Eickens.Project ร้านเสื้อผ้า slow fashion ของสายสตรีท ที่ใช้ผ้ามือสองมาทำชุด custom แบบไม่ซ้ำใคร

คุณรู้สึกอย่างไรที่ต้องใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ แล้วจะมีวิธีไหนที่ทำให้เราไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลา

ทุกวันนี้เรารู้ว่าอุตสาหกรรม fast fashion สร้างผลกระทบได้มากมายขนาดไหน นับตั้งแต่การใช้ทรัพยากรจำนวนมาก การใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อรองรับโลกทุนนิยมที่พยายามบอกให้เรามีเสื้อผ้าหรือของใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้เสื้อผ้าที่วางขายส่วนใหญ่จึงมีอายุงานสั้นกุด นอกจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไปรวดเร็วแล้ว ยังมาจากวัสดุที่ใช้ไม่คงทน ใส่ไปไม่กี่ครั้งก็ขาดหรือยืดย้วย

ในขณะที่ slow fashion กลายเป็นคำตรงข้าม ที่ถูกเสนอขึ้นมาโดยศาสตราจาร์ยเคต เฟลตเชอร์ (Kate Fletcher) และตีพิมพ์ใน The Ecologist เปรียบเทียบความยั่งยืนและจริยธรรมการทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นเหมือนกับการเคลื่อนไหวของ slow food โดยแนวทางหลักๆ ของ slow fashion มี 3 ข้อ คือการใช้วัสดุท้องถิ่น มีระบบการผลิตที่โปร่งใส และการทำให้ผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืน 

หากพูดให้จับต้องได้อาจทำได้ด้วยการซื้อเสื้อผ้าตามความจำเป็น การ mix and match เสื้อผ้าที่มีอยู่เดิม หรือการสวมใส่เสื้อผ้ามือสองเพื่อลดปริมาณขยะเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แน่นอนว่าเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่เราขาดไม่ได้ ขณะเดียวกันยิ่งเป็นยุคที่ทุกคนเปิดเผยสไตล์ตัวเองอย่างเต็มที่บนโลกอินเทอร์เน็ต คงเป็นเรื่องยากที่จะอดใจซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ Eickens.Project ร้านเสื้อผ้า slow fashion จึงอาสาเป็นทางเลือกและทำให้เรามีเสื้อผ้าใหม่ๆ จากเสื้อมือสองที่นำมาดีไซน์ใหม่ให้ดูสนุกมากขึ้น 

Eickens.Project แบรนด์เสื้อผ้าที่ภายนอกแม้จะดูเป็นเสื้อผ้าสายสตรีท แต่สองผู้ก่อตั้ง ปีเตอร์-ปีเตอร์ ไอเค่นส์ และ ลาส-สิริชนม์ เรืองเศรษฐากูร บอกกับเราว่าแบรนด์ของเขาเริ่มแรกเกิดจากแพสชันที่อยากทำเสื้อผ้า slow fashion เพื่อสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งขวบปีที่ผ่านไปทำให้พวกเขาได้เรียนรู้มากกว่านั้นคือการทำให้คนตกหลุมรักเสื้อผ้าที่พวกเขาออกแบบด้วยใจจริง แล้วทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นเรื่องธรรมชาติมากที่สุด นั่นคือการแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้ามือสองเพื่อประกาศว่าตัวเองเป็นคนรักโลก

จากโปรเจกต์ในสมัยเรียน สู่การต่อยอดเป็นแบรนด์เสื้อผ้า slow fashion ที่ใช้เสื้อผ้ามือสองมาคัสตอมให้กลายเป็นเสื้อผ้าที่ไม่เหมือนใคร พวกเขาทำได้อย่างไร ตามเราไปพูดคุยกับปีเตอร์และลาส ถึงโมเดลธุรกิจแฟชั่นที่ทั้งครีเอทีฟ รักษ์โลก และขายได้จริง ไม่แน่อ่านจบแล้วอาจทำให้คุณดัดแปลงเสื้อผ้าเก่าเก็บในตู้ให้กลับมาใส่ได้อีกครั้งก็ได้

จากโปรเจกต์สมัยเรียนสู่ธุรกิจในฝัน

กว่าจะมาเป็น Eickens.Project ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งคู่อยู่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แม้ทั้งสองจะไม่ได้เรียนการออกแบบเสื้อผ้ามาโดยตรง แต่ด้วยความสนใจตั้งแต่เด็ก เมื่อมีโอกาสอย่างการประกวดโครงการสตาร์ตอัปพวกเขาก็ไม่รีรอที่จะไปเข้าร่วมด้วย

“มันเกิดมาจากช่วงสมัยเรียน ก่อนที่จะมาเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมเองก็ชอบงานออกแบบเสื้อผ้าอยู่ แต่ว่าด้วยมายาคติของสังคมที่ทำให้เราไม่ได้มาเรียนสายนี้ตรงๆ แต่เราไปลงฝั่งผลิตภัณฑ์ (Product) แทน เพื่อที่เราจะได้ค่อยๆ ลองไปเรื่อยๆ จนเราแน่ใจว่าเราชอบมันจริงๆ” ปีเตอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Eickens.Project เล่า

“พอเราเข้าโครงการประกวดทำกระเป๋าที่ใช้วัสดุจากสิ่งแวดล้อม ตอนปี 2-3 โจทย์คือเรื่องหญ้าแฝก ผมก็เริ่มพัฒนา material ขึ้นมาเอง ตอนนั้นเหมือนจะได้ชมเชยแต่เราก็โอเค มันเป็นพื้นที่แรกที่เรารู้สึกว่าเรามีอิสระ แล้วเรารู้สึกว่าเต็มที่กับมันโดยที่เราไม่ได้รู้สึกอึดอัด”

แม้ว่าการประกวดครั้งนั้นจะได้รางวัลชมเชย แต่ก็เปิดโอกาสให้ปีเตอร์ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และตั้งใจว่าเราจะทำงานแฟชั่นต่อไปเรื่อยๆ จนถึงตอนทำธีสิสเรื่องการออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าที่เหลือเศษจากการตัดเย็บน้อยที่สุด ซึ่งใช้เทคนิคการพับเย็บแทนการตัดเย็บ

 แต่ระหว่างทางนอกจากเรื่องแฟชั่นแล้ว เขายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนอย่างการประกวด ก่อนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาสนใจเรื่อง slow fashion อย่างจริงจัง

Eickens มาจากนามสกุลของปีเตอร์ ตอนแรกเขาตั้งใจให้เป็นร้านทำผ้าเส้นใยออร์แกนิคพับเย็บ จนกระทั่งช่วงโควิดเจอปัญหาการโอนเงินและการส่งออกไปต่างประเทศ จนเปลี่ยนมาเป็นเสื้อผ้ามือสอง และกลายมาเป็น Eickens.project เพื่อรองรับไลน์สินค้าอื่นๆ ในอนาคต 

ความตั้งใจแรกของแบรนด์ Eickens.project คือ เป็นแบรนด์เน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยตั้งใจจะใช้งานดีไซน์เพื่อแก้ปัญหาระบบที่มันจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนขยะที่จะเกิดขึ้น เปิดกว้างตั้งแต่ เสื้อมือสอง ผ้าอุตสาหกรรม จนไปถึงผ้าตกเกรด export ผ้าตกเกรด QC ก็หมุนเวียนกันไป

“เราพยายามจะทำยังไงก็ได้ เพื่อที่ต้นทุนลดลง” ปีเตอร์บอกกับเราถึงช่วงเริ่มขายเสื้อผ้ามือสอง นอกจากลดต้นทุนแล้วยังเพื่อให้ขายสินค้า slow fashion กับคนไทยได้ในราคาที่เข้าถึงได้ 

“ตอนแรกเราคิดไม่ออกเลยว่าเราจะเริ่มยังไง ปรับตัวยังไง จนกระทั่งเราเห็นเทรนด์เสื้อมือ 2 เราก็เลยลองไปเดินตลาดเสื้อมือ 2 แล้วไปเจอที่เขาคัดตกเกรด ไซส์เพี้ยน สีตก ราคาถูกมาก แล้วเราก็มีสกิลการออกแบบอยู่แล้ว ถ้าเกิดเราลดโปรเซสในการขึ้นแพตเทิร์นใหม่ แล้วก็เอามาคัสตอมมันน่าจะเร็วกว่า เราก็เดินทางเต็มกำลังกับโปรเจกต์นี้เลย ก็พักออร์แกนิกไว้”

หลังเริ่มโปรเจกต์นี้อย่างจริงจัง ปีเตอร์จึงชวนลาสเข้ามาทำด้วยกัน ลาสซึ่งเรียน pure art ได้เข้ามาเติมเต็มและถ่ายทอดวิชาองค์ประกอบความงามของศิลปะที่ปีเตอร์ขาดไป จนเกิดเป็น Eickens.Project ที่นำเสื้อผ้ามือสองมาออกแบบใหม่แบบ deconstruct หรือนำส่วนต่างๆ ของเสื้อผ้ามาตัดเย็บให้กลายเป็นเสื้อชิ้นใหม่

ความยั่งยืนที่มาจากวัตถุดิบและช่างตัดเย็บ

Eickens.Project เป็นแบรนด์ที่เป็น slow fashion ด้วยวิธีการ reduce หรือลดการใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำและการลดใช้เส้นใย เนื่องจากเป็นเสื้อผ้ามือสองที่ไม่ต้องผลิตใหม่ 

“พูดตามตรงว่าจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจทำคือแพสชันล้วนๆ ไม่มีอย่างอื่นเลย” ปีเตอร์เล่าถึงสิ่งที่ทำให้เลือกทำ slow fashion แม้ว่าจะควบคุมคุณภาพได้ยากกว่า fast fashion ก็ตาม

“แต่พอทำไปทำมาเราเห็นโอกาสว่ามันมีศักยภาพที่พอจะสู้กับ fast fashion ได้นะการ reuse หรือ recycle มันเกิดขึ้นได้ยาก มันมีทรัพยากรหรือต้นทุนทีมันเพิ่มขึ้นไป บวกกับ cost การทำธุรกิจ มันอาจจะตอบโจทย์เรื่องรักโลก แต่มันไม่ตอบโจทย์กลไกธุรกิจ เพราะทางธุรกิจ มันไม่มีเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ในสมการ”

เพื่อให้สิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในสมการของธุรกิจ ปีเตอร์จึงใช้วิธีการลดต้นทุน เพื่อให้สินค้าราคาถูกเข้าถึงคนได้มากขึ้น ด้วยการคัสตอมชุดจากส่วนประกอบของเสื้อผ้ามือสองตัวอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องเริ่มตัดเย็บใหม่

“เราใช้เวลาสั้นลง ใช้ทรัพยากรน้อยลง ในขณะที่เราต้องมาวัดที่งานดีไซน์แล้วว่าจะทำยังไงให้มันออกมาดูดี เราก็คิดว่ามันเป็นช่องว่างที่เราพอจะสู้กันได้กับ fast fashion แล้วขายในราคาที่ยังอยู่ในน้ำหนักที่คนซื้อได้”

ไม่เพียงแต่วัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นการลดการใช้ทรัพยากรเท่านั้น แต่ Eickens ยังให้ความสำคัญไปถึงแรงงานตัดเย็บที่อยู่ในชุมชนจังหวัดชลบุรี ด้วยค่าแรงที่เป็นธรรมและปริมาณงานที่เหมาะสม ลาส หนึ่งในผู้ก่อตั้งหวังว่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนไปด้วย

“ช่างเย็บหรือมดงานเป็นตัวแปรสำคัญ ความยั่งยืนมันจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าหากว่าปริมาณของช่างเย็บมีไม่มากพอ” ลาสเล่าถึงความสำคัญของช่างตัดเย็บ 

“ในองค์กรใหญ่ๆ เขาอาจไม่ได้มองเห็นความสำคัญ เขามองเห็นแค่ว่าถ้าช่างกลุ่มไหนทำได้ก็อยู่ต่อ ถ้ากลุ่มไหนทำไม่ได้ก็หากลุ่มใหม่ เน้นจำนวนคน ล้มหายตายจาก ไม่ worry อันนี้คือในองค์กรที่เกิดขึ้นในระบบแฟชั่น”

ในมุมมองของลาสมีวิธีบริหารจัดการช่างตัดเย็บ ซึ่งเป็น outsource สองวิธี คือ หนึ่ง ช่างตัดเย็บจะต้องมีความสุขในการทำงานเพื่อให้งานออกมาดี และอยากทำงานต่อจนนำไปสู่การสร้างวงจรความยั่งยืนในธุรกิจ สอง การสร้างองค์ความรู้ให้กับช่างตัดเย็บเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และให้เขาส่งต่อองค์ความรู้ต่อไปได้อีก 

“เราเคยมีช่างเย็บที่อายุเยอะ แล้วเขาไม่ไหว แต่เขายังรู้สึกว่ายังอยากทำอยู่ สุดท้ายเขาก็ต้องยอม อันนี้คือกลไกของมนุษย์ที่ถ้าไม่ไหวเราต้องเกษียณ แล้วเรามองว่า know-how ตรงนี้มันส่งต่อช่างเย็บรุ่นใหม่ได้ แล้วก็ทำอย่างมีความสุข แล้วมันก็เกิดความยั่งยืนในองค์กร อันนี้คือภาพที่เรามอง อาจจะดูโลกสวยนิดหนึ่ง แต่ว่าเรามองว่ามันสร้างความยั่งยืนมากกว่าในมุมมองของเรา”

ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่เป็นศิลปะที่สวมใส่ได้

ความยากของเสื้อผ้าคัสตอมคือเราไม่สามารถควบคุมวัตถุดิบได้ ปีเตอร์และลาสบอกกับเราอย่างนั้น

การทำงานของทั้งคู่เริ่มต้นตั้งแต่การหา raw material หรือวัตถุดิบตามตลาด เพื่อให้ได้โครงเสื้อที่ต้องการและสมบูรณ์ (บางครั้งก็อาจจะเจอแรร์ไอเทม เสื้อผ้าแบรนด์เนมคุณภาพดีด้วย) ส่วนองค์ประกอบของเสื้อผ้า เช่น แขนเสื้อ กระเป๋า ฯลฯ ที่จะนำมาใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้าชิ้นใหม่ พวกเขาจะใช้วิธีสั่งกระสอบมาคัดเลือก ก่อนนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม แล้วจึงนำมาแยกเฉดสี แยกกลุ่มของรูปแบบงาน เพื่อรอออกแบบต่อ

ลาสบอกกับเราว่าเสื้อผ้ามือ 2 ที่จะหลีกเลี่ยงไม่นำมาใช้เลย คือเสื้อผ้าที่เป็นเสื้อวงดนตรี หรือเสื้อวินเทจ เพราะเสื้อผ้าพวกนี้มี value ในตัวเองอยู่แล้ว เสื้อผ้าเหล่านี้มักมีตลาดและมีการซื้อขายโดยที่ไม่ต้องผ่านการทำอะไรใหม่ 

“เรามองหาเสื้อผ้า waste จริงๆ ที่มันใช้ขายได้ยากแล้ว ค่อนข้างเป็นเกรด B-C อะไรแบบนี้ไป เพราะเรามองว่าเสื้อผ้ามือ 2 เกรด A เขาขายได้ด้วยตัวของเขาอยู่แล้ว พ่อค้าแม่ค้าเขาก็ซื้อ”

ลาสเล่าถึงความสนุกของงานคัสตอมว่า “มันเกิดขึ้นตอนที่ต้องมีเสื้อผ้าหลายรูปแบบชนกัน เช่น เชิ้ตชนกับสเวตเตอร์ มันก็จะเกิดความรู้สึกที่ดูสนุกขึ้น แล้วชิ้นส่วนที่มันถูกตัดออกไปมันจะไปประกอบร่างอีกกลุ่มหนึ่ง”

เอกลักษณ์ของเสื้อผ้าคัสตอมคือการดีไซน์ตัวต่อตัว 1 ดีไซน์ 1 ไซส์ ด้วยความที่ไม่สามารถควบคุม material ได้ แล้วเอามาประกอบแบบไม่สมมาตร พอมันเกิดความไม่สมมาตร – แต่ยังคงฟังก์ชั่นแบบเดิม มันเลยเป็นความสนุกเวลาใส่ บางทีเสื้อแขนยาวอาจยาวข้างเดียว กางเกงขาข้างหนึ่งสั้นมันเป็นความสนุกของลูกค้า ส่วนการออกแบบแบบทั่วไปคือการสร้างแพตเทิร์น ต้องมีความสมมาตร

“ลูกค้าจะชอบเวลารอเราลงสินค้า เขาก็จะได้ลุ้นกับเราว่าจะมีสินค้าประเภทไหน” ลาสบอกกับเรา “อีกอย่างเรามองงานเสื้อเป็นเหมือนศิลปะด้วย เราก็เลยมองว่าเหมือนเป็นงานอาร์ตตัวหนึ่ง บางทีมันอาจจะไม่ได้ถูกใช้โดยฟังก์ชั่น อย่างกระเป๋า เราอาจจะใช้เพื่อความงามอย่างเดียว”

แม้จะได้เสื้อผ้าแนวสตรีทที่ดูสนุกสนานขึ้น แต่ความยากก็มีทั้งการเก็บรายละเอียด เนื่องจากการตัดเย็บด้วยผ้าต่างชนิดกัน รวมไปถึงการดีไซน์ใหม่ทุกครั้งกับเสื้อผ้าทุกตัว ดังนั้นสิ่งที่ Eickens มองต่อไปข้างหน้าคือการพยายามหารูปแบบให้กับเสื้อผ้า แต่ยังคงความเป็น Eickens ไว้อยู่ นั่นคือความเป็นสตรีทแวร์ที่แตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ

ชุบชีวิตเสื้อผ้ามือสองด้วยดีไซน์

แม้จะเป็นเสื้อผ้าคัสตอมที่นำมาออกแบบใหม่ แต่แท้จริงแล้วก็ยังเป็นเสื้อผ้ามือสองที่หลายๆ คนอาจยังไม่กล้าใส่ ปีเตอร์บอกกับเราว่ามายาคตินี้แม้จะแก้ไม่ได้ แต่ Eickens ก็ขอเป็นร้านทางเลือก และหวังว่าแนวคิดนี้จะลดน้อยลงในอนาคต

“ผมมองว่าคนที่ไม่กล้าซื้อเสื้อผ้ามือสองมาใส่หรือไม่ชอบ หลักๆ มันเป็นมายาคติ ที่สังคมที่หล่อหลอมกันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ความเก่า หรือคราบสกปรก เชื้อโรค แบคทีเรีย”

“ผมว่าความคิดนี้มันค่อยๆ ล้าสมัยไปเอง เราห้ามอะไรไม่ได้ ที่แก้ได้อาจเป็นเรื่องของความสกปรก ที่เราพยายามทำให้น่าเชื่อถือและสะอาดที่สุด ไม่ใช่แค่เซฟตัวคนซื้อ แต่เซฟตัวคนทำด้วย เพราะว่าต้องยอมรับว่าตอนที่เราตัดผ้าก็ต้องมีฝุ่นละออง มันก็จะเอาเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรียต่างๆ จากทั่วโลกเลยมารวมกันอยู่ในเสื้อ ถ้าเราไม่ซักมันก่อน ตัวเราเองก็จะป่วยด้วย เพราะฉะนั้นเราพยายามจะทำให้เซฟมากที่สุด มันก็คือเหตุผลที่เรามีเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม ซึ่งตอบโจทย์เรื่องแบคทีเรียไปได้”

ลาสเสริมว่า “ในมุมมองลาสมองว่าเราสร้างคุณค่าให้กับสิ่งของได้ แนวคิดนี้มีอยู่ แต่ว่ามันจะน้อยลงไป ถ้าเราให้คุณค่ากับสิ่งนี้ เพราะตอนนี้คนเริ่มซื้อของจาก history อย่างเฟอร์นิเจอร์ ถ้าเรารู้ว่าเป็นของดีไซเนอร์ดัง หรือแบรนด์ดังเขาก็อาจจะยอมจ่ายในราคาที่เขามองว่าคุ้มค่า”

นอกจากนี้ทั้งคู่ยังมองว่ายิ่งเป็นธุรกิจแบบ niche market หรือ ตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะร้านเสื้อผ้าแบบคัสตอมจากเสื้อมือสอง ยิ่งมีร้านอื่นๆ เกิดขึ้นมามากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าและกล้าเปิดใจมากเท่านั้น 

“อุปสรรคอาจจะเป็นเรื่องการหาลูกค้า ส่วนถ้าเรื่องคู่แข่งของแบรนด์คิดว่าไม่มี เพราะว่ายิ่งมีแบรนด์ที่คล้ายๆ กันยิ่งดี เพราะมันเป็นการสร้างการรับรู้แบบใหม่” ลาสเล่า ก่อนปีเตอร์เสริมขึ้นว่า “ยิ่งมีแบรนด์แบบเรามากเท่าไหร่ยิ่งทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์มาแล้วว่าเสื้อผ้าคัสตอมเป็นแบบนี้นะ”

แบรนด์ที่ไม่บอกว่าตัวเองเป็นแบรนด์รักษ์โลก

ในปลายปีนี้เราอาจจะได้เห็นหน้าร้าน Eickens.Project ที่ไอคอนสยาม รวมถึงการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในกลุ่มไลฟ์สไตล์ อย่างเฟอร์นิเจอร์ หรือกระเป๋าหนังวีแกน แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะสร้างขึ้นเป็นธุรกิจแฟชั่นทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งปีเตอร์และลาสกลับได้เรียนรู้และมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมควรเป็นเรื่องปกติ Eickens จึงพยายามพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง และใส่ใจกับการออกแบบเพื่อลูกค้ามากขึ้น

“เราพยายามจะพูดเรื่องนี้ให้น้อยลง เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าในอนาคตทุกภาคส่วนก็จะมองเรื่องนี้เหมือนกัน” ลาสบอก

ปีเตอร์พูดถึงสิ่งได้เรียนรู้ว่า “ต้องยอมรับว่าเราได้แง่คิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องของการทำแบรนด์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เราไม่เคยประกาศตัว หรือบอกสังคมเลยว่าเราเป็นแบรนด์รักษ์โลกนะ มาซื้อเราเพราะเราเป็นแบรนด์รักษ์โลก”

“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่จนทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับความคิดนี้ เราก็เลยมองว่า เราก็แค่ทำมันอยู่แล้วแค่นั้นเอง” ลาสบอก 

ปีเตอร์เสริมอีกว่า “อีกอย่างเราไม่อยากให้คนมาซื้อเราด้วยเหตุผลว่า ถ้าอยากรักษ์โลกต้องมาซื้อแบรนด์นี้ เราอยากให้คนมาซื้อเพราะชอบงานที่เป็นแบบนี้

“เราเคยเห็นตัวอย่างของแบรนด์ที่เกิดก่อนเรามานานแล้วหลายๆ แบรนด์ ก็จะมีแบรนด์ที่พยายามจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องรักษ์โลก สุดท้ายเขามีถ้วยรางวัลเยอะมาก มี certificate เยอะมาก แต่สุดท้ายแล้วในเชิงธุรกิจจริงมันไม่เกิดขึ้น ถึงจะมีรางวัลเยอะไปมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเกิดว่ามันขายไม่ออก ไอเดียรักษ์โลกมันไม่เกิด เพราะฉะนั้นทำให้มันขายออกก่อน แล้วความตั้งใจมันถึงจะตามมาจริง

“เราก็เลยพยายามให้มันเป็นมิติของทางเลือกใหม่ เราจะทำให้มันดีที่สุด สวยที่สุด ทำให้มันแตกต่างหลากหลายที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อที่จะเป็นทางเลือกให้เขาเปลี่ยนใจจากตลาดเดิม เสื้อผ้าเดิมที่เขาเริ่มจะเบื่อแล้ว มาสนใจเรามากขึ้น 

“ไม่ต้องทำความเข้าใจยาก ไม่ต้องมานั่งศึกษาว่าโลกร้อนเพราะอะไร คือยิ่งพยายามทำให้มันเข้าใจยาก มันยิ่งเข้าถึงยาก พอเข้าถึงยากมันก็เกิดการกระจายยาก เรื่องยากๆ เราทำให้แล้ว คุณแค่ซื้อ โอเคนะ แต่เรื่อง material เราก็พยายามศึกษาอย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”

“ตั้งแต่ทำแบรนด์มาคุณเห็นอิมแพ็กด้านสิ่งแวดล้อมในแง่ไหนบ้าง” เราถาม

ลาสตอบว่า “เรามีแคมเปญ custom campaign ไอเดียคือให้ลูกค้าเอาเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้วของตัวเอง เอามาส่งให้เรา เพื่อให้เราคัสตอมให้ใหม่ โดยลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย เช่น inspiration หรือ reference ที่ลูกค้าอยากให้เป็นแนวนี้ๆ ผลตอบรับดีมากกับแคมเปญนี้ เราเลยทำยาวๆ เลย 10 แคมเปญ คือกินระยะเวลาประมาณ 1 ปี

“มันกลายเป็นว่าเขาตื่นเต้น เสื้อผ้าเขาจะออกมาเป็นแนวไหน มันก็เหมือนได้เป็นการ reuse อีกครั้ง เขาเรียกว่าใส่ประสบการณ์ใหม่ๆ เข้าไปให้ผู้บริโภค เขาจะได้มองว่าฉันได้ reuse เสื้อผ้าตัวเอง โดยที่แบรนด์ Eickens เป็นคนทำให้”

“เรามองว่ามันมีอิมแพ็ก แต่มันอาจจะไม่ใช่อิมแพ็กที่ใหญ่อะไร แค่เป็นแนวคิด ประสบการณ์ใหม่ๆ ของผู้บริโภค เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่มีอิมแพ็ก เราก็พอใจในมุมมองเราแล้ว”

ปีเตอร์ช่วยเราคำนวณให้เห็นตัวเลขคร่าวๆ จากแคมเปญ ก่อนบอกว่าแคมเปญนี้ทำให้เราประหยัดผ้าจากโลกนี้ไปแล้วประมาณ 2900 เมตร

“เพราะถ้าวันนี้ไม่มีแบรนด์ Eickens เสื้อผ้ามือสองก็ยังมีอยู่ พอมีเราก็ไปช่วยเติมเต็มตรงนั้น เพราะท้ายที่สุดเสื้อผ้ามือสองที่มันไม่ได้ถูกขายปลายทางคือเขาเผา ถ้าไม่มีเราเขาก็เผาอยู่ดี เราก็ไปช่วยเติมเต็มตรงนั้น ชะลอลงนิดหนึ่งก็ยังดี แล้วก็มี engagement ลูกค้าที่เขาไปบอกปากต่อปาก อันนี้น่าจะเป็นอิมแพ็กช้าๆ แต่ก็ยั่งยืนได้ในแบบของเรา” ลาสทิ้งท้าย

ติดตามร้าน Eickens.Project: https://www.instagram.com/eickens.project/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ