จดหมายรักถึงแม่ผู้จากไป Shuggie Bain นวนิยายรางวัล The Booker Prize ปีล่าสุด

Highlights

  • Shuggie Bain คือนวนิยายเล่มแรกของ Douglas Stuart ที่ส่งให้ชื่อของเขาโด่งดังไปทั่วโลกจากการคว้ารางวัล The Booker Prize มาได้
  • หนังสือเล่มนี้ตีแผ่ความสัมพันธ์ระหว่าง Shuggie เด็กน้อยที่สับสนในนิยามความเป็นชาย กับ Agnes แม่ของเขาที่วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากเล่นไพ่และกินเหล้า
  • Shuggie Bain คือนวนิยายที่แสดงให้เห็นความรักของเด็กคนหนึ่งที่มีต่อแม่ผู้บกพร่องในชีวิต และแม้ว่าบางครั้ง Shuggie จะหงุดหงิดกับพฤติกรรมของ Agnes ทว่าเขาก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะโอบกอด และปลอบประโลมแม่ของเขาอย่างที่เด็กคนหนึ่งจะทำได้
   

1.

ในปี 1992 Shuggie Bain อายุ 16 ปี อาศัยอยู่ลำพังในห้องเช่าเก่าๆ ในเมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ว่ากันตรงๆ ชักกี้คือชนชั้นล่าง เวลาในแต่ละวันของเขาหมดไปกับการเป็นแรงงานราคาถูกในซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ แห่งหนึ่ง และแม้ว่าเนื้อตัวของเขาจะมอมแมมจนไม่น่าจะผ่านมาตรฐานด้านสุขลักษณะ แต่เพราะว่าแรงงานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น ‘จ่ายถูกกว่า’ นายจ้างของชักกี้จึงเลือกเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่สนใจว่าร่างกายของเด็กชายจะสกปรกเพียงใด เขาเพียงแค่ต้องการแรงงานราคาถูกที่จะยอมก้มหัวทำงานงกๆ ไปเรื่อยๆ เรื่องสุขลักษณะน่ะช่างหัวมันไปก่อนเถอะ 

ในปี 1981 ชักกี้ เบน อายุ 5 ขวบ อาศัยอยู่กับครอบครัวของเขาซึ่งประกอบด้วย ‘Agnes Bain’ ผู้เป็นแม่ ‘Big Shug Bain’ ผู้เป็นพ่อ และพี่ๆ ของชักกี้อีกสองคน ภายในแฟลตเหม็นๆ เก่าๆ ชีวิตประจำวันของพวกเขาผ่านไปอย่างหนวกหู เศร้าซึม และน่าคับแค้นใจ บิ๊ก ชักเป็นคนขับรถแท็กซี่ และแม้ว่าในระหว่างวันเขาจะออกไปขับรถส่งผู้โดยสารคนโน้นคนนี้ แต่แอ็กเนสก็รู้ว่าจริงๆ แล้วสามีของหล่อนแอบมีชู้กับผู้หญิงคนอื่น ขณะที่แอ็กเนสที่วันๆ วนเวียนอยู่แค่ในบ้านก็ผลาญกิจวัตรไปกับการชวนเพื่อนๆ ในวัยสาวมาดื่มเหล้าและเล่นไพ่ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วแอ็กเนสเคยเป็นหญิงสาวแสนสวยที่มักเป็นที่หมายปองของทั้งหนุ่มน้อยและหนุ่มใหญ่ แต่พอเวลาผ่านไป ชีวิตของสาวน้อยที่เคยสำราญเสรีก็กลับต้องมาจมปลักอยู่ในร่างกายที่ค่อยๆ หย่อนยานลงไป พร้อมกับลูกๆ อีกสามคน ที่ลำพังแค่เงินที่ได้จากการขับรถแท็กซี่ของบิ๊ก ชักก็ไม่พอจะเลี้ยงยาใส้ ชีวิตของแอ็กเนสไม่เคยจะง่ายสำหรับหล่อนเลย

2.

ในปี 1976 Douglas Stuart ลืมตาขึ้นมาดูโลกเป็นครั้งแรกที่ ‘Sighthill’ หมู่บ้านจัดสรร (housing estate) แห่งหนึ่งในเมืองกลาสโกว์ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นล่างกับพี่อีกสองคนและแม่ที่ติดแอลกอฮอล์ ซ้ำร้ายยังไม่มีพ่อ ชีวิตวัยเด็กของสจวร์ตไม่ใช่อะไรที่ง่ายนัก แต่ลำพังแค่สถานะทางการเงินและสภาพแวดล้อมก็ว่าหนักหนามากพอแล้ว ทว่าในช่วงที่เขาอายุหกขวบสจวร์ตก็เริ่มตระหนักว่า มีอะไรบางอย่างในตัวเขาที่ไม่เหมือนกับเด็กผู้ชายทั่วๆ ไป 

“ผมเติบโตขึ้นในสังคมที่ผู้ชายต้องเข้มแข็ง แต่พออายุได้หกขวบ ผมกลับพบว่าตัวเอง ‘เป็นอย่างอื่น’ ก่อนหน้าที่ผมจะทันได้เข้าใจร่างกาย และลักษณะนิสัยของตัวเองด้วยซ้ำ” สจวร์ตเล่าในบทสัมภาษณ์หนึ่ง

ไม่ได้เกิดมา ‘สอดคล้อง’ กับนิยามของความเป็นชาย แต่ก็ไม่สามารถจะเข้าใจโดยทันทีว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ สจวร์ตอธิบายว่า จริงๆ แล้วเขาก็ไม่ต่างอะไรกับชักกี้ ตัวละครหลักในนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของเขา ที่พ้นไปจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งสจวร์ตและชักกี้ต่างเติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นล่างที่มีแม่ติดเหล้าแล้ว พวกเขายังงุนงง และสับสนกับตัวตนที่ดูไม่ค่อยจะเข้าพวกของตัวเอง

“ผมก็เหมือนกับชักกี้นั่นแหละ เป็นเด็กที่ร่าเริง และรักในสิ่งที่ตัวเองรัก มันไม่มีอะไรผิดปกติสำหรับผมเลย แม้ว่าผมอาจดูอ้อนแอ้น อ่อนไหว และแก่แดดอยู่บ้าง แต่กลับเป็นผู้ใหญ่และเด็กคนอื่นๆ ต่างหากที่คิดว่า ‘มันต้องมีอะไรสักอย่างผิดปกติในตัวเด็กคนนี้’” สจวร์ตอธิบาย

3.

อาจกล่าวได้ว่า Shuggie Bain หนังสือที่ผมหยิบมาพูดถึงในครั้งนี้ คือนวนิยายที่สจวร์ตเขียนขึ้นจากชีวิตของเขาเอง โดยที่ชักกี้ ตัวละครหลักของเรื่องก็เป็นเสมือนกระจกที่ส่องสะท้อนตัวตนของสจวร์ตและความไม่ง่ายของชีวิตที่เขาเติบโตขึ้นมา 

ผ่านฉากหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ ‘Leek’ พี่ชายของชักกี้พยายามสอนให้น้องชาย ‘เดินให้สมกับเป็นชาย’ (walk like a man) เหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในฉากชีวิตประจำวันทำนองนี้ที่สำหรับสจวร์ตแล้ว–แสดงให้เห็นว่าสังคมอังกฤษในช่วงเวลาหนึ่งดำเนินอยู่ภายใต้สำนึกที่หวาดกลัวต่อคนรักเพศเดียวกันยังไง

และแม้ว่าลีกจะเพียงแค่อยากเห็นน้องชายของเขาเดินอย่างอกผายไหล่ผึ่งเหมือนผู้ชายทั่วๆ ไป ด้วยเชื่อว่า ท่าเดินอ้อนแอ้นของขักกี้เป็นเรื่องที่แก้ไขกันได้ ขอเพียงฝึกฝนสักหน่อย อาการไม่สมชายก็ย่อมจะหายเป็นปลิดทิ้ง แต่คำถามคือ แล้วการปรับแก้บุคลิกจากภายนอกจะส่งผลกระทบถึงรสนิยมทางเพศและตัวตนภายในของชักกี้ด้วยเลยเหรอ?

ในบทสัมภาษณ์หนึ่งสจวร์ตเคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “มัน (การปรับแก้บุคลิก) ทำให้ใครคนหนึ่งรู้สึกว่า มีอะไรบางอย่างแตกหักในตัวเขา ที่เขาจำเป็นจะต้องหาทางซ่อมมันไปเรื่อยๆ โดยที่หากจัดการได้ตรงจุดในสักวัน ถ้าเขาเรียนรู้ที่จะเดินได้อย่างถูกต้อง และปรับมุมมองที่มีต่อตัวเองได้สำเร็จ เขาก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ผมเชื่อแบบนี้เสมอในช่วงชีวิตที่เติบโตขึ้นมา”

เมื่อชีวิตถูกกักขังอยู่ภายใต้ทัศนคติเช่นนี้ ชีวิตวัยเด็กของสจวร์ตจึงดิ้นรนอยู่กับการพยายามจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับนิยามของความเป็นชาย โดยที่ความลำบากยากเข็ญนี้ก็ปรากฏให้เห็นผ่านเรื่องราวของชักกี้ที่ต้องเผชิญกับการถูกกลั่นแกล้งจากเด็กๆ วัยเดียวกันที่มองบุคลิกของชักกี้ว่าแปลกประหลาดอยู่เรื่อยๆ 

“homophobia ปรากฏอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตผม ผ่านรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างกันไป มันเหมือนกับความเกลียดชังผู้หญิงและอะไรก็ตามที่มีคุณลักษณะแบบผู้หญิงนั่นแหละ ผมพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า ผมเป็นคนอ้อนแอ้นและมีความเป็นผู้หญิงอยู่ในตัว อย่างการอ่านหนังสือก็อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว และเป็นกิจกรรมของผู้หญิง เพราะฉะนั้นแม้แต่การจะเที่ยวไปบอกใครๆ ว่ารักการอ่าน ก็อาจนับเป็นการเปิดเผยตัวตนจริงๆ ของเรา

“ใช้เวลามากเลยนะกว่าที่ผมจะโอบกอดและยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง เป็นการเดินทางที่ยาวมากทีเดียวกว่าที่ผมจะค้นพบว่ายังมีคนประเภทเดียวกับเราอยู่ ว่ายังมีเผ่าพันธุ์ของเราอยู่บนโลกใบนี้” สจวร์ตเล่า

4.

ในสัดส่วนเดียวกับที่ Shuggie Bain คือบทบันทึกความทรงจำของสจวร์ตต่อบรรยากาศของสังคมอังกฤษกับประเด็น homophobia ในยุค 80s หนังสือเล่มนี้คือการฉายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ที่แสนซับซ้อนระหว่างแม่กับลูกที่ผูกโยงอยู่ระหว่างความรัก ความเบื่อหน่าย และความเกลียดชัง

แอ็กเนสติดเหล้า และในระดับเดียวกับที่หล่อนมักจะกล่าวโทษโชคชะตา ว่าทำไมชีวิตของหล่อนต้องมาติดตายอยู่กับลูกๆ และสามีโง่ๆ ในห้องเช่าเก่าๆ แอ็กเนสก็รักลูกของหล่อนอย่างที่แม่คนหนึ่งพึงเป็น 

“แม่ของผมเป็นแม่ที่ดีมากคนหนึ่ง” สจวร์ตเล่าระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์กับ BBC “การเติบโตในกลาสโกว์ยุค 80s ไม่ใช่เรื่องง่าย และแม่ของผมก็ติดเหล้า ถึงอย่างนั้นแม่ก็เป็นผู้หญิงที่ทำงานหนักและเป็นคนใจกว้าง แต่แม่ก็แตกสลายมากและสุขภาพของแม่ก็ย่ำแย่มากเช่นกัน”

สำหรับสจวร์ต ภาวะเสพติดของแม่คือเรื่องธรรมดาที่เขาต้องพบเจออยู่บ่อยๆ และแม้ว่าในแง่หนึ่งอาการเมามายของแม่จะกลายเป็นแง่มุมหนึ่งในชีวิตประจำวันที่เขาคุ้นเคย แต่มันก็ไม่ใช่สภาวะแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตของเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

ชักกี้เองก็รักแม่ของเขาไม่ต่างอะไรจากสจวร์ต และแม้ว่าวันๆ ของแอ็กเนสจะหมดไปกับการมอมเมา  แต่ถึงอย่างนั้นชักกี้ก็ยังพยายามอย่างเต็มที่ในการจะปลอบประโลมแม่ของเขาจากความผิดหวังในชีวิต

Shuggie Bain ไม่ใช่นวนิยายที่อ่านง่ายนัก ประเด็นทางภาษาก็เรื่องหนึ่ง (ตัวละครในเรื่องมักจะใช้สแลงแบบชาวสกอตติชอยู่บ่อยๆ) แต่มากไปกว่านั้นคือความรู้สึกของตัวละครต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชักกี้กับแอ็กเนสที่ถาโถมโรมรันเข้าใส่กัน ยื้อยุดฉุดกระชาก สบถด่า และโอบกอดกันและกันอยู่ซ้ำๆ มันเป็นนวนิยายที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนของอารมณ์อย่างที่สุด ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อย่างที่สุดในชีวิตที่สจวร์ตและชักกี้เติบโตขึ้นมา

“เด็กๆ มักจะมีความรักที่หนักแน่นต่อพ่อแม่ที่บกพร่อง” สจวร์ตว่า “มันเป็นเรื่องน่าตกใจและชวนให้บาดใจอยู่เหมือนกันนะ แต่นั่นแหละชีวิต แม้ผมจะเติบโตมากับแม่ที่ติดเหล้า แต่ทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้รู้สึกมืดมนกับชีวิตมากแล้ว”

5.

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2020 Shuggie Bain คว้ารางวัล The Booker Prize มาได้ ชื่อของสจวร์ตดังเปรี้ยงทันทีในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ที่ประกาศศักดาบนเวทีระดับนานาชาติได้ตั้งแต่นวนิยายเล่มแรก

พอได้รู้ว่าหนังสือของเขาคว้ารางวัลที่ทรงเกียรติมาได้สจวร์ตร่ำไห้แทบจะในทันที

สามสิบกว่าปีก่อน แม่ของสจวร์ตจากโลกนี้ไปในวันที่เขาเพิ่งจะมีอายุได้ 16 ปี

“มันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผมไม่สามารถบอกเล่าความสำเร็จนี้ให้แม่ได้รู้” สจวร์ตเล่า “ถึงแม้ว่าแม่จะจากโลกไปนานแล้ว แต่ผมก็ยังหวังให้แม่ยังคงอยู่กับผมในตอนนี้ ผมมักจะกลับไปคิดอยู่เรื่อยๆ แหละว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะมีอะไรที่พอจะแก้ไขในชีวิตได้บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้วผมก็เป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง 

“ไม่มีอะไรที่เด็กตัวเล็กๆ อย่างผมจะเปลี่ยนแปลงได้มากนักหรอก”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone