘a clear message from a clear bottle’ เป็นภาพสีอะคริลิกที่พิเศษกว่าปกติ เพราะนี่คือครั้งแรกที่ซันเต๋อได้จรดฝีแปรงลงบนแคนวาสที่อัพไซเคิลจากขวดพลาสติก
ตามไปดูว่าข้างหลังภาพบนแคนวาสรีไซเคิลของซันเต๋อต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง แล้วเขาจะคงความซาบซ่าของสไปรท์ในงานสุดมินิมอลได้ยังไง พร้อมแล้วก็นับ
1
2
3 แล้วกระโดดลงไปดำดิ่งถึงเบื้องหลังภาพวาดครั้งนี้กัน
ข้างหลังภาพที่ 1 ตีความคำว่า ‘Clear’ ให้เคลียร์แต่เปิดโอกาสให้คนคิดต่อได้
“ภาพจำของเราคือสไปรท์เป็นเครื่องดื่มขวดเขียวที่ดื่มแล้วสดชื่น การที่สไปรท์เปลี่ยนภาพจำเก่าแล้วสร้างภาพใหม่ขึ้นมามันคือความกล้าเพราะภาพจำไม่ได้สร้างได้ง่ายๆ แต่มันต้องใช้ระยะเวลา เราเลยพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้ภาพเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนจากขวดเขียวเป็นขวดใสแต่ยังคงรสชาติและความสดชื่นของสไปรท์ได้อยู่”
ซันเต๋อจึงตีความคำว่า ‘clear’ จากโจทย์ ‘a clear message from a clear bottle’ เป็น 2 แบบ หนึ่งคือความใส และสองคือความชัดเจน แต่ความใสและความชัดเจนที่ว่าจะออกมาเป็นรูปอะไรกัน
“หลักสำคัญคือเราอยากให้ภาพนี้สื่อสารได้ง่ายๆ และนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ด้วย ตอนแรกเราตีความโจทย์ที่ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโลกในปัจจุบันไปโลกอนาคตที่มีมนุษย์อวกาศ แต่พอคุยกับทีม a day และสไปรท์ จึงตัดสินใจเลือกคนกระโดดลงสระน้ำเพราะมันแทนการเปลี่ยนผ่านได้ดีและแทนความสดชื่นได้เร็วที่สุด
“ทีนี้เราก็คิดกันว่าจะสื่อสารภาพออกมาเป็นมุมไหน แบบท็อปวิวหรือแนวระนาบ จนสุดท้ายก็เลือกเป็นแนวระนาบแล้วจึงคิดถึงองค์ประกอบอื่นๆ ในภาพ”
คำว่า ‘clear’ แบบแรกจึงสื่อผ่านสระน้ำใสด้านล่างที่หมายถึงขวดใสแบบใหม่ของสไปรท์และหมายถึงเครื่องดื่มสีใสสุดสดชื่น ส่วนคำว่า ‘clear’ แบบที่สอง เขาเลือกใช้คนกระโดดจากแผงต้นไม้ขนาดใหญ่ที่หมายถึงขวดสไปรท์สีเขียวในความทรงจำของทุกคนสู่สระน้ำด้านล่างเพื่อแทนการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกครั้งนี้ แล้วจึงดึงโลโก้สไปรท์มาแปลงเป็นลูกบอลสีเหลืองที่อยู่ทางซ้ายของภาพ เติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างขวดสไปรท์และเตียงข้างสระให้ดูสมจริง
“มันเหมือนกับกระโดดจากความสดชื่นที่มีอยู่อยู่แล้วมาสู่ความสดชื่นอีกแบบหนึ่ง”
แสดงว่าอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดของภาพนี้คือ ‘ความสดชื่น’ ถูกไหม–เราสงสัย
“ปกติเราจะใส่สารสำคัญลงไป 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ให้คนไปตีความ อย่างภาพนี้เราอยากสื่อสารเรื่องความสดชื่นแหละ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะมองว่ามันสดชื่นก็ได้ เราเปิดโอกาสให้คนได้รู้สึกตามที่เขารู้สึกแต่ยังคงต้องสื่อสารถึงแบรนด์ได้ด้วย บางคนอาจจะรู้สึกสดชื่น บางคนอาจรู้สึกเศร้า หรือบางคนอาจรู้สึกมีความสุขจังเลยก็ได้ทั้งนั้น”
ข้างหลังภาพที่ 2 สเกตช์ภาพลงคอมพ์และจรดฝีแปรงลงแคนวาสจากขวดน้ำรีไซเคิล
เมื่อปรับแก้ไอเดียอยู่นาน เขาจึงหยิบไอเดียในหัวที่คิดว่าใช่มาสเกตช์คร่าวๆ ลงกระดาษเพื่อให้ไอเดียออกมาเป็นรูปเป็นร่างโดยเร็วที่สุดและเพื่อหาความเป็นไปได้ของภาพนั้นๆ ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนได้บ้าง เมื่อสเกตช์จนได้ภาพที่ค่อนข้างพอใจ ซันเต๋อจึงนำภาพนั้นมาแปลงลงในคอมฯ และเฟ้นหาโทนสีที่ใช่ก่อนลงมือจรดฝีแปรงจริง
“คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการจัดวางองค์ประกอบและสีที่ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าสระน้ำตรงนี้จะใช้สีฟ้าโทนไหน ต้นไม้ด้านหลังจะเป็นแบบไหนดี คนกระโดดน้ำจะอยู่ตรงกลางหรือริมของภาพ
แต่ใช่ว่าเมื่อเราเอาภาพในคอมฯ มาลงบนแคนวาสแล้วมันจะเป็นแบบนั้นนะ
“เราปรับแก้เยอะมากกว่าจะได้สีอย่างภาพปัจจุบัน เพราะเรามีสีหลายหลอดจึงยากที่จะผสมสีให้ตรงกับตาเห็นในคอมพิวเตอร์ พอลงสีบนแคนวาสแล้วรู้สึกว่าเข้มหรืออ่อนไปเราก็มาปรับแล้วทาทับใหม่จนกว่าจะรู้สึกว่าพอแล้ว แต่หลักสำคัญคือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากภาพให้เหลือแต่ที่สิ่งที่อยากสื่อสาร”
ด้วยกระบวนการทั้งหมด ซันเต๋อจึงใช้เวลาในการวาดภาพนี้ทั้งหมด 2 สัปดาห์ โดยทำให้เสร็จเป็นส่วนๆ ไป เริ่มจากการรองพื้นสีขาวก่อนลงสีจริง วาดแถบต้นไม้ด้านหลังซึ่งใช้เวลากว่า 3 วัน จากนั้นจึงลงสีสระน้ำด้านล่าง แล้วจึงวาดคนที่กำลังกระโดดลงสระน้ำและลูกบอลสีเหลืองซึ่งใช้เวลาอีก 1 วัน ทั้งหมดนี้คือการลงสีบนแคนวาสจากขวดพลาสติกรีไซเคิลที่เขาได้รับมา 2 ใบ
“เราได้รับแคนวาสมา 2 ใบ ซึ่งมันไม่เหมือนแคนวาสทั่วไปร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะมันบางและมีรูมากซึ่งทำให้สีซึมไปด้านหลังมากกว่าปกติ แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะเราสามารถทาสีรองพื้นทับก่อนลงสีจริงได้ ภาพที่ออกมามันก็สวยเหมือนที่วาดบนแคนวาสทั่วไปเลย
“เราชอบทดลองอยู่แล้ว อย่างงานที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าเทคนิคและแนวทางการวาดของเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคและตามความสนใจของเรา ทั้งระบายสีน้ำลงกระดาษ ทำงานในคอมฯ ทำดิจิทัลอาร์ต พอได้ใช้สีอะคริลิกบนเทกซ์เจอร์ใหม่ครั้งนี้ก็รู้สึกสนุกดี ทั้งหมดนี้มันโตไปตามเรา อีกห้าปีหรือสิบปีงานเราอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอีกแนวเลยก็ได้”
ข้างหลังภาพที่ 3 เข้าใจวัฏจักรชีวิตขวดพลาสติกจากการลงมือจริง
“ก่อนหน้านี้เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมนะแต่ไม่รู้ว่ามันมากพอหรือเปล่า เช่น การพกกระติกน้ำ การใช้ถุงผ้า การใช้กระดาษสเกตช์ภาพให้คุ้มค่าที่สุด และเรารู้แหละว่าขวดพลาสติกมันรีไซเคิลได้ แต่เราไม่รู้ว่าพลาสติกสีจะรีไซเคิลยากกว่าแบบใส”
จากระยะเวลาการทำงานร่วมเดือน ซันเต๋อไม่เพียงได้ทดลองฝีแปรงบนแคนวาสแบบใหม่ แต่เขายังได้เข้าใจถึงวัฏจักรชีวิตของขวดพลาสติกมากยิ่งขึ้นเพราะได้พูดคุยกับ YOLO (You Only Live Once) กิจการเพื่อสังคมที่สร้างอุปกรณ์ O-Waste™ และเครื่อง Precious Plastic เพื่อจัดการขยะเศษอาหารและพลาสติก ก่อนลงมือทำงานจริง
“ไม่ใช่ว่าขวดพลาสติกทุกขวดจะเอาไปรีไซเคิลได้เพราะเมื่อไหร่ที่พลาสติกมีสีมันจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการแยกสีก่อน ถ้าไม่แยกสีแล้วนำไปรีไซเคิลเลยก็จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ไม่หลากหลายเท่าพลาสติกใสที่พร้อมนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์สีต่างๆ ได้ คนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมนำพลาสติกสีไปรีไซเคิลเพราะมันมีต้นทุนสูงและขั้นตอนมากกว่าจนพลาสติกสีหลุดรอดจากกระบวนการรีไซเคิลลงสู่ธรรมชาติ
“การได้ทำโปรเจกต์นี้เลยทำให้เราเข้าใจกระบวนการต่างๆ มากขึ้นและทำให้เราเริ่มคิดว่าต่อจากนี้ถ้าจะเลือกซื้ออะไรสักอย่างต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกใสให้มากเท่าที่จะทำได้ แต่สิ่งที่เราประทับใจจากการวาดภาพครั้งนี้คือการที่เราได้วาดรูปบนแคนวาสจากขวดพลาสติกรีไซเคิลซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยขวดเหล่านี้ก็ไม่ได้กลายไปเป็นขยะแต่มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น”
ข้างหลังภาพที่ 4 จากผืนแคนวาสสื่อความใสสู่กระเป๋าใบใหญ่จากขวดพลาสติก
เพียงภาพวาดฝีแปรงของซันเต๋อบนแคนวาสรีไซเคิลก็น่าจะเพียงพอต่อการสื่อสารการเปลี่ยนผ่านของสไปรท์แล้ว แต่สไปรท์มองลึกเข้าไปอีกขั้น ว่าข้างหลังภาพของซันเต๋อนั้นน่าจะต่อยอดไปได้อีกมาก ให้เห็นว่าเพียงเปลี่ยนขวด 1 ครั้งก็นำไปหมุนเวียนเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย
a day จึงรับโจทย์ที่ว่ามาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างกระเป๋าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ได้จากการรีไซเคิลขวดพลาสติกเพื่อสื่อสารว่าพลาสติกไม่ได้เลวร้ายเสมอไปแต่ขึ้นกับวินัยในการล้างทำความสะอาดและคัดแยกให้ถูกต้องเพื่อลดขั้นตอนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างที่แบรนด์แฟชั่นชั้นนำหลายแบรนด์ก็เริ่มนำเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลมาสร้างสรรค์เป็นคอลเลกชั่นของตนเองบ้างแล้ว
วัชรพงศ์ แหล่งหล้า บรรณาธิการศิลปกรรมของ a day ผู้ออกแบบกระเป๋าใบนี้เล่าถึงกระบวนการเริ่มแรกว่า
“a day อยากได้ tote bag ที่มีดีไซน์สวยและมีฟังก์ชั่นที่ใช้งานได้จริง ทีม a day จึงออกแบบกระเป๋าเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่กำลังดีให้ใส่ของได้หลากหลาย โดยใช้เนื้อผ้าที่ทาง Sprite ส่งมาให้มาทำเป็นกระเป๋าทั้งใบ แล้วบุนวมและผ้าด้านในอย่างดี ส่วนด้านหน้าก็มีช่องกระเป๋าอีก 3 ช่องไว้ใส่ของหรือขวดน้ำก็ได้ ซึ่งใช้เวลาปรับแก้รูปร่างและดีไซน์การวางลายภาพกว่า 3 เดือน”
แน่นอนว่าการต่อยอดเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันครั้งนี้ต้องไม่ใช่เพียงการนำกระเป๋าทั่วไปมาสกรีนลายเฉยๆ แต่กระเป๋าผ้า 1 ใบนั้นใช้ผ้ารีไซเคิลจากขวดพลาสติกมากถึง 16 ขวดซึ่งผ่านกระบวนการคัดแยก ทำความสะอาด ผ่านกระบวนการ polymerization ฉีดออกเป็นเส้นด้ายแล้วจึงทอเป็นผืนผ้า Polyester Microfiber Recycle : T Zero ที่มีความหนาแน่นสูง กันน้ำ และมีผิวสัมผัสที่นุ่ม
จากนั้นจึงนำมาพิมพ์ลายแบบ Digital Sublimation Print ที่มีความละเอียดสูงแล้วส่งต่อให้กลุ่มแม่บ้านบริเวณรอบๆ โรงงานตัดเย็บขึ้นมาอย่างละเอียดและแข็งแรงเพื่อสร้างรายได้กลับคืนชุมชนตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจยั่งยืน (circular economy) เสร็จสมบูรณ์เป็นกระเป๋าผ้า Sprite x a day ใบขนาดกำลังดีสีขาวที่ด้านหน้าสกรีนลายภาพที่ซันเต๋อวาดขึ้นเพื่อโปรเจกต์นี้โดยเฉพาะ