ชวนฟังพัฒนาการทางดนตรีที่แสนจัดจ้านของเล็ก Greasy Café ในอัลบั้มใหม่ลำดับ 4 ‘Technicolor’

เจ็บร้าว บาดลึก ถลำในความสัมพันธ์เปราะบางของมนุษย์ นี่คือความรู้สึกที่สัมผัสเมื่อฟังบทเพลงรสเข้มข้นของ
Greasy Café จากฝีมือการกลั่นดนตรี เนื้อร้อง และทำนองที่ข้นคลั่กของ เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร ศิลปินมากทักษะ ที่เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี นักแสดงและช่างภาพ

เล็กถนัดดนตรีแนวบริตป๊อป การผสมผสานระหว่างดนตรีแนวป๊อปร็อกกับอัลเทอร์เนทีฟร็อก เคล้าอารมณ์หม่นเศร้าของเนื้อเสียงแหบทุ้มยากหาใครเหมือน เขาฝากงานเพลงไว้ในอัลบั้มตำนานของค่าย Smallroom อย่าง Smallroom 001 – 002 (2001) และอัลบั้มเดี่ยวที่เต็มไปด้วยเพลงฮิต สิ่งเหล่านี้ (2008), ทิศทาง (2009) และ The Journey Without Maps (2012)

จุดเด่นของเล็กคือความเชี่ยวชาญด้านภาษา เขาบรรจงเขียนเนื้อร้องที่งดงามออกมาเสมอ ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนฟังถึงยกเนื้อร้องของเขาไปเปรียบกับบทกวีที่สวยงาม ตัวอย่างนั้นชัดเจน เช่น การใช้คำตรงข้ามเพื่อให้เห็นภาพขัดแย้งอย่างฉัน มอดไหม้ในความหนาว ปวดร้าวอยู่ข้างใน ทุกครั้งไปที่นึกถึงเธอ” ในเพลง ภาพชินตา อัลบั้ม สิ่งเหล่านี้, ใช้การเปรียบเปรยเกินจริงเพื่อให้ภาพประหลาดอย่างดวงดาวดับสูญ พระอาทิตย์ปริแตก ทุกสิ่งดูแปลกตาในตอนนี้” ในเพลงสูญ อัลบั้ม ทิศทาง และพูดถึงสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้สุดโต่งอย่างฉันไม่อาจแยกคลื่นมากมาย ทั้งหลายที่มี ออกจากน้ำทะเล” ในเพลง ปฏิกิริยา อัลบั้ม The Journey Without Maps

หลังปล่อยอัลบั้มชุดที่ 3 เล็กห่างหายไป 5 ปี ก่อนกลับมาคราวนี้พร้อม Technicolor อัลบั้มชุดที่ 4 กับลูกเล่นที่จัดจ้าน ตั้งแต่แพ็กเกจซีดี จนไปถึงการปรับทิศทางซาวนด์ดนตรี โดยเลือกใช้ซินธิไซเซอร์และเสียงแอมเบียนต์มาเป็นภาพแทนความสับสนของจิตใจ พูดเลยว่าการหยิบจับซาวนด์ใหม่ๆ ครั้งนี้เกิดจากความต้องการเดินไปสู่พรมแดนที่ไม่ซ้ำหนทางเดิมๆ ของเล็กได้อย่างชัดเจน

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เล็ก ศิลปินพี่ใหญ่แห่งบ้านสมอลล์รูมคนนี้เปิดตัวอัลบั้ม Technicolor ด้วยแทร็ก ปะติดปะต่อ ซึ่งพูดถึงความรักครั้งเก่า ที่ไม่ว่าผ่านไปนานแค่ไหน แต่ความรู้สึกก็ยังคงตามหลอกหลอน ในเพลงนี้ เล็กฉลาดใช้การเปรียบเปรย ด้วยการเทียบการแบกอดีตไว้บนหลังในท่อน ผู้คนมากมายพยายามแบกอดีต…บนหลัง นั่นทำให้เรายิ่งไปต่อกัน…ไม่ได้ ในเมื่อความเป็นไปได้มีบางสิ่ง…ขาดหาย และเป็นบางส่วนในใจที่เอากลับมา…ไม่ได้” สำหรับแฟนเพลงของเล็กที่ยึดติดกับภาพลักษณ์ดนตรียุคก่อนๆ เราเตือนไว้ก่อนนะว่าเพลงนี้แทบไม่ได้ยินเสียงกีตาร์ ทั้งๆ ที่เวลานึกถึงเขา เรามักคุ้นกับเสียงกีตาร์เหงาเศร้าที่บรรจงดีดและเกลา แต่กับเพลง ปะติดปะต่อ กลับเต็มไปด้วยซาวน์ที่ให้ความเท่ และความรู้สึกกระอักกระอ่วนไปพร้อมๆ กัน

ล่าสุดเขาปล่อย ระเบิดเวลา เพลงที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคู่รักที่กำหนดทิศทางได้ด้วยการกระทำในแต่ละวัน แถมยังได้ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับขวัญใจวัยฮอร์โมนส์มาทำมิวสิกวิดีโอ พร้อมฝีมือการแสดงเหนือชั้นของ มิว นิษฐา และ หมาก ปริญ ที่มาเล่นเป็นคู่รัก ช่วยเติมเต็มเนื้อหาที่ฉายภาพเหตุการณ์กลับหลังจากฝีมือของย้งให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สำหรับใครที่เป็นแฟนเพลงของเล็กอยู่แล้ว อัลบั้มชุดนี้น่าจะเข้าไปนั่งอยู่ในใจได้ไม่ยาก เพราะนอกจากเนื้อเพลงจะหนักแน่น ดนตรียังแสดงให้เห็นถึงก้าวเดินใหม่ของเขา ซึ่งแม้จะลดบทบาทของเครื่องดนตรีทั่วไปลง แต่ก็ใส่รายละเอียดของซาวนด์อิเล็กทรอนิกเข้ามาแทนที่ได้อย่างน่าสนใจ ส่วนความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเพลงที่เห็นได้ชัด คือการเล่นคำน้อยลง ทว่าหนักแน่นน่าฟังขึ้น และให้ข้อคิดได้ไม่แพ้อัลบั้มก่อนๆ ดังนั้นเราขอนิยามอย่างสั้นๆ ให้ Technicolor ไว้เลยว่า ‘มีชั้นเชิง’

ในอัลบั้มแรกๆ เล็กมักเลือกสื่อสารความเศร้าจมดิ่งผ่านเนื้อเพลง ขณะที่เพลงในชุดนี้ก็ยังคงความเศร้า แต่สุดท้ายก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป ทำให้เรานึกถึงวลีที่คนชอบพูดเตือนใจกันบ่อยครั้งว่า Life must go on ยังไงยังงั้นเลย

AUTHOR