
สิบปีก่อน ดนตรีเพื่อชีวิตของสงกรานต์-รังสรรค์ ปัญญาเรือน หมายถึงการใช้สิ่งที่ตัวเองถนัดมาหาเงินเพื่อเลี้ยงปากท้อง และคนรอบตัว
สิบปีต่อมา ดนตรีสำหรับเขาก็ยังคงไม่เปลี่ยนไป
สงกรานต์ยังเป็นคนหนักแน่น ทะเล้น ตรงไปตรงมา และชัดเจนมาตลอดว่าที่ยังคงทำเพลงอยู่เป็นเพราะเป็นทางเดียวที่เขายังหาเงินได้จากสิ่งนี้
หลายคนรู้จักสงกรานต์ในฐานะนักร้องจาก The Voice ซีซัน 2 เขาสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมด้วยพลังเสียงสูงทรงพลัง พร้อมเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบมาตั้งแต่ต้น ความยากลำบากสอนให้เขามองทุกอย่างตามความเป็นจริง โลกของดนตรีไม่ได้มีเพียงแค่ความสุขเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งดนตรีก็เป็นเครื่องมือที่สงกรานต์ใช้ทำมาหากินด้วย
แม้ทุกวันนี้เขาจะเดินทางมาไกลกว่าเด็กวัย 24 ที่ทำทุกที่ทำทุกอย่างให้ได้เงิน ตั้งแต่ร้องเพลงกลางคืน ถางหญ้า ขายรองเท้า จัดโต๊ะร้านอาหาร
ในวัย 34 สงกรานต์ก็ยังคงทำงานอย่างหนักไม่ต่างจากเดิม เพื่อค่าย Double Mass และแชนเนล ‘น้าหนวด’ บนยูทูบ ไปพร้อมๆ กับการทำเพลงที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
เขายืนยันว่าทุกสิ่งที่ทำมีเพียงเพื่อ ‘คอนเซปต์’ ในการใช้ชีวิต นั่นคือการหาเลี้ยงชีพเท่านั้น ขอเพียงแค่คนรอบข้างสบาย ต่อให้งานหนักแค่ไหนเขาก็มีความสุข
นับตั้งแต่บทสัมภาษณ์ใน a day ปี 2014 จนถึงตอนนี้ผ่านไป 10 ปี สงกรานต์ยังมองดนตรีตามความเป็นจริงอยู่เหมือนเดิม ประสบการณ์ที่ผ่านมายิ่งย้ำว่าเขาทำเลือกทางที่ถูกต้องสำหรับตัวเองแล้ว
หากนึกไม่ออกว่าชีวิตที่ไม่ได้ถูกนำทางด้วยแพชชันเป็นอย่างไร ตามไปฟังจากสงกรานต์ที่พิสูจน์มาด้วยตัวเองแล้วพร้อมกัน
ใช้ชีวิตด้วยคอนเซปต์หาเลี้ยงชีพ
“ในหมวกของมนุษย์หนึ่งคน ดนตรีสำหรับเราคือการเลี้ยงชีพ
ช่วงอายุ 24 ถ้าพูดถึงเรื่องดนตรี เรามีตั๋วเที่ยวเดียวอยู่แล้ว เราไม่ใช่คนตั้งใจเรียน ไม่ได้มีแพลนบีว่าจะไปทำอาชีพอื่น แค่คิดว่าการเล่นดนตรีคือสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ได้เล่นดนตรีเก่ง
เคยได้ยินคำว่าคอนเซปต์การใช้ชีวิตไหม สมมติบางคนมีคอนเซปต์การใช้ชีวิตคือแพชชันแสดงว่าลักษณะของเขาจะไม่มีคำว่าเงินเยอะหรือเงินน้อย แต่ใช้ชีวิตด้วยความสุข อะไรมีความสุขฉันจะทำ แต่สำหรับพี่คือเรื่องเดียวคือเลี้ยงชีพ
จุดที่เราไปสมัคร The Voice เพราะ ณ วันนั้นมันมีบางวงที่เขาไป แค่ได้ออกทีวีก็มีงานแล้ว ทีนี้สงกรานต์ใช้ชีวิตด้วยการเลี้ยงชีพ ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำทั้งหมดคือการทำอะไรก็ได้ที่ได้เงิน แต่การทำอะไรก็ได้ นั่นเป็นเพราะมึงทำอย่างอื่นไม่ได้ไง ก็เลยต้องทำดนตรี
เราไม่ได้สนว่ามันจะต้องเป็นดนตรีเท่านั้น เพียงแต่เราทำอันนี้ได้ดีที่สุด สมมติเราบังเอิญไปกินยาอะไรสักอย่าง แล้วสมองปราดเปรื่องไปเป็นหมอ เราก็ไปเป็นหมอเหมือนกันถ้าได้เงิน
การประสบความสำเร็จของเราคือมันจะไม่ใช่ว่าการ ‘ได้ทำ’ แต่มันคือปลายทาง คนรอบตัวหรือ ครอบครัวสบายหรือยัง
บางคนบอกว่าคุณก็ทำมาหลายชีพแล้วนะ แต่คือกูไม่ได้สนไงว่ากูทำมาหลายอาชีพ กูไปขายลูกชิ้น แล้วมันได้เงินไหมละ อย่างอาชีพทุกวันนี้ที่ทุกคนเห็น ถ้ามันพอเลี้ยงชีพได้ เราก็ทำ ไม่สนว่าจะทำอะไร”

ถ้าตื่นมาพรุ่งนี้เสียงหาย ร้องเพลงไม่ได้เราจะไปเขียนเพลง ถ้ามือขาดเราจะไปทำซาวด์ ทำซาวด์ไม่ได้จะไปขายเครื่องดนตรี
a day ฉบับที่ 172 (2014)
ไม่ได้ร้องเพลงในคอนเสิร์ต ก็จะร้องเพลงบนยูทูบ
“ไม่เคยท้อ เรายอมรับ แต่เราไม่ได้ยอมแพ้
พอคอนเซปต์เราคือเรื่องเลี้ยงชีพ เหตุการณ์ที่หนักที่สุดในชีวิตเลยเป็นช่วงโควิด ที่ถูกงดมหรสพไป 3-4 ปี เราต้องแคะกระปุกเอาเหรียญออกมาใช้กันแล้ว
เราไม่ได้รู้สึกว่าการยอมแพ้คือการไม่ทำอะไรแล้ว พอโควิดเล่นดนตรีไม่ได้ ก็ไปลองทำอย่างอื่น เช่น ไปทำร้านอาหาร เราก็รู้แล้วว่า อ๋อ มันพอจะเลี้ยงชีพตัวเองได้
ตอนโควิดเป็นตัวเร่งให้เราทำทุกอย่างที่เคยพูด ว่า ถ้าร้องเพลงไม่ได้จะไปเขียนเพลง ถ้าไม่เขียนจะไปโปรดักชัน ถ้าโปรดักชันไม่ได้ก็จะทำค่ายเพลง เพราะเราทำอย่างอื่นได้ไม่ดี
ถึงจะบอกว่าชอบดนตรีมาก แต่พอเจอโควิดเราก็เล่นดนตรีไม่ได้นอกจากออนไลน์ มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำค่ายเพลง ‘Double Mass’ และทำแชลเนลยูทูบ เพราะเราก็มองว่ามันเป็นโอกาส แถมเราถนัดอยู่แล้วด้วย พร้อมเลย เพราะเรามีแค่แผนเดียวคือการหาเงิน
การมาทำช่อง มันคนละเรื่องกับที่เราทำทุกวันเลย จากที่เราร้องเพลงต่อหน้าคนมา 6-7 ปี แล้วเราต้องมาสิ่งนี้หน้ากล้อง ชิบหายแล้ว ทำไงดีวะเนี่ย แต่ก็ต้องทำ แล้วเราเป็นคนพูดคนเดียวไม่เก่ง จะพูดเรื่องเหี้ยอะไรวะเนี่ย ก็ต้องมานั่งดูว่าจะพูดเรื่องอะไร แต่พอทำซ้ำๆ มันเกิดความชำนาญ ปั่นเป็นแล้ว ก็เริ่มโชว์ลีลา (หัวเราะ)
มันก็อาจจะมีสิ่งที่ทำอย่างอื่นได้ดี แต่เราไม่ได้อยากหยุดร้องเพลงนี่ ในเมื่อทำได้ดีแล้วจะหยุดทำมันทำไมวะ ถ้าเพลงอันดับแรก อันดับสองก็ยังเป็นเพลง อันดับสามก็เป็นดนตรี อันดับที่สี่ก็เป็นร้อง อันดับห้าก็เป็นทำนอง
เรามีคอนเซปต์ของตัวเองชัดพอ มันมีแต่คำว่าทำ แล้วก็ทำ ดังนั้นการหยุด หรือท้อ มันไม่เห็นจะกลับไปที่คอนเซปต์เราได้ยังไง เลยไม่มีความรู้แบบนั้นเท่าไหร่
เราไม่ได้บอกว่าทำแบบเราแล้วมันจะดี ย้ำอีกทีว่ามันอาจจะไม่ตอบโจทย์ทุกคน ทุกคนไม่ได้เกิดมาปั่นจักรยานเป็นอยู่แล้ว แล้วเราไม่ใช่คนเก่ง เราล้ม หรือมีแผลเยอะก็ไม่ใช่เรื่องแปลก”

ถ้าคนฟังเราร้องเพลง เขาจะรู้ว่าเราทนทุกข์ขนาดไหน ดนตรีไม่เคยเยียวยาความรู้สึกเรา แต่มันเลี้ยงเรา ทำให้เราเดินต่อได้
a day ฉบับที่ 172 (2014)
ตัวตน ความร็อก และศิลปะ
“วันที่ไปประกวด The Voice เราไม่ได้คิดไกลถึงขนาดแชมป์อยู่แล้ว แต่มันเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องไตร่ตรองอะไรมากในแต่ละวัน พอไปถึงจุดที่เราเป็นศิลปินจริงๆ แล้ว การกระทำของเราค่อนข้างมีผล ถ้าเราคิดแบบนี้ พูดแบบนี้มีผลต่ออะไรบ้าง
บางครั้งมันก็มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกเฟล แต่สุดท้ายมันก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เช่น คอมเมนต์ด่าแบบไร้เหตุผล มันต่างจากการแสดงความเห็นนะ เพราะอย่างหลังมันคือการติเพื่อก่อ ที่เรารู้สึกดีจังเลย ปรับแก้ ทดลองได้
แต่ที่ด่าแบบไร้เหตุผลเลย มันก็ได้แค่จบตรงนั้น ถามว่ามันติดอยู่ในใจไหม มันติดอยู่ในนี้แหละ ถ้าถามว่าแล้วเคยท้อไหม บอกเลยว่าไม่มี แต่เรื่องเฟล เราเป็นมนุษย์มันก็มีบ้าง คอมเมนต์ด่าเราขนาดนี้รู้จักเราเหรอ รู้เหรอว่าเราทำแบบนี้ทำไม
แต่การเติบโตก็ทำให้เราแคร์คอมเมนต์ด่าได้น้อยลง
เราไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อรับใช้ตัวเอง แต่ต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพ เราเลยต้องเผื่อตัวตนเป็นงานศิลปะเชิงพาณิชย์ (Art for Commercial) นิดนึง มันไม่ใช่ศิลปะเพื่องานศิลป์ (Art for Art) เลย ชีวิตเราปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเพลง ‘คงไม่ทัน’ เพลงที่ดังที่สุด คำถามคือรู้หรือเปล่าว่าเพลงนี้มีความเป็นตัวเราประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ คุณเลือกจะจำผมแบบนั้นมากกว่า
ภาพลักษณ์วันนั้นเราอาจจะดูเป็นเพื่อชีวิต เพราะดูแข็งแรง หรืออาจเพราะเราพรีเซนต์ว่าเราอินกับความรักและฐานะชีวิต แต่พอโตขึ้นเราอินกับ Emotional ขึ้น ชัดเจนในการใช้ชีวิตมากขึ้น เราต้องการให้คนเข้าใจว่าเราเฟรนด์ลี่ อยากให้ทุกคนรู้จักตัวตน เราไม่ได้สู้ชีวิตหรอก เราแค่ชัดเจนมากๆ เท่านั้นเอง
แต่ความจริงเราร็อกมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ร็อกมันคือจิตวิญญานไปแล้ว มันไม่ใช่แค่ดนตรีที่เราพรีเซนต์ ความร็อกของเรามันไม่ใช่กีตาร์เสียงแตก เราตรงไปตรงมากับงานศิลปะชิ้นนี้เหมือนกัน”

ทุกคนมีทางเป็นของตัวเอง
“เราใช้ชีวิตมาแล้วก็พบว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จ ก็เลยต้องขยันมากกว่านี้
วันนี้เรายังไม่ถือว่าอยู่จุดที่สบายตัว แต่คือวัยรุ่นสตาร์ตอัป กำลังสร้างตัวเลย ถ้าจุดที่สบายตัวจริงๆ คือเราต้องไม่ทำอะไรเลย คงไปเที่ยวต่างประเทศ พาแม่ไปเที่ยว พาแฟนไปเที่ยว ไปทำอย่างอื่นแบบที่คนรวยทำกัน ดนตรีอาจจะทำเป็นแค่งานอดิเรก
เราเป็นคนที่อยากให้มีสัก 48 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนตัวไม่เชื่อว่าคนที่สำเร็จจะมีเวิร์กไลฟ์บาลานซ์ ก่อนนอนทำงาน เช้ามาสิ่งแรกที่ทำคืองาน เราอยู่ในอุตสาหกรรม Entertain Business เราเชื่อว่าทำอะไรก็ไม่สนุก อ่านหนังสือก็ไม่สนุก เราฟังเพลงอะไรก็ไม่เพราะแล้ว เพราะต้องวิเคราะห์ไปด้วย เราต้องฟังเพลงต่างประเทศที่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรถึงจะซึมซับคำว่าเพราะ แต่พอฟังภาษาที่รู้เรื่องกลายเป็นว่ารู้สึกทึ่งกับเขา กลองดี กีตาร์เจ๋งมากเลย จนเราไม่ใช่แค่คนเสพเฉยๆ แล้ว
ถามว่ามีความสุขไหม คงต้องถามกลับว่าความสุขคืออะไร ในมุมเราคือระหว่างทางเราทำทุกอย่างเพื่อให้เราย้อนกลับไปสู่เป้าหมายปลายทางคือการเลี้ยงชีพ เพราะงั้นมันจะไม่มีความสุขได้ไง ระหว่างทางมันก็แค่สิ่งที่ต้องทำ มันอาจจะไม่มีความสุขก็ได้ แต่มันดี
ไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ ฟังเป็นเรื่องตลกก็ได้ ใช้ชีวิตไปเถอะ ถ้าไม่ได้เดือดร้อนใคร นอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็ได้มันไม่ผิดหรอก เห็นภาพตัวเองทำอะไรตอนไหนค่อยลุกขึ้นมาทำก็ได้
ถ้ายังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรก็ไม่เห็นเป็นไร ก็ใช้ชีวิตไปสิ นอนอยู่บ้านก็ได้ ไม่ได้เดือดร้อนใครนี่ ทำไมต้องไปตัดสินเขาว่า ลุกขึ้นสิ! ถ้าในมุมเขาคงจะบอกกลับมาว่า “เรียกกูทำไม กูจะนอน”
เรารู้สึกว่าการหาตัวเอง มันไม่ได้หาว่าเราชอบจะทำอะไร แต่การหาตัวเองคือหาคอนเซปต์การใช้ชีวิตตัวเองให้ได้ ถ้าคอนเซปต์คือการนอน ก็ไปนอน คอนเซปต์คือแพชชันก็ไปทำสิ่งที่ชอบ คอนเซปต์หาเลี้ยงชีพก็ไปทำงาน ขึ้นอยู่กับว่าเห็นภาพตัวเองแบบไหนมากกว่า
อย่าทำให้มันลำบากตัวเอง รู้ว่าทำไปแล้วมันย้อนกลับมาหาภาพที่เราต้องการหรือเปล่า ต่อให้เลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอย่างอื่นแล้วนี่ เช่นถ้าคอนเซปต์ของคุณคือความสุข มึงเอาสิ่งที่ชอบไว้อันแรกเลย แล้วเอาสิ่งอื่นไปไว้ลำดับท้ายๆ ก็ได้”
