A Run That Didn’t Change My Life แต่ให้ชีวิตใหม่กับแซม ณัฐพล

นักมวยในวัยเลข 2 ตรวจพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เข้ารับคีโมบำบัด 36 ครั้งจนเอาชนะมะเร็งได้สำเร็จ ตรวจพบอีกครั้งว่าเป็นโรค Stevens-Johnson Syndrome หรืออาการแพ้ยาขั้นรุนแรงที่ในหนึ่งล้านคนจะพบเพียง 7 คน ผลจากโรคทำให้ร่างกายซูบผอม ผิวคล้ำ ผมร่วง ตาพร่า ลำคอตีบตัน เป็นผื่นผิวหนัง ซึ่งไม่อาจรักษาให้หายขาดได้

ย่อหน้าด้านบนคือชีวิต 10 ปีที่ผ่านมาของ แซม-ณัฐพล เสมสุวรรณ เจ้าของเพจ Sam’s Story ที่ทำให้เขาแทบหมดหวังในการมีชีวิตอยู่ กระทั่งวันหนึ่งต้นปี 2560 บทสัมภาษณ์หลังการวิ่งกรุงเทพฯ-บางสะพานของตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย ทำให้เขาเริ่มออกวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แต่กลับค้นพบความหมายของชีวิตใหม่ๆ ที่ไม่อาจหาได้ถ้ายังนอนอยู่บนเตียง

นั่งพักตรงนี้ก่อน เดี๋ยวแซมจะเล่าความหมายของการวิ่งให้ฟัง

วิ่งคือจุดเริ่มต้น

“ช่วงที่เราป่วย มันมีช่วงที่แย่มาก แย่ขนาดที่ว่าเราไม่สามารถที่จะทานอะไรได้ เราเดินไม่ไหว เดินไปห้องน้ำระยะ 5 เมตร 10 เมตรเราก็เดินไม่ไหว ช่วงนั้นเราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ตื่นขึ้นมา กินข้าวได้ก็กิน แต่ด้วยความที่มันกินลำบากเพราะว่าโรคสตีเวนส์จอห์นสันทำให้เรากินอาหารทีหนึ่งก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงสองชั่วโมงแล้ว กินแล้วก็พักผ่อน ตื่นก็กินใหม่ แค่นี้ก็หมดวันแล้ว” แซมเริ่มย้อนเล่าให้ฟังถึงชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับการป่วย

“ตอนนั้นเรายังไม่กล้าคิดถึงวันข้างหน้าเพราะอาการมันไม่ดีมากๆ เรามองสั้นมากๆ ไม่รู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ถึงสัปดาห์หน้าหรือเดือนหน้าหรือเปล่า เราจะต้องกลับไปโรงพยาบาลอีกเมื่อไหร่ เราไม่เคยคิดว่าจะเปลี่ยนไปจากชีวิตที่เป็นอยู่ ณ ตอนนั้นได้ยังไง”

“จนกระทั่งพี่ตูนวิ่งไปบางสะพานจนจบ วันนั้นทุกคนจะพุ่งเป้ามาที่ยอดเงินกันหมด แต่ว่าพี่ตูนพูดประโยคหนึ่งที่บอกว่าอยากให้คนไทยสุขภาพแข็งแรง เราเลยย้อนถามตัวเองว่าเราอยากแข็งแรงก็จริง แต่เราเคยทำอะไรเพื่อจะมีสุขภาพแข็งแรงหรือเปล่า เราไม่เคยก้าวเข้าไปหาความแข็งแรง เราเป็นผู้ป่วยที่คาดหวังว่าหมอจะรักษาเราได้แต่เราไม่เคยคิดว่าจริงๆ แล้วตัวเราต้องเป็นคนรักษาตัวเองด้วยนะ พอเจอประโยคของพี่ตูน มันเหมือนเป็นกุญแจที่ใช่สำหรับความคิดของเราพอดี”

วิ่งคือความสำเร็จระดับจุดทศนิยม

“วันนั้นเราก็ออกไปวิ่งเลย ด้วยความที่ตอนเป็นนักมวย เราวิ่งวันละ 20 กิโลฯ อยู่แล้ว เราเลยคิดว่าวันแรกจะวิ่งสัก 3 กิโลฯ แต่ออกไปไม่ถึง 20 เมตร เราก็เริ่มตามัว ขาสั่น เป็นตะคริว เพราะว่ากล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานมาหลายปี เรางับปากตัวเองจนเลือดไหลลงมาเต็มอก แม่เห็นสภาพก็รีบเข้ามาอุ้มเพราะว่าเข้าใจว่าเราล้มหน้ากระแทกพื้น

“ตอนนั้นเรากลับไปท้ออีกแล้วเพราะชีวิตเราเจอแต่ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก สุดท้ายเราก็คิดว่าสิบปีที่ผ่านมาเราผ่านอะไรมาเยอะแล้ว สู้อีกครั้งจะเป็นไรไป เราเลยไม่ได้วิ่งจาก 1 ไป 2 แต่คือจาก 1 ไป 1.1 และ 1.2 ค่อยๆ เพิ่มไปในขอบเขตความสามารถที่เราทำได้ ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใครเลยเพราะจะรู้สึกว่าเราอ่อนแอ แต่ถ้าเรามองดูตัวเอง เฮ้ย เมื่อวานเราอยู่ที่ 1 นะ วันนี้เราทำได้ 1.1 หรือ 1.2 นะ เราแข็งแรงขึ้น แค่เปลี่ยนมุมมองทางข้างหน้าของเราก็เปลี่ยนไป”

วิ่งคือสัญญาณชีพ

“ตอนที่ป่วยหนักมีช่วงหนึ่งที่ต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อที่โรงพยาบาล สภาพจิตใจเราแย่มาก เรารู้สึกว่าการมีแค่ลมหายใจมันไม่ใช่ชีวิต ชีวิตคือการออกไปทำอะไรสักอย่าง ออกไปหายใจในสังคม ออกไปดี ออกไปเลว สัญญาณชีพจรต้องมีขึ้นมีลง เพราะชีวิตที่ราบเรียบคือชีวิตที่ตายไปแล้ว เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น แต่การวิ่งคือสัญญาณชีพ มันมีขึ้น มีลง ดีใจ เสียใจ มันคือการมีความรู้สึกอีกครั้ง เราได้ออกมาเจอแดด เจอฝนอีกครั้ง ได้หายใจใต้ต้นไม้อีกครั้ง มันทำให้เรารักชีวิตมากขึ้น”

วิ่งคือการทำได้ ไม่ใช่ได้ทำ

“เราไม่เคยซ้อมวิ่งเกิน 10 กิโลฯ เลย แต่งานแรกเราลงมินิมาราธอนระยะ 10 กิโลฯ มันเป็นงานที่เราจับพลัดจับผลูได้ไปเพราะวันนั้นแฟนเพื่อนเราป่วย ไปไม่ได้ แต่เพื่อนเราเขาเห็นเราซ้อมวิ่งเลยชวนเราไปแทน เราก็กะจะไปวิ่ง 5 กิโลฯ วันนั้นเราวิ่งริมแม่น้ำ สภาพอากาศร้อนผิดปกติ แค่เริ่มไป 500 เมตรเราก็รู้สึกว่าเหนื่อยมากแล้ว แต่พอวิ่งไปประมาณ 3 กิโลฯ เราก็เห็นป้ายบอกทางไปยังเส้นทาง 5 กิโลฯ และ 10 กิโลฯ สำหรับเราเลข 5 มันคือการได้ทำ แต่เลข 10 มันคือการทำได้ ในจังหวะที่เราต้องเลือก ภาพความหลังสิบกว่าปีมันย้อนกลับมาหมดเลย ภาพที่เราอ้วกรดตัวเอง ภาพที่เรากินไม่ได้ ภาพพ่อกับแม่นอนกอดเรา เรารู้สึกว่าเราอยากก้าวข้ามเวลาเหล่านั้น และคำว่าได้ทำมันไม่เพียงพอ เราเลยเลือกไปทางที่เขียนว่า 10 กิโลฯ แล้วเราก็จบ 10 กิโลฯ ได้ กลายเป็นเราเข้าใจว่าคำว่าเป็นไปไม่ได้มันเป็นเรื่องของความคิด แต่มันจะเป็นไปได้ด้วยการกระทำ

“จบ 10 กิโลฯ แรก เราร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล มันคือการกลับไปนึกว่าสิ่งที่เราเจอมาทั้งชีวิตมันลำบากแค่ไหน มันไม่ใช่แค่ 10 กิโลฯ แรก แต่มันคือชีวิตที่สอง เพราะชีวิตแรกของเรามันจบไปหลังเส้นชัยนั้นแล้ว”

วิ่งคือชีวิตใหม่

“ตั้งแต่วิ่งมาประมาณหนึ่งปีเราไม่เคยกลับเข้าโรงพยาบาลอีกเลย จากที่เมื่อก่อนประมาณหนึ่งถึงสองเดือนเราต้องกลับเข้าไปแอดมิตแล้ว เมื่อก่อนผิวเราดำกว่านี้ แต่พอวิ่งแล้วเลือดเริ่มสูบฉีดผิวก็เริ่มดีขึ้น จากที่ผอมๆ พอมีการเบิร์นแคลอรี่เราก็ทานอาหารได้มากขึ้น เรารู้สึกว่าเราเดินได้แข็งแรงขึ้น หายใจได้ยาวขึ้น รู้สึกกระฉับกระเฉงมากขึ้น เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่คนป่วยแล้วแต่เราสามารถยืนได้อย่างแข็งแรงอีกครั้งหนึ่งบนขาคู่นี้ของเรา”

“หลังจากเราผ่านความตายมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เราคิดว่าชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ทำอะไรทิ้งไว้ให้กับสังคม เราเลยอยากใช้เวลาที่มีจำกัดของเราส่งต่อประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เป้าหมายตอนนี้คือเราอยากวิ่งให้จบฟูลมาราธอนแล้วก็ไปไตรกีฬา ส่วนแรกเพราะว่าเราอยากชนะตัวเองและแข็งแรงขึ้น ส่วนที่สองคือเราอยากทำให้คนที่นอนหมดหวังอยู่บนเตียงไม่ต้องนอนรอความตายหรือรอสิ่งที่ดีขึ้นอย่างที่เราเคยรอ แต่ทำให้เขาเห็นว่าเขาสามารถมีชีวิตได้อีกครั้ง”

วิ่งคืออยากวิ่ง

“เราอยากให้ตัดคำว่าอยากแล้วก็เริ่มเลย ไม่มีคำว่าอยากวิ่ง มีแต่คำว่าวิ่ง แค่คุณก้าวออกมาก้าวแรกมันก็คือการชนะตัวเองในเมื่อวานและชนะความคิดที่เราไม่ออกก้าวไปแล้ว อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร คนที่เก่งแล้ว แข็งแรงแล้ว หุ่นดีแล้ว เพราะทุกคนเริ่มมาจากศูนย์เท่ากันหมด เขาแค่ทำมามากกว่า นานกว่าเรา เราก็ไปในระดับเท่าที่เราทำได้ มันจะไกลขึ้นถ้าเราเริ่มก้าว ไกลกว่าอยู่บนโซฟาแน่นอน”

ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

a run that changed my life เป็นพื้นที่ที่เราเปิดให้ทุกคนมาแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์การวิ่งที่เปลี่ยนชีวิตในรูปแบบของคุณเอง ใครมีเรื่องราวการวิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ส่งมาบอกเราได้ที่อีเมล [email protected] ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/adaymagazine/photos/a.126550290405.136884.126520920405/10156583577590406/?type=3&theater นะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด