16 ฝนแห่งความฝันที่มากกว่าฝันของวงดนตรีโฟล์กชื่อ Selina and Sirinya

Highlights

  • Selina and Sirinya เป็นวงดนตรีโฟล์กของสองสหายผู้มีฝันร่วมกันอย่าง รามเอกศักดิ์ ชานาง และ เอ๊ะนที ศรีดอกไม้
  • พวกเขาทำเพลงด้วยความสนุก ไม่ได้คาดหวังผลสำเร็จเป็นชื่อเสียง เมื่อแรกเริ่มจึงยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักฟังเพลง แต่ใช่ว่าจะเงียบกริบซะทีเดียว เพราะเพลงในอัลบั้มแรกอย่าง She, if, และ Our ก็มีแฟนอยู่จำนวนหนึ่ง
  • รามและนทีจะมีงานแสดงและทัวร์ร่วมกันปีละครั้งด้วยเงื่อนไขของการอยู่คนละซีกโลก นี่จึงกลายเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้แฟนเพลงของ Selina and Sirinya ต่างรอคอยโอกาสที่จะได้เห็นเพื่อนทั้งสองร่วมเวทีเดียวกัน
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นในช่วงสายวันที่ 28 มกราคม 2563 จำได้เพราะเป็นวันที่ ราม–เอกศักดิ์ ชานาง กำลังเดินทางกลับอเมริกา บ้านอีกหลังที่เขาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว

เกือบหนึ่งเดือนเต็มบนแผ่นดินแม่ เขาใช้เวลาเดินทางทัวร์ขึ้นเหนือล่องใต้ ร่วมเล่นดนตรีกับสหายชื่อ เอ๊ะ–นที ศรีดอกไม้ เพื่อนผู้ร่วมสร้างฝันเดียวกันเป็นวงดนตรีโฟล์กนาม Selina and Sirinya

เพียงเวลาไม่ถึงเดือนวงดนตรีนี้เก็บเกี่ยวไปได้ 8 งาน ทั้งงานที่เล่นในสภาพแวดล้อมแบบภูเขา ป่าไม้ ริมทะเล หรือตามบาร์ในป่าคอนกรีต และ 1 ใน 8 งานนั้นมีงานประจำปีที่พวกเขาจัดขึ้นด้วยความใฝ่ฝันที่อยากรวมตัวผู้คนซึ่งหลงใหลแนวดนตรีโฟล์ก

Gathering in the glen คืองานที่รวบรวมทั้งศิลปินที่เป็นเจ้าของเพลงและนักฟังเพลงผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวให้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันท่ามกลางภูเขา ต้นไม้ ลำธาร

ส่วนอีกงานที่ทั้งคู่ต่างก็ฝันไว้เช่นกัน และเป็นวันที่จะได้นำบทเพลงที่ร่วมกันสร้างขึ้นไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์ ในคืนวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา พวกเขาก็ทำมันออกมาสำเร็จในนาม HAVE YOU HEARD? Folk Series Vol. 2 คอนเสิร์ตใหญ่เต็มรูปแบบครั้งแรกของ Selina and Sirinya ในวาระครบรอบ 16 ปี วันเกิดที่ได้รับของขวัญเป็นการแสดงดนตรีในโรงหนังเก่าแก่อย่างสกาลา

กลายเป็นธรรมเนียมของทุกปีไปแล้วที่ผมจะล็อกวันให้ว่างตรงกับช่วงที่ Selina and Sirinya กลับมามีงานโชว์ในแต่ละครั้ง ไปดูโชว์จนจำได้ว่าเพลงต่อไปที่พวกเขาจะเล่นคือเพลงอะไร รู้แม้กระทั่งถ้าจับคอร์ดนี้ ทาบคาโปช่องนี้ วงจะเล่นเพลงไหนต่อไป  ร้องตามซ้ำๆ ไปกับบทเพลงที่มี เคลิ้มไปกับท่วงทำนองที่ฟังมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแบบไม่รู้เบื่อ

ผมตาม Selina and Sirinya ตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อตามหาว่าอะไรทำให้บทเพลงของพวกเขามีผลต่อความรู้สึกเมื่อได้ฟังอยู่เสมอ

งานหนึ่งที่พวกเขาเล่นที่กรุงเทพฯ และมีเวลาเหลือพอระหว่างรอขึ้นเล่นดนตรี วันนั้นเราจึงได้นั่งสนทนากัน

ก่อนอ่านผมอยากชวนคุณเปิดเพลง Sheif และ Our ฟังไปด้วย

มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

เวลา 5 โมงเย็นผมอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 18 เดินตรงเข้าไปในร้านชื่อ Head Over Heels บาร์คราฟต์เบียร์ขนาดกะทัดรัดที่รอบๆ ร้านประดับตกแต่งด้วยของเล่นเก่าในตู้ขายยาหลายขนาด เข้าไปเพื่อรอนัดพบรามและนที พวกเขากำลังเซตอัพซาวนด์และเครื่องดนตรีให้พร้อมสำหรับค่ำคืน ชั้นบนของร้านคราฟต์เบียร์คือ Coffee Model ร้านกาแฟที่ด้านหลังมีระเบียงโล่งเหมาะสำหรับการพูดคุย ผมเลือกรอทั้งคู่ตรงนี้

นั่งนึกไปถึงปีที่แล้วที่ได้คุยกัน ผมจำได้ว่ารามเป็นคนราชบุรีและนทีเป็นคนสุพรรณฯ สมัยเรียนอยู่วิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณทั้งคู่สร้างแบนด์ดนตรีร็อกชื่อว่า The College และเมื่อเรียนจบวงดนตรีนี้ก็จบตาม ด้วยสมาชิกทั้งหมดต่างแยกย้ายกันไปเรียนคนละที่

รามเรียนลาดกระบัง ส่วนนทีเป็นเด็กศิลปากร วันเวลาล่วงเลยผ่านไป แต่ดูเหมือนความฝันของทั้งคู่ยังคงสว่างไสวร่วมกัน ก่อนเรียนจบราวปี 2545 ทั้งสองจึงจับมือกันอีกครั้งเพื่อร่วมสร้างวงดนตรีที่นำเอาชื่อแฟนสาวของทั้งคู่มาตั้งชื่อวง นั่นคือ Selina and Sirinya และชื่อนี้เองได้กลายเป็นชื่ออัลบั้มแรกในปี 2546

เพราะทำเพลงด้วยความสนุก ไม่ได้คาดหวังผลสำเร็จเป็นชื่อเสียง ในยุคนั้นพวกเขาจึงยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักฟังเพลง แต่ใช่ว่าจะเงียบกริบซะทีเดียว เพราะเพลงในอัลบั้มแรกอย่าง She, if, และ Our ก็มีแฟนอยู่จำนวนหนึ่ง

หลังเรียนจบทั้งคู่ต่างแยกกันไปใช้ชีวิต นทีเข้าทำงานประจำเป็นกราฟิกในบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งในไทย ส่วนรามออกตามหาความหมายของชีวิตด้วยการขึ้นเหนือไปปักหลักเช่าบ้านที่ปายกับเซลิน่า แฟนสาว ชีวิตที่มีความสุขในช่วงเวลานั้นจึงก่อกำเนิดอีกหนึ่งชีวิตเล็กๆ ขึ้นมา หากอยากรู้ว่าชีวิตช่วงนั้นของรามมีความสุขขนาดไหน เขาได้บรรยายฉากแห่งช่วงเวลาสุดพิเศษเป็นเนื้อร้องและทำนองไว้ในบทเพลงชื่อว่า เผลอสุขใจ

เมื่อเซลิน่าต้องบินกลับบ้านเกิดเพื่อไปให้กำเนิดบุตรที่อเมริกา พ่อที่ค่อนข้างเห่อลูกจึงทำวีซ่า เก็บเสื้อผ้า และตัดสินใจบินไปใช้ชีวิตดูแลลูกชายคนแรกกับภรรยาที่นั่นด้วย เป็นช่วงนี้เองที่วงดนตรีโฟล์กของรามและนทีต้องหยุดพักอีกครั้ง

ช่วงเวลาที่รามกำลังดูการเติบโตของลูกชายคนแรก พร้อมๆ กับให้กำเนิดลูกสาวคนต่อมา นทีที่ทำงานประจำอยู่ที่ไทยจึงต้องรับบทบาทในการเป็น Selina and Sirinya แต่เพียงผู้เดียว

เวลาผ่านไปพ่อมือใหม่อย่างรามเริ่มคุ้นชินกับชีวิตที่อเมริกา จึงมีเวลาได้กลับบ้านที่ไทยบ้างแล้ว พวกเขาเล่าให้ฟังว่า Selina and Sirinya จัดคอนเสิร์ตครั้งแรกบนดาดฟ้าของปราชญ์เปรียว สตูดิโอ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 150 คน นั่นทำให้บัตรขายหมดเกลี้ยง ทั้งคู่ได้รู้แล้วว่าบทเพลงที่สร้างขึ้นได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย

ถึงอย่างนั้นรามก็ยังต้องบินกลับไปทำงานและใช้ชีวิตกับครอบครัวที่อเมริกาเช่นเดิม เพื่อนสนิททั้งสองยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กันคนละทวีป

พวกเขาทำงานเพลง คิดไอเดีย และส่งผ่านกันไปมาจากบ้านที่อยู่คนละซีกโลกด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ต จนปี 2561 อัลบั้มที่ 2 ของวงชื่อว่า Still Together จึงเกิดขึ้นมา และเป็นอัลบั้มนี้เองที่ทำให้วงดนตรีของรามและนทีได้กลับมามีงานแสดงและทัวร์ร่วมกันปีละครั้ง เงื่อนไขของการอยู่คนละซีกโลกเวลานี้กลายเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้แฟนเพลงของ Selina and Sirinya ต่างรอคอยโอกาสที่จะได้เห็นเพื่อนทั้งสองร่วมเวทีเดียวกัน

ช่วงนี้อยากชวนคุณผู้อ่านเปิดเพลง Happy Timeยังอยู่ด้วยกัน และ Live for ฟังไปด้วยขณะอ่าน

ยังอยู่ด้วยกัน

เกือบ 1 ทุ่มฟ้าสีชมพูพาสเทลจากฟิลเตอร์ครึ้มฝุ่นมืดลง ผม ราม และนที รวมถึงผู้จัดการวง พร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว เครื่องดื่มตรงหน้าทุกคนถูกเปิดฝาเรียบร้อย ผมมองหน้าราม เอ่ยทักคำถามแรกว่าทำไมปีนี้กลับอเมริกาเร็วจัง

“เราขอลางานได้แค่เดือนเดียว จริงๆ เต็มที่เราจะมีเวลาแค่ 15 วัน ต่อ 1 ปี สำหรับการลาพักร้อน ส่วนปีนี้เราขอมา 28 วัน เกินไปบ้าง พยายามทำให้ทุกครั้งที่กลับไทยได้อะไรกลับไป หมายถึงทุกๆ เรื่องเลยนะ ต้องจัดการตัวเองให้ดี ไม่งั้นก็จะมาไม่คุ้มเหนื่อย”

“ชีวิตที่อเมริกาเป็นยังไงบ้าง” ผมชวนคุยต่อ

“เราทำงานอยู่ในโรงเพาะพันธ์ุกัญชา คล้ายคนดูแลต้นไม้อยู่ในฟาร์ม ตำแหน่งงานเรียกว่า gardener เป็นงานประจำที่ทำไว้จ่ายค่าเช่าบ้าน เลี้ยงลูก คือทำงาน 8 ชั่วโมง มีเงินเดือน มีการตอกบัตร เป็นระบบระเบียบ ส่วนเวลาว่างจะทำงานอดิเรก รับทำงานศิลปะ เพนต์ลวดลายต่างๆ ทำเฟอร์นิเจอร์ ช่วยรุ่นพี่ตกแต่งร้านอาหารไทย เพราะที่นู่นร้านอาหารไทยเยอะพอสมควร”

“เริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็น gardener ได้ยังไง” ผมสงสัย

“เพื่อนเจ้าของฟาร์มเป็นเพื่อนของแฟนเรา รู้จักกันมานาน เราเองก็ศึกษาและสนใจพืชชนิดนี้อยู่แล้ว เขาคิดว่าเราทำได้ เข้าไปแรกๆ เริ่มตั้งแต่ไปเช่าสถานที่ก่อสร้างโรงเพาะเลี้ยง เราก็ไปทำงานกับเขา เริ่มเซตอัพห้องกันใหม่หมดเลย ใส่ไฟ ใส่แอร์คอนดิชันเนอร์ มีระบบปรับความชื้น ความแห้ง ทำบรรยากาศให้เป็นแบบที่พืชชนิดนี้ชอบ คล้ายๆ เป็นงานทดลองแบบวิทยาศาสตร์เลย มีแผนกที่ดูแลเรื่องปุ๋ย ดูว่าปุ๋ยชนิดไหนเหมาะกับพืชที่เราเลี้ยง

“พันธุ์ของเราเรียกว่าเป็น veganic จะใช้ปุ๋ยน้ำที่หมักจากผัก ไม่ใช่มาจากมูลสัตว์ เพื่อให้ได้กลิ่นเฉพาะตัวที่เราสร้างขึ้น แล้วการใช้ปุ๋ยแบบนี้ทำให้กัญชาสะอาดมาก คนที่พอร์ตแลนด์เป็นมังสวิรัติกันซะส่วนใหญ่ วัยรุ่นแทบไม่กินเนื้อสัตว์กันเลย จึงได้ปุ๋ยหมักจากผักมาเป็นตัวช่วยในการปลูก ซึ่งกัญชาของฟาร์มเราค่อนข้างตอบโจทย์ตลาดที่นั่น ฟาร์มที่เราทำคือ 7 Points Oregon ก็ติดท็อปเชลฟ์ในโอเรกอนเหมือนกัน ค่อนข้างดัง มีคนมารับซื้อที่โรงผลิตของเรา

“ในแต่ละฟาร์มก็จ้างคนทำงานในแล็บมาตรวจคุณภาพ คล้ายๆ อย.บ้านเรา รายงานรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลให้เห็นใน dispennary คนที่มาซื้อก็ดูว่าตัวเองต้องการยาชนิดไหน รายละเอียดเป็นยังไง ในส่วนของ dispennary ก็จะมีแบ่งกันหลายเกรดด้วยนะ เวลามีเทศกาลประกวดนิตยสารแถวๆ นั้นเขาก็จะมีรางวัลมอบให้” ผมยกขวดขึ้นดื่ม ฟังสิ่งที่เขาเล่าอย่างตั้งใจ

“แต่ที่โน่นเขาไม่ได้ใช้เพื่อสันทนาการอย่างเดียว เหมือนพยายามยกระดับให้กัญชาใช้ในการแพทย์ได้ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด แล้วก็มีเงื่อนไขว่าห้ามสูบในที่สาธารณะ ต้องไปสูบในบ้านของตัวเอง หรือที่ที่จัดไว้สูบโดยเฉพาะ บ้านเมืองเขาก็มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ระบบและคนของเขาก็ทำตามกันอย่างดี เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและพัฒนาระบบกันอย่างจริงจัง มีการแข่งขันอย่างจริงจัง มีหลากหลายสายพันธ์ุ อันไหนหอม อันไหนอร่อย อันไหนทำให้รู้สึกดี อันไหนใช้แล้วนอนหลับ เราเองก็เหมือนได้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรม มีโอกาสได้ไปอยู่ในวงการนี้ก็สนุกดี”

“อยู่ที่อเมริกายังได้เล่นดนตรีไหม” ผมถามต่อ

“โชคดีอย่างหนึ่งที่โน่นมีร้านอาหารไทยเยอะมากแล้วคนไทยเพียบเลย ช่วงแรกๆ เราก็ไปเสิร์ฟร้านอาหารไทย จะมีคนที่เป็นนักดนตรี มีพี่คนหนึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกของวงจ๊อบ บรรจบ เราก็มีโอกาสได้รู้จักและเล่นดนตรีด้วยกัน ที่นั่นมีการจัดงาน Thai Night บางครั้งก็เข้าฟรี บางครั้งก็เก็บตั๋ว

“คนไทยที่นู่นเหงานะ วันๆ ทำงานแล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตนั่งที่บาร์แบบเจ้าถิ่น พอมีคอมมิวนิตี้นี้ขึ้นมาจึงเป็นสิ่งพิเศษ เราก็ไปขอเล่นเปิดงานให้ เล่นเพลงตัวเอง และมีช่วงแจมด้วยนะ ส่วนมากตอนอยู่ที่นั่นก็จะเล่นพวกคาราบาวหรือเพลงที่ในเมืองไทยกำลังพูดถึง เพราะส่วนมากคนไทยที่นั่นเขายังติดตามทีวีบ้านเราอยู่ ยังคิดถึงบ้าน อะไรป๊อปที่ไทยคนไทยที่นั่นก็ติดตาม”

“เหตุผลเดียวที่ตัดสินใจไปอยู่อเมริกาเพราะครอบครัวเลยใช่ไหม” ผมตั้งคำถาม

“ใช่ เพราะครอบครัวและมีลูก แม่เขาก็อยากให้ลูกเขาไปเติบโตที่นั่น”

“เวลาไม่ได้เล่นดนตรีด้วยกัน ทำอะไรบ้าง” คราวนี้ผมหันไปหานที

“ตอนแรกทำงานประจำแถวรัชดาฯ ตอนนั้นเป็นบริษัทรับจ้างทำเว็บไซต์ เขากำลังหากราฟิกเราก็สมัครไปทำให้ช่วงแรก ตอนหลังๆ มีปัญหาอะไรกันสักอย่างจึงยกเลิกสัญญา ทางบริษัทที่นิวซีแลนด์เลยติดต่อเราโดยตรง อยากให้ทำงานต่อและให้เราทำงานที่บ้านได้ เลยตัดสินใจออกมาทำเลย

“นั่งทำที่บ้าน เราเป็นกราฟิกเข้างานประมาณ 6 โมงเช้า ตื่นมาเช็กเมล มีงานมาเราก็ทำส่งกลับไป ทำสิ่งพิมพ์ทุกอย่าง เขาอยากได้อะไรก็ทำ ไม่ว่าจะโลโก้ โบรชัวร์ แบนเนอร์ในเว็บไซต์ บริษัทที่ทำอยู่เขาจำหน่ายอุปกรณ์พวกเครื่องออกซ์เหล็ก เครื่องดูดฝุ่น เครื่องฉีดน้ำ เป็นอุปกรณ์ประเภทงานช่าง แล้วก็ทำสื่อในองค์กรเขาด้วย” นทีเล่าให้ฟังถึงหน้าที่การงานของเขา

Happy Time

ช่วงที่รามและนทีต่างแยกกันไปใช้ชีวิต นทีมีผลงานเพลงในโปรเจกต์เดี่ยวของตัวเองชื่อ Uncle Tree เป็นวงโฟล์กที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เขาอยากเล่าตอนเพื่อนไม่อยู่ และเพื่อให้เกิดประโยชน์ในช่วงที่รอการกลับมาของ Selina and Sirinya

“รู้สึกยังไงที่เพื่อนอีกคนมีภาระต้องดูแลลูกและหยุดเล่นดนตรี” ผมเอ่ยถามนที

“จริงๆ ก็ดีใจนะ เพราะว่าถ้าไม่มีลูกมันก็จะเที่ยวเล่น (ชี้ไปที่ราม) พอมีลูกมีเมียก็ตื่นเช้ามาทำอาหารได้ จากแต่ก่อนนัดซ้อมเที่ยงยังไม่ตื่นเลย” เขามองหน้าเพื่อนแล้วหัวเราะ

รามแก้ต่างว่า “มีลูกก็ทำให้เป็นคนมีระเบียบขึ้น ส่วนมากคนนี้ (ชี้ไปหานที) จะมีระเบียบกว่าผมมาก เราเป็นคนประเภทซุกซน ไปเล่นก็จะไปนอนที่อื่น ไม่กลับบ้าน อารมณ์แบบวัยรุ่น เมาโต๋เต๋ เที่ยวไปเรื่อย นทีจะเป็นคนคอยดึง”

“ตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้างที่จะต้องหยุดพักวง” ผมถามนทีอีกครั้ง

“ไม่ได้รู้สึกว่าจะไม่ได้ทำเพราะยังไงก็ได้ทำอยู่แล้ว แค่อีกคนต้องย้ายไปอยู่ที่โน่นมากกว่า จะไม่ได้เจอกันอีกสักพักหนึ่ง ซึ่งไม่ได้คิดว่าจะหยุด ต่างคนก็แต่งเพลงเล่นกันอยู่แล้วที่บ้าน พอมีเพลงใหม่ก็แชร์กัน ลง SoundCloud ลงยูทูบ ไม่ได้เร่งรัดให้ต้องเกิดขึ้นรวดเร็ว เพราะช่วงนั้นก็ยังไม่มีงานเล่นด้วย”

รามบอกว่า “ตอนนั้นรู้สึกยอมรับโชคชะตาของตัวเอง ถ้ามันเป็นไปแบบนั้นเราก็ต้องทำตามไป แล้วก็ทำให้ดีที่สุด มีลูกก็เห่อลูกด้วย”

“ตอนหยุดพักทำวง ต่างคนต่างใช้ชีวิต ได้เขียนเพลงอะไรกันบ้างไหม”

นทีบอกว่า “น่าจะเป็นเพลง Happy Time เหมือนแต่ละช่วงเวลาที่ตัวเราไปพบเจอแล้วมีความสุข ในเนื้อเพลงจะแบ่งเป็นตอนๆ ช่วงแรกเป็นตอนที่คุยกับวง Free Typewriter แต่ก่อนเขาอยู่ซีแอตเทิล เราก็อีเมลคุยกัน น้องเป็นคนน่ารัก นิสัยดี บางทีมีบทกวีส่งให้อ่าน เลยเกิดเป็นเนื้อเพลงท่อนแรก ท่อนที่ 2 เกิดขึ้นช่วงไปเที่ยวบ้านรามที่ปาย อีกท่อนเป็นช่วงที่ชอบเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปสัมผัสหน้าหนาว อยากตื่นมาแล้วมีความสุขพวกนี้อยู่รอบๆ ตัว”

ส่วนของรามมีเพลง ยังอยู่ด้วยกัน “เพลงนี้แต่งตอนไปอยู่อเมริกาใหม่ๆ รู้สึกว่าต้องมีเพลงใหม่บ้างแล้ว ตอนนั้นอัลบั้มสองเรายังไม่มี ก็เริ่มทำเพลง เลยหยิบเพลงนี้มาตั้งเป็นชื่ออัลบั้ม Still Together ความหมายก็กว้างๆ ว่าด้วยเรื่องวงดนตรี ครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก อะไรหลายๆ อย่าง เหมือนเราห่างกันแต่ก็อยู่ในโลกใบเดียวกัน ยังอยู่ใต้ดวงจันทร์เดียวกัน แค่ระยะทางมันห่างเท่านั้นเอง

“ตอนนั้นรู้สึกเหมือนดีเพรสนิดๆ เหมือนเราขาดหายอะไรไป จากที่เคยมีความสุข มีเสรี เวลาไปอยู่ในระบบมันไม่ค่อยใช่ เกิดคำถามว่าชีวิตต้องการอะไร อยู่ไปเพื่ออะไร เพื่อความสุข เพื่อเสียงดนตรี หรือเพื่อความเป็นอิสระ บวกกับผู้คนที่เราไปพบเจอใหม่ คนละที่ คนละวัฒนธรรม เลยรู้สึกว่าใช้ชีวิตยาก จึงแต่งเพลงเพื่อชีวิตเพลงหนึ่งขึ้นด้วยความสับสน”

“ดูเหมือนว่าเพลงของ Selina and Sirinya จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมาจากเรื่องจริง” ผมพูดสิ่งที่คิด

รามบอกว่า “จะให้มาแต่งด้วยการนั่งนึกเราก็รู้สึกว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่จริง แต่ถ้าเป็นจากความรู้สึกที่เราได้ไปพบไปเจอมันเป็นความจริงที่รู้สึกจริงใจนะ เวลาเล่นได้อารมณ์ เหมือนบทเพลงก็เป็นบันทึกเรื่องเล่าจากชีวิต

“เวลาที่เล่นเพลงตัวเองรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลาไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เพราะทุกเพลงที่เราแต่งมันบันทึกช่วงเวลาตรงนั้นเอาไว้ อย่างเพลง Happy Time เวลาเล่นเราจะเห็นภาพตอนนั่งล้อมกองไฟทุกทีเลย (หันหน้าไปหานที) เวลาเล่นเราจะหลับตา มันจะเห็นภาพ เห็นคำพูด ในช่วงเวลานั้น”

เพราะเหตุผลนี้แน่ๆ ที่ทำให้เพลงของพวกเขามีเสน่ห์ ฟังกี่ครั้งก็จะได้รับรู้ความรู้สึกบางอย่างในท่วงทำนองและเนื้อเพลงที่เล่าออกมา

เพราะเป็นเรื่องชีวิต ชีวิตเป็นเรื่องที่มนุษย์ต่างเชื่อมโยงถึงกันได้ในหลากหลายรูปแบบ

ใช่หรือไม่นะ ผมยังคงหาคำตอบ

ก่อนอ่านต่อไป ผมอยากชวนผู้อ่านเปิดเพลง เผลอสุขใจดอกไม้ และ ฝัน ฟังไปด้วยขณะอ่าน

เผลอสุขใจ

ทุกคนในวงสนทนาพักยก ดื่มเครื่องดื่มกันคนละอึกสองอึก

“Gathering in the glen จัดขึ้นมาได้ 2 ปี และดูเหมือนจะได้รับผลตอบรับที่ดีทั้ง 2 ปีเลย รู้สึกยังไงบ้าง” ผมชวนคุยต่อ

“ถือว่าประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้นะ” รามตอบ

“โตขึ้นจากคราวที่แล้ว คนเยอะขึ้น รูปแบบงานก็ลงตัวมากขึ้น เรียบร้อยมากขึ้น” เพื่อนอีกคนเสริมคำตอบให้ชัดยิ่งขึ้น

“ประทับใจอะไรบ้างในงานปีนี้” ผมถาม

“ผู้คนที่มางาน เขาเงียบมาก ตั้งใจฟังเพลง ปกติเฟสติวัลคนเยอะๆ จะต้องเสียงดัง สนุกสนาน แต่งานนี้เงียบ เรารู้ว่าพวกเขาตั้งใจฟัง ไม่ใช่เงียบเพราะไม่ชอบ” เมื่อได้ยินคำตอบจากนที ผมเองที่ได้ไปร่วมงานก็รู้สึกประทับใจสิ่งนี้เหมือนกัน

“ตั้งใจจะจัดในสถานที่ที่เป็นภูเขา ป่าไม้ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เลยใช่ไหม”

รามบอกใบ้ว่า “อาจจะไปทะเลบ้าง เปลี่ยน landscape เปลี่ยนความรู้สึก เหมือนเราเรียกมาชุมนุมกัน แต่ใช้ธรรมชาตินี่แหละเป็นห้องรวมตัวเพื่อเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน”

“เราเลือกที่จัดงาน ดูว่าตรงนั้นทำอะไรได้บ้าง แต่เราจะไม่ไปปรับเปลี่ยนอะไรเยอะหรือทำให้สถานที่ได้รับผลกระทบ ทุกๆ ปีเราตั้งใจทำให้คนมางานเดาไม่ได้ว่าจะจัดงานกันที่ไหนเพื่อเซอร์ไพรส์ แต่ยังคงเป็นบรรยากาศแบบแคมป์ปิ้งที่มีดนตรีฟัง” นทีเสริม

“รวมถึงเปลี่ยนวงที่มาเล่นกับเราด้วย อาจเป็นแนวอื่นที่เข้ามาแจมกัน” รามต่อ

“ในฐานะศิลปินและผู้จัดงานนี้ได้อะไรกลับมาบ้าง” ผมถาม

“เวลาเห็นคนมางานเราก็มีความสุข ส่วนธุรกิจเป็นเรื่องของผลพลอยได้ เพราะตอนที่คิดจะทำเราตื่นเต้น อยากทำ พอทำแล้วคนชอบก็รู้สึกดีมาก” รามให้คำตอบ

“เมื่อก่อนเคยตั้งฝันไว้ไหมว่า Selina and Sirinya จะไปได้ไกลแค่ไหน” ผมชวนทั้งคู่ทบทวน

“ตอนแรกเราฝันนะ ฝันว่าอยากมีคนรู้จัก” “ใช่ๆ” นทีพยักหน้าเห็นด้วย “แต่นี่มันนานเกิน จนเราไม่ฝันแล้ว”

ตอนแรกฝันไว้แบบไหนกันนะ–ผมคิดในใจ แต่เหมือนทั้งคู่จะได้ยิน

นทีบอกว่า “แค่มีคนเอาเพลงเราไปร้องเพลงหนึ่งเราก็ดีใจแล้ว” “เออๆ” เพื่อนอีกคนสมทบ

รามทบทวนให้ฟังอีกว่า “ถ้าพูดว่าฝันอะไร ก็คงเหมือนกับภาพดรอว์อิ้งที่เคยวาดไว้ ภาพนั้นวาดฝันว่าได้ไปเล่นบนเวทีใหญ่ที่มีคนมาฟัง อารมณ์แบบงาน Woodstock งานฮิปปี้ ทำนองนั้น แต่ไปเล่นจริงๆ ก็ไม่ค่อยมีคน เราเลยรู้สึกว่าความฝันไม่เกิดขึ้น แต่พอผ่านมาสิบกว่าปีจึงเริ่มมีคนมาฟัง ตอนนี้เลยกลายเป็นอย่างที่ฝันไว้”

“และเหมือนว่ากำลังจะมีฝันต่อไปแล้ว” นทีพูดเป็นนามธรรม

“แล้วฝันนั้นคืออะไร” ผมสวนทันที

ทั้งคู่มองหน้ากันหัวเราะลั่น ก่อนนทีจะรับผิดชอบตอบว่า “จริงๆ ก็ยังไม่ได้คิด แต่แค่รู้สึกว่ายังอยากทำเพลงอยู่ ยังไม่อยากกลายเป็นวงดนตรีที่หยุดแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว คนฟังได้ฟังแค่เพลงเก่าๆ เราไม่อยากเป็นตำนาน อยากมีอะไรใหม่ๆ อยากทำอะไรเป็นแรงบันดาลใจไปเรื่อยๆ”

ผมเตรียมแผ่นเสียงอัลบั้มหนึ่งและสอง รวมถึงแผ่นซีดีอีพีใหม่และซีดีชุดพิเศษของ Selina and Sirinya เพื่อมาขอลายเซ็นทั้งคู่ จะให้สารภาพก็ได้ จริงๆ แล้วผมเป็นติ่งของโฟล์กวงนี้นั่นแหละ

หลังจรดปากกาเซ็นชื่อเรียบร้อย นทีส่งแผ่นเสียงและซีดีทั้งหมดคืนผม วงสนทนาพากันแยกย้าย รามและนทีเตรียมตัวไปเล่นดนตรี ส่วนผมเตรียมตัวไปเป็นผู้ฟัง เวลา 3 ทุ่มเศษ บรรยากาศร้างคนเมื่อตอนเย็นเปลี่ยนเป็นเนืองแน่นด้วยแฟนเพลงที่เข้าร่วมงาน เมื่อพวกเขาเริ่มบรรเลง เสียงคนพูดคุยก็เงียบลง หลายเสียงร้องคลอตามไปกับท่วงทำนอง เมื่อเพลงจบเสียงปรบมือก็ดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียง เป็นเช่นนี้ทุกเพลงไป

ผมเฝ้าตามหาเหตุผลในทุกงานที่ไปดู Selina and Sirinya แสดง ว่าเพราะอะไรเพลงของพวกเขาจึงมีพลัง

วันนี้ผมได้พบเหตุผลนั้นแล้ว อาจเป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ ก็ได้ใครจะรู้ เพราะเมื่อได้พูดคุย ได้รู้เบื้องหลังของบทเพลง ได้รู้เรื่องราวชีวิตของกันและกัน ทุกครั้งที่ผมได้ยินเพลงที่รามและนทีเล่น เสมือนว่าผมเองก็ได้ร่วมยินดี อิ่มเอม ไปกับความฝันของพวกเขาด้วยยังไงยังงั้น

เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ คุณน่าจะได้ฟังเพลงของ Selina and Sirinya กันมาหลายเพลงแล้ว หรือยังไม่ได้ฟังก็ไม่เป็นไร และไม่ต้องเชื่อผมก็ได้ จะบอกว่าหากรามและนทีกลับมาเล่นดนตรีร่วมกันอีกเมื่อไหร่ในนามของ Selina and Sirinya อยากแนะนำให้คุณลองไปฟังดู

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!