จาก ‘เอกชัย’ สู่ ‘สาลี่วันเดอร์แลนด์’ แบรนด์ของฝากเลือดสุพรรณฯ ที่ไม่เคยหยุดพัฒนา

Highlights

  • 'เอกชัยสาลี่สุพรรณ' คือร้านขายของฝากชื่อดังประจำจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีของอร่อยขึ้นชื่อมากมายอย่างขนมสาลี่ เปี๊ยะนม ขนมลูกเต๋า
  • หลังจากร้านได้รับความนิยมและเป็นที่เชื่อมั่นในความอร่อยมาแล้วกว่า 50 ปี เมื่อปลายปีที่แล้ว 'พรพิมล แก้วศรีงาม' ลูกสาวที่รับช่วงดูแลกิจการของพ่อแม่คิดอยากรีแบรนดิ้งกิจการของตัวเอง เปลี่ยนร้านสาขาดั้งเดิมที่ปราสาททองเป็น ‘สาลี่วันเดอร์แลนด์’ ร้านขายของฝากกึ่งคาเฟ่ที่จะทำให้ผู้มาเยือนมีความสุขและผ่อนคลาย
  • แม้การเป็นเจ้าของธุรกิจจะไม่ง่าย แต่เธอก็ยังยืนยันว่าจะทำร้านต่อไปด้วยความตั้งใจ ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายไปทีละนิดอย่างไม่คาดหวังความสำเร็จ
  • เคล็ดลับการทำธุรกิจที่ครองใจคนทั้งจังหวัดจะเป็นอย่างไร เลื่อนอ่านด้านล่างได้เลย

หากคิดถึงของขึ้นชื่อของจังหวัดสุพรรณบุรี คุณจะคิดถึงอะไร

ควายไทย ตลาดสามชุก บึงฉวากฯ หรืออนุสาวรีย์อดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา

นอกเหนือจากสิ่งต่างๆ ด้านบน สิ่งหนึ่งที่ขึ้นมาในใจเราแทบทันทีคงไม่พ้น ‘ขนมสาลี่’

ขนมที่มีส่วนผสมสำคัญอย่างแป้งสาลีที่มีลักษณะ หน้าตา และรสชาติคล้ายเค้กไม่น้อย

แม้ต้นกำเนิดของขนมชนิดนี้มาไกลจากประเทศโปรตุเกสจนไม่อาจรู้ได้ว่ารูป รส และความอร่อยของที่ใดจะเหนือกว่ากัน

แต่ถ้าพูดถึงความดังและรสชาติความอร่อย เรากล้าพูดอย่างเต็มปากว่าขนมสาลี่ที่ ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ‘ อร่อยไม่น้อยหน้าใคร

จากที่ทำขนมขายเป็นอาชีพเสริมในร้านค้าย่านตลาดทรัพย์สินฯ นฤมล ผู้เป็นแม่ ปรับเปลี่ยนสูตรให้ถูกปากคนสุพรรณฯ โดยเปลี่ยนจากการใช้ไข่เป็ดมาเป็นไข่ไก่เพื่อลดกลิ่นคาวและทำให้เนื้อนุ่มฟู รวมทั้งยังใช้พืชผลการเกษตรคู่เมืองสุพรรณฯ อย่าง ‘แห้ว’ มาใส่ในขนมจนขนมสาลี่ของเธอได้รับความนิยม ขายดิบขายดี มีเครื่องหมายรับประกันอย่างเชลล์ชวนชิม จนนับเป็นขนมของฝากคู่เมืองสุพรรณฯ ในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้นอกจากเอกชัยสาลี่สุพรรณจะมีร้านขายของฝากยักษ์ใหญ่อยู่ที่ริมถนน 340 ที่ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะซื้อขนมกลับไปฝากคนที่บ้านแทบทุกราย เมื่อปลายปีที่ผ่านมาร้านค้าขวัญใจคนสุพรรณฯ ยังปรับปรุงสาขาดั้งเดิมคือสาขาปราสาททอง ให้กลายเป็นร้านของฝากกึ่งคาเฟ่และร้านอาหารที่ใครได้เห็นก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่าแบรนด์ท้องถิ่นอย่างเอกชัยกำลังจะทำอะไร

แน่นอนว่าสาเหตุที่ทำให้เรานั่งรถจากเมืองหลวง ฝ่าตึกใหญ่จากออฟฟิศย่านศูนย์วิจัย ผ่านนาข้าวเขียวขจีของจังหวัดสุพรรณบุรีมาที่ร้านใหม่ที่เพิ่งได้รับการรีโนเวตอย่างสาลี่วันเดอร์แลนด์ก็เพื่อสิ่งนี้

เพื่อมาพบและพูดคุยกับ พร–พรพิมล แก้วศรีงาม ลูกสาวผู้รับช่วงกิจการของครอบครัว หญิงสาวผู้เปลี่ยนโฉมให้เอกชัยสาลี่เข้าถึงง่ายทุกเพศทุกวัย

เอกชัยสาลี่ เอกลักษณ์เมืองสุพรรณฯ

“ตอนเด็กๆ เราจำได้เลยว่าไม่ชอบอาชีพนี้ของแม่ อาย ตอนนั้นเริ่มเป็นสาวมีเด็กผู้ชายมาแซวตอนช่วยแม่ขายของ เลยคิดว่าอาชีพของแม่นี่มันบั่นทอนเรามาก” พร ที่ตอนนี้มีตำแหน่งเป็นผู้ดูแลกิจการของแม่มากว่า 20 ปีเอ่ยขึ้นยิ้มๆ เล่าย้อนให้เราฟังถึงกิจวัตรประจำวันในวัยเด็กที่ต้องตื่นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางมาเข้าครัวช่วยแม่ปั้นขนมตอนเช้า แม้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เธอก็ต้องตื่นมาช่วยแม่แต่งเค้ก ตีสาลี่ ปั้นขนมเปี๊ยะ ย่างเต๋า หรือกระทั่งวันหยุดอย่างเทศกาลปีใหม่ ลูกสาวแม่ค้าอย่างเธอก็ไม่เคยได้ออกไปเที่ยวที่ไหน

แม้นั่นจะเป็นเรื่องราวตั้งแต่ตอนที่ ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’ ยังเป็นเพียงร้านค้าเล็กๆ ในตลาดทรัพย์สินฯ เป็นแค่ร้านที่เกิดจากความคิดของแม่ที่ว่าจะทำขนมเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เลี้ยงลูกทั้ง 3 คน และเมื่อกิจการของแม่เริ่มเติบโต แปรเปลี่ยนกลายเป็นร้านของฝากประจำจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีคนรู้จักและยอมรับมากขึ้น ความคิดที่ว่าจะต้องกลับมาดูแลกิจการของครอบครัวก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นในความคิดของลูกสาวคนนี้

“เรามาเลิกอายก็ตอนเรียนปริญญาตรีแล้ว เพราะขนมของแม่มีคนยอมรับมากขึ้น แต่ตอนนั้นก็ยังไม่เคยคิดเลยว่าจะกลับมารับช่วงต่อ ปรากฏว่าพอแม่เหลือลูกแค่คนเดียวที่จะกลับมาช่วยได้ เลยคิดว่า เออ เพื่อแม่ เราก็ต้องกลับมาทำ”

“ช่วงแรกๆ ท้อมาก เรารู้สึกว่าการเรียนหนังสือมันสนุกกว่า” พรเล่าให้ฟังถึงความลำบากทั้งที่ยังหัวเราะขัน ทิ้งมาดเจ้าของกิจการ

“เพราะกับการเรียนเรารู้ว่าต้องทำตัวยังไงถึงจะได้เกรดเอ แต่กับธุรกิจมันไม่มีใครตอบเราได้เลย เราไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจยังไงให้ได้เอ ทฤษฎีอะไรก็เอามาใช้ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตอนนั้นพยายามทำตามที่แม่บอกผสมกับเอาวิชาความรู้ที่เรียนมาใช้มากขึ้น เริ่มเอาระบบแคชเชียร์มาลง เริ่มจดทะเบียนบริษัทให้แม่ แล้วแบ่งออกเป็นแผนกต่างๆ ทำเรื่องขอกู้แบงก์เพื่อสร้างร้านให้เป็นอาคารทรงไทยสวยๆ ตามที่แม่ฝันไว้

“ที่ดูแลมาได้เพราะเราเห็นแม่ทำมาตลอดด้วย แม่จะชอบทำอะไรให้ดีกว่าเดิม ทำอะไรที่ล้ำกว่าคนอื่นเขา และไม่เคยหยุดนิ่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหมือนกับกล้ามเนื้อทางใจที่ทำให้เราพร้อมมุ่งมั่นและพัฒนาตัวเองเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ให้กับพ่อและแม่”

“พอทำมาเรื่อยๆ ก็สนุกดี เหมือนได้ทำอะไรที่ท้าทายตนเองตลอดเวลา แต่ถามว่าเหนื่อยไหม ท้อไหม ก็เหนื่อยนะ มาถึงตอนนี้ก็ยังเหนื่อยอยู่”

แม้ปากจะบ่นว่าเหนื่อยแต่ความคิดเรื่องธุรกิจในหัวของพรก็ไม่เคยหยุดนิ่ง เธอยังคงคิดหาวิธีดูแลกิจการของพ่อแม่อย่างคงมาตรฐานและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเก่า

หากใครผ่านไปผ่านมาหน้าร้านเอกชัยสาลี่สุพรรณ สาขาดั้งเดิมหน้าวัดปราสาททอง คงจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเหมือนเครื่องการันตีว่าเธอไม่เคยหยุดนิ่ง

จากเอกชัยสาลี่สุพรรณ แปรเปลี่ยนเป็นร้านสาลี่วันเดอร์แลนด์

“เราตกผลึกกันมาหลายปีกว่าจะได้ร้านนี้ จริงๆ เราคิดจะรีโนเวตร้านนี้มานานแล้วด้วยความเก่าของมัน และเราเริ่มอยากได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เราอยากให้คนเข้ามาแล้วมีความรู้สึกว่าแบรนด์เอกชัยเป็นแบรนด์ของเด็กๆ ด้วย ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์ของคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไปอย่างเก่า” พรบอกถึงสาเหตุของการรีโนเวตร้านเอกชัยสาลี่สุพรรณ สาขาปราสาททอง ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นสาลี่วันเดอร์แลนด์ ร้านของฝากกึ่งคาเฟ่และร้านอาหารที่เธออยากให้เป็นเหมือนดินแดนของจินตนาการ อยากให้คนมาที่นี่แล้วรู้สึกอบอุ่น ได้กินของอร่อยที่ไว้ใจคุณภาพได้ และมีน้องสาลี่และพี่บัฟเป็นเสมือนมาสคอตประจำร้าน

“คาแร็กเตอร์ทั้ง 2 ตัวเริ่มมาจากความอยากสนุกสนาน ตอนเด็กๆ เราชอบดูการ์ตูน ชอบอ่านนิยายอยู่แล้ว เลยอยากทำคาแร็กเตอร์ขึ้นมา จริงๆ น้องสาลี่มีมานานแล้ว รุ่นแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นคาแร็กเตอร์หญิงสาวอายุประมาณสัก 17-18 ปี มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ เป็นน้องสาลี่หุ่นสเลนเดอร์ จนมาเวอร์ชั่นนี้ที่น้องสาลี่ดูเด็กสุดคืออายุประมาณ 10 ขวบ เราพัฒนาเปลี่ยนแปลงน้องสาลี่อยู่ตลอดเป็นระยะเวลา 7-8 ปี โดยพยายามที่จะทำให้รู้สึกว่าเขามีชีวิต เป็นตัวสื่อสารถึงความสนุกสนาน ความผูกพัน และเป็นโลกของจินตนาการ

“พอมีน้องสาลี่แล้ว เราเลยคิดว่าน่าจะมีเพื่อนให้น้องด้วย เลยพยายามคิดว่าใครล่ะจะเป็นเพื่อนให้น้องและสามารถสื่อถึงความเป็นสุพรรณฯ ได้ในขณะเดียวกัน ก็เลยกลายมาเป็นพี่บัฟ เนื่องจากสุพรรณฯ เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำและมีควายเยอะ แต่เนื่องจากตอนนี้คนเราก็ใช้ควายไถนาน้อยลงแล้ว เราก็เลยฮาๆ กันว่า ไหนๆ ควายก็ตกงานแล้ว งั้นเราเอาพี่บัฟมาขายขนมปังแล้วกัน” พรหัวเราะเฮฮาเมื่อเล่าถึงเรื่องขำขันขณะออกไอเดีย พลางชี้ให้เราเห็นถึงเอกลักษณ์ของพี่บัฟ อย่างมือที่กำลังเป่าขลุ่ยให้น้องสาลี่ฟังหรือหางที่เป็นต้นข้าวตัวแทนของการเป็นเมืองเกษตรกรรม

เพียงแค่มองไปยังตุ๊กตาพี่บัฟที่ตั้งอยู่ใกล้ตัว เราก็สัมผัสได้ไม่ยากว่าพี่บัฟที่พรและทีมตั้งใจออกแบบมานั้นน่ารัก อบอุ่น สามารถดูแลน้องสาลี่ และพาน้องสาลี่เที่ยวได้จริงอย่างที่พวกเขาคาดหวัง

ต้องรู้จักตัวเองก่อนจึงจะรู้ว่าตัวเองมีดีอย่างไร

“เราพยายามจะให้คาแร็กเตอร์ทั้ง 2 ตัวเป็นคาแร็กเตอร์ของคนสุพรรณฯ คาแร็กเตอร์ของคนไทย” พรพูดขณะยิ้มมองตุ๊กตาทั้งสองด้วยความภูมิใจ

แต่ในความจริงแล้ว ก่อนจะเกิดเป็นคาแร็กเตอร์ของคนไทยอย่างนี้ เธอเองก็เคยสนใจคาแร็กเตอร์ของต่างชาติมาก่อน แต่ด้วยราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่ลงตัว สุดท้ายทำให้คิดได้ว่าการยอมรับตัวเองสำคัญที่สุด

“การยอมรับตัวเองสำหรับเรามันเกิดมาจากการที่เราอยากเป็นคนอื่นมาก่อน เราคิดว่าคนอื่นดีกว่าเรา แต่พอเราได้ลองเป็นเขา เรากลับรู้สึกว่า เออ เราเป็นเรานี่แหละดีแล้ว อย่างคาแร็กเตอร์ต่างประเทศพอเรามาดูข้อมูลการลงทุน ดูสิ่งที่เขาบังคับให้เราเป็น ต้องมีเมนูแบบนั้นแบบนี้อยู่ในร้านของเรา มันก็ทำให้รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เราแล้ว เพราะงั้นเราก็เป็นตัวของเราเองดีกว่า อย่างน้อยก็รู้ว่าตัวเองมีข้อดีหรือข้อเสียอะไร”

ขนมปังปิ้งเอกชัยที่มีตราพี่บัฟประทับอยู่ด้านข้างจึงเป็นหนึ่งในเมนูที่เกิดจากการเริ่มมองหาและยอมรับข้อดีของตัวเอง ทั้งยังเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีไม่แพ้ขนมสาลี่

“ลูกค้าจะบอกตลอดว่ากินขนมปังของเรามาก็นานแล้วนะ แต่มันยังอร่อยเหมือนเดิมเลย ทำให้รู้สึกว่าแล้วทำไมเราถึงไม่ทำให้ขนมปังของเราขายดียิ่งขึ้นกว่าเดิม หาวัตถุดิบที่ดีขึ้นมาพัฒนาสูตรขนมปังของแม่ให้หอม นุ่ม และกรอบขึ้นเมื่อนำไปอบ เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้ขนมปัง หลายปีที่ผ่านมาคนหันไปนิยมเค้กกันเยอะก็จริง แต่มันก็ทำให้เราตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดร้านเราไปขายเค้กเหมือนคนอื่นเราจะถนัดหรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่าไม่ เราถนัดขนมปังมากกว่า เราทำสิ่งนี้ได้ดี

“มันเกิดจากเราอยากเป็นคนอื่นก่อน แต่เราไม่ไหว เราเลยกลับมาเป็นตัวเอง”

เคล็ดลับและเบื้องหลังความสำเร็จ

ตลอดเวลาที่นั่งคุยกัน สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นคือมีคนเดินเข้าออกร้านนี้ตลอดเวลา บ้างมานั่งกินกาแฟ กินขนมปัง บ้างซื้อของฝากแล้วออกไป และบ้างก็เข้ามาขอบคุณที่ทำประโยชน์ให้กับเมืองสุพรรณฯ แต่กว่าที่ร้านจะมาถึงทุกวันนี้ เธอยืนยันกับเราว่าไม่ง่าย

“การเป็นเจ้าของกิจการเนี่ย หลับอยู่ก็ยังฝันถึงเรื่องพวกนี้นะ” พรหัวเราะครื้นเครง ก่อนจะปรับมู้ดจริงจังแล้วเล่าให้ฟังว่า ช่วงก่อนเปิดร้านสาลี่วันเดอร์แลนด์เธอประสบกับปัญหานอนไม่หลับเป็นระยะเวลาเกือบเดือน เพราะความเครียดที่ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อนในชีวิต แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็คิดว่าสิ่งที่ได้คืนกลับมาคือความสุข

สุขที่ได้ใช้ผลผลิตอย่างผักปลอดสารพิษ และแห้วจากคนในท้องถิ่น สุขที่ได้สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับหลายๆ ครอบครัว และสุขที่ได้สื่อสารความเป็นสุพรรณฯ และสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อแม่

“มันต้องท้าทายตัวเองก็จริง แต่ก็เหมือนเป็นบันไดที่เราต้องเหยียบขึ้นไปให้ได้ การที่จะผ่านไปได้แต่ละขั้นมันก็ไม่ง่าย เพราะทุกอย่างต้องคิดให้ถี่ถ้วน คิดหลายมุม และทุกอย่างต้องพิถีพิถัน ใส่ใจ ด้วยความที่เราก้มหน้าก้มตาทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง อย่างค่อยเป็นค่อยไป เลยเหมือนค่อยๆ สะสมชื่อเสียง สะสมความสำเร็จไปเรื่อยๆ เราไม่ได้โตแบบก้าวกระโดด

“ความรู้สึกว่าเราไม่เก่ง เรายังทำได้ไม่ดี คนอื่นทำได้ดีกว่าเรา สิ่งพวกนี้มันมีอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ แต่เราก็บอกว่าเราทำได้เท่านี้นะ เราดีใจแล้ว เราพอใจ แต่เราจะไม่หยุด เราจะทำต่อไปเรื่อยๆ”

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น