DYE DEE : กางเกงเดนิมย้อมสีธรรมชาติที่ผสานองค์ความรู้จากด้ายดิบจนกลายเป็นด้ายดี

เราเชื่อว่ากางเกงยีนส์แทบจะเป็นเครื่องแต่งกายติดตู้เสื้อผ้าของทุกคนไม่ว่าจะสนใจแฟชั่นระดับไหน ด้วยความคลาสสิกอยู่มาทุกยุคทุกสมัย คุณสมบัติที่ทนทาน สวยงาม สามารถปรับใส่ได้ทุกบริบท ทำให้กางเกงยีนส์ครองใจใครหลายคนมาโดยตลอด

จากความสนใจสีธรรมชาติ ผ่านกระบวนการคิด ปรับเปลี่ยน และผสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างการทอผ้า ต่อยอดเป็นไอเดียของ มิ้น-นัฐพงษ์ ม่วงแนม และ จ๊อบ-อัจชนะพงษ์ อัจชนะวราทา สองเพื่อนซี้ที่ย้ายมาปักหลักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมความรู้ในงานดีไซน์ และความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติที่แตกต่างด้วยกรรมวิธีและเรื่องราว จนกลายมาเป็นกางเกงยีนส์เดนิม DYE DEE (ด้ายดี) แบรนด์ผ้าย้อมสัญชาติไทยที่น่าประทับใจและกำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้

แรงบันดาลใจจากสีธรรมชาติ


มิ้น :
เราเจอกันตอนยังเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลังเรียนจบก็แยกย้ายกัน ผมกลับไปทำสวนทุเรียนที่ชุมพร ส่วนจ๊อบย้ายมาทำงานออกแบบที่เชียงใหม่ แต่เรายังติดต่อกันตลอด แล้วช่วงนั้นมีจังหวะที่จ๊อบเริ่มสนใจเรื่องสีธรรมชาติพอดี


จ๊อบ :
ผมเริ่มสนใจเรื่องสีธรรมชาติ คิดว่าสีอะไรที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติแล้วยังได้เฉดสีต่างๆ


มิ้น :
หลังจากนั้นก็ชวนกันย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ค่อยๆ ศึกษาด้วยกัน เราเริ่มจากการทำผ้ามัดย้อม สเวตเตอร์มัดย้อมไปขายตามตลาดนัดในช่วงที่ฮิตๆ แต่สักพักเราเริ่มเห็นว่าผ้ามัดย้อมมันเป็นลายสีเยอะมาก เหมือนเรกเก้ ซึ่งเราไม่ค่อยชอบสีพวกนั้น เลยพยายามคุมโทน เริ่มหาผ้ามัดย้อมที่ใช้สีสีเดียว เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบที่คนไม่ใช้ ปกติใช้คราม แต่เราเปลี่ยนมาใช้มะเกลือ จนเริ่มรู้มากขึ้นไปด้วยว่าสีนั้นสีนี้มันมีอะไรบ้าง


จ๊อบ :
พอเราลองทำแบบเรียบๆ เช่น ดำ ขาว ชมพู เหลือง ไปสักพักก็รู้สึกว่ามันยังไม่แตกต่างพอ


มิ้น :
อีกอย่างคือพอทำขายแล้วไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ อาจจะไม่ค่อยถูกใจคนด้วย เลยลองมาหาว่ามีอะไรเป็นไปได้อีกไหม แล้วการที่จะใช้วิธีย้อมธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีเลย มันจะมีทางอื่นอีกไหม สุดท้ายก็มาเล็งเห็นถึงเดนิมกับการทอ

แรงบันดาลใจจากผ้ามัดย้อมสู่กางเกงยีนส์ทอมือ


จ๊อบ :
เรามองเห็นเดนิมเพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนใส่อยู่แล้ว ทุกคนเปิดตู้ไปต้องมีกัน 3-4 ตัว แต่ว่าอะไรคือความใหม่ของกางเกงยีนส์ที่เราจะเสนอให้กับตลาด เราก็นึกถึงโครงสร้างผ้าใหม่ เรื่องราว กระบวนการ วิธีแบบไทย เรามองว่าสิ่งนี้น่าจะต่อยอดและไปแทรกอยู่ในตลาดได้ พอจะทำเราก็มาคิดว่ากางเกงยีนส์เดนิมสีอะไร สีคราม แล้วครามที่เขาย้อมเดนิมมันย้อมธรรมชาติเหรอ ก็ไปหาข้อมูลจนเจอว่าจริงๆ มันไม่ได้ย้อมธรรมชาติ แล้วเราก็ตั้งคำถามว่าเราจะทำได้ไหม ถ้าเดนิมจะย้อมด้วยสีครามธรรมชาติ


มิ้น :
กระบวนการทอเดนิมเนี่ย ถ้าเราจะไปสั่งโรงงานทอ จะต้องสั่งอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าพันเมตร ซึ่งคนเพิ่งเริ่มต้นตัวเล็กๆ อย่างเราไม่มีเงินไปสั่งของขนาดนั้น เราก็เลยมามองบริบทรอบๆ ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถทอเป็นเดนิมได้ คนทอกี่ก็มี การทอแบบต่างๆ ก็มี การย้อมก็มี จ๊อบเลยเริ่มรีเสิร์ชข้อมูลจากต่างประเทศว่ากี่แต่ละแบบทอยังไง ต้องใช้กี่ประเภทไหนถึงจะทอตามคอนเซปต์ของเดนิมที่ว่าแคนวาสจะต้องทอมาแล้วหน้าหลังไม่เหมือนกัน มันคือเรื่องของการซ่อนเส้นพุ่ง เส้นตั้ง ให้ไม่เหมือนกัน ก็เริ่มทดลองแล้วก็ทำมา

มันเกิดจากความเชื่อว่าเป็นไปได้ เราเชื่อว่าบ้านเราเก่งเรื่องการทอมาก ก็ใช้การรีเสิร์ช ทั้งโทร ทั้งเดินทางไปคุย ก็จะมีคนที่ตอบว่า ได้ มาลองสิ กับอีกกลุ่มที่บอกว่าเป็นไปได้ยาก หรือไม่อยากเปลี่ยนกระบวนการทำ เพราะที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว สุดท้ายก็ได้กลุ่มโอทอปในเชียงใหม่นี่แหละ เรารู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้ชาวบ้านทำอะไรแบบนี้ เราก็ให้ค่าจ้างตามสมควรที่เขาจะได้ แต่ขอคุณภาพแบบที่เราต้องการ เราอาจจะจู้จี้ (หัวเราะ) ถ้าไม่ได้คือไม่ได้ เราก็พยายามจะยกระดับฝีมือชาวบ้านและช่วยเขาสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่เขาทำด้วย


จ๊อบ :
ไลน์การผลิตผ้าอยู่ที่เชียงใหม่หมดเลย แต่เฉพาะการตัดจะทำที่กรุงเทพฯ เราใช้ช่างทอเชียงใหม่ที่มีองค์ความรู้ในการทำผ้าอยู่แล้ว ส่วนเราทั้งคู่ก็นำเรื่องงานดีไซน์ แพตเทิร์น หลักทางวิทยาศาสตร์ไปเสริม และคอยควบคุมการผลิตอีกที

ไม่ใช่แค่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องขายได้


มิ้น :
ถ้าเราดู เช่นที่สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ตรงนั้นเป็นจุดที่น้ำทะเลแย่ที่สุดในประเทศ เพราะว่าเป็นแหล่งโรงงานฟอกยีนส์ที่เขาปล่อยน้ำเสียอยู่แล้ว แต่ของเราทั้งกระบวนการไม่มีสิ่งที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมเลย แล้วก็ยังส่งเสริมให้คนกลับมาปลูกคราม จากหมู่บ้านที่เขาไม่ปลูกกันแล้ว หรือตามหมู่บ้านที่เขามีกี่ทอผ้าเก่าๆ เก็บทิ้งไว้ ให้เขารื้อมาใหม่ เอามาทำใหม่ได้นะ เพราะเราคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าออเดอร์หรือการเติบโตมีมากขึ้น การที่เราจะจ้างพวกเขาก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เหมือนเป็นการอนุรักษ์ไปในตัว


จ๊อบ :
ถ้าพูดถึงเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไม่มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราก็ต้องทำในสิ่งที่เราบอกว่าอนุรักษ์ธรรมชาติให้สวยด้วย เพื่อที่จะดึงคนให้มาชอบของเรา คือเขาต้องชอบจากความสวยหรือสุนทรียภาพบางอย่าง ส่วนจะได้เรื่องที่ว่าอนุรักษ์หรือเปล่า นั่นเป็นสิ่งที่เราพยายามจะใส่มันเข้าไป


มิ้น :
คือต่อให้ผ้านี้อนุรักษ์ธรรมชาติมากหรือไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ามันไม่สวย คนก็ไม่ซื้อใส่หรอก

ต่อยอดมูลค่าจากความเป็นไทย


มิ้น :
ส่วนตัวผมมองว่าในความเป็นไทย เรามองเห็นอะไรบ้าง มันไม่ได้มีแค่มุมมองเดียว มันยังมีแง่มุมอื่น กระบวนการหรือองค์ความรู้ของบ้านเรามีอีกเยอะเลย แต่เราต้องหาวิธีเอามาเล่า เอามาต่อยอด แล้วมันจะเกิดความเป็นไทยรูปแบบใหม่ขึ้นมา พอเราศึกษาก็ยิ่งรู้ว่ายังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ


จ๊อบ :
ผมมองเรื่องงานคราฟต์ที่จะตอบโจทย์อนาคต เราคิดว่าจริงๆ แล้วเราสามารถถนอมโลกได้ด้วยการไม่ต้องใช้เคมีนี่นา ทำไมเราไม่เกิดคำถามว่า ‘ทำไมเราไม่ใช้ผ้าทอ?’ วัยรุ่นก็บอกว่า ‘ใช้ผ้าทอมันเชย มันใส่ยาก ใส่ได้ไง’ ถ้าวัยรุ่นคิดแบบนั้น แล้วทำไมเราไม่ทอผ้าแบบใหม่ ทำไมไม่ทำผ้าลายใหม่ให้เข้าถึงได้ง่ายๆ ที่เราใส่แล้วไม่เคอะเขิน ก็เลยตอบโจทย์ว่าทำไมเราผลิตสิ่งนี้ขึ้นมา เราใส่เองได้ แล้วเราก็ไม่ได้ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ได้ทำร้ายใคร แล้วเราก็ไม่พยายามทำร้ายใคร ผมว่าแบบนั้นมันรู้สึกดี แล้วมันสนุกที่เราจะได้แก้ปัญหาหรือโจทย์ที่ว่าทำยังไงเราถึงจะทำร้ายธรรมชาติน้อยที่สุด แล้วก็ยังยั่งยืนในแง่ของสิ่งแวดล้อม ในแง่ของวัฒนธรรม

DYE DEE COLLECTION

DARK MATTER

“รุ่นนี้เป็นรุ่นออริจินอล มีการผสมระหว่างมะเกลือกับคราม ปกติเวลาย้อมเส้นด้ายเขาจะย้อมครามก่อน แต่เราลองเอามะเกลือมาย้อมก่อนแล้วค่อยย้อมทับด้วยคราม ก็จะเกิดเทกซ์เจอร์ผ้าที่เริ่มแปลกขึ้น ยังคงคอนเซปต์ของยีนส์ที่ยังพับขาได้ โชว์ริมผ้าได้

“ส่วนเรื่องการตัดเย็บเป็นแบบปกติทั่วไป ซึ่งก็จะมีส่วนบกพร่องอยู่ แต่หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นข้อดีข้อเสียของผ้ามากขึ้น ก็เลยพัฒนาเรื่องคัตติ้งจนกลายมาเป็นรุ่นที่ 2 ที่ยังใช้ชื่อ DARK MATTER เหมือนเดิมและยังเป็นโครงสร้างเดิมอยู่”

DARK MATTER MISTNIGHT

“รุ่นล่าสุดได้แรงบันดาลใจจากสายหมอกในยามค่ำคืนเดือนดับบนทิวเขาสูงแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ความประทับใจในสีสันและความรู้สึกต่างๆ ถูกถ่ายทอดออกมาสู่ผ้าเดนิมทอมือรุ่นนี้ ด้วยความภาคภูมิใจเต็มเปี่ยม

“รุ่นนี้เราจะพัฒนาให้ผ้ามีความแน่น นุ่ม ระบายอากาศได้ดี พอทอรุ่นนี้ได้ เราก็มีการต่อยอด ใช้สีอื่นเข้ามา เช่น ด้านหลังผ้าเราจะใช้การผสมสีระหว่างครั่งกับคราม เจอกันจะกลายเป็นสีเขียว ทำให้ผ้าเวลาพับจะมีสีอื่นเข้ามา เราพยายามหาวิธีพัฒนาให้ผ้ามีความแปลกและน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ เช่น การแช่น้ำแร่จากแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่เป็นเทคนิคเฉพาะของกระบวนการทำให้ผ้าอยู่ตัว มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผ้าและริมไหมทองแตกต่างไปจากผ้าเดนิมทอมือรุ่นแรก เพื่อสร้างเอกลักษณ์และสอดคล้องกับแนวความคิดสำหรับผ้ารุ่นนี้โดยเฉพาะ”


DYE DEE


ประเภทธุรกิจ:
แบรนด์สินค้ามัดย้อมจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี สัญชาติไทย
คอนเซปต์: ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าย้อมด้วยสีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแตกต่างด้วยความเป็นไทย
Facebook | DYE DEE (ติดตามข้อมูลและสั่งสินค้าได้เฉพาะในรูปแบบพรีออเดอร์ผ่านเพจเท่านั้น)


ภาพ
พีรวิชญ์ ฐาปนสุนทร

AUTHOR