ในบรรดาเรื่องเล่าของพี่น้องตระกูลกริมม์ นิทานเกี่ยวกับสโนว์ไวท์ สาวน้อยคนงามที่มีผิวขาวราวหิมะ ปากแดงดั่งกุหลาบ เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่เป็นที่รู้จัก ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อหลากหลายทั้งในรูปแบบหนังสือนิทาน การ์ตูน นวนิยาย ไปจนถึงแอนิเมชั่นและหนังเวอร์ชั่นคนแสดง หลายคนโตมากับสโนว์ไวท์ รู้จักคนแคระทั้งเจ็ด แอปเปิ้ลอาบยาพิษ แม่เลี้ยงใจร้ายและเจ้าชายรูปงามที่ปราศจากนาม แต่ทราบหรือไม่ว่าเคยมีนักประวัติศาสตร์เยอรมันออกมาตีพิมพ์แนวคิดน่าสนใจ ให้ความเห็นว่าสโนว์ไวท์อาจไม่ใช่เรื่องในจินตนาการ แต่อ้างอิงถึงบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์
ในปี 1994 นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน เอคฮาร์ด แซนเดอร์ (Eckhard Sander) ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งกล่าวถึงแนวคิดน่าสนใจนี้ โดยในหนังสือเรื่อง Schneewittchen: Märchen oder Wahrheit? (สโนว์ไวท์: เรื่องจริงหรืออิงนิยาย – Snow White: Fairy Tale or Truth?) แซนเดอร์ได้สันนิษฐานตัวตนของสโนว์ไวท์ว่า น่าจะเป็นสตรีที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์คือมาร์กาเรทา ฟอน วัลเด็ค (Margaretha von Waldeck)
มาร์กาเรทาเกิดในปี 1533 เป็นธิดาคนรองของฟิลิปที่ 4 เคานต์แห่งวัลเด็คและบาดไวล์ดุงเกน (Philip IV, Count of Waldeck-Wildungen) บิดาของมาร์กาเรทาเป็นผู้ปกครองดินแดนขนาดเล็กในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพื้นที่นี้ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนี มาร์กาเรทาขึ้นชื่อเรื่องความสวยมาตั้งแต่อายุยังน้อย แม้แต่บันทึกทางการของเมืองก็ยังกล่าวถึงลูกสาวของท่านเคานต์ว่างดงามอย่างน่าตกตะลึง เธอมีผิวสีขาว ปากแดงดั่งทับทิม และมีเส้นผมสีบลอนด์สวยสง่า น่าเสียดายที่มารดาของมาร์กาเรทาจากโลกนี้ไปตั้งแต่ยังสาว บิดาของเธอจึงสมรสใหม่กับสตรีเชื้อสายขุนนาง แคทเธอรีนา ฟอน แฮตสเฟลด์ (Katharina von Hatzfeld) มีข่าวลือว่าแม่เลี้ยงคนใหม่เป็นคนให้ความสนใจกับรูปโฉม จนบิดาของมาร์กาเรทาถึงขั้นซื้อกระจกบานใหญ่ให้ว่าที่ภรรยาเป็นของขวัญ อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ไม่มีหลักฐานว่าข่าวลือนี้เป็นความจริง
แคทเธอรีนาเป็นแม่เลี้ยงที่เข้มงวด เธอเข้ากับลูกเลี้ยงไม่ได้ทำให้มาร์กาเรทาถูกส่งตัวไปมาในหมู่เครือญาติ ตอนอายุ 7 ปี เด็กสาวถูกส่งไปอาศัยกับลุงซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองไวล์เบิร์ก ตอนอายุ 12 เธอถูกส่งต่อไปยังน้าชายซึ่งอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ แต่เมื่อมาร์กาเรทาอายุครบ 16 ปี ชีวิตของเธอก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อบิดาส่งเธอไปรับใช้พระนางแมรี่แห่งฮังการี ผู้สำเร็จราชการแห่งเนเธอร์แลนด์
แมรี่แห่งฮังการีเป็นลูกสาวของฮวนน่าแห่งคาสตีล (ฉายาฮวนน่าผู้บ้าคลั่ง) และฟิลิปรูปหล่อ พี่ชายของพระองค์-จักรพรรดิชาร์ลที่ 5 สืบทอดแผ่นดินยิ่งใหญ่จากบิดาและมารดา พระองค์ครองตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ควบตำแหน่งกษัตริย์แห่งสเปน แถมยังได้รับมรดกจากย่าเป็นแผ่นดินผืนใหญ่ของดัชชี่แห่งเบอร์กันดี (ปัจจุบันคือเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และบางส่วนทางตอนเหนือของฝรั่งเศส) เนื่องจากชาร์ลสืบทอดแผ่นดินที่กว้างใหญ่ ทำให้พระองค์ตัดสินใจตั้งน้องๆ ให้คอยทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ส่วนต่างๆ
แมรี่แห่งฮังการี-น้องสาวของชาร์ลที่ 5 เคยสมรสเป็นราชินีของกษัตริย์ฮังการีมาก่อน ภายหลังพระสวามีของพระองค์สวรรคต พระองค์จึงเสด็จกลับบ้าน และได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการในราชสำนักบรัสเซลส์ เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กสาวจากตระกูลขุนนางในยุคนั้น จะถูกส่งตัวไปทำงานรับใช้ในตำหนักของสตรีที่มีชื่อเสียงและอำนาจ ส่วนหนึ่งเพื่อฝึกฝนกิริยามารยาท เรียนรู้การบริหารจัดการครัวเรือน สตรีบางคนโชคดีได้เป็นคนโปรดของเจ้าบ้าน และอาจมีโอกาสสมรสกับขุนนางใหญ่ มาร์กาเรทายังมีบทบาทสำคัญ เป็นผู้สานสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับบิดา เพราะหากเด็กสาวทำผลงานได้เข้าตา ครอบครัวของเธอก็อาจได้รับการโปรดปรานไปด้วย การมาถึงของมาร์กาเรทา-สตรีที่ขึ้นชื่อเรื่องรูปโฉมความงาม แน่นอนว่าได้รับความสนใจ ไม่นานบุรุษน้อยใหญ่ต่างเข้าใกล้เพื่อหวังได้หญิงงามไปเป็นภรรยา แต่หญิงที่งามที่สุดในราชสำนัก ย่อมเตะตาบุรุษผู้มีความสำคัญมากที่สุด-เจ้าชายฟิลิป โอรสเพียงองค์เดียวของจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 และหลานอาของแมรี่แห่งฮังการี
เจ้าชายรูปงามอาจมีนามว่าฟิลิปแห่งสเปน
ฟิลิปแห่งสเปน ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของจักรพรรดิ เดินทางมาเยี่ยมราชสำนักของอาสาวในกรุงบรัสเซลส์เมื่อปี 1549 ในตอนนั้นพระองค์เป็นพ่อม่ายในวัยเพียง 22 เนื่องจากมเหสีองค์แรกของพระองค์-มาเรีย มานูเอลา แห่งโปรตุเกส สิ้นพระชนม์ไปในระหว่างการคลอดบุตรชาย มีข่าวลือว่าฟิลิปตกหลุมรักมาร์กาเรทา แต่ในปัจจุบันไม่หลงเหลือหลักฐานที่ชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ของทั้งสอง เราทราบได้เพียงว่าสุขภาพของมาร์กาเรทาเลวร้ายลงหลังจากนั้น เธอเขียนจดหมาย 3 ฉบับส่งถึงบิดาเพื่อบอกว่าตัวเองเริ่มป่วยก่อนเสียชีวิตไปในปี 1554 อายุแค่ 21 ปี
เหตุการณ์นี้ทำให้ครอบครัวของฝ่ายหญิงคิดว่ามาร์กาเรทาน่าจะถูกวางยาพิษ ส่วนผู้ประสงค์ร้าย อาจเป็นราชสำนักสเปนที่ไม่ต้องการให้มาร์กาเรทาเข้ามาขวางแผนการใหญ่ เนื่องจากในปีเดียวกันกับที่มาร์กาเรทาเสียชีวิต ราชสำนักสเปนจัดงานสำคัญคือการสมรสระหว่างเจ้าชายฟิลิปกับราชินีแมรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษ ราชินีแมรี่ขึ้นครองราชย์ในปี 1553 และได้ติดต่อมาทางจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 เพื่อพูดคุยเรื่องการสมรสสานสัมพันธ์ ชาร์ลที่ 5 มองว่าตัวเองอายุมากเกินกว่าจะสมรสใหม่จึงได้เสนอให้ราชินีแมรี่สมรสกับลูกชายเพียงคนเดียวของพระองค์
ฟิลิปกับแมรี่เข้าพิธีสมรสในวันที่ 25 กรกฎาคม 1554 เพียง 4 เดือนหลังจากมาร์กาเรทาจากไป ในหนังสือของเอคฮาร์ด แซนเดอร์ กล่าวว่าผู้วางยาพิษหญิงสาว น่าจะเป็นจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 แม้เราจะไม่สามารถสืบหาหลักฐานได้ในปัจจุบัน และไม่อาจรู้แน่ชัดว่ามาร์กาเรทาเสียชีวิตจากการวางยาพิษจริงหรือไม่
มองในแง่หนึ่ง การเสียชีวิตอย่างไร้ที่มาของหญิงสาวอายุน้อยไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนั้น และหากจะมองกันถึงแรงจูงใจ การที่กษัตริย์จะสั่งฆ่าคนรักของลูกชาย ก็ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น กษัตริย์อัลฟองโซที่ 4 แห่งโปรตุเกส เคยสั่งฆ่าอีเนส-สาวงามจากแคว้นกาลิเซียซึ่งเป็นคนรักของเจ้าชายเปโตร เนื่องจากลูกชายของพระองค์ไม่ยอมสมรสใหม่ แถมแอบจัดพิธีสมรสลับๆ กับสตรีในดวงใจที่ไม่มีความเหมาะสมทางการเมือง ความรักของเปโตรกับอีเนสเป็นเรื่องฉาวที่ถูกบันทึกอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวของฟิลิปกับมาร์กาเรทา เรายังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเกิดขึ้นจริง เพราะอย่างนั้นเรื่องนี้จึงอาจต้องหยุดไว้ในเครื่องหมายคำถาม
ความตายของสโนไวท์ ว่าด้วยคนแคระและแอปเปิ้ลอาบยาพิษ
ความตายของมาร์กาเรทา หากว่ามาจากการปองร้าย ผู้รับผิดชอบในความผิดนี้แน่นอนว่าไม่ใช่แม่เลี้ยงของมาร์กาเรทา เนื่องจากแคทเธอรีนา ฟอน แฮตสเฟลด์ เสียชีวิตไปก่อนเหตุการณ์นี้ร่วมสิบปี แม้จะปราศจากจุดเชื่อมโยงสำคัญ แต่เจ้าของทฤษฎีอย่างแซนเดอร์ก็ได้เชื่อมโยงบริบทรอบด้านด้วยข้อสันนิษฐานน่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น คนแคระของสโนว์ไวท์ อาจหมายถึงแรงงานเด็กในเหมืองของบิดา ฟิลิปที่ 4 เคานต์แห่งวัลเด็คและบาดไวล์ดุงเกน เป็นเจ้าของเหมืองขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานเด็กจำนวนมาก ดังนั้นคนแคระในนิทานสโนว์ไวท์ อาจหมายถึงการใช้แรงงานเด็กซึ่งมีขนาดตัวเล็ก พวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ในกระท่อมขนาดกะทัดรัด มีลักษณะคล้ายกับในนิทาน ปัจจุบันหมู่บ้านที่เชื่อกันว่าเป็นที่พักอาศัยของเด็กๆ ถูกเรียกว่า ‘หมู่บ้านสโนว์ไวท์’ (Schneewittchendorf – Snow White Village) กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศเยอรมนี
เกี่ยวกับเรื่องแอปเปิ้ลอาบยาพิษ แม้เรื่องราวของมาร์กาเรทาจะไม่ปรากฏการใช้แอปเปิ้ลเป็นอาวุธสังหาร แต่การใช้แอปเปิ้ลกับยาพิษ เคยปรากฏเป็นคดีความในพื้นที่บ้านเกิดของมาร์กาเรทา หลังยุคสมัยของเธอเป็นเวลานานหลายสิบปี คดีนี้เกิดจากชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งรู้สึกโกรธแค้นเด็กๆ ที่ชอบเข้ามาขโมยผลไม้ในสวนของเขาจึงได้นำเอายาพิษไปใส่ไว้ในผลแอปเปิ้ล
‘ผิวขาวเหมือนตุ๊กตากระเบื้อง ปากแดงเหมือนเลือดนก’ นิยามความงามในช่วงเวลาของสโนไวท์
เราอาจคุ้นคำบรรยายเกี่ยวกับความงามของสโนว์ไวท์ ว่าเป็นสตรีที่มีผิวขาวราวหิมะ ริมฝีปากแดงดั่งกุหลาบ ค่านิยมผิวขาว กับเรียวปากสีแดง เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาของมาร์กาเรทา คนดังที่เป็นไอดอลของความงามในรูปแบบนี้ คือราชินีเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องสาวต่างมารดาของราชินีแมรี่ที่ 1 สตรีที่ได้เจ้าชายฟิลิปไปครอบครอง
เอลิซาเบธขึ้นครองราชย์หลังการสวรรคตของพี่สาว (เนื่องจากแมรี่และฟิลิปไม่มีทายาท) ทรงเป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายของราชวงศ์ทิวเดอร์และได้ปกครองอังกฤษเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี ภาพลักษณ์ที่คนรุ่นหลังคุ้นตาเกี่ยวกับพระองค์ คือการลงแป้งขาวบนหน้า และการทาปากให้มีสีแดงสด ตลอดจนการสวมวิกผมที่ทำให้พระองค์ดูสง่างามน่าเกรงขาม ผิวที่ขาวผ่องของเอลิซาเบธที่ 1 สื่อถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ ส่วนสีแดงสื่อว่าพระองค์เป็นคนสุขภาพดี
ค่านิยมความงามในรูปแบบนี้เป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติและเครื่องสำอางในยุคนั้นเต็มไปด้วยสารไม่พึงประสงค์อย่างตะกั่วและปรอทส่งผลให้สุขภาพของพระองค์เสื่อมโทรมลงในภายหลัง เอลิซาเบธที่ 1 ปกปิดใบหน้าของพระองค์ด้วยเครื่องสำอางที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ ทรงทาหน้าขาวกว่าสตรีทั่วไป เชื่อกันว่าเพื่อปกปิดร่องรอยจากไข้ทรพิษ (Smallpox) ซึ่งทิ้งรอยแผลเป็นไว้บนใบหน้า
ดิสนีย์ VS ความจริง หากสโนไวท์มีตัวตนในประวัติศาสตร์ สาวงามแห่งเยอรมนีช่วงศตวรรษที่ 16 อาจมีรูปลักษณ์ประมาณไหน
ทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่านิทานสโนไวท์ของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของมาร์กาเรทาจริงหรือไม่ เพราะแค่ในทวีปยุโรปก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหญิงสาวที่ 1.สวยงาม 2.มีแม่หรือแม่เลี้ยงใจร้าย 3.ตายด้วยพิษตั้งแต่อายุยังน้อย อยู่อีกมาก แต่ในตอนที่วอลต์ ดิสนีย์ ตัดสินใจนำนิทานเรื่องสโนไวท์มาผลิตเป็นแอนิเมชั่น พวกเขาได้นำภาพลักษณ์ความสวยของสโนไวท์มาจากนิยามความงามร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ 1937s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แอนิเมชั่นเรื่องนี้ถูกนำออกฉาย ยกตัวอย่างเช่นทรงผมตัดสั้น ดวงตากลมโต ริมฝีปากอวบอิ่มไปจนถึงรูปหน้าและการลงเมกอัพ
ส่วนรายละเอียดประกอบฉากรวมไปถึงเสื้อผ้า วอลต์ ดิสนีย์อ้างอิงมาจากสิ่งของในวัฒนธรรมเยอรมันช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มาร์กาเรทามีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ดี ศตวรรษที่ 16 กินเวลายาวนานถึง 100 ปี ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่แฟชั่นเครื่องแต่งกายมีความหลากหลายเป็นอย่างมากจนยากจะสันนิษฐานว่ามาร์กาเรทาเลือกสวมเสื้อผ้าแบบไหน คาโรลิน่า เซโบรสก้า (Karolina Żebrowska) นักประวัติศาสตร์แฟชั่นชาวโปแลนด์เคยสันนิษฐานเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของสโนไวท์ว่า อาจสามารถเทียบเคียงกับภาพวาดสตรีเยอรมันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่นงานของลูคัส คาร์นัค คนพ่อ (Lucas Cranach the Elder) จิตรกรชาวเยอรมันยุคเรเนซองส์ผู้มีโอกาสวาดภาพสตรีชั้นสูงหลายท่านช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงและมีฐานะสังคมไม่ต่างมากนักจากมาร์กาเรทา
หนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังของลูคัส คาร์นัค คนพ่อ คือภาพวาดซีบิลแห่งคลีฟส์ (บางแหล่งข้อมูลเรียกว่าซีบิล่า) พี่สาวคนโตของแอนน์แห่งคลีฟส์ (มเหสีองค์ที่ 4 ของเฮนรี่ที่ 8 ผู้เป็นบิดาของทั้งแมรี่ที่ 1 และเอลิซาเบธที่ 1) ซีบิลแห่งคลีฟส์ได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นหญิงงามในยุคนั้น ชุดที่พระองค์สวมยังมีลักษณะเด่นน่าสนใจซึ่งมีความใกล้เคียงกับชุดสโนว์ไวท์ในเวอร์ชั่นของดิสนีย์คือแขนเสื้อแบบพองโชว์สีสันต่างกันระหว่างเนื้อผ้า แขนเสื้อแบบนี้เป็นที่นิยมในเยอรมนีช่วงปี 1530-40s และเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1550s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาร์กาเรทาเสียชีวิต (มาร์กาเรทาจากไปในปี 1554)
เอกลักษณ์อีกอย่างในชุดสโนว์ไวท์ของดีสนีย์คือปกคอทรงสูงสีขาว ปรากฏว่าแฟชั่นแบบนี้เป็นที่นิยมในเยอรมนีเช่นกัน โดยปรากฏภาพของสตรีร่วมสมัยสวมใส่เสื้อที่มีปกคอสูงตั้ง ปกคอแบบนี้ได้รับความนิยมตั้งแต่ทศวรรษที่ 1530s เรื่อยมาจนถึงปี 1550s หรือนานกว่า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จุดเด่นสองอย่างในชุดของสโนไวท์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแฟชั่นที่ถูกสวมใส่จริง ส่วนสิ่งที่ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่นกระโปรงพลิ้วไหวของสโนไวท์ซึ่งแตกต่างจากการสวมใส่ชุดกระโปรงหนาหนักในยุคนั้น การออกแบบชุดของนางเอกให้ออกมาบางเบาเข้ากับการขยับร่างกาย เป็นแฟชั่นตามสมัยนิยมช่วงทศวรรษที่ 1930s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แอนิเมชั่นถูกผลิตออกฉาย มองกันในมุมนี้ เจ้าหญิงสโนไวท์ที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน เป็นผลผลิตจากสองช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ คือช่วงเวลาที่เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริง กับช่วงที่นิทานเรื่องนี้ถูกนำมาขัดเกลาใหม่เพื่อใช้นำเสนอกับผู้คนในวงกว้าง
References:
The Story of Real Snow White Is Far More Gruesome Than Disney’s – https://medium.com/lessons-from-history/the-story-of-real-snow-white-is-much-more-gruesome-than-disneys-cee877699ff8
Snow White and the Seven Dwarfs: History & Pantomime Origins – https://www.blackpoolgrand.co.uk/history-of-snow-white
Fashion Expert Fact Checks Snow White’s Costumes | Glamour – https://www.youtube.com/watch?v=XfY11hBWz_0
What Would Snow White *Actually* Wear? || Making a Historically Accurate Disney Snow White Costume – https://www.youtube.com/watch?v=1cmDY4EYRpg&t=386s
The Story Of Margaretha Von Waldeck, The Real Snow White – https://historydaily.org/margaretha-von-waldeck-real-snow-white
The truth behind Queen Elizabeth’s white ‘clown face’ makeup – https://www.news.com.au/lifestyle/real-life/true-stories/the-truth-behind-queen-elizabeths-white-clown-face-makeup/news-story/0b3fb5f8b97f20d43c0a62a558c0324e