(บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน a day 172 ฉบับ The Voice ประเทศไทย เดือนธันวาคม 2014)
“ขอให้ฝันดี”
เศรษฐา ศิระฉายา บอกประโยคนี้กับเราในเวลาใกล้เที่ยง ไม่ใช่ช่วงเวลาก่อนเข้านอนแต่อย่างใด ซึ่งฝันดีในที่นี้หมายถึง ความฝันที่ไม่มีพิษมีภัย เป็นความฝันที่ทําให้หัวใจได้มีบางอย่างส่องสว่างนําทาง
จากเด็กที่มีความฝันอยากเป็นทหารอากาศ ทุกวันนี้ทุกคนรู้จักเขา ในฐานะนักร้อง นักแสดง ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจําปี 2554 สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง ที่ยืนหยัดอยู่ในวงการมาอย่างยาวนานจนถึงวันน้ี ในวัย 70 ก็ยัง ไม่มีทีท่าจะบอกลา บอกเลิก
“ความฝันเป็นสิ่งที่ดีนะ แม้บางคนอาจไปไม่ได้อย่างที่ฝันในขณะท่ีบางคนเป็นไปอย่างที่ฝัน ตะเกีย กตะกายไปจนได้ อย่างผมนี่ฝันไปคนละทาง แต่คนเราสามารถมีฝันได้หลายฝัน ซึ่งความฝันนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพชีวิตของเรา”
เส้นทางนักดนตรีของชายผู้นี้หาได้ราบรื่น สวยงาม เหมือนที่ปรากฏบนเวที การเป็นศิลปินในยุคสมัยนั้นหาได้ง่ายดายอย่างเช่นในยุคปัจจุบัน ไม่มีรายการโทรทัศน์ให้ประกวด ไม่มีเว็บไซต์ยูทูบให้อัพโหลดคลิปสู่สายตาสาธารณะ มีเพียงความมานะและความทะยานอยากเท่านั้นเป็นเครื่องมือ
“ผมเป็นคนไม่เชื่อเรื่องหมอดู มีหมอดูบอกว่า คุณต้องเป็นศิลปิน แล้วชีวิตจะรุ่งโรจน์ ผมยังขําๆ อย่างผมนี่เหรอจะเป็นศิลปิน หน้าตาก็ไม่เอาไหน รูปร่างก็ไม่ได้ดี ไม่เคยร่ำเรียนดนตรี ไม่เคยร้องเพลง เราคิดว่า เป็นไปไม่ได้ ผมอาศัยคอยจําว่าเขาทําอะไรกันบ้าง เล่นดนตรียังไง เล่นกีตาร์ยังไง ร้องเพลงยังไง ไปดูเขาแล้วก็ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง เพราะ สมัยนั้นไม่มีครูที่จะมาสอนร้องเพลงจริงจัง ไม่เหมือนยุคนี้ ซึ่งเด็กยุคนี้ ถือว่ามีโชค โชคดีที่วงการดนตรี วงการบันเทิง พัฒนาขึ้นมามาก
“เมื่อก่อนนี้คนระดับกลางขึ้นไปจะดูถูกคนในอาชีพนี้เยอะ ศิลปิน นักร้องเป็นพวกหาเช้ากินค่ำ เต้นกินรํากิน เป็นคําพูดที่ติดหูกันมาตลอด แต่เราไม่ได้นึกกดดันอะไร เพราะเราต้องทํางานเพื่อหากิน พอมีชื่อเสียง เราถึงรู้ว่าถ้าเรามาถึงจุดที่มันสูงมากเหมือนที่เราฝัน ใครจะดูถูก ก็ดูถูกไป เพราะสําหรับผมอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ”
เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงจากวงที่ตั้งกับเพื่อนในนาม ดิ อิมพอสสิเบิล จากการเล่นในผับบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แทนที่เขาพอใจกับเสียง ปรบมือและผู้คนที่มาต่อคิวเฝ้าดูจนล้นร้าน เขากลับรู้สึกว่านั่นยังไม่พอ ซึ่ง ‘ความไม่พอ’ คือสิ่งที่เขายึดถือมาจนวัย 70
“คนเราถ้ามีฝันแล้วจะตะเกียกตะกายไปให้ถึงฝัน การฝึกฝนสําคัญที่สุด การรู้จักคำว่าไม่พอสำคัญ มาก พอเรารู้สึกว่า แค่นี้แหละ หากินได้แล้ว พอแล้ว ถ้าคิดอย่างนั้นก็ร้องเพลงไปวันๆ เราต้องรู้สึกว่าแค่นี้มันไม่พอ ต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ไปอีกระดับหนึ่ง อย่างเมื่อตอนอายุหกสิบกว่าๆ ผมไปเรียนร้องเพลงกับครูโรจน์ เรียนเทคนิคการใช้เสียง”
ทําไมในวัยที่ควรเกษียณถึงไปลงเรียนวิชาดนตรี-เราสงสัย
“ยังมีแฟนเพลงต้อนรับเราอยู่เยอะ ได้จัดคอนเสิร์ตตั้งหลายครั้ง แล้วคนเต็มทุกที ผมก็คิดว่า เขายัง สนับสนุนเราอยู่ เราไม่ควรจะอยู่อย่างนี้ ควรจะทำอะไรที่ดีกว่าน้ี ให้เขาฟังแล้วรู้สึกว่า เราร้องเพลงเพราะขึ้น อย่างที่ผมบอก ความไม่พอต้องเกิดขึ้นกับความฝัน ถ้าเราฝันแล้วอย่าไปคิดว่าพอแล้ว หยุดแล้ว มันจะไปไม่ถึงสุดที่เราฝัน”
ศิลปินบางคนเมื่อมีชื่อเสียง ผู้คนห้อมล้อม อาจหลงระเริงไปกับสิ่งที่เข้าปะทะ ซึ่งสำหรับเขา นั่นคือสิ่งที่น่ากลัว หากไม่รู้จักวิธีรับมือหรือจัดการ “มันอยู่ที่ตัวเรา เราจะเหลิงหรือไม่เหลิง การที่มีชื่อเสียงได้น่าจะถือว่าเป็นความสำเร็จของชีวิตมากกว่าที่เราจะมานั่งคิดว่าดังแล้วนะ แล้วเปลี่ยนชีวิตไป ถึงเราจะประสบความสําเร็จในชีวิต เราก็ยังเป็นคนเดิม ชีวิตเรายังเหมือนเดิม สิ่งที่เราต้องจดจําคือเราเป็นอะไรมาก่อน มาถึงเวลานี้ เราเป็นอย่างน้ี เราจะลืมชีวิตเก่าๆ ไม่ได้ ผมถึงประคองชีวิตผมอยู่อย่างน้ี ด้วยความเคารพในคนที่มีพระคุณทุกๆ คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
“สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือกลัวคนเกลียด ผมคิดว่าผมอยู่ในภาวะที่หลายๆ คนรัก ไม่ว่าผมจะไปไหนก็ต าม คนจะยิ้มแย้มแจ่มใส ยกมือสวัสดี อันนี้เป็นความภูมิใจที่ผมระลึกอยู่เสมอ มันมาคู่กับความสำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเอาความสำเร็จไปลืมตัว ไปหลงระเริง ถือว่าพลาดแล้ว เพราะคุณจะอยู่ได้ไม่นาน แล้วคุณจะหายไปจากความทรงจําของคน แต่ถ้าเขา เห็นคุณแล้วเขายังยิ้มรับคุณด้วยความเป็นมิตรไมตรี นั่นคือเรายังอยู่ในความทรงจําเขา ซึ่งผมถือว่าเรายังประสบความสําเร็จอยู่”
ทุกวันนี้เขายังคงทํางานที่ฝัน ทั้งงานพิธีกรและร้องเพลงตามวาระ อย่างคอนเสิร์ตใหญ่ในวัยขึ้นต้นด้วยเลข 7 อย่าง ‘70 ยังแจ๋ว เศรษฐา ศิระฉายา’ ที่เพิ่งผ่านพ้น เป็นต้น
“ชีวิตผมขึ้นอยู่กับคนฟัง” ศิลปินตรงหน้าบอกเรา “ผมบอกเพื่อนๆ อยู่เรื่อยว่า ถ้าเห็นผมร้องเพลงไม่ได้ให้บอกด้วยนะ ถ้าประชาชนหรือแฟนเพลงบอกผมว่าพักผ่อนเถอะ เสียงไปแล้ว ผมคงจะเลิก
“แต่ถ้าไม่มีใครว่าอะไร ผมก็ฝันไว้ว่าจะไปเกษียณตอนตายเลย” เศรษฐาบอกถึงความฝันสุดท้ายในวัย 70
ซึ่งสําหรับเขา นี่ถือเป็นฝันดี