ถ้าคนรักเครื่องเขียนได้ลองแวะมาที่ร้านเล็กๆ
ชื่อ Lamune ในสยามสแควร์ซอย
10 น่าจะตกหลุมรักเอาได้ง่ายๆ เพราะร้านของ เอ-วริศรา อารยสมบูรณ์
หญิงสาวผู้หลงใหลเครื่องเขียนมีสินค้าคุณภาพดีน่าใช้จากหลากหลายประเทศซึ่งแปลกตาจากของในแผนกเครื่องเขียนตามห้าง
เดินเข้าร้านแล้วนึกถึงเวลาไปเดินเลือกเครื่องเขียนดีๆ มีเอกลักษณ์ที่ญี่ปุ่น แถมไม่ได้มีแค่เครื่องเขียน
แต่ยังมีสินค้าดีงามอื่นๆ อย่างสินค้าแนวไลฟ์สไตล์ที่ล้วนแต่คุณภาพดีไม่แพ้เครื่องเขียนวางขายร่วมร้านด้วย
หญิงสาวเจ้าของร้านบอกเราว่า Lamune
เปิดกิจการมาได้ 3 ปีแล้ว
และยังคงมีเป้าหมายเติบโตต่อไป เรื่องราวของร้านน่ารักละมุนละไมร้านนี้เป็นอย่างไร
ลองอ่านได้ด้านล่างนี้เลย
เปิดร้านแบบที่อยากเห็น
“เวลาไปต่างประเทศ เราชอบไปดูร้านเครื่องเขียน
ร้านกิฟต์ช็อป อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นก็ชัดมากว่ามีตัวเลือกที่หลากหลาย แต่พอกลับมาดูที่เมืองไทย
ร้านมีน้อยและตัวเลือกในร้านก็น้อย จะไม่มีร้านที่มีคาแรกเตอร์
เข้าไปซื้อเครื่องเขียนได้อย่างสนุกสนาน หรือร้านที่มีของคุณภาพดี เราก็รู้สึกว่าถ้ามีร้านของตัวเอง
ก็อยากหาสินค้าดีๆ มารวมกันที่ร้าน ซึ่งพี่ๆ เราก็เป็นพวกชอบสินค้าคุณภาพเหมือนกัน พอเราเรียนจบมาทำงานกับครอบครัว มีการปรึกษากันในระหว่างพี่น้องว่าอยากทำงานอะไรต่อ
ก็เลยเริ่มเปิดร้าน ตอนแรกไม่ได้เปิดเป็นร้านเครื่องเขียน อาจเป็นเพราะทางบ้านเราทำเรื่องแพ็กเกจจิ้งเสื้อผ้า เหมือนอยู่ในวงของการตัดเย็บเสื้อผ้า
สินค้าก็เลยเป็นพวกอุปกรณ์ตัดเย็บ แนวแฟชั่นก่อน จนรู้สึกว่ามันไม่ค่อยตอบโจทย์ตัวเองเท่าไหร่เพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนชอบเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดนั้น
สุดท้ายก็เลยขยายไปสู่สิ่งที่เป็นเราคือเครื่องเขียนและสินค้าแนวไลฟ์สไตล์”
พื้นที่รวมของคุณภาพ
“หนึ่งในนโยบายที่เรายึดถือมาตั้งแต่ตอนแรกมาจนถึงวันนี้คือขายสินค้าคุณภาพดี เวลาเลือกสินค้าเข้าร้าน อย่างแรกต้องมั่นใจก่อนว่าของมันดีจริง
อย่างปากกามาร์กเกอร์ยี่ห้อ Touch
แต่ก่อนไม่มีใครเอาเข้ามาเลย
เราเป็นเจ้าแรก เราก็ต้องมั่นใจว่ามันคุณภาพดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ใช้แทนมาร์กเกอร์ยี่ห้ออื่นที่มีขายกันอยู่แต่เดิมได้
แต่มีสิ่งที่ดีไปคนละแบบด้วย ซึ่งลูกค้าของเราก็มีตั้งแต่เด็กที่อยากใช้ของคุณภาพดีไปจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นมืออาชีพ”
ต้องเข้าใจและชอบก่อน
“ถ้าจะขายอะไร ต้องรู้จักสินค้าก่อน
อย่างก่อนมาทำร้าน เราไม่เคยรู้จักสีน้ำ ไม่ได้รู้จักปากกา marker เราก็ไปลงเรียนคอร์สสีน้ำ แล้วช่วงแรกๆ
ก็นั่งระบายชาร์ตสีของปากกา marker ทุกวัน จะได้รู้ว่าสีแต่ละสีเป็นอย่างไง
ลูกค้ามาแล้วอยากได้สีท้องฟ้า เราก็ต้องรู้ว่าแนะนำอะไรดี ถ้าไม่รู้จักสินค้าก็คงขายไม่ได้ แล้วเราก็ต้องรักในตัวสินค้า เราชอบสินค้าของตัวเองทุกชิ้น
เวลาขายก็เป็นเหมือนส่งต่อความรู้สึกให้จากคนขายสู่คนซื้อ ถ้าไม่ชอบก็ไม่เอาเข้าร้าน
อย่างสมุดบางยี่ห้อมีคนถามถึงมากแต่เรารู้ว่ามันคุณภาพไม่ดี เราก็จะแนะนำตัวที่ดีกว่าที่มีในร้านให้ลูกค้าไป”
สร้างความแตกต่าง
“สินค้าหลายตัวในร้านเราอย่างพู่กันและสีน้ำบางยี่ห้อจะไม่ค่อยมีขายตามห้างสรรพสินค้า
แล้วเวลาเราไปเดินซื้อเครื่องเขียนในห้าง บางทีอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าแต่ไม่รู้จะถามใคร ถ้ามาที่ร้าน เราและพนักงานให้คำปรึกษา
ให้ความรู้ได้ อธิบายได้ว่าสีน้ำตัวนี้ต่างจากยี่ห้ออื่นอย่างไร
พู่กันต่างกันอย่างไร เอาไว้ใช้กับงานแบบไหน เราทำโดยใช้วิธีคิดว่าถ้าตัวเองเป็นลูกค้า
เราอยากได้อะไร”
ทำเองเพื่อเรียนรู้
“ตั้งแต่เรียนจบ
เราเป็นคนมาอยู่ที่ร้านเองทุกวัน บางคนก็จะคิดว่าการมาที่ร้านเหมือนเป็นแค่พนักงานขายมานั่งเฝ้าร้าน
แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ที่นี่เหมือนเป็นออฟฟิศของเรา เราจะได้เจอลูกค้าเอง ทำให้รู้ว่าช่วงนั้นลูกค้าต้องการสินค้าอะไร อะไรคือจุดอ่อนของร้าน อะไรคือสินค้าที่รู้สึกว่าจะขายได้
แล้วเราก็จะมาคุยปรึกษากันกับพี่ๆ อย่างสินค้าตัวไหนกำลังร่วง เราก็อาจจะหายี่ห้อใหม่หรืออะไรที่น่าสนใจมาแทน”
ต่อยอดด้วยเวิร์กช็อป
“เราพยายามให้มีเวิร์กช็อปในร้านเดือนละครั้ง
จัดโดยศิลปินจากข้างนอก อย่างวันเสาร์นี้ก็จะมีเวิร์กช็อปสอนระบายสีน้ำ เหตุผลที่จัดเวิร์กช็อปคือบางทีสินค้าบางตัวใหม่มาก
คนไม่รู้จัก การเวิร์กช็อปจะเป็นเหมือนการให้ลูกค้าได้มาร่วมสนุกลองใช้สินค้าของเราดู”
ค่อยๆ พัฒนาต่อไป
“ถึงตอนนี้ร้านจะยังไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกอย่าง
แต่ก็มีการพัฒนา ซึ่งพอเราโตขึ้น ทุกอย่างพร้อมขึ้น เราก็พัฒนามันได้มากขึ้น ส่วนเป้าหมายในอนาคต
เราอยากให้ร้านดูเรียบร้อยเป็นสัดส่วนมากกว่านี้
ถ้าร้านเล็กไปก็อาจมีการขยายพื้นที่
แล้วก็คิดถึงการขยายสาขาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วย”
โจทย์ยากคือความท้าทาย
“เราไม่ได้เรียนมาทางด้านมาร์เก็ตติ้งโดยตรง
เวลาอยากรู้เรื่องการตลาด ก็จะอาศัยถามพี่ที่ไม่ได้เรียนมาเหมือนกันแต่เก่งมากเพราะอ่านหนังสือเยอะ
โดนพี่บ่นประจำ บางครั้งถึงขั้นทำงานทั้งน้ำตาก็มี แต่ก็ต้องทำ
ถ้าเราไม่รู้ก็ต้องถาม หรือบางทีทำผิดก็ต้องเรียนรู้เป็นบทเรียน แล้วงานที่เราทำก็ต้องอาศัยการมีวินัยมาก
เราทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ วันหยุดธรรมดาก็ไม่ได้หยุด วันหยุดที่เขาได้หยุดกันก็ไม่ได้หยุด
เพราะร้านนี้เป็นร้านค้าปลีก เราก็ต้องคุมตัวเอง เพราะเราไม่ใช่ลูกจ้าง สมมติวันนึงถ้าอยากปิดร้านก็ปิด
ร้านคงไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เรายังต้องอดทน
ยอมทำในสิ่งที่ไม่ชอบบางเรื่องด้วย แต่เหตุผลที่เรายังทำร้านนี้อยู่
ไม่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ก็เพราะอยากท้าทายตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ซึ่งพอทำแล้วก็เห็นผล
เวลามีลูกค้าชม มาบอกว่าสินค้าดีจริงๆ เราก็ชื่นใจ รู้สึกดีมาก”
“เหตุผลที่เรายังทำร้านนี้อยู่ ไม่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ก็เพราะอยากท้าทายตัวเองว่าต้องทำให้ได้ ซึ่งพอทำแล้วก็เห็นผล เวลามีลูกค้าชม มาบอกว่าสินค้าดีจริงๆ เราก็ชื่นใจ รู้สึกดีมาก”
Lamune
ประเภทธุรกิจ:
ค้าปลีกประเภท Multi Brand
คอนเซปต์: ร้านเครื่องเขียนและสินค้าแนวไลฟ์สไตล์
เจ้าของ: วริศรา
อารยสมบูรณ์ (27 ปี)
เว็บไซต์: www.lamune.net
Facebook l Lamune
ภาพ ช่อไพลิน ไพรบึง