การเกิดใหม่บนรันเวย์ของ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา ด้วยการคืนชีพแบรนด์แฟชั่นไทย FLYNOW

ในโลกบางใบ สีดำไม่เท่ากับความน่ากลัว ไม่เท่ากับความมืดมิด

แต่หมายถึงการเกิดใหม่อันเต็มไปด้วยแสงสว่าง

เสื้อผ้าคอลเลกชั่นใหม่ของ FLYNOW ในงาน Siam Paragon Bangkok International Fashion Week 2022 ส่วนใหญ่เป็นสีดำ พนักงานหลายคนในบริษัท At Bangkok และ ช่างชุ่ย ใส่ชุดสีดำ อาจเป็นเรื่องไม่ตั้งใจ แต่มันช่างเข้ากันดีกับตัวตนของแบรนด์ อย่างที่ไม่ต้องประดิดประดอยใดๆ

หลายปีมานี้ หลายคนจดจำ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา ในฐานะผู้ก่อตั้ง ช่างชุ่ย พื้นที่สร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยร้านค้าและผู้ประกอบการที่มีความฝัน แต่คนในวงการแฟชั่นจะรู้จักสมชัยในฐานะนักออกแบบผู้สร้างแบรนด์ฟลายนาว แบรนด์เสื้อผ้าไทยในตำนาน เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน นำผลงานของคนไทยให้โลกชื่นชมมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นรุ่นใหญ่ในวงการแฟชั่นไทยอย่างไร้ข้อกังขา

ช่วงหลังโควิด วงการแฟชั่นค่อยๆ ฟื้นคืน ในวิธีการที่แต่ละแบรนด์ถนัด สำหรับสมชัย เขาเลือกฟื้นฟูฟลายนาว ด้วยการลงสวมบทบาทนักออกแบบเสื้อผ้าอีกครั้ง เหมือนครั้งที่ร่วมบุกเบิกแบรนด์นี้ในวัยหนุ่ม และโชว์ผลงานในงานคืนวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน ที่สยามพารากอน

บ่ายวันหนึ่ง สมชัยนั่งคุยกับเราที่ออฟฟิศ เล่าเบื้องหลังการกลับคืนสังเวียนออกแบบในรอบหลายสิบปี ด้วยความอยากส่งต่อบางสิ่งบางอย่างให้คนในวงการแฟชั่นรุ่นลูก (และ …เอ่อ รุ่นหลาน)

มันไม่ใช่แค่การกลับมาทำงานอย่างเดียว

แต่สำหรับเขา มันคือการเกิดใหม่

1

เราเข้าไปหาสมชัยเพื่อคุยเรื่อง FLYNOW

เขาชิงตัดหน้าเล่าเรื่องหลานของเขาก่อน

เธอฟ้า ส่งวัฒนา เป็นทั้งหลานและเพื่อนสนิทของอากงวัย 63 ปี การที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกว่า คุยกับคนรุ่นหลานเหมือนเพื่อนนั้นไม่แปลก ที่แปลกกว่าคือ การที่หลานยินดีเล่าเรื่องลึกๆ ของชีวิตตัวเองให้ผู้ใหญ่ฟัง ยุคนี้ความเชื่อใจของคนระหว่างวัยเป็นสิ่งที่ไม่ได้ซื้อหากันง่ายๆ

สมชัยให้เวลาหลานเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ให้เวลากับลูกเยอะ ในวัยหนุ่มเขาต้องทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะ ปูทางให้คนรุ่นหลังอยู่สบาย สิ่งนี้แลกมากับการกลับบ้านในเวลาที่ลูกหลับ กอดแฟ้มงานมากกว่าโอบไหล่ลูก

“ดีแค่ไหนที่หลานเราอายุห่างกว่าเกือบห้าสิบปี แต่ยังป๊ะกันได้ ผมคิดว่ามันโคตรคุ้มเลย” อากงวัยหกสิบกว่าเล่า

อย่างที่บอก อากงและหลานคู่นี้คุยกันได้ทุกเรื่อง วันหนึ่ง สมชัยถามเธอฟ้าว่าคิดยังไงกับแบรนด์ที่เขาทุ่มเทชีวิตวัยหนุ่มสร้างมันมาอย่างฟลายนาว

“เธอฟ้าบอกว่า มันเก่าไปสำหรับคนรุ่นใหม่ มันเป็นสวยที่ไม่ได้มีความรู้สึก”

“ความอ่อนแอของฟลายนาวคือ มันซ้ำความสำเร็จ ซ้ำการสร้าง แล้วเมื่อมันซ้ำ ถึงจุดนึง มันน่าเบื่อ เคยเห็นผู้หญิงสวยที่มันน่าเบื่อมั้ย หรือมีชีวิตที่ดีหมดทุกอย่าง แต่โคตรเบื่อชีวิตเลย วันนี้ผมคิดว่าโลกมัน disrupt ตัวเองแรงมาก ไม่ว่าผมจะออกไปสู้หรือไม่ออกไปสู้ ความเปลี่ยนแปลงก็มาถึงที่”

เหตุผลหลักที่สมชัยกลับมาทำฟลายนาวมีหลายข้อ หลักๆ เกิดจากโควิด ฟลายนาวอยู่ในสถานะจำศีล แบรนด์ยังอยู่แต่ต้องรัดเข็มขัด กิจกรรมที่เต็มไปด้วยสีสันหดหายไป ไม่มีสินค้าใหม่ ไม่มีความเคลื่อนไหว

ผิดกับช่างชุ่ย แม้จะได้รับผลกระทบ กิจการก็ยังดำเนินต่อได้ พลิกฟื้นตัวเองจนกลายเป็นสถานที่อันดับหนึ่งสำหรับครอบครัวย่านจรัญสนิทวงศ์ มีอนาคตที่ดี มีคนหนุ่มสาวคอยขับเคลื่อนดูแล

มองกลับมา สมชัยรู้ดีว่าหากไม่กลับมาทำอะไรกับฟลายนาว แบรนด์ที่เขาสร้างคงตายไปในไม่ช้า เมื่อได้รับการเทียบเชิญจากสยามพิวรรธน์ ชวนฟลายนาวไปร่วมโชว์ในงาน Bangkok Internationl Fashion Week 2022 ที่สยามพารากอน นี่เป็นโอกาสดีที่เขาจะทำอะไรสักอย่าง

“การเป็นผู้บริหาร มันไม่ควรอยู่ออฟฟิศทั้งวัน เพราะการอยู่ออฟฟิศทั้งวัน เรากำลังเป็นผู้บริหารที่ทำหน้าที่เสมียน เราจะประชุมแบบเดิมๆ แต่เวลาออกไปข้างนอก วิสัยทัศน์หรือมุมมองบางอย่างจะทำให้การประชุมมันเปลี่ยนไป”

เขาพูดขึ้นมา เหมือนจะไม่เกี่ยวกัน แต่การออกไปทำช่างชุ่ยสำหรับเขาก็เหมือนการออกไปข้างนอก ความคิดที่เขามีต่อฟลายนาวค่อยๆ เปลี่ยนไป

“โควิดทำให้เราเห็นอะไรเยอะ เห็นว่ากับงานแฟชั่น ถ้าผมไม่กลับมา วางมือ มีหนี้เท่าไหร่ เหลือทุนเท่าไหร่ เคลียร์ให้หมด แล้วบอกว่ากูเลิก ปัญหาของการเลิกก่อนเวลาอันควร ขณะที่หัวใจยังปรารถนา ผมคิดว่ามันโคตรทุกข์เลยนะ

“ผมมีโอกาสถามเพื่อนตรงๆ ว่ารีไทร์ไปแล้วมีความสุขหรือทุกข์มากกว่ากัน เพราะบางครั้งผมก็ทำงานเยอะ อยากพัก เจอวันหยุดหลายวันก็แอบดีใจ แต่พักไปสองวัน กูเริ่มไม่ไหว คือมันรู้สึกฟุ้งซ่าน ช่วงโควิดฟุ้งกว่านั้นอีก ไปวิ่งก็ไม่ได้ อยู่คอนโดห้องฟิตเนสก็ปิด ว่ายน้ำก็ไม่ได้ จะไปเดินซี้ซั้วก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำอะไรก็มานั่งออฟฟิศ นั่งแต่เช้าถึงเย็น มีคนไม่มีคนก็มานั่ง อย่างน้อยเวลามานั่งก็เหมือนผมทำงาน ความจริงผมไม่ทำงาน” เขาเล่ายาว

เมื่อนักออกแบบเสื้อผ้าอยู่คนเดียว กิจกรรมมันจะหนีเรื่องไหนไปได้ถ้าไม่ใช่การสเกตช์เสื้อผ้า ในห้องทำงานสีดำของสมชัย มีสมุดสเกตช์ซ่อนอยู่ เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่สมชัยลุกขึ้นมาวาดสเกตช์ชุดด้วยตัวเอง ความรู้สึกอยากกลับมาทำฟลายนาวอีกครั้งในฐานะนักออกแบบเริ่มก่อตัวขึ้นช้าๆ ในที่สุดเขาตกผลึกและตกลงใจ ทำงานร่วมกับนักออกแบบรุ่นลูก ปิยพร พงษ์ทอง, ลลิตา นริสรานนท์ รวมถึงหลานอย่างเธอฟ้าก็มาร่วมทำงานชิ้นนี้ด้วย

ในข้อมูลประชาสัมพันธ์ คอนเซปต์ของคอลเลกชั่นนี้คือ Reincarnation ว่าด้วยการเกิดใหม่ แต่ถ้าถามสมชัย เขาจะบอกว่าคอนเซปต์ของมันคือไม่มีคอนเซปต์ ทุกอย่างดูมั่ว แต่ผสมผสานกันได้อย่างน่าประหลาด

“การเกิดใหม่ สิ่งที่ยากที่สุดคือ หนึ่ง คุณต้องทำลายตัวเองก่อน ถ้าไม่ทำ ไม่มีประโยชน์ สอง คุณต้องมีเพื่อนคู่คิดที่เป็นคนรุ่นลูกหรือหลาน โชคดีที่มีเด็กทำงานกับเราเกิน 5 ปีอยู่หลายคน เราก็ดูจริตคนไหนที่จะไปกับแบรนด์นี้ได้ ก็ทาบทาม โควิดทำให้ทุกอย่างหยุดหมด เราก็เอาทุนของเราที่มีอยู่มาใช้”

ทุนที่สมชัยหมายถึง คือทุนทางปัญญา ฟลายนาวโชคดีมากที่ยังมีสิ่งนี้ ไม่เคยหายไปไหน

2

หลายปีที่ผ่านมา สื่อมักสัมภาษณ์สมชัยเกี่ยวกับช่างชุ่ย น้อยมากที่จะพูดถึงเรื่องฟลายนาว

แม้ภาพภายนอก ดูเหมือนเขาไม่ได้แตะฟลายนาวเลย แต่สมชัยก็ยังเข้าออฟฟิศ At Bangkok บ่อยพอๆ กับช่างชุ่ย แม้ไม่อยู่ในสปอตไลต์ แต่เจ้าตัวยังใกล้ชิดสิ่งที่รักอยู่ตลอดเวลา

“กลับมาทำฟลายนาวรอบนี้ ต่างจากตอนบุกเบิกแบรนด์ยุคแรกมั้ย สนุกเหมือนเมื่อก่อนหรือเปล่า”

“ความต่างชัดเจนมากคือ ผมไม่ได้คิดว่าจะทำเสื้อให้ขายได้” เขาระเบิดหัวเราะ

“ตอนหนุ่มมันมีความทะเยอะทะยาน เต็มไปด้วยแพสชั่นของการอยากจะไปเป็นเด็กหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในการมีแบรนด์ มีวิชาชีพที่มันทำมั่นคง แล้วก็มันก็หนุ่ม ความหนุ่มมันมีแรงเยอะ ความฉลาดมี ความโง่ก็เยอะ มันก็ดีที่ว่าแรงเยอะ โง่ก็แก้ เดี๋ยวแก้ไปเยอะมันก็จะกลายเป็นความฉลาด มันก็ ในวิถีแบบหนุ่ม

“เราทำเสื้อเพื่อจะบอกว่านี่คือเสื้อฉัน กูจะทำแบบนี้ ส่วนน้องๆ ที่เขามาช่วยทำ ผมก็บอกว่าเป็นฟลายนาวในแบบของน้อง เขาอาจจะรักทีมกว่าเราอีกเพราะเสื้อเขาควรจะขายได้ แต่เสื้อผมขายได้ก็ดีใจ

“การออกแบบครั้งนี้ผมคิดว่า ถ้ามันเหลือ หรือถ้าขายได้ ผมจะเก็บไว้หนึ่งชิ้น ในคอลเล็กชั่นนึง มันต้องมีความเป็น museum piece หมายถึงมันอาจไม่มีค่าในวันนี้ แต่จะมีค่าในวันที่เราไม่อยู่แล้ว และองค์กรนี้ยังดำเนินการอยู่

“ประเทศเราไม่ชอบจดบันทึก ไม่มี archive แต่เมืองนอกคุณจะสิ่งของอายุพันปียังมีให้ดูเลยนะ 400-500 ปี เป็นเรื่องปกติเลย คุณไปอังกฤษหรือฝรั่งเศส สามารถดูเสื้อตั้งแต่ยุคที่เขาเริ่มทำได้หมด เราไม่ได้บอกว่าเสื้อพี่ลิ้มดีเลิศเลอ แต่ว่าเมื่อเราคิดอย่างนี้ได้ ความกดดันไม่มีแล้ว เมื่อความกดดันไม่มี เรามา เราไป จะมา จะไป ก็อิสระ นั่นคือความอิสระที่แท้จริงในดวงจิตของเรา ผมเชื่อว่าคุณจะมีพลังงานบางอย่างที่สะท้อนความกล้าของคุณ

“ถ้าคุณพยายามจะทำเสื้อให้ขายได้ มันจะขายไม่ค่อยได้ เพราะคนเบื่อ เขาจะจำตัวที่มันขายได้ ศิลปินหรือนักร้องบางครั้งชอบก๊อปงานตัวเอง ทั้งที่คนฟังโคตรเบื่อเลย ถ้าคุณทำเสื้อจากหัวใจของคุณจริงๆ และแรงปรารถนาที่อยากเห็นเสื้อตัวนี้มันดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำเขาได้ กำไรแรกที่จะได้คือมีความสุข สอง ถ้ามันขายได้ เราก็มีเรื่องเล่ากับลูกค้า

สมชัยเป็นหนึ่งในคนแฟชั่นที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกมาก มีเพื่อนพ้องอยู่ในหลายอุตสาหกรรม แน่นอนว่าเขามักจะเจอคำถามจากคนนอกวงการที่มองเข้ามาในโลกอันมีแสงสีบนรันเวย์

มันอาจเป็นเรื่องปกติของคนในวงการแฟชั่น ไม่ต้องถาม แต่สำหรับคนนอก เขายินดีเล่าให้ฟังถึงที่มาและเส้นทางของเสื้อผ้าสวยๆ ที่เราเห็นบนรันเวย์

“ผมไม่ได้คิดว่าเสื้อที่อยู่บนรันเวย์ผมต้องขายร้อยตัว โน ผมอาจจะทำแค่ตัวเดียว ถ้าสนใจเยอะๆ จัดงานประมูลมั้ย เพื่อความแฟร์ บางคนก็อาจจะหมั่นไส้ เสื้อบางตัวผมใช้ช่างรวมกันสามคน ยังไม่พูดถึงแพทเทิร์นชั้นเยี่ยม ไม่พูดถึงสเกตช์ที่คิดแล้วคิดอีก เสื้อผมมีค่ากว่า คนอาจเข้าใจว่าแฟชั่นคือการทำซ้ำๆ กัน แต่ต้องบอกว่ามันมีแค่ชิ้นเดียวนะ เสื้อจำเป็นเหรอ คุณอยากใส่คุณก็ใส่สิ หรือผมทำตู้อะคลีลิกให้คุณไปตั้งรับแขกก็ได้ มันก็เป็นอาร์ตพีซชิ้นนึงไม่ใช่เหรอ เหมือนคุณซื้องานปะติมากรรม แต่นี่คุณเอาเสื้อไปโชว์ ก็ไม่เห็นผิดตรงไหน

นักออกแบบฟลายนาวเปรียบเทียบว่า ถ้าเสื้อผ้าเป็นรถยนต์ ผลงานของเขาก็เหมือน concept car รถประเภทนี้ครั้งแรกจะทำเพื่อโชว์แนวคิดของนักออกแบบมากกว่าจะเน้นทำให้ขับได้จริง แต่หลังจากนั้นมันจะถูกพัฒนาจนกลายเป็นรถที่เราใช้ในชีวิตประจำวันได้

จะพูดว่าเสื้อของเขาคือ concept cloth ก็ไม่ผิดนัก

“ในอดีตมีคนถามผมว่า เสื้อที่โชว์ในช่อง chic channel หรือช่อง f มันมีคนใส่จริงเหรอ ถ้าถามผม ลุงไปอยู่ที่ไหนมา เมืองนอกเป็นเรื่องปกติ

“เรามีเสื้อที่เป็นคอนเซปต์บนรันเวย์ ถ้าคุณสนใจ ต้องสั่งตัดเท่านั้น คุณมีสิทธิที่จะบอกผมได้ว่าตรงนี้ขอมากขึ้นอีกหน่อย ลดไอ้นี่อีกหน่อยได้มั้ย ผมทำให้คุณได้ เสื้อผ้าตัวแม่มาจากการทำให้เป็น art piece ถ้าเป็นเสื้อผ้าตัวลูก เราก็คลี่คลายให้มันใช้ได้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน ผมไม่มีแนวคิดนี้สมัยตอนหนุ่มเลย มันเป็นสมการซื่อๆ” สมชัยเล่า

“โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ คุณค่าของแฟชั่นเปลี่ยนไปมั้ย” เราถาม

สมชัยไม่ได้ตอบตรงไปตรงมานัก เขาเล่าภาพรวมว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือรูปแบบ โลกของแฟชั่นตอนนี้มีรูปแบบที่หลากหลายมาก

“ถ้าเราพูดตามศัพท์ที่เข้าใจง่าย คือ physical และ digital ในอดีตเราเขียนจดหมาย ยกหูโทรศัพท์แบบหมุน ใช้โทรเลข จะเห็นว่ามันเป็น physical ทั้งหมด แล้วมัน disrupt ตัวเองตลอดเวลา

“เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนถ่าย ถ้าพ้นจากตรงนี้ไป คนรุ่นต่อจากเรา เด็กที่โตมากับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เรื่องเสมือนจริงทั้งหมด เขาจะไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้แปลกตรงไหน แต่เรายังเห็นว่าแปลกอยู่ ยอมรับว่าบางเรื่องผมไม่ไปนะ เช่น NFT ผมเล่นงานศิลปะ คนก็บอกว่าเสื้อพี่ลิ้มทำ NFT Art ได้นะ หลานก็สอนว่าอากงทำช็อปตัวเองใน metaverse ได้นะ ผมบอกว่าจริงลูก อากงเห็นด้วยหมดเลยนะ แต่ขอให้เธอฟ้าเป็นคนทำนะ” เขาเล่าพลางยิ้ม

นักกีฬาที่ร้างการลงสนามไปนาน มักไม่มั่นใจ เราถามว่ากลับมาทำงานเองรอบนี้ เขากลัวอะไรมากที่สุด

“แทบไม่มีเลยนะ เพราะผมพูดถึงความจริง ความจริงที่บอกว่าโชว์นี้กำลังจะจ่ายเงินเท่าไหร่ เราจะทำได้แค่ไหน ต้องเตรียมพร้อมแค่ไหน จะเกิดข้อบกพร่องอะไรบ้าง แต่ความจริงที่ชัวร์ที่สุดคือ คุณทำมันด้วยหัวใจของคุณจริงๆ หรือเปล่า ถ้าใช่ ไม่ต้องกลัวอะไร ไม่ว่าคนจะชอบ ไม่ชอบ ต้องขอบคุณคนนั้น ถ้าเขาไม่พูด อันนั้นน่ากลัว คือแก่แล้ว

“เราทำโชว์เพื่อให้คนพูด ไม่ได้ทำเพื่อให้คนเงียบ เสียงพูดตรงนั้นสำหรับพี่ลิ้มมันน่าสนใจ มีบางชุดเด็กก็มาเตือนๆ ว่ามันจะเกิดดราม่ามั้ย ผมบอกว่าเจตนาเราเป็นยังไงล่ะ ถ้าเจตนาเราไม่ดี เกิดดราม่าขึ้นมาเราต้องพูดโกหกมั้ย เพราะเราคิดไม่ดีตั้งแต่ต้น แต่ถ้าเจตนาเราดีแล้วมันเกิดดราม่าขึ้นมา กลัวอะไรล่ะ

“ช่างชุ่ยเปิดวันแรก คนด่าผมย่อยยับ ความจริงช่างชุ่ยดังเพราะถูกด่านะ พี่แหม่ม (วีรพร นิติประภา นักเขียน) ยังบอกเลยว่า คุณลิ้มก็ควรจะให้เขาด่าได้ บางช่วงเราติดอันดับการพูดถึงใน facebook ต้นๆ มีน้องคนหนึ่งถามผมว่า คุณใช้หัวใจดวงไหนในการอดทนคำด่า ผมก็บอกว่า ผมใช้หัวใจปกติ คือเรารับฟังอย่างมีสติ เราก็แยกได้นี่ใครด่าจริงใครด่าปลอม คนด่าปลอมกลัวอะไรล่ะ แต่คนด่าจริงต้องไปเชิญเขานะ ให้มาช่วยชี้แนะ”

3

ห้องทำงานของสมชัยเป็นสีดำ เดินถัดไปไม่ไกลกันเป็นห้องตัดเย็บ พื้นและเพดานสีขาว เพื่อให้เห็นเสื้อผ้าที่กำลังทำงานอย่างชัดเจน

กวาดสายตาในห้อง เราเห็นเสื้อผ้าที่ยังทำไม่เสร็จ ภาพสเกตช์เสื้อผ้าในหลากหลายมุม แต่สิ่งที่สะดุดตาที่สุด คือจำนวนทีมงานตัดเย็บที่นั่งกันเต็มห้อง แม้ไม่เยอะจนแออัด แต่ก็เต็มเปี่ยม ดูออกว่าทุกคนกำลังง่วนกับงานตรงหน้าอย่างจริงจัง

ทีมงานทุกคน (เท่าที่เราเห็น) เป็นผู้หญิง อายุราววัยกลางคน ภาพนี้ดูจะแตกต่างเมื่อครั้งเราสัมภาษณ์สมชัยที่ช่างชุ่ย พื้นที่สร้างสรรค์เหล่านั้นเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาว แนน-พัชราภรณ์ วัฒกวณิชย์ ผู้ช่วยของสมชัยเล่าให้ฟังว่า เมื่อช่างชุ่ยเริ่มอยู่ตัว สมชัยเริ่มนำทีมงานหนุ่มสาวจากช่างชุ่ย นำโดย เลียว-โอมา ส่งวัฒนา เต้-ภูษิต ช่วยชูฤทธิ์ และอีฟ-กีรดา ส่งวัฒนา เทเล่อร์มาร่วมทำงานกับฟลายนาวมากขึ้น

ทั้งช่างชุ่ย ฟลายนาว และหลาน ดูเหมือนสมชัยจะใช้ชีวิตเชื่อมโยงกับคนต่างวัยอยู่เสมอ

“วันแถลงข่าว bangkok fashion week ที่พารากอน ตอนถ่ายรูป คนแถวหลัง ดันให้ผมไปอยู่ข้างหน้า ส่วนมากคือรุ่นน้องผมหมด อย่างเก่งอายุก็ 40 ปลายๆ มันบอกคุณลิ้มยืนหน้าเลยดีกว่า อาวุโสแล้ว ปรากฏว่าแถวหน้าดันกลายเป็นเด็กทั้งหมด กลุ่ม Young designer ผมก็ยืนนิ่งๆ ผู้ติดตามที่มาถ่ายรูปก็บอกกลมกลืน แสดงว่าคุณลิ้มไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอม” เขายิ้ม

สมชัยอายุเลยแซยิดมาไม่นาน (63 ปี) เราถามว่าการออกแบบเสื้อผ้าในวัยนี้ กลัวตามเด็กไม่ทันมั้ย

“ถ้าผมหนุ่มกว่านี้ เราจะคิดอีกแบบว่า อย่ามายุ่ง เดี๋ยวแย่งซีนกู แต่วันนี้เราคิดว่าถ้าได้ลูกน้องเก่ง เราต้องดีใจมากกว่าเสียใจนะ เพราะความยั่งยืนมันจะเกิด

“ผมบอกทีมว่าให้ทำเสื้อเด็กก่อน (หมายถึงเสื้อของปิยพร, ลลิตา และเธอฟ้าที่ร่วมงานในคอลเลกชั่นนี้) เสื้อคุณลิ้มไว้ปิดท้าย แต่งานของน้องๆ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากผมก่อน มานั่ง discuss กันว่าสัดส่วนสมดุลเป็นอย่างไร แล้วก็ให้เด็กไปทำก่อน ถ้าไปอิจฉาเด็ก อนาคตเราไม่มีแล้ว แต่ถ้าเรายินดีกับความสำเร็จของเขา แล้วถ้าเด็กทำเสื้อได้สวยกว่าเรา เราก็ดีใจมากที่สุดแล้วนะ เพราะคุณมีอนาคตแล้ว

“อาจจะด้วยความที่อายุมากขนาดนี้แล้ว ผ่านการอยากเป็น อยากไป อยากดัง อยากอะไรมาเยอะแยะ สุรชัย (พุฒิกุลางกูร นักทำภาพประกอบโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก) ถามว่า คุณลิ้ม กลับมาครั้งนี้คุณจะพิสูจน์อะไรอีก คุณไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีกแล้ว ผมไม่กล้าบอกเขาตรงๆ ว่าถ้าไม่พิสูจน์ครั้งนี้ กูเจ๊ง ก็ต้องปิดบริษัท แต่ถึงวันนี้เขาคงเข้าใจผม

“มันมีเรื่องที่ต้องบอกกับชีวิตว่า คุณต้องพิสูจน์ตัวเองไปถึงเมื่อไหร่ วันนี้ถ้าเราต้องปล่อยวางกับบริษัท at bangkok ที่ทำฟลายนาวแบบสง่างาม คุณต้องมีคนที่ยั่งยืนพอ แล้วสิ่งที่ผมทำวันนี้ มันก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าผมจะต้องมีคู่มือเป็นลักษณะแนวทางของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้คนรุ่นหลังปฏิบัติต่อ เช่น เด็กเข้ามาเขาต้องฝึกเรื่องอะไรบ้าง ก่อนจะเป็นดีไซเนอร์ ไม่ใช่มาถึงปุ๊บออกแบบเลย ไม่ใช่ เขาต้องมีสเต็ป หนึ่งปีทำอะไร สองปีทำอะไร สามปีทำอะไร ระบบแบบแผนต้องมี แล้วก็เขียนสังคายนาได้ทุกสามปี เมื่อเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้และเดินทางมาถึงจุดนี้ ผมจะใช้เวลาในชีวิตก่อนรีไทร์เพื่อสร้างระบบขึ้นมา มันไม่ได้มีความยั่งยืนเป็นอมตะหรอก แต่เราก็คิดว่า ระบบการคัดสรรการเลือก มันเป็นเรื่องสำคัญ” ผู้สร้างแบรนด์ฟลายนาวเล่า

เรื่องหนึ่งที่สมชัยเก่ง แต่อาจไม่เคยมีใครบอกเขา คือเป็นนักออกแบบรุ่นใหญ่ที่ยินดีฟังคนรุ่นใหม่อย่างเต็มใจ ความสามารถข้อนี้ไม่ง่ายเมื่อคุณถูกยกให้เป็น ‘รุ่นใหญ่’ เหมือนที่สมชัยเป็น

การยอมรับความจริงว่ามีคนที่หนุ่มกว่า เก่งกว่า ยินดีกับความสำเร็จของเขา นี่คือสิ่งที่สมชัยทำได้สำเร็จแล้วในวันนี้

“ถ้าเราอยากสบาย อยากให้มันยั่งยืน เราต้องส่งเสริมคนดีที่พร้อม ให้เขาได้ทำงานที่สมบูรณ์แบบ และถ้าเอาประสบการณ์ของเราไปเชื่อมโยง เพื่อให้เขาเก่งกว่าเรา สำหรับผม ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้วสำหรับการสร้างคน

“มันเป็นเรื่องทำใจยาก เพราะเราไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ที่แท้จริงของความยั่งยืน มันมีวัฒนธรรมหรือ Norm ของครอบครัวและสังคมที่มักจะบอกว่า เราต้องควบคุมเพื่อการปกครอง เราเข้าใจว่าประเทศหรือองค์กรจะเจริญได้เร็ว ต้องให้คนเก่งขึ้นมาใหญ่ เก่งไม่พอ คุณต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม แล้วองค์กรนี้จะใหญ่โตขนาดไหน ใหญ่เพื่ออะไร

“ผมไม่เห็นว่าคนรวยจะมีความสุขที่แท้จริง และก็ไม่ได้บอกว่าคนจนจะมีความสุข มันก็เท่ากันหมด แต่ถ้ารวยมากๆ ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าจะมีความสุข เพราะมันมีการแข่งขันเยอะแยะไปหมด ผมคงจะเป็นนักธุรกิจที่ถือว่าดี แต่จะดีขนาดไหนยังไงก็ไม่ได้ไปแข่งขันกับใคร สุรชัยพูดว่าพอก็พอ แต่เราก็อยากพิสูจน์ เพราะตานี้เราก็อยากเล่นมัน ถ้าตานี้ไม่ถนัดก็จะยอมรับว่าไม่ต้องพิสูจน์

“เราเหมือนมาเที่ยว เดี๋ยวเราก็กลับ ในการมาและไป คุณต้องการอะไรมากที่สุดล่ะ อิสรภาพใช่มั้ย สำหรับผม ใช่ อิสรภาพจะเกิดก็ต่อเมื่อคุณเข้าใจมันอย่างถ่องแท้”

4

Bangkok fashion week ที่สยามพารากอน ไม่ได้เป็นแค่งานใหญ่ของฟลายนาว แต่เป็นกิจกรรมฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของคนแทบทั้งอุตสาหกรรม

ลาน Parc Paragon ถูกเนรมิตให้เป็นรันเวย์ที่มิดชิด เข้มขรึม พื้นที่ใกล้เคียงเป็นบูทสปอนเซอร์ และจุดแสดงสินค้าแฟชั่นจากแบรนด์รุ่นใหม่ที่น่าจับตา

คืนวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน จะเป็นคิวโชว์ของฟลายนาว การถูกจัดให้เป็นโชว์คืนสุดท้ายสะท้อนความเป็นรุ่นใหญ่ของแบรนด์ไม่น้อย ผู้คนที่มาร่วมงานเต็มไปด้วยรอยยิ้ม มันมีความหมายมากกว่างานปกติ เพราะเป็นกิจกรรมแฟชั่นครั้งใหญ่ที่ได้กลับมาจัดอีกครั้ง หลังจากเงียบงันไปนานเพราะโควิด

เมื่อถึงเวลา เราทั้งหมดเข้าไปในรันเวย์ ที่นั่งเต็ม สื่อมวลชนตั้งแถวเบียดกันรอถ่ายรูป ลานว่างเปล่าถูกกั้นเป็นโถงมิดชิด

เมื่อถึงเวลา ไฟก็มืดลง สีดำที่ปกคลุมทั่วห้อง กระตุ้นให้เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นผลงานแห่งการเกิดใหม่ของสมชัย นางแบบในชุดของฟลายนาวทยอยปรากฏตัว ภาพสเกตช์ที่เราเห็นในห้องทำงานสีดำ ก่อกำเนิดเป็นเสื้อผ้าสู่สายตาผู้ชม

เมื่อเห็นนางแบบเดินเข้ามาและออกไปจากรันเวย์ สวนกันไปมาอย่างเป็นระเบียบ คนหนึ่งเดินเข้า อีกคนเดินออก เราคิดถึงเรื่องสุดท้ายที่คุยกับสมชัยก่อนร่ำลา

เขาเล่าเปรียบเทียบการทำงานของตัวเองในวัยนี้ว่า เหมือนคลื่นที่ซัดชายหาดแห่งเดิมมาเป็นเวลานานและต่อเนื่อง

“เราเป็นได้สองอย่าง คือเป็นคลื่นที่ซัดมาแล้วหายไปเลย หรือเราจะเป็นคลื่นใต้น้ำ ตอนนี้ผมเป็นคลื่นใต้น้ำ ในที่สุดวันหนึ่งมันต้องหายไป ไหลรวมกับคลื่นลูกอื่น กลายเป็นคลื่นลูกเดียวกัน”

เมื่อการโชว์สิ้นสุด คลื่นใต้น้ำที่ชื่อสมชัยเดินออกมาในชุดสีดำ โชว์ตัว ถ่ายรูป ขอบคุณผู้ชมทุกคน

ไม่มีใครรู้ว่าเขาจะออกแบบเสื้อผ้าไปถึงเมื่อไหร่ แต่วันนี้สมชัยสนุกสนานดี ยังรักในการวาดรูป ชื่นชมความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ และหลงใหลสีดำ

ในโลกบางใบ สีดำไม่เท่ากับความน่ากลัว ไม่เท่ากับความมืดมิด

แต่หมายถึงการเกิดใหม่ อันเต็มไปด้วยแสงสว่าง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ