สถิติจาก Food and Agriculture Organization (FAO) พบว่า ในแต่ละปีมี food waste หรืออาหารที่ต้องถูกทิ้งอย่างน่าเสียดายเป็นจำนวน 1.3 พันล้านตัน คิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดบนโลกใบนี้
ชาวยุโรปและอเมริกาเหนือทิ้งอาหารเฉลี่ย 95 – 115 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ส่วนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเราทิ้งอาหารอยู่ที่ 6 – 11 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตีค่าเป็นเม็ดเงินมหาศาลกว่า 6.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศอุตสาหกรรม และ 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถ้าเราสามารถลดการสูญเสียอาหารตรงนี้ลงไปได้ นั่นหมายถึงเราอาจมีอาหารให้บริโภคมากขึ้น
ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา มีองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ ส่วนในประเทศไทย Clearance Next Door สตาร์ทอัพน้องใหม่ของหญิงสาววัย 24 ปี ตาว–พิชชนก เหลืองอุทัย คือธุรกิจที่ตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหาอาหารล้นถังขยะ
“ไอเดียเกิดจากวันหนึ่งที่เราไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตกับเพื่อน แล้วเจอน้ำเต้าหู้ยี่ห้อหนึ่งที่ปกติขายอยู่ 20 กว่าบาท แต่มันติดบาร์โค้ดสีเหลืองลดราคาเหลือ 10 กว่าบาทเพราะใกล้หมดอายุ เหตุการณ์นี้จุดประกายให้เราเก็บมาคิดต่อ เราลงมือหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าถ้าสังเกตดีๆ ส่วนใหญ่วันที่ระบุบนอาหารทุกประเภทจะเป็นวัน Best Before ซึ่งเป็นวันที่รสชาติและประโยชน์ของสารอาหารจะดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าหลังจากวันนั้นมันจะเสีย ถ้าเราเก็บรักษาอย่างดี เข้าตู้เย็นหรือว่าช่องแช่แข็ง ทำตามกรรมวิธีของอาหารแต่ละประเภท มันก็ยังกินต่อได้อีก เช่น หลังวัน Best Before ถ้าเอานมใส่ตู้เย็นไว้ก็ยังกินได้อีกหนึ่งสัปดาห์ แต่ที่ร้านค้าเอาออกจากชั้นวางเพราะต้องทำตามกฎหมาย” ตาวเล่าถึงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่พาเธอลงลึกถึงเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยพื้นฐานการเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดทำให้ตาวเริ่มรีเสิร์ชจนพบข้อมูลน่าสนใจว่า ในแต่ละปีห้างใหญ่ๆ อย่างเทสโก้โลตัสมีอาหารสดที่ต้องทิ้งจากทุกสาขารวมกันเป็นมูลค่าทางธุรกิจที่เยอะมากถึงสองพันกว่าล้านบาท ตาวเลยตัดสินใจพัฒนาโมเดล Clearance Next Door ขึ้นมา ด้วยจุดประสงค์ข้อแรกคือช่วยลดขยะ สองคือกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเรื่องการบริโภค และข้อสามคือโมเดลนี้น่าจะสร้างผลประโยชน์ด้านเม็ดเงินให้ร้านค้าได้โดยไม่ต้องเสียค่าทำลายของ
“เราตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำมา 2 ปีเพื่อมาลงมือทำงานนี้เต็มตัว ตอนนี้เริ่มทำมาได้ 3 – 4 เดือนแล้ว อาจจะยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ ทั้งตัวเว็บไซต์และระบบข้างในก็ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ยังไม่มีให้เห็นในประเทศเรา ส่วนในเมืองนอกมีมานานแล้ว แต่โมเดลก็จะต่างจากเราอยู่ดี”
ตาวยกตัวอย่างว่าที่ยุโรปมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่รับผลิตภัณฑ์อาหารที่เลยวัน Best Before มาแล้วนำมาแช่แข็งไว้ ใครยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ก็สามารถซื้อของในราคาที่ถูกมากๆ ได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ขายสินค้าหมดตลอด มีระบบและเครื่องมือหลายอย่างที่บ้านเรายังไม่มี
“แรกเริ่มที่เรากำลังทำอยู่คือการสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคเห็นว่าจริงๆ ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ยังกินยังใช้ได้อยู่นะ อยากให้คนเห็นคุณค่า ใช้ของให้ยาวนานที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้” ตาวบอกว่า ‘การบริโภคสินค้าให้คุ้มค่าที่สุดในช่วงเวลาของมัน’ คือคีย์เวิร์ดสำคัญของโครงการนี้
โปรเจกต์นี้เริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างบนความตั้งใจของตาว สร้างเป็นแพลตฟอร์มตามสถานที่ตั้งของผู้ใช้ (location based) โชว์ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหนรอบๆ ตัวบ้าง เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้ที่เมื่อเปิดเว็บขึ้นมาก็จะเห็นว่าร้านรอบตัวทั้งห้างใหญ่และร้านโชห่วยหน้าปากซอยมีของอะไรอยู่บ้าง คอนเซปต์นี้ยังต่อยอดได้กับสินค้าอีกหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่อาหาร ทั้งเสื้อผ้าที่ตกรุ่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็สามารถอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ได้ หรือมูลนิธิที่ต้องการของบริจาคก็สามารถมาใส่ข้อมูลไว้ เพื่อจับคู่กับร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่ต้องการทำโครงการ CSR
“ตั้งแต่เราทำ Clearance Next Door มา แม้จะยังไม่ได้เห็นตัวเงินที่มาก ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็รู้สึกดีแล้ว ตอนนี้เรารู้ตัวเองว่าชอบทำงานที่มีเรื่องราว สร้างอิมแพกต์ต่อคนและสังคม” ตาวเล่าต่อว่าตอนนี้เธอนำโปรเจกต์ไปร่วมแข่งในโครงการ Siam Innovation District ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นการแข่งขันสร้างธุรกิจที่มีอิมแพกต์ต่อสังคม เป็นขั้นตอนแรกที่กำหนดว่าภายใน 3 เดือนต้องมี KPI ที่ชี้วัดเป็นรูปธรรมออกมา
“เราตั้งใจว่าอยากทำตัวแพลตฟอร์มให้เรียบร้อยก่อนแล้วจะเข้าไปคุยกับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าเพื่อหาทางเชื่อมโยงกัน เราเชื่อว่ามันจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับทุกฝ่ายได้ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และโลกของเรา”
คงจะดีไม่น้อยถ้าต่อจากนี้ทุกการซื้อสินค้าของเราจะสามารถลดขยะไปได้พร้อมๆ กัน
Facebook |clearancenextdoor.co
clearancenextdoor.com