คุยกับ ‘สยาโม’ ครีเอเตอร์สายวินเทจ กับเรื่องราวของอดีตที่หวนคิดถึงในเสื้อผ้ามือสอง

แตงโม-สยาภา สิงห์ชู หรือที่ทุกคนอาจจะเห็นเธอจากแพลตฟอร์มต่างๆ ในชื่อ ‘สยาโม’ คือครีเอเตอร์ที่นำความเก่ามาทำให้มีชีวิตในความใหม่ของปัจจุบัน โดยการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ต้องการจะนำความรู้สึก Nostalgia มาทำให้ทุกคนนึกถึงความสุขในอดีต หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นความรู้สึกหน่วงๆ น้ำตาคลอ

จากเวที The Voice ในฐานะนักร้องที่มีเอกลักษณ์ด้วยเสียงเอื้อนแบบไทยๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเธอมีความ ‘เก่า’ อยู่ในดีเอ็นเออยู่แล้วเพราะโตมากับเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และสุนทราภรณ์ ทุกวันนี้เมื่อกลายเป็น ‘สยาโม’ ยิ่งทำให้คาแรกเตอร์ของเธอชัดและเป็นตัวเองมากขึ้น ทั้งแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และเพลง ทั้งนี้ด้วยความหวังว่าอยากเป็นผู้ผสานคน 2 เจเนอเรชันเข้าด้วยกันโดยการทำให้อดีตกลายเป็นปัจจุบัน

ชวนทำความรู้จัก ‘สยาโม’ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

ชื่อ ‘สยาโม’ มาจากอะไร

ตอนแรกตั้งชื่อ ‘สยาโม’ ไว้เรียกเล่นๆ กับเพื่อน มาจากชื่อจริง ‘สยาภา’ และชื่อเล่น ‘แตงโม’ แต่พอวันหนึ่งมาทำคอนเทนต์แบบนี้ ชื่อนี้มันเลยแจ้งเกิดกลายเป็นชื่อที่ให้ความรู้สึกครึ่งหนึ่งมีความเป็นไทยอีกครึ่งหนึ่งมีความสมัยใหม่ เลยนิยามชื่อ ‘สยาโม’ ย่อมาจาก สยามโมเดิร์น

จุดเริ่มต้นในการหยิบจับของวินเทจ ของมือสอง

จริงๆ เริ่มต้นจากการร้องเพลง เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เพลงที่ร้องพ่อแม่ก็จะสอนให้ร้องเพลงลูกทุ่งพออยู่โรงเรียนก็เป็นนักร้องประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง สุนทราภรณ์ อยู่กับผู้ใหญ่ อยู่กับครูอาจารย์เยอะ เพราะฉะนั้นมันเลยมีความแก่อยู่ใน DNA ประมาณหนึ่งพอไป The Voice ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็จะเป็นแตงโมที่ชอบร้องเพลงที่มีความเป็นไทยผสม เพราะฉะนั้นมันติดตัวมาตั้งแต่เด็กเลย แตงโม คือคนที่ร้องเอื้อนๆ ไง มันพัฒนาจนหาความเป็นตัวเองเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันใกล้ตัวที่สุดและมันก็เชื่อมโยงกับความชอบเสื้อผ้ามือสองพอดี

แล้วเริ่มสนใจการแต่งตัวแนววินเทจได้ยังไง

เมื่อก่อนตอนมัธยมก็มีความสนใจเรื่องเสื้อผ้ามือสองอยู่แล้ว ชอบไปเดินโกดังหรือตลาดมือสอง แต่ในตอนนั้นยังไม่มีโอกาสได้แต่งเพราะช่วงมัธยม 5 วันก็ใส่ชุดนักเรียนหมด เสาร์-อาทิตย์ ก็ไม่ได้มีเวลามาสร้างสรรค์ลุคว่าเราชอบอะไรหรือต้องแต่งแบบไหน

จนเข้าสู่มหาลัยเรียนที่ศิลปากรช่วงปีสองไม่บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ก็เริ่มเห็นรุ่นพี่แต่งตัว เพื่อนแต่งตัวเลยเริ่มหยิบสิ่งใกล้ตัวหรือสิ่งที่เรามีเอามาแต่งและรู้สึกสนุกกับการแต่งตัวไปเรียนทุกวัน เด็กศิลปากรคือแต่งตัวกันสุดมากๆ ก็เลยรู้สึกว่าการที่แต่งตัวแปลกไม่เหมือนสมัยนิยมไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย รู้สึกว่ามีความมั่นใจมาจากความเป็นศิลปากรด้วย

คลิปแรกที่ทำให้เป็นที่รู้จัก

คลิปแรกจะเป็นคลิปที่ไปดัดผม เมื่อก่อนเป็นคนผมตรงผมยาวตอนนั้นก็นึกสนุกอยากไปดัดผมเลยเดินไปหาร้านคุณป้าแถวสวนหลวง ร.9 ว่า หนูอยากดัดผมแบบคนสมัยก่อนเขาดัดกันคุณป้าทำให้หน่อย ก็ทำคลิปเล่นๆ ลงไปไม่ได้คาดหวังอะไรยอดวิว 1 วันก็คือ 3 ล้านวิว 

พอหลังจากนั้นก็คิดต่อว่าจะทำยังไงให้คนดูอยู่กับช่องเราแล้วเสพคอนเทนต์ที่มันเชื่อมโยงกันต่อไป ซึ่งคนที่เข้ามามีความสนใจด้านความงาม ด้านบิวตี้ วันรุ่งขึ้นเลยตัดสินใจตั้งกล้องแต่งตัวไปเรียนที่มหาลัย เอาเสื้อผ้ามือสองของเราที่มีอยู่แล้วมาใส่ หลังจากนั้นคนก็เริ่มติดตามเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งจากคลิปที่แต่งตัวทุกวันๆ ก็เลยรู้สึกว่าแม่เราก็มีชุดสมัยก่อนเลยไปขอให้แม่รื้อชุดออกมาให้ดูหน่อยหลังจากนั้นคนก็แห่มาติดตามจากคลิปแม่

ตั้งแต่พาคุณแม่มาแต่งตัวด้วยกันรู้สึกว่ามีความผูกพันกันมากขึ้นไหม

จริงๆ ทุกวันนี้ก็ไม่มีบทสนทนาอะไรที่จะคุยกับแม่ได้มาก แต่พอวันหนึ่งที่ชุดแม่มันได้รับความสนใจ คนเข้ามาชมแม่เราเยอะมากมันก็เริ่มมีคอนเทนต์ให้คุยกันมากขึ้น เริ่มอยากรู้ว่าสมัยก่อนเป็นยังไง เสื้อผ้าบางตัวการที่เขาเอามาให้ใส่เขาก็จะเล่าให้ฟังนะว่าชุดนี้แม่ใส่ตอนอายุเท่าหนู ชุดนี้ใส่ตอนทำงานที่นี่ที่แรกมันก็จะมีเรื่องราวอยู่ในนั้น ได้เห็นรูปคุณพ่อคุณแม่ไปเดตด้วยกันหรือแฟชั่นชุดลำลอง ก็น่ารักดีค่ะ 

เมื่อก่อนก็ไม่เคยสนใจแต่พอมาเป็นสยาโมแล้วคนยอมรับและสนับสนุนในตัวเองด้านนี้เราก็ยิ่งมีความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มมากขึ้นซึ่งก็กลายเป็นภาพจำไปเลยว่าสยาโมต้องไปกับคุณแม่ มันก็มีความน่ารักแบบเรายังไม่ค่อยเห็นอินฟลูเอนเซอร์คนไหนในไทยเอาแม่มาเล่นกับเสื้อผ้าก็เป็นจุดเชื่อมโยงให้สนิทกับแม่

คัตติ้งชุดสมัยก่อนกับปัจจุบันมีความแตกต่างกันไหม

จริงๆ มันมีความละเอียดกว่าเสื้อผ้า Fast Fashion มากๆ เลย ปัจจุบันรายละเอียดมันก็จะเป็นแบบกระดุมเรียบๆ หรือเสื้อตัวเดียวแต่ว่าสมัยนั้นจะมีรายละเอียดตั้งแต่การเลือกกระดุม เช่น ลายกระดุมฉลุไหม เสื้อตัวหนึ่งมี 2-3 เลเยอร์ ในสมัยนั้นมันเป็นความครีเอทีฟมากๆ และคุณภาพผ้ามันดูออกว่ามีความละเอียดกว่า 

อย่างแม่จะมีช่างประจำตัว ยิ่งเป็นชุดสั่งตัดก็จะรู้ว่าสัดส่วนแม่เท่าไหร่ เวลาแม่มีไอเดียหรือไปดูนิตยสารมาก็จะเอานิตยสารไปให้ช่างตัดดู มันก็จะแบบตามตัวเลย รายละเอียดจะมีมากกว่าเสื้อผ้าซื้อทั่วไป คุณแม่ก็จะชอบแฟชั่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ทุกวันนี้จะชอบไปเดินพาหุรัด สำเพ็ง ก็จะเบนเข็มมาเป็นพวกผ้าไทย

รู้สึกว่าคาแรกเตอร์ในด้านศิลปินมีเอกลักษณ์มากขึ้นไหม

เมื่อก่อนจะมีปัญหาใหญ่มากๆ คือการวาง Position ศิลปิน รู้สึกว่าเราร้องเพลงดีแล้วแต่ทำไมมันไม่ดัง ทำไมคนไม่จำ คนบอกว่ามันยังไม่มีคาแรกเตอร์ แต่พอวันนี้เป็นสยาโมแล้วทำให้คาแรกเตอร์ชัดมากขึ้น กลายเป็นว่าทำอะไรคนก็จำ ไม่ต้องร้องเพลงคนก็จำอย่างล่าสุดก็เป็นเพลงที่อยากใส่ความเป็นไทยๆ ความเป็นโบราณเข้าไปในความสมัยใหม่มันก็ยิ่งเป็นตัวเอง ทั้งแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ แล้วก็เพลง ในปีนี้ก็มีแพลนที่จะออกซิงเกิลเป็นสยาโมจริงๆ เลย

ระหว่างทำคอนเทนต์กับร้องเพลงชอบอะไรมากกว่า

อืม คนละแบบดีกว่า รู้สึกว่าร้องเพลงเป็นสิ่งที่สวรรค์ให้เรามา มันเป็นพรสวรรค์แล้วเรารู้สึกว่าเราทิ้งไม่ได้เด็ดขาดเลย เรารู้สึกว่าการร้องเพลงคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในชีวิตอยู่แล้ว แต่การทำคอนเทนต์มันคือสิ่งที่เราได้เป็นตัวเอง มันเป็นตัวเองในมุมมองที่หลากหลายแล้วก็เป็นเหมือนห่วงโซ่ให้ประโยชน์กับหลายๆ คนได้

อะไรคือนิยามของ อดีตที่หวนคิดถึง Nostalgia สำหรับคุณ

จริงๆ คำว่า Nostalgia เป็นคำที่พึ่งมารู้จักหลังจากทำ TikTok ไม่รู้ตัวว่าคอนเทนต์ที่ทำมันคือการเอา Nostalgia มาเล่นกับคนดูซึ่งเราคิดว่า Nostalgia เป็นความรู้สึกคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต บางสิ่งมันก็เป็นความสุข บางสิ่งมันก็เป็นกึ่งเศร้านิดๆ ถ้าในแง่ความสุข Nostalgia ทำให้ได้พักปัจจุบันแล้วกลับไปนึกถึงเวลาที่มีความสุขในอดีต แต่บางครั้งที่นึกถึงความรู้สึก Nostalgia ขึ้นมาก็รู้สึกหน่วงๆ ร้องไห้ น้ำตาคลอ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลเราคิดว่ามันคืออารมณ์ความรู้สึกหมดเลย สิ่งนี้รู้สึกว่าการที่เราเอามาทำคอนเทนต์คนก็เลยรู้สึกง่ายเพราะทุกคนก็มีความ Nostalgia อย่างความสุขน่าจะเป็นการรอดูละครหลังข่าวในดวงใจกับที่บ้านตอนกินข้าวทุกวัน

นอกจากคอนเทนต์บิวตี้มีคอนเทนต์อื่นไหม

ก็มีค่ะ จะมีทั้งอาหาร แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ไปในที่ที่ผู้สูงอายุไปกัน รู้สึกว่าสิ่งนี้วัยรุ่นน่าจะอยากเห็นเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เจอจากช่องที่อินฟลูเอนเซอร์คนอื่นลง พาไปซื้อของมือสองก็มีความเชื่อมโยงสมัยก่อนกับของเก่า

ประจวบเหมาะที่มันเป็นเทรนสมัยนี้ด้วย วัยรุ่นชอบซื้อของมือสองมันเลยเป็นโอกาสที่คลิปเราได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะการที่คนเริ่มชอบจากบิวตี้ซึ่งความเป็นบิวตี้คือบิวตี้ในแบบรุ่นแม่ รุ่นยาย มันคือการเอาแก่นของความเป็นวินเทจมาแตกได้อีกหลายแขนง 

ตอนนี้มีเทรนด์การแต่งตัวแบบ Y2K หรือการ Thrift เสื้อผ้ามือสอง คุณมองเห็นอะไรในเทรนด์ปัจจุบันของคนรุ่นใหม่บ้าง

วนไปเรื่องเดิมก็คือเป็นเทรน แต่ Y2K มันก็เป็นช่วงหนึ่งของความวินเทจก็คือช่วง 1990s-2000s กลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบันที่จะนำเทรนเมื่อตอนสมัยเด็กที่ทันยุค Y2K แต่ในยุคนั้นอาจจะไม่มีโอกาสให้ใส่หรือไม่มีกำลังซื้อก็เลยเอาความชอบตอนที่เราเด็กๆ ที่ไม่มีกำลังซื้อกลับมาในทุกวันนี้ที่มีกำลังซื้อ อยากใส่อะไรก็ใส่ไม่ต้องตามพ่อแม่เอาความชอบตอนนั้นมาทำ จริงๆ คนวัยเราก็เริ่มที่จะแต่งตัวเอง เป็นตัวของตัวเองแล้วน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ Y2K กลับมาบูม

คุณคิดยังไงกับการที่เสื้อผ้ามือสองหรือแม้แต่ไอเทมมือสองต่างๆ เริ่มเป็นที่นิยมจนกลายเป็นธุรกิจ Nostalgia Market

ส่วนหนึ่งเป็นเทรนด์ด้วยพอดีและอินฟลูเอนเซอร์ก็มีความสำคัญมากเพราะพอหลายๆ คนเริ่มเล่นของมือสองคนก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันสามารถเอามาใส่ได้และมันมีความง่ายเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ทุกบ้านมีชุดพ่อแม่หรือชุดที่เราใส่ตอนเด็กๆ ไม่ได้ใส่นานแล้ว

ปัจจุบันเริ่มมีการรณรงค์กระแส Sustain มาสักพักหนึ่ง เรื่องเสื้อผ้ามือสองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอเลย เพราะ Sustain คือความยั่งยืน ไม่ทำลายโลก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่มีกำลังซื้อใหม่กำลังการผลิตจะน้อยลงส่งผลเป็นวงจรต่อๆ กัน ก็คิดว่าเป็นผลดีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการเสื้อผ้าบางกลุ่มทั้งโลกด้วย เสื้อมือสองก็มีราคาถูกบวกกับกระแส Sustain ทำให้มันเข้าถึงง่ายแล้วไม่รู้สึกว่ามันแปลกอะไรที่จะใส่เสื้อผ้ามือสอง

คิดยังไงกับมุมมองเกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสองของคนไทย การที่บางคนไม่กล้าซื้อเสื้อผ้ามือสองเพราะไม่มั่นใจว่าเสื้อผ้าบางตัวเป็นของผู้ที่เสียชีวิตแล้วหรือเปล่า

จริงๆ เมื่อก่อนก็เป็น แต่พอเริ่มเข้ามาอยู่ในวงการของมือสอง เวลาเดินซื้อของที่ตลาดมือสองก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่าแบบทุกที่มีคนตายอยู่แล้ว (หัวเราะ) จริงๆ ก็ดูแค่ดีไซน์ ไม่ได้คิดเยอะขนาดนั้น แต่ว่าไม่เคยเจอนะคะ ไม่มี (หัวเราะ) จริงๆ มันก็เป็นแค่สิ่งของ มันก็เหมือนสถานที่ ทุกที่มีคนตายมันอยู่ที่เราคิดมากกว่า

อยากบอกอะไรเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับเสื้อผ้าบ้างไหมแบบความเข้าใจผิดๆ ที่อยากให้เขาเปิดใจ ในฐานะที่คุณสยาโมมาอยู่ตรงนี้

คนรุ่นใหม่ทุกคนพยายามที่จะมีตัวตน แต่การที่จะมีตัวตนได้มันอาจจะต้องใส่ความมั่นใจเยอะมากๆ ทุกคนต้องการเป็นที่ยอมรับแต่ในช่วงแรกคนอาจจะยังไม่ยอมรับ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ รู้สึกว่าต้องวิ่งตามสิ่งที่ทุกคนคิดว่าดีซึ่งเราก็เคยเป็นเหมือนกัน แต่วันหนึ่งที่มันมีความมั่นใจเกิดขึ้นแล้วเราก็เชื่อในสิ่งที่เราชอบจริงๆ แล้วก็ลองทำ สุดท้ายการเป็นตัวเองมันจะได้ผลดีและผลมันจะออกมาดูดีกว่าการที่พยายามไปปรับตัวให้มันเป็นในสิ่งที่คนอื่นยอมรับมากกว่า

คิดว่าเสื้อผ้าเป็นจุดเชื่อมอะไรของ 2 เจเนอเรชัน

เสื้อผ้าเป็น Physical เป็นของเชิงประจักษ์ ทำให้มุมมองของกลุ่ม 2 วัยต่างกัน คนรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และพึ่งเห็นว่ามีความน่าสนใจ ประกอบกับเทรนด์สมัยนี้การทำตัวแปลกใหม่เป็นเทรนด์ที่คนก็อยากลงไปเล่น ในขณะเดียวกันคนรุ่นเก่าก็รู้สึกว่าได้เห็นในสิ่งที่เขาเคยเห็นในยุคที่เขาเจริญรุ่งเรือง เขาได้กลับมาเห็นอีกครั้งหนึ่ง เหมือนทำให้ได้ชื่นฉ่ำหัวใจอีกครั้งหนึ่ง ได้เห็นภาพเดิมๆ สมัยนั้น มันเป็นความสุขในต่างมุมมองของคน 2 เจเนอเรชันที่มีเสื้อผ้าเป็นตัวเชื่อม

อยากรู้ว่าคนรอบข้างคุณสยาโมมี Feedback อะไรกับการแต่งตัวสไตล์นี้

ตอนแรกที่ยังไม่ได้เป็นสยาโมก็มีคำพูดว่าแต่งตัวเหมือนครูเลย (หัวเราะ) อุ้ย วันนี้มึงเหมือนครูจัง ในชีวิตจริงไม่ค่อยมีค่ะ มีแต่พูดเล่นๆ แบบวันนี้มึงเหมือนครูจัง Texture เสื้อมึงเหมือนยายกูเลยแต่ก็ไม่รู้สึกแย่ค่ะ ก็เราตั้งใจเอาเสื้อยายมาใส่ (หัวเราะ) ก็เข้าใจแบบนั้นแหละถูกแล้ว เราตั้งใจที่จะแตกต่างอยู่แล้ว แต่ก็จะมีในโลกออนไลน์บ้าง เช่น แก่อยู่แล้วทำตัวให้แก่อีกทำไม ประมาณนั้นแต่ว่าจริงๆ ไม่เยอะเลยค่ะ น้อยมากๆ พอตอนหลังที่มันเริ่มเป็นเทรนด์เราก็เริ่มเห็นว่าเพื่อนเอาเสื้อผ้ามือสองมาใส่กันเยอะนะ อาจจะเป็นเพราะว่ามีคนทำก่อนและการทำตามก็ไม่ใช่เรื่องยากเท่าการทำก่อน

อยากให้ภาพจำของตัวเองในอีก 10-20 ปี เป็นยังไง

ก็คงอยากจะเห็นว่าเราเป็นไอคอนแห่งยุคในการผสาน 2 เจเนอเรชันเข้าด้วยกันโดยการที่ทำให้อดีตกลายเป็นปัจจุบันได้เรื่อยๆ เป็นผู้หญิงแห่งยุคที่มีความมั่นใจ มีความเท่ ไม่ล้าหลังไปตามกาลเวลาหรือแม้กระทั่งผ่านไป 10 20 30 ปี ก็ยังเป็นไอคอนแห่งยุคได้อยู่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐนิชา หมั่นหาดี

บอกกับตัวเอง รักงานให้เหมือนกับที่รักเธอ