แด่ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยน้ำตา เหตุผลที่เราหอบพาร่างกายและจิตใจที่ป่วยไข้ไปทะเล

ในวิกฤตหลายครั้งของชีวิต การได้เหยียบอยู่บนผืนทรายและมองผิวน้ำอันกว้างใหญ่ เหม่อมองเกลียวคลื่นไม่รู้จบที่ทั้งชะเม็ดทรายนับล้านและนำพวกมันกลับขึ้นมาสู่ผิวหาดก็ช่วยให้เราสบายใจขึ้นมาไม่น้อย เพราะสำหรับบางคน ท้องทะเลคือที่ที่น้ำตาจะถูกเอาไปทิ้ง

และสำหรับใครอีกหลายคน ทะเลอาจไม่ใช่เหตุผลสำคัญของการไปทะเล แต่เป็นการหลบลี้ออกจากวงจรของปัญหาไปสู่การพักหายใจต่างหาก ซึ่งพลังการเยียวยาของท้องทะเลนั้นก็มีหลักฐานและเคยเป็นใบจ่ายยา อย่างการที่แพทย์ให้ผู้ป่วยไปสูดอากาศริมหาด เพราะมีคำอธิบายว่าแร่ธาตุที่ฟุ้งกระจายส่งผลดีกับร่างกาย และแน่นอนว่าจังหวะเสียงคลื่นและพลังของธรรมชาติย่อมส่งผลดีกับจิตใจ

แต่ทว่าท้องทะเลนั้นดูจะมีความหมายมากไปกว่านั้น แม้ว่าในขณะที่เรายืนมองท้องทะเลอยู่บนชายหาดย่อมจะมีความรู้สึกแบบหนึ่ง แต่คำว่า ‘ท้องทะเลนั้นเต็มไปด้วยน้ำตา’ ก็ดูมีนัยบางอย่าง โดยที่ในยุคหนึ่งการรักษาด้วยน้ำทะเลก็ดูจะเต็มไปด้วยรอยน้ำตาจริงๆ แต่สำหรับมนุษย์เราแล้วทะเลมีความหมายอะไรกันแน่ เช่นเดียวกับความรู้สึกของเราต่อการหันหน้าไปปะทะกับพื้นที่ของการเกิดและตายอย่างมหาสมุทร คำถามคือ มหาสมุทรกำลังเยียวยาบาดแผลและกระซิบสอนความหมายอะไรให้กับเหล่ามนุษย์ตัวจ้อยอยู่บ้างนะ

แด่ท้องทะเลและผืนทรายที่เหล่าผู้คนพาเอาน้ำตาไปทิ้งในผืนน้ำอันไม่รู้จบ

ก่อนนั้นทะเลคือที่ตาย

จริงอยู่ที่ว่า ท้องทะเลโดยทั่วไปนั้นดูสวยงาม แต่เชื่อว่าหลายครั้ง แม้ในยามที่เรากำลังยืนอยู่บนฝั่ง มองเห็นแนวคลื่นที่สะท้อนแสงแดดระยิบระยับบนผิวน้ำ เราก็ย่อมจะสัมผัสได้ถึงอีกด้านหนึ่งของท้องทะเล เพราะลึกลงไปใต้ผิวน้ำนั้นคือโลกอีกใบที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้ ความหมายของท้องทะเลในยุคโบราณนั้นจึงมีความหมายเชิงลบ เป็นพื้นที่แห่งความปั่นป่วนและความตาย การออกทะเลจึงมักนำไปสู่เรื่องเล่าตำนานและจุดจบอันสยดสยอง 

บทละครโศกนาฏกรรมของโซโฟคลีส (Sophocles) ขับขานถึงท้องทะเลว่าเป็นพื้นที่แห่งอนันตกาล ชีวิตของมนุษย์ทั้งอยู่ในห้วงทรมานอันไม่รู้จบดุจเดียวกับที่ผืนทรายถูกความเกรี้ยวกราดของท้องน้ำโบกโบยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรืออย่างในพระคัมภีร์ไบเบิลก็กล่าวถึงห้วงทะเลว่าเป็นดินแดนที่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ เลวีอาธาน อสูรแห่งความริษยาได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นสัตว์ทะเลขนาดยักษ์ที่พระผู้เป็นเจ้าจะฟาดฟันด้วยดาบ ท้องทะเลจึงเป็นเหมือนห้วงเหว เป็นที่เกิดและที่อยู่ของความชั่วร้ายจากบุพกาล

แด่ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยน้ำตา
Sophocles

ในแง่นี้ การออกไปสู่ทะเลก็เหมือนกับตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง โดยที่ทะเลก็เป็นพื้นที่ซึ่งมีเพียงสวรรค์และเทพยดาที่จะเข้าใจ รับรู้และควบคุมได้

เมื่อการป่วยเกิดจากความไม่สมดุล น้ำทะเลจึงเป็นคำตอบ 

จากยุคโบราณที่ทะเลเป็นเหมือนที่ตาย ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้เข้ามาหน่อย คือราวศตวรรษที่ 18 ที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์เริ่มก่อตัว แต่ก็ยังไม่ได้ชัดเจนเป็นศาสตร์สมัยใหม่เสียทีเดียว ในช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มเข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจทะเลมากขึ้นว่าอย่างน้อยๆ การออกทะเลไปก็ไม่ได้จะต้องหวาดกลัวว่าจะหล่นออกจากโลกแบนๆ ในตอนนั้นเองที่ยุโรปเริ่มมองทะเลเป็นพื้นที่ของการเยียวยารักษา

จุดเริ่มต้นหนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่อังกฤษ ดินแดนเกาะที่ถูกโอบล้อมด้วยทะเล เพียงแต่ในศตวรรษที่ 18 ทะเลอาจยังดูร้างๆ อยู่สักหน่อยเพราะเป็นพื้นที่ของชาวประมงเสียส่วนใหญ่ ในตอนนั้นความเป็นเมืองในลอนดอนเริ่มเกิดขึ้นแล้วโดยที่เมืองลอนดอนก็จะสภาพเละๆ เทะๆ เพราะระบบสาธารณูปโภค ถนนหนทาง การสาธารณสุขต่างๆ ยังไม่ดีนัก ลอนดอนจึงเต็มไปด้วยโรค ทั้งโรคระบาดและอาการป่วยกระเสาะกระแสะ เพียงแต่ในตอนนั้นผู้คนยังไม่ค่อยเข้าใจสาเหตุของการเกิดโรคระบาดสักเท่าไหร่

เมื่อเมืองและประชาชนเริ่มไม่แข็งแรง หมอก็เริ่มมองหาคำตอบ และกลับไปหาแนวทางรักษาช่วยปลายศตวรรษที่ 16 นั่นคือการแช่น้ำทะเลเย็นๆ การแพทย์ในยุคสมัยนั้นมีความคิดเรื่องสุขภาพที่เกี่ยวกับน้ำเรียกว่า Humorism คือเป็นเรื่องธาตุ มีรากมาจากการแพทย์ยุคกรีก คือเชื่อว่าร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำ 4 ประเภท 4 สี ได้แก่ เลือด, น้ำดีดำ (black bile), น้ำดีเหลือง (yellow bile) และเสมหะ โดยที่ความเจ็บป่วยก็จะเกิดจากความไม่สมดุลของน้ำทั้งสี่นี้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการแนะนำคนไข้ให้ใช้น้ำทะเลในการรักษา โดยการเดินทางไปทะเล

ทะเลกลายเป็นที่รักษากับมาตรฐานสปาที่โหดหน่อย

จากช่วงปลายศตวรรรษที่ 16 ที่วิธีการรักษาโดยใช้ทะเลอาจยังดูกล้าๆ กลัวๆ ทะเลอยู่บ้าง กระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 18 การจ่ายการรักษาเป็นชายหาดและน้ำทะเลจึงกลายเป็นมาตรฐาน เพียงแต่ก็ไม่หมายถึงกับไปนั่งสวยๆ อยู่ริมทะเล เพราะการรักษาด้วยน้ำในทะเลในยุคสมัยใหม่ตอนต้นมันโหดกว่านั้น

แด่ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยน้ำตา

การได้รับใบสั่งยาเป็นน้ำทะเลช่วงศตวรรษที่ 18 อาจจะไม่ใช่การพักร้อนในฝัน เพราะการรักษาด้วยน้ำทะเลในตอนนั้นหวังผลเรื่องอุณหภูมิ และหวังเรื่องอะดรีนาลีน วิธีการรักษาตามมาตรฐานคือการกดผู้ป่วยลงในน้ำทะเลที่เย็นจัด โดยต้องการผลสองประการคือความเย็นจากน้ำทะเล และภาวะขาดอากาศ กระบวนการที่ฟังดูเหมือนการฆาตกรรมนี้ต้องการสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการฟื้นคืนชีวิต (revitalization) นั่นคือการทำให้ใกล้ตายเพื่อให้รู้สึกเหมือนฟื้นตื่นเพื่อเกิดใหม่

หลังจากกดน้ำแล้ว ผู้ป่วยก็จะถูกพาขึ้นสู่ผิวดิน มีการนวดหลังปลอบใจอย่างหนัก มีการอุ่นเท้าและดื่มชาสักแก้วเพื่อความอบอุ่นใจ ในตอนนั้นการแพทย์เชื่อว่าฮอร์โมนอะดรีนาลีนจากการรักษานี้จะมีคุณสมบัติเยียวยาร่างกาย ขับไล่ความวิตกกังวล และคืนสมดุลของร่างกายและจิตใจ โดยผู้ป่วยที่มารักษากายริมหาดก็จะทำการกดน้ำในทุกเช้า ส่วนผู้ป่วยชายก็จะเข้ารับการรักษาด้วยร่างกายที่เปลือยเปล่า

แต่แล้วในช่วงทศวรรษ 1860 การจ่ายทะเลเป็นยาและกระบวนการรักษาสุดหฤโหดก็เสื่อมความนิยมลง โดยหลังจากพิธีกรรมการจุ่มคนลงในทะเล เมื่อการเดินทางที่ดีขึ้น ความเข้าใจต่างๆ มากขึ้น คนมีเวลาว่าง มีวันพักผ่อนริมทะเล จึงเริ่มกลายเป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับการเยียวยารักษา เริ่มมีการรักษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เกิดศูนย์บำบัดหรือที่พักเพื่อการรักษา ทั้งในแง่การแพทย์จริงจังที่ใช้ทะเลช่วยบำบัดความป่วยไข้ และการเป็นพื้นที่ที่เยียวยาความเหนื่อยล้าจากความเครียดของพื้นที่เมือง

แด่ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยน้ำตา
Leisure on a Normandie Beach, Eugene Berthelon

ทิ้งหายและได้คืน การทิ้งความเศร้าไม่ใช่เรื่องง่าย

การทิ้งความเศร้าไม่ใช่เรื่องง่าย และการก้าวผ่านความเจ็บปวดก็เป็นกระบวนการละทิ้งและเรียนรู้ที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นการใช้เวลาทบทวนกับท้องทะเลจึงอาจเป็นกระบวนการเรียนรู้ความเป็นไปของโลกได้ทางหนึ่ง ไปพร้อมกับพลังการเยียวยารูปแบบอื่นๆ

แม้ว่าเราจะพูดถึงท้องทะเลในฐานะพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยหมายถึงความหวาดกลัว เป็นพื้นที่ของความตาย ทว่าในทางกลับกัน ทะเลก็ยังมีความหมายที่ตรงข้ามกันอย่างซับซ้อน เพราะทะเลยังหมายถึงการกำเนิด หมายถึงจุดเริ่มต้นของชีวิต ในมุมมองแบบตะวันออก พระพรหมผู้สร้างบรรทมอยู่ในทะเลน้ำนม วรรณคดีโบราณว่าด้วยนิทานและเรื่องเล่าของสันสกฤตเรื่องสำคัญก็ใช้ชื่อว่ากถาสริตสาคร หมายถึงห้วงสมุทรแห่งเรื่องเล่า ความเป็นไปและชีวิตทั้งสุขเศร้าของเรานั้นเริ่มต้น ว่ายวนอย่างไม่รู้จบดุจดังห้วงอันเป็นนิจนิรันดร์ของคลื่นน้ำของท้องทะเล

มันจึงไม่แปลกที่ทะเลยังมีนัยถึงกาลเวลา หมายถึงความเป็นอนันตกาล แต่ทว่าความเป็นอนันต์นั้นก็หมายถึงความเปลี่ยนผันและการกลับคืน การมองท้องทะเลนั้นพาเรากลับไปยังพื้นที่อันเวิ้งว้าง สวยงามทว่าน่าหวาดหวั่น มองเห็นได้แต่ก็มีส่วนใต้พื้นผิวที่เราไม่อาจหยั่งรู้ เกลียวคลื่นที่ซัดสาดหาดทรายจนเป็นลอนคือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันจบสิ้น หาดทรายบางครั้งก็สูง แต่บางครั้งก็ต่ำ หรืออย่างโขดหินที่เคยอยู่ในระดับสายตา แต่บางครั้งกลับจมน้ำหายไป

สิ่งที่ท้องทะเลกำลังสอนมนุษย์ตัวจ้อยคือปรัชญาและความเข้าใจชีวิตที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ความเวิ้งว้างของท้องทะเลคือการรับฟังที่ทั้งอบอุ่นและเย็นชา ความยืนยงและทรงอำนาจที่ท้องทะเลนั้นหยืดหยัดมานานเท่ากาลเวลา ทว่าในความเป็นอนันต์นั้นกลับประกอบขึ้นด้วยความเปลี่ยนผันอยู่ทุกวินาที 

น้ำตาที่ร่วงหล่นบนผืนทรายสุดท้ายก็ถูกชะลง และซัดเอาความเศร้าอื่นๆ ขึ้นมา นำเอาความทุกข์หนึ่งของเราเข้าไปสู่ห้วงน้ำตาอื่นๆ ของผู้คน น้ำตาที่มีทั้งสุขและเศร้า เป็นหนึ่งในรอยทรายที่วินาทีหนึ่งแล้ว เราก็จะพบว่า ความทุกข์นั้นจะจางหายได้ในท้ายที่สุด 

อาจเพราะความหมายนี้ กวีโบราณของอินเดียจึงเลือกเปรียบเรื่องเล่าของมวลมนุษย์เป็นห้วงแห่งท้องทะเล เรื่องเล่าที่ร้อยต่อกันอย่างไม่รู้จบ ทว่าทั้งหมดนั้นก็อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กจ้อยรอยหนึ่งในห้วงเวลาอันไม่รู้จบ 

อ้างอิง

gutenberg.org/ebooks/40588

journals.openedition.org/polysemes/1966

theatlantic.com/health/archive/2013/08/the-historic-healing-power-of-the-beach/279175

webmd.com/mental-health/mental-health-benefits-of-the-beach

AUTHOR

ILLUSTRATOR

mntttk

นักวาดภาพประกอบที่ชอบความไม่สมบูรณ์แบบในทุกๆ อย่าง และเพิ่งค้นพบว่าตัวเองชอบแมว