วัฒนธรรมและความหมายชวนวุ่นวายในการแลกของขวัญที่ถักสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

Highlights

  • การเลือกของขวัญเป็นกิจกรรมที่ทั้งสนุกและน่ากังวลใจไปพร้อมกัน เพราะเราต้องมาลุ้นว่าผู้รับจะถูกใจของขวัญที่เราเลือกให้ไหม แถมเราต้องคิดหลายตลบว่า สถานะของเราและเขาเป็นยังไง เขาเคยให้อะไรเราหรือเปล่า ของขวัญนี้จะเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของเราและเขาไหม ฯลฯ 
  • สาเหตุที่การแลกเปลี่ยนของขวัญนั้นซับซ้อนกว่าแค่การให้และรับ เป็นเพราะในกล่องของขวัญนั้นประกอบด้วยสัญญาใจและการสานสัมพันธ์กันไปมานั่นเอง 

‘If friends make gifts, gifts make friends–Marshall Sahlins’

ช่วงปลายปีแบบนี้ กิจกรรมการเลือกของขวัญดูจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เราทั้งสนุกกับการได้เลือกสรร ซื้อหาข้าวของที่เหมาะสม สนุกไปกับการคิดหาวิธีการห่อให้สวยงาม ได้นึกภาพว่าการที่ของที่เราคิดมาเป็นอย่างดีนี้ไปอยู่ในมือของอีกฝ่ายหนึ่ง เขาจะรู้สึกยังไงนะ จะชอบหรือเปล่า

แต่ในทางกลับกัน การซื้อของขวัญก็ดูจะประกอบขึ้นด้วยความหนักใจบางอย่าง การเลือกของขวัญลึกๆ เต็มไปด้วยความยากเย็น เราซื้ออะไรถึงจะเหมาะ หลายครั้งที่เราประสบปัญหาว่า ซื้อของขวัญอะไรดีนะ ในหัวของเราจะเต็มไปด้วยการคิดคำนวณ การประเมินถึงหลายๆ อย่างที่แสนจะซับซ้อนเกินกว่าแค่ตัวเลข ของขวัญชิ้นนี้มันจะแสดงถึงความสัมพันธ์ของเราไหมนะ เขาเคยให้อะไรเราหรือเปล่า สถานะของเราและผู้รับเป็นยังไง ของขวัญชิ้นนี้จะต้องเป็นทั้งตัวแทนของตัวเรา ในขณะที่ก็ต้องเหมาะสมกับอีกฝ่ายด้วย 

ฟังดูอาจจะเวอร์ไปหน่อย แต่เชื่อเถอะว่า แทบทุกครั้งการซื้อของขวัญให้คนอื่นยากเย็นกว่าการซื้อของใช้เองหลายเท่านัก

ไอ้เจ้าการแลกเปลี่ยนของขวัญที่ดูจะเป็นกิจกรรมสามัญนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่แสนสำคัญ เก่าแก่และซับซ้อนของมนุษยชาติ นักมานุษยวิทยาบางคนมองว่าการแลกเปลี่ยนของขวัญเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้มนุษย์เรารักษาและถักสานความสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับบุคคล ยั่งยืนจนเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมของเรา

ของขวัญกับธุรกรรมของสัญญาใจ

คำว่าของขวัญ หรือ gift ด้วยตัวมันเองเป็นคำที่ค่อนข้างพิเศษ แต่เดิมในยุคโบราณมักสื่อถึงความสัมพันธ์พิเศษต่างๆ ที่มีของขวัญเป็นสื่อกลาง เช่นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าที่มักมีเครื่องเซ่นสังเวยและของขวัญจากเบื้องบนเป็นสื่อกลาง ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักร ระหว่างชนเผ่าต่อชนเผ่า กระทั่งระหว่างตระกูลต่อตระกูลก็มักจะมีการให้และแลกเปลี่ยนของขวัญเป็นพิธีกรรมสำคัญ

Marcel Mauss เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาที่สนใจการให้ของขวัญ และมองการให้ของขวัญระบบเศรษฐกิจที่พิเศษขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือเวลาเรานึกถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ เราจะนึกถึงระบบตลาด การแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายที่มีการกำหนดราคา แลกเปลี่ยนมูลค่า ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนตามข้อตกลงแล้วก็จบ แต่ระบบของขวัญเป็นอีกรูปแบบการแลกเปลี่ยนของมนุษย์ที่มีสัญญาใจเป็นที่ตั้ง และสัญญาใจนี้ก็นำไปสู่การสานความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ 

ในงานเขียนสำคัญ The Gift: The Form and Reason for Exchange in Archaic Societies ในปี 1952 เขาอธิบายว่าระบบของขวัญไม่ได้ประกอบขึ้นแค่การแลกเปลี่ยนธรรมดาสามัญเท่านั้นแต่การให้ของขวัญยังมีนัยของการตอบแทนซึ่งกันและกัน และเป็นพันธะสัญญา การแลกเปลี่ยนของขวัญเป็นการแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ว่าเรามีการพึ่งพาตอบแทนซึ่งกันและกันที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทรัพย์สมบัติเพียงอย่างเดียว เช่นการแลกเปลี่ยนของสังเวยแลกกับความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า การให้เสบียงหรือข้าวของบางอย่างเพื่อแลกกับความคุ้มครองหรือความมั่นคงจากชนเผ่าที่แข็งแรงกว่า

ฟังดูอาจจะรู้สึกยี้ว่า เอ๊ะ การให้ของขวัญมันจะเป็นเรื่องของการตอบแทน หรือคาดหวังการตอบแทนไม่งามสิ แต่จริงๆ แล้ว การต่างตอบแทน (reciprocity) เป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในทุกระดับดำเนินต่อไปผ่านการแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกัน มันเหมือนกับว่าตราบใดที่เรายังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราเองก็ยังจะให้และคาดหวังของขวัญแลกเปลี่ยนกันต่อไปเรื่อยๆ และกำไรของการแลกเปลี่ยนของขวัญก็คือการเพิ่มพูนในมิติทางสังคม เป็นกำไรที่ซับซ้อนไปกว่าตัวเงิน 

กำไรของการไม่มีกำไร และศิลปะของสัญญาใจ

เรื่องของขวัญ การให้และการรับในฐานะวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่นักคิดและนักทฤษฎีแสนจะหลงใหล โดยเฉพาะเจ้าคำว่าต่างตอบแทนที่ว่ามันมีความลึกลับซับซ้อนในการให้เพื่อรักษาสถานะกันอีท่าไหน ในปี 1965 มาร์แชล ซาห์ลินส์ เจ้าของประโยคเปิดตัวว่าถ้าเรามอบของขวัญให้เพื่อน ของขวัญนั้นจะนำไปสู่มิตรภาพเสนอข้อสังเกตเรื่องการตอบแทนและการให้ของขวัญของเราไว้

แกอธิบายหนึ่งในการให้ของขวัญแบบทั่วไป generalized reciprocity หมายถึงการให้ของขวัญทั่วๆ ไป เช่น ให้ของขวัญวันเกิด หรือการซื้อของให้ในวาระพิเศษและไม่พิเศษต่างๆ ก่อนอื่นเขาบอกว่า เราก็ไม่ใช่พระโพธิสัตว์เนอะ (ขนาดพระโพธิ์สัตว์ยังหวังโพธิญาณเลย) การที่เราให้อะไรใคร ลึกๆ แล้วก็หวังการตอบแทนเสมอ แต่สิ่งสำคัญของการให้นั้นคือเราหวังการตอบแทนในอนาคตเช่นถ้าเราซื้อขนมเลี้ยงเพื่อนในตอนนี้ แล้วเพื่อนจะซื้อของคืนเรากลับในทันที เราก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ใช่ แถมทำร้ายน้ำใจกันอีก แต่เราจะคาดหวังปฏิสัมพันธ์หรือการให้ในครั้งต่อๆ ไปว่าจะเกิดการให้กลับในอนาคต ในทำนองเดียวกันกับการให้ของขวัญวันเกิด ที่ถ้าเราเป็นผู้รับ เราก็คิดคำนึงว่า เอ้อ คราวหน้าเราต้องให้กลับเนอะ ให้อะไรดีนะถึงจะเหมาะสม

การห้ามไม่ให้ตอบแทนโดยทันที ถ้าอธิบายโดยนักคิดยุคต่อมานามว่า Pierre Bourdieu เราเรียกว่าคือการกลบเกลื่อนผลประโยชน์ (disinterest) หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการประวิงเวลาในการตอบแทน และอย่างที่บอกว่าการให้และการรับมันคือการแลกเปลี่ยน ดังนั้นความสนุกซับซ้อนของการให้และคืนของขวัญจึงเป็นการคิดคำนวณและวางกลยุทธ์ในการตอบแทนและเพื่อรักษาสมดุลและความสัมพันธ์อยู่เสมอ เช่นว่า เราได้มาตอนนี้แล้ว สักกี่นานเราถึงจะให้คืนดีนะ แล้วเราให้อะไรถึงจะเสมอกับบริบทอีกสารพัดสารพัน

นอกจากการให้ของขวัญโดยทั่วไปแล้ว การแลกของขวัญในโอกาสพิเศษ เช่นช่วงคริสต์มาสก็ยังอยู่ในข่ายความคิดเรื่องการแลกและรักษาความสุขความสัมพันธ์ของผู้คนเหมือนกันอยู่ดี เราอาจจะล่วงจากยุคที่การแลกเปลี่ยนนำไปสู่อะไรที่เป็นรูปธรรม เช่นเอาปลาไปแลกกองทัพ เอางาช้างไปแลกสถานะทางสังคม แต่ในทุกวันนี้การเลือกและให้ของขวัญก็ยังคงเป็นกิจกรรมที่เราได้เล่นสนุกไปกับโลกสมัยใหม่ และการแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกันก็แน่ล่ะว่ายังคงเป็นการรักษาความสัมพันธ์

เรามอบสิ่งที่ทำให้เรายังคงคิดถึงกัน เรายังมีความสุขกับการเอาเงินไปแลกของ และเอาของไปแลกของที่คาดว่าอีกฝ่ายน่าจะชอบ เป็นของที่สื่อว่าเรามีความสัมพันธ์และรู้จักอีกฝ่ายดีแค่ไหน เพื่อนเราคนนี้ชอบของแบบนี้ ชีวิตตอนนี้เป็นยังไง อยากได้อะไร 

ของขวัญที่เราบรรจงเลือกมาให้ต่างเป็นของที่ขอบคุณในความสัมพันธ์ที่เรายังคงมีกันและกันในชีวิตอยู่เสมอมา

รู้แบบนี้แล้ว ใครอยากจะเลือกซื้อของขวัญให้ถูกใจคนรับและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน และถ้าอยากบรรจงเลือกของขวัญให้กันละกัน ช่วงปีใหม่นี้ขอแนะนำให้ลองมาเลือกของขวัญกันได้ที่ เดอะมอลล์ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ สาขาบางแค บริเวณโซน Ladies’ Hall ชั้น 1 มีงาน Happy Go ‘Round Market ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รวบรวมของขวัญปีใหม่ที่ทุกคนสามารถไปเลือกของขวัญได้เพื่อขอบคุณในความสัมพันธ์ที่ยังคงมีกันละกันได้ใน 6 โซนสุดสร้างสรรค์ ที่ เดอะมอลล์ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ สาขาบางแค บริเวณโซน Ladies’ Hall ชั้น 1 ได้แก่ โซน Cleaning Supplies อุปกรณ์ขจัดความวุ่นวาย, โซน Fresh สดใหม่ไม่ซ้ำใคร, โซน Frozen แช่แข็งความสวย, โซน Bakery อบอุ่น, โซน Import นำเข้าความสนุก และโซน Grab & Go ของมันต้องมี

ไปช้อปปิ้ง และ #ช้อปสนุกสุขAround กันให้จุใจได้แล้วตั้งแต่วันนี้ – 5 มกราคม 2563 เท่านั้นนะ


อ้างอิง

academia.edu/9502471/SOCIAL_ANTHROPOLOGY_GIFT_EXCHANGE

britannica.com/topic/gift-exchange

fieldnotesandfootnotes.wordpress.com/2011/12/29/marshall-sahlins-exchange-and-sociability-thoughts-on-yolngu-sociality/

newworldencyclopedia.org/entry/Gift_economy

palomar.edu/anthro/economy/econ_3.htm

rai.onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1111/1467-9655.00036

AUTHOR

ILLUSTRATOR

พิราวรรณ น้ำดอกไม้ เบคเกอร์

เชื่อเรื่องตรรกะในงานศิลปะ พลังงานในงานกราฟฟิก เรื่องวิญญาณ และอภินิหารของคาเฟอีน