KASA’ MAYA : เสื้อผ้าฤดูร้อนจากใจหญิงไทยผู้ข้ามฟ้าไปลุยงานกับช่างฝีมือภารตะ

หญิงไทยคนหนึ่งโบกมือลาวงการแฟชั่นที่เธอรักและผูกพันมากว่า 20 ปี ออกเดินทางท่องเที่ยวไปในเมืองชัยปุระ รัฐราชาสถานที่ประเทศอินเดียกับกลุ่มเพื่อน เพื่อพบกับความรัก ความฝันครั้งใหม่โดยไม่คาดคิด นั่นคือศาสตร์การย้อมคราม พิมพ์ลายด้วยเทคนิค Hand Wood Block Printed ซึ่งถือเป็นงานฝีมือเก่าแก่อันเลื่องชื่อของรัฐ

หลังบินกลับมาไทย เธอลงมือตัดเย็บตัวอย่างเสื้อผ้าที่อยากสวมใส่ในวันธรรมดาแต่สวยเหมือนเป็นวันพิเศษ ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นเสื้อผ้าที่ใส่อยู่บ้าน (Loungewear) ดีไซน์สวยสะบัดแต่ใส่สบาย แล้วหอบหิ้วต้นแบบทั้งหมดข้ามน้ำข้ามทะเลไปให้ช่างฝีมือเมืองชัยปุระดู ก่อนลงมือปลุกปั้นจนกลายเป็น KASA’ MAYA แบรนด์เสื้อผ้า Loungewear แฮนด์เมดสไตล์ใหม่ที่ Urbanista ผู้หลงใหลในสัมผัสธรรมชาติ โหยหาความเบาสบาย ใจเต้นแรงกับลวดลายชนเผ่าร่วมสมัย ต้องตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

เหมือนเป็นพล็อตภาพยนตร์สารคดีแฟชั่นชวนฝันใช่ไหม?

แต่เปล่าเลย นี่คือเรื่องจริงของ หมู-กษมา โรหิตรัตนะ ดีไซน์เนอร์อิสระผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า KASA’ MAYA ผู้ค้นพบส่วนผสมอันยั่งยืนระหว่าง ความสวย และความสบายในโลกแฟชั่น

จุดเริ่มต้นที่ไม่มีวันจบเมื่อพบชัยปุระ

“หลังจากออกจากวงการแฟชั่นที่คลุกคลีมาร่วม 20 กว่าปี เราก็มีเวลาได้ออกเดินทางไปเที่ยวเมืองชัยปุระที่ประเทศอินเดียกับเพื่อนๆ ชาวยุโรปที่เขาทำงานออกแบบ ตอนนั้นเพื่อนๆ เดินทางไปตามหาโรงงานย้อมพิมพ์ทำงานผ้าต่างๆ เพราอินเดียถือเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมยาวนาน เก่งเรื่องงานผ้ามาก พวกผ้าไหม ผ้าฝ้าย งานทอ งานย้อม งานพิมพ์ลาย มีโรงงานที่บรรจุช่างฝีมือคุณภาพคอยทำงานให้แฟชั่นดีไซเนอร์เบอร์ต้นๆ ของโลก”

“ระหว่างเดินทางเป็นช่วงเมษายน อากาศที่นั่นร้อนถึง 50 องศาเซลเซียส ทำให้เราใส่เสื้อผ้าปกติที่เคยใส่ไม่ได้ สวมยีนส์ก็ไม่ได้ ร้อนเกิน เราก็เปลี่ยนมาซื้อกางเกงผ้าฝ้ายที่เมืองนั้นใส่แทน แล้วเรารู้สึกสบาย มันโปร่งมาก เราก็ชอบ บวกกับเป็นคนไม่ได้อินกับเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์มาตั้งแต่ทำงานในวงการแฟชั่นแล้ว เนื่องจากเนื้อผ้าทำให้เหนอะตัวเวลาใส่ ยิ่ง 4 – 5 ปีก่อนเขานิยมทำลวดลายผ่านเทคนิค Digital Print สีฉูดฉาด ผ้าหนาปึ้กยิ่งไม่สบายตัว

“ช่วงวัยเราตอนออกเดินทางไปอินเดียก็เป็นวัยที่ชัดเจนแล้วว่าตัวเองอยากใส่อะไรที่สบาย แต่ก็ยังสวยในเวลาเดียวกัน เลยพบว่าอินเดียมีวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าเหล่านั้นอยู่ อีกเหตุคือเวลาเราทำงานแฟชั่น เราจะชอบดูแบรนด์เมืองนอก อย่าง DRIES VAN NOTEN (แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้โด่งดังแห่งกลุ่ม The Antwerp Six – 6 ดีไซเนอร์แถวหน้าสุดเปรี้ยวแห่งแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ดรีสถือเป็นดีไซเนอร์อิสระผู้เป็นที่รักของวงการ เดินทางไปเปิดน่านน้ำการทำงานปักผ้ากับช่างฝีมือรัฐราชาสถานตั้งแต่ช่วงปี 1980) งานมือของเขาส่วนใหญ่ก็ Made in India หมดเลย พอมาถึงหน้างานจริง ก็เกิดความคิดในใจว่า เห้ย ทำไมเราไม่ลองทำกับช่างฝีมือทีมงานดีๆ ที่อินเดียดูบ้างนะ”

คลุกวงในช่างฝีมือภารตะ

“บังเอิญว่าเมืองที่เราไปเป็นเมืองแห่ง Hand Wood Block Printed ได้ไปเห็นการทำงานแต่ละขั้นตอนก็ชอบ กว่าจะได้ผ้าแต่ละเมตร ผ่านมือคนหลายคนมาก ไหนจะต้องแกะบล็อกไม้ ปั๊มลายลงบนผ้าด้วยโคลนสูตรพิเศษ โรยทราย นำไปตากให้แห้งเพื่อกันสีซึมเปื้อนเวลาย้อมครามธรรมชาติ ย้อมเสร็จนำไปตาก ตากแล้วมาพิมพ์โคลนใหม่เพื่อให้ได้ลายที่ซับซ้อนขึ้น แล้วไหนจะต้องล้างซักฟาดผ้าให้สะอาดจนแน่ใจว่าไม่เหลือเศษทราย และสีออกจนหมด ลึกซึ้งมาก แล้วเนื้อผ้าฝ้ายที่นู่น อย่างที่เล่าว่าเราใส่แล้วรู้สึกโปร่ง สบาย บาง เราทำงานในวงการมาก็ไม่เคยเจอผ้าฝ้ายเนื้อแบบนี้ เวลาพูดถึงฝ้าย คนจะนึกถึงผ้าดิบแทน แต่ที่นี่ไม่ใช่เลย ผ้าเขามีความโปร่ง นุ่ม เวลาย้อมสีจะเห็นเนื้อสีทั้งสองด้าน”

“พอเจอโรงงานที่เขาทำส่งออกให้แบรนด์เมืองนอก มีมาสเตอร์ (คำที่ใช้เรียกช่างฝีมือที่อินเดีย) ที่ไว้ใจได้ เราก็เอ่ยปากขอเขาทดลองทำคอลเลกชันเล็กๆ ดู ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องแบรนด์ขายจริงจังอะไร กลับมาก็ขึ้นแบบเสื้อผ้า บินไปคุยกับเขา เลือกลายบล็อกไม้อินเดียที่เป็นกราฟิกร่วมสมัยในตัวมาใช้กับแบบเสื้อผ้า บางตัวก็ดูเป็นกิโมโนญี่ปุ่น บางคนดูแทบไม่ออกเลยว่าเป็นเสื้อผ้าจากอินเดีย”

“ถามว่ากลัวไหม ไม่กลัว คิดในใจแค่ว่าอยากทำอะไรที่อยากใส่ ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างไรอย่างน้อยเราได้ใส่เสื้อผ้าที่ชอบตลอดปี (หัวเราะ)”

“คอลเลกชันแรกของเราเล็กมากเลย เหมือนเขาทำพันชิ้น แต่เราขอเขาเริ่มร้อยชิ้น แล้วซอยชิ้นงานเป็นกิโมโนสั้นกับยาวอย่างละ 50 ตัวอะไรแบบนั้น อีกคำถามที่เจอบ่อยคือ ทำงานกับคนอินเดียไม่กลัวเหรอ คุยภาษาอะไรทำไมถึงควบคุมคุณภาพงานได้แบบนี้ ความจริงคือ เราทำงานกับคนอินเดีย สื่อสารกับเขาด้วยภาษาอังกฤษล้วน ต้องบินไปอินเดีย ปีละ 5 – 6 ครั้ง คนไทยชอบพูดกันติดปากเล่นๆ ว่า ถ้าเจองูกับเจอแขกให้ตีแขกก่อน แต่ตอนนี้แขกกลัวกษมามาก (หัวเราะ)”

“ช่างเทเลอร์ตัดเสื้อให้เราที่นู่น คนขึ้นแพตเทิร์นเป็นผู้ชายหมดเลยนะ แล้วเราจะเรียกทุกคนว่ามาสเตอร์ มีโรงงานหนึ่งพอมาสเตอร์เห็นกษมา มาสเตอร์จะมือสั่น กษมา กษมามาอีกแล้ว คือน่ากลัวมาก ตาผี ไม่ปล่อยเลยแม้แต่เซนติเมตรเดียวเพราะว่าเราเป็นคนออกแบบเองไง ถ้าใครเกิดขึ้นแบบผิด เราจะรู้ทันทีเลย แล้วเป็นผู้หญิงไม่ได้กลัวผู้ชาย เห็นอะไรผิดพลาดก็จะบอกเขาตรงๆ มาสเตอร์ มาสเตอร์ต้องแก้นะ ต้องทำแบบนี้ ”

เสื้อผ้าฤดูร้อนดีไซน์เรียบง่ายแต่ไม่ง่ายซักนิด

“การขึ้นแบบ เราทำเอง ขึ้นหุ่นเองหมด แต่ในขณะเดียวกันหุ่นสัดส่วนก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ต้องฟิตติ้งกับรูปร่างตัวเอง แล้วก็ต้องนึกถึงคนอื่นๆ ที่หุ่นแตกต่างจากเรา ทั้งหมดเราได้มาจากการทำงานที่ผ่านมา ก็พยายามทำเสื้อฟรีไซส์ที่เข้าได้กับคนทุกรูปร่าง”

“เสื้อผ้าเราเป็น Loungewear คือใส่สบาย ใส่อยู่บ้านได้ แต่เราอยากให้เป็นชุดอยู่บ้านที่ใส่ไปเดินนอกบ้าน ไปงานปาร์ตี้ได้ด้วย พวกกางเกงนอนทรงตรงเราไม่ทำ เราตัดเย็บเป็นกางเกงนอนทรงสวยขาบานหน่อย ใส่สบายไม่พอ ต้องเปรี้ยวด้วย เราก็ดีไซน์ตัวกิโมโนเพิ่มเข้ามา จริงๆ เป็นทรงธรรมดาเลยแต่ว่าด้วยเนื้อผ้า ลวดลายจากบล็อกไม้อินเดีย และการพรีเซนต์ ทำให้คนใส่ไม่เหมือนใส่ชุดนอน”

“ไม่เคยคิดว่าเสื้อผ้าแบรนด์ KASA’ MAYA เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นนะ เพราะคนทำไม่ใช่คนแฟชั่นจัด เปรี้ยวจี๊ดจ๊าดอะไร แต่มีสไตล์ของเรา มีความจริงใจในแบบเราซ่อนอยู่ แพตเทิร์นทุกตัวเราคิดเยอะ ไม่ได้อยากทำแบบอยู่บ้านแล้วจบ ถ้าลูกค้าจะเอาไปใส่อยู่บ้านก็ต้องสวยอ่ะ อย่างเดรส V Neck ทรงตรงทิ้งลงมาปกติซึ่งทุกคนชอบ ขายดี เราก็ไม่อยากทำแบบนั้นเพราะมันง่ายไป หลายคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ทำอะไรง่ายๆ เจาะคอ V แล้วขายก็จบได้กำไรคืนแล้ว ตัวผ้าลายพิมพ์จากอินเดียมันสวยในตัว แต่เราไม่เอา เราอยากทำให้มันไม่ธรรมดาในรายละเอียด เรารู้อยู่แก่ใจ เช่น ด้านหลังเดรสเราก็เปลี่ยนมาใช้ผ้าสีเข้มเพื่อถ่วงน้ำหนัก ตะเข็บต้องเก็บให้เรียบร้อย ใส่งานปัก งานกระดุมเข้าไปเล็กๆ น้อยๆ ตลอด”

“หัวใจอยู่ที่รายละเอียด เราให้ความสำคัญทุกอย่าง เพราะว่าผ้ามันเรียบ เราก็อยากให้คนใส่มีดีเทล รู้สึกดีกับเสื้อผ้าที่เราทำ แม้กระทั่งโลโก้ ป้ายแท็กต่างๆ เราก็ทำเองหมดในช่วงแรก ไม่ปล่อยให้โรงงานไหนจนกว่าจะไว้ใจว่าเขาสามารถพิมพ์ได้ สองสี สามสีในเฉดที่เราต้องการ เวลาจัดหน้าร้านเอาเสื้อใส่ไม้แขวนเราก็ซีเรียสกับตัวพู่ห้อยว่าสีสันจะเข้ากับชุดไหม คือมันเหมือนเป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่คนซื้ออาจไม่รู้ แต่เรารู้อยู่แก่ใจ เราปล่อยไม่ได้จริงๆ สีสันเข้ากันก็จะขับเน้นให้เสื้อผ้าโดดเด่นขึ้น ถ้าไม่เข้ากันก็จะดึงให้เสื้อผ้าดรอปลง หรือถ้าเจาะรูป้ายพลาด ก็ไม่ปล่อย ทำใหม่ คนซื้ออาจไม่รู้สึก แต่เรารู้สึกผิดในใจ ปล่อยไม่ได้จริงๆ”

แผนการตลาด คือ ไม่มีแผนการตลาด

“ตอนนี้มีหน้าร้านที่ Siam Discovery กับล่าสุดที่ทองหล่อ ถือเป็นสถานที่ในฝัน เพราะเป็นพื้นที่ที่เราชอบมาเดิน มันเป็นเรา เอาต้นไม้มาวางได้ มองเห็นท้องฟ้า แสงแดด แม้จะต้องแลกกับช่วงเวลาเช่าที่สั้นๆ แต่เราก็โอเค ในอนาคตก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่าจะมีหน้าร้านและสตูดิโอทำงานในที่เดียวกัน คนที่รักเสื้อผ้าแบบเดียวกับเราสามารถเดินทางมาช็อปปิ้งได้ แล้วเราก็นั่งทำงานใกล้ๆ เขาได้ แค่นี้แหละ ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านี้เลย”

“เวลาไปออกงานแฟร์ก็เหมือนไปเจอคนที่ชอบอะไรเหมือนเรา ส่วนใหญ่เราก็ไม่ค่อยได้กำไรอะไรนะ (หัวเราะ) แต่ที่ประทับใจคือที่ Wonderfruit เป็นงานแรกที่เราลองไปขาย แล้วก็ขายหมดเกลี้ยง กับงาน Made by Legacy ปีที่จัดที่สโมสรรถไฟก็มีคนซื้อไปเยอะมาก”

“เราใช้ใจทำแบรนด์นี้มากๆ ทำอย่างที่อยากใส่ก่อน แล้วก็คิดว่าน่าจะมีคนอื่นชอบเหมือนเราบ้าง แล้วถ้าเขาชอบเรา เขาก็จะมาเจอกับเราเอง”

“อย่างเวลาใครชวนให้โปรโมต เราก็ไม่รู้จะโปรโมตยังไง จะร่วมรายการเซลล์ยังไง ในเมื่อของเรามีจำกัด เสื้อผ้าเราผลิตได้แค่ช่วงฤดูร้อนของอินเดียเท่านั้น ฤดูฝน พื้นยังชื้นอยู่ทำไม่ได้ ฤดูหนาวก็มืดไว ก็ทำได้น้อยมาก ของเราจึงขาดช่วงบ่อย แต่ตอนนี้เริ่มรู้วิธีรับมือละ (หัวเราะ) ส่วนราคาที่ตั้งก็ไม่รู้จะลดยังไงดี (ยิ้มเขิน) คือเป็นราคาที่อยากให้ทุกคนจับต้องได้ แม้เราจะจ่ายค่าตอบแทนให้ช่างที่อินเดียในเรทที่สูง เพื่องานคุณภาพก็ตาม เราไม่ได้อยากให้เสื้อผ้าเราไกลเกินเอื้อม คนที่เขาชอบเสื้อผ้าแบบเดียวกับเรา แต่เป็นเด็กเพิ่งเรียนจบใหม่ยังไม่มีเงินเก็บมาก เขาก็สามารถใส่เสื้อผ้าเราได้ เราดีใจด้วยซ้ำที่เห็นเด็กๆ ใส่ชุดเรา”

เสื้อผ้าฤดูร้อนที่สร้างความสุขทุกฤดู

“โห เราสนุก เราสุขตั้งแต่ครีเอตมันขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระหว่างขึ้นแบบ ทดลองทำ ตกดึกนอนฝันว่าอยากทำให้เป็นจริงไวๆ อยากเห็นว่าตอนสำเร็จแล้วของจริงจะเป็นแบบไหนกัน มันมีความสุขมากเลยนะ อย่างตอนอยู่ที่สตูดิโอทำงานที่อินเดีย พองานเสร็จเราก็จะถามช่างว่า นี่สวยไหม? โอ้ย ไอชอบมาก แต่ช่างเขาก็สั่นหน้าแบบ หล่อนชอบไปได้ไง ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) เราก็แน่ใจว่านี่สวยมาก แล้วพอมีคนชอบสิ่งที่เราทำไปก็ยิ่งมีความสุขขึ้นไปอีก”

KASA’ MAYA

ประเภทธุรกิจ: เสื้อผ้า Loungewear แฮนด์เมด
คอนเซปต์: เสื้อผ้าย้อมครามพิมพ์บล็อกไม้ลายสวยสะบัดสวมสบายจากช่างฝีมือชัยปุระ ประเทศอินเดีย
เจ้าของ: หมู-กษมา โรหิตรัตนะ
Facebook : kasamayabkk

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, กษมา โรหิตรัตนะ

AUTHOR