จากศูนย์ถึงหมื่นกิโลเมตรกับชีวิตที่เปลี่ยนไปของนะ

Running is my private time, my therapy, my religion.

Gail W. Kislevitz

ชีวิตก็เหมือนกับการวิ่ง

เรามักจะได้ยินคำกล่าวนี้จากใครหลายคน ยิ่งถ้าออกมาจากปากของนักวิ่งเอง ประโยคนี้ดูจะกลายเป็นคำเปรียบเปรยที่ทรงพลังและน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก

ภาพของคนคนหนึ่งปรากฏขึ้นชัดในหัวเราทันทีเมื่อนึกถึงความสัมพันธ์ของการวิ่งและชีวิต เรื่องราวตั้งแต่วันแรกที่เขาเริ่มวิ่งจนถึงวันนี้ช่างน่าอัศจรรย์ เส้นทางที่เขาวิ่งเปลี่ยนแปลงตัวตนของเขาจนถึงแก่นแท้ของชีวิต

เพราะเหตุผลนี้เองทำให้วันนี้เรามานั่งสนทนาและร่วมวิ่งไปกับ
นะ-นฤพนธ์ ประธานทิพย์

“สวัสดีครับ ผมชื่อนฤพนธ์ ประธานทิพย์ ใครๆ ในวงการวิ่งก็เรียกผมว่าพี่นะ”

ชายหนุ่มตรงหน้ากล่าวแนะนำตัวด้วยน้ำเสียงเป็นมิตรและรอยยิ้มคุ้นตา จริงๆ ถึงไม่บอก เราก็พอจะรู้จักนะและเรื่องราวของเขาอยู่บ้าง ภาพที่คนในวงการวิ่งน่าจะเคยผ่านตาคือ ภาพของนะที่เปรียบเทียบระหว่างอดีตที่หนักกว่าร้อยกิโลกรัมกับภาพปัจจุบันที่กลายเป็นชายหนุ่มร่างกายสมส่วน เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิ่งหน้าใหม่ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองมากมาย

บทสนทนาของเราเริ่มต้นจากเรื่องนั้นเอง แต่เราย้อนถ้อยคำกลับไปสักหน่อยก่อนที่กิโลเมตรที่ศูนย์จะเริ่มต้น


before 00.00 km

Running has taught me, perhaps more than anything else, that there’s no reason to fear starting lines or other new beginnings.

Amby Burfoot

“ก่อนหน้านี้ผมไม่ชอบการวิ่งเลย มันเหนื่อยมาก ไม่เคยคิดว่าจะวิ่งด้วย” นะเปิดบทสนทนากับเราด้วยความจริงที่แทนใจคนหลายคน

“ผมรู้สึกว่าเราเองก็ไม่ได้เป็นอะไร กินได้ นอนหลับดี ไม่จำเป็นต้องเหนื่อย ยิ่งโตขึ้นมา เรียนหนังสือจนมีงานทำก็ยังไม่คิดจะวิ่ง ไม่คิดจะออกกำลังกายเพราะไม่เห็นความสำคัญของมัน” นะย้อนถึงความคิดในอดีต ถ้าเทียบกับการวิ่งและรูปร่างของเขาตอนนี้ เราพอจะเดาได้ว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาวิ่งคงเป็นการที่น้ำหนักตัวของเขาแตะหนึ่งร้อยกิโลกรัมแน่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันมีเหตุผลอะไรมากกว่านั้น

“ตอนที่ผมเริ่มอ้วนขึ้นเยอะๆ คือตอนที่ทำงานแล้วเรียนต่อ ช่วงนั้นอ้วนมากเลย เราสู้ชีวิตในแง่การทำงานนะ แต่เราไม่ได้สนใจสุขภาพเลย จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมล้มในห้องน้ำ ร่างกายมันคงไม่ไหวแล้วล่ะ ตอนนั้นขออย่างเดียวเลยว่าอยากได้ชีวิตคืนมา เงินทองจากที่ทำงานมาเราไม่อยากได้เลย เชื่อเถอะว่าถ้านอนอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาล สุขภาพสำคัญกว่าเงินทองเยอะ

“จากการตรวจที่โรงพยาบาลครั้งนั้น ค่าในตัวเราแย่ไปหมดเลย ทั้งน้ำตาล ไขมัน ความดัน ไต ทุกตัวอยู่ในสภาวะที่สูงเกินขีดจำกัดทั้งหมด เราโชคดีที่สุดท้ายเราก็ได้โอกาส เราออกมาจากโรงพยาบาลก็ตั้งใจไว้เลยว่าจะดูแลุขภาพ ทีนี้จากการไม่มีพื้นฐานทางด้านกีฬา เราเลยคิดว่าการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดคือการเดินเนี่ยแหละ ซึ่งการเดินก็เป็นพื้นฐานที่ดีในการวิ่ง”

ก้าวแรกของนะเริ่มเพราะเหตุนั้นเอง


00.01 km

You have a choice. You can throw in the towel, or you can use it to wipe the sweat off of your face.

Gatorade Ads.

คำกล่าวที่ว่า ‘ก้าวแรกคือก้าวที่ยากเสมอ’ ดูจะเป็นคำเปรียบเทียบที่จริงกับทุกสถานการณ์ แต่ในที่นี้คงจะเป็นเรื่องจริงมากกว่าปกติ เพราะก้าวแรกของนะคือการก้าวขาออกไปวิ่งจริงๆ ในวันต่อมาที่เขาออกจากโรงพยาบาล

“หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผมเอาสุขภาพมาเป็นหลักในชีวิต น้ำหนักตอนนั้นประมาณ 100 กิโลกรัม โรคเต็มไปหมด แต่วันแรกที่ออกมาจากโรงพยาบาล ผมก็ไปวิ่งที่สวนรถไฟเลย แต่คนมันไม่เคยวิ่งนึกออกไหม พอมาวิ่งก็วิ่งได้แค่ประมาณหัวโค้งเดียว ประมาณสัก 400 เมตรก็ทรุดแล้ว หายใจไม่ทัน หอบมาก เหนื่อยมาก ไม่ไหว วันนั้นร้องไห้เลย แย่มาก ระหว่างนั้นก็มีผู้สูงอายุวิ่งลิ่วแซงเราไป เขาอายุประมาณ 70-80 แต่แซงเราได้ทั้งที่ตอนนั้นผมอายุ 40 ปีเท่านั้นเอง ท้อนะ แต่ผมบอกตัวเองเลยว่าเอาใหม่ ไม่เป็นไร พรุ่งนี้มาใหม่ วันนี้ได้เท่านี้ก็เอาเท่านี้ เชื่อไหมว่าพอวันรุ่งขึ้น จะลุกขึ้นยังไม่ไหวเลยเพราะเราไม่ได้ออกกำลังกายมา 40 ปี” นะย้อนถึงก้าวแรกให้เราฟัง 400 เมตรในวันนั้นเป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่าก้าวแรกเป็นเรื่องยากเสมอ ซึ่งสำหรับนะ กิโลเมตรแรกของเขานั้นไม่ได้ได้มาง่ายๆ เลย

“ช่วงแรกเราวิ่งก็ยังได้เท่าเดิม แต่พอวิ่งทุกวันไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มขยับ จากที่เราหอบเมื่อ 400 เมตรก็ไปหอบที่ 500 600 หอบที่ 1 กิโลเมตร นี่คือพัฒนาของร่างกายที่อาศัยวิธีขยันซ้อมไปเรื่อยๆ จำได้ว่าวันที่วิ่งได้ครบรอบสวนรถไฟ (2.5 กิโลเมตร) ผมดีใจมากเลย คนน้ำหนักเป็นร้อย วิ่งได้ขนาดนี้ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตมาก ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้แต่ก็ทำได้”

“ในเมื่อก้าวแรกมันยาก แล้วอะไรที่ทำให้วิ่งต่อไปโดยไม่ล้มเลิก” เราเอ่ยถามกลับไปด้วยความสงสัย

“ครอบครัว (ตอบทันที) เราอยากอยู่กับเขานานๆ ผมคิดว่าถ้าครอบครัวผมจะแข็งแรง ผมต้องแข็งแรงก่อน เราต้องดูแลเขา ถ้าเราไม่แข็งแรง เขาก็ไม่มีใครดูแล สิ่งนี้มันทำให้เราวิ่งได้เรื่อยๆ เป็นแรงส่งและแรงบันดาลใจ” นะตอบเราพร้อมกับรอยยิ้ม

หรือบางทีก้าวแรกจะเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด เพียงแค่เรารู้จักตัวเองว่าเราก้าวไปเพราะอะไร


05.00 km

If you run, you are a runner. It doesn’t matter how fast or how far.

John Bingham

“ตั้งแต่วันที่ออกมาจากโรงพยาบาล ผมยืนยันว่าผมวิ่งทุกวัน”

ความตั้งใจของนะสะท้อนออกมาจากการกระทำของเขานับตั้งแต่จุดเปลี่ยนในวันนั้น ถึงแม้วันไหนเขาติดธุระจนไม่สามารถวิ่งได้ เขาก็จะชดเชยโดยการเพิ่มระยะวิ่งในวันต่อไป ไม่แปลกที่เมื่อเวลาผ่านไป ระยะทางวิ่งสะสมของนะเพิ่มขึ้นพร้อมกับสุขภาพของเขาที่ดีขึ้นตามไปด้วย

“พอวิ่งทุกวันแล้วมันจะเหนื่อยน้อยลง กล้ามเนื้อแข็งแรง หายใจทัน สิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญ เราจะไปได้ไกลขึ้น เร็วขึ้น พอเราทำทุกวันมันจะเป็นเหมือนกิจวัตร ถ้าวันไหนไม่ทำจะรู้สึกผิดแปลกมากๆ ดังนั้นผมเลยพยายามจะรักษามันไว้ตลอดโดยการมีวินัยออกไปวิ่งทุกวัน”

สำหรับใครที่วิ่ง ทุกคนจะรู้ว่าการออกปากว่าจะวิ่งทุกวันนั้นเป็นเรื่องง่ายกว่าการปฏิบัติจริง สภาพอารมณ์ ร่างกาย สถานที่ หรืออากาศในแต่ละวันล้วนมีผลต่อการตัดสินใจออกจากบ้านมาวิ่งทั้งนั้น การวิ่งของนะจึงเรียกร้องวินัยจากเขาสูงมาก ซึ่งกับเรื่องนี้ เขาอธิบายกับเราว่ามันไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าทัศนคติตั้งต้นที่ดีของเขาเอง

“ผมโตจากสลัมนะ ตั้งแต่เด็กก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน พ่อแม่ก็ไม่อยากให้เรียน อยากให้ช่วยงานที่บ้านแต่ผมก็แอบไปสอบจนเข้ามหาวิทยาลัย คนอื่นอ่านหนังสือรอบเดียวแต่ผมต้องอ่านหนังสือห้ารอบ ผมพยายามมาตลอดจนเรียนจบและทำงานจนมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สู้มาตลอด ซึ่งสิ่งนี้ผมเอามาปรับใช้ในการวิ่งด้วย

“การวิ่งมันไม่เหมือนกีฬาประเภทอื่น ถ้าเราตั้งใจจะวิ่ง เราวิ่งคนเดียวได้ วิ่งที่ไหนก็ได้ อุปสรรคของการวิ่งผมว่าไม่มีเลย ฝนตก เวลา หรือพื้นผิวที่ไม่ดี ผมมองมันเป็นแบบฝึกหัดมากกว่า ดังนั้นจริงๆ เราวิ่งได้แบบไม่มีข้อแม้เลยครับ”

เราเริ่มเห็นที่มาของปัจจุบันจากอดีตที่นะเล่าให้ฟัง จากจุดเริ่มต้นแรกในความตั้งใจที่จะดูแลสุขภาพ เมื่อบวกกับวินัยและทัศนคติที่ดีทำให้เขากลายเป็น ‘นักวิ่ง’ เต็มตัวในระยะเวลาไม่นาน

ตอนนั้นเองที่การวิ่งของนะ เปลี่ยนเป็นคำว่า ‘กีฬา’


10.50 km

The will to win means nothing without the will to prepare.

Juma Ikangaa

จากแรงส่งของตัวเองและรอบข้างให้นะออกไปวิ่ง สุขภาพของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อระยะทางที่ทำได้ในแต่ละวันมากขึ้นจนถึงเกณฑ์ระยะทางของงานวิ่ง ตอนนั้นเองที่นะเริ่มคิดจะลงแข่งตามรายการต่างๆ

“พอเราวิ่งไปเรื่อยๆ เราก็เริ่มอยากไปงานวิ่งเป็นธรรมดา จำได้ขึ้นใจว่างานแรกที่ไปคือนนทบุรีมาราธอน ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ตอนนั้นเข้าเส้นชัยด้วยเวลาประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง มันช้ามากนะ แต่กับคนอ้วนๆ สำหรับผม มันยิ่งใหญ่ต่อชีวิตมากเลย”

นักวิ่งหลายคนมักจะบอกเสมอว่าการลงแข่งวิ่งจะสร้างบรรยากาศให้ใครหลายคนติดใจได้เสมอ สำหรับนะก็เช่นกัน จากรายการแรกที่นนทบุรี นะลงแข่งในรายการต่างๆ ตามมาอีกหลายรายการ

“การแข่งวิ่งกับการซ้อมมันแตกต่างกันมาก เวลาวิ่งกับคนเยอะๆ มันกระตุ้นเรานะ รอบข้างไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นเพื่อนที่ไปด้วยกัน มันสนุก สปีดเราจะขึ้นโดยอัตโนมัติ ยิ่งเวลามีกองเชียร์ก็ส่งพลังเข้าไปอีก” นะเล่าถึงเสน่ห์ของงานวิ่งด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ซึ่งนอกจากข้อนี้ อีกหนึ่งความน่าหลงใหลที่ดึงดูดนะได้เสมอเวลาเขาไปงานวิ่งช่วงแรกๆ นั่นคือตัวเลขของระยะทาง

“จากเหรียญระยะ 10.5 กิโลเมตรในวันนั้นมันทำให้เราดีใจ แต่เวลาไปในงานวิ่งต่างๆ เราก็จะเห็นคนวิ่ง 21 กิโลเมตรหรือมาราธอน 42.195 กิโลเมตร เราก็อยากวิ่งบ้าง ตอนนั้นคิดแค่ว่าขอครั้งเดียวในชีวิตก็พอนะ ขอมาราธอนแค่ครั้งเดียว”

ความคิดครั้งนั้นทำให้เส้นทางมาราธอนของนะเปิดออกอย่างเป็นทางการ

และมันไม่ใช่แค่ครั้งเดียวเสียด้วยสิ


42.195 km

If it doesn’t challenge you, it won’t change you.

Fred DeVito

มาราธอนแรกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

นักวิ่งหลายคนมักจะเลือกสนามมาราธอนแรกให้เป็นความทรงจำล้ำค่า เพราะมาราธอนครั้งแรกไม่ได้หมายความแค่เพียงงานวิ่ง แต่มันหมายถึงวินัยและการฝึกฝนมานานนับแรมปี

สำหรับนะ มาราธอนแรกมีชื่อว่า ‘PTT ระยอง มาราธอน’

“ตอนนั้นไม่รู้จักใครในวงการวิ่งเลย ไปตัวคนเดียว ขับรถออกจากกรุงเทพฯ ตอนเที่ยงคืนเพื่อไปวิ่งตอนตี 3 วันนั้นวิ่งไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 30 ก็แทบจะไม่ไหวแล้วเพราะไม่เคยซ้อมถึง สุดท้ายก็ประคองไปเรื่อยๆ จนจบที่เวลา 4 ชั่วโมง 45 นาที

“ถ้าให้มองกลับไปถือว่าทำได้ดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้เยอะ ความรู้สึกตอนนั้นที่เข้าเส้นชัยมันดีใจมากเลยนะ ภูมิใจมาก ร้องไห้เลย”

“แล้วสุดท้ายที่ตอนแรกบอกว่าขอมาราธอนแค่ครั้งเดียว ทำไมถึงมีครั้งที่สองที่สามและอื่นๆ ตามมา” เราเอ่ยถาม

นะหัวเราะกลับเป็นคำตอบ

“พอจบงานที่ระยอง ผมก็บอกตัวเองนะว่าพอแล้ว จะเก็บเหรียญนี้ให้ดีที่สุด แต่พอผ่านไปสักอาทิตย์ ไอ้ความรู้สึกดีใจตอนที่เข้าเส้นชัยมันทำให้เราอยากกลับไป หลังจากนั้นผมค่อยๆ มองงานใหญ่ในประเทศไทยแล้วไปเข้าร่วม งานวิ่งมันสนุกนะ เพราะงานใหญ่เขาจะจัดงานดี กลายเป็นความสนุกที่ได้เก็บเหรียญมาราธอนในเมืองไทยไปเรื่อยๆ”

จากความตั้งใจในการลงงานมาราธอนแค่รายการเดียว ปัจจุบันนี้นะเก็บเหรียญมาราธอนรายการใหญ่ในเมืองไทยแทบจะทุกสนาม จากคนที่ดูห่างไกลจากการวิ่ง เขาเริ่มกลายเป็นที่รู้จักเพราะเรื่องราวและผลงาน ทุกคนรู้จัก ‘พี่นะ’ ในฐานะนักวิ่งขาประจำและผู้สร้างแรงบันดาลใจจากการวิ่งด้วยสองเท้า และสองเท้าคู่นี้แหละที่พาตัวเขาออกไปสัมผัสประสบการณ์การวิ่งต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงที่เขาจดจำไปตลอดชีวิต


10,000 km

We all have dreams. In order to make dreams come into reality, it takes an awful lot of determination, dedication, self-discipline and effort.

Jesse Owens.

“หลังจากวิ่งในประเทศมาเยอะ ปีที่แล้วผมมีโปรแกรมที่จะไปลง World Marathon Majors ที่ต่างประเทศ” นะเล่าถึงอีกก้าวย่างหนึ่งของเขาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

World Marathon Majors คือสนามแข่งมาราธอนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรายการวิ่งที่ดีที่สุดในโลกจำนวน 6 สนาม ประกอบไปด้วยโตเกียว, เบอร์ลิน, ลอนดอน, นิวยอร์ค, ชิคาโก และการแข่งมาราธอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างบอสตันมาราธอน ซึ่งสนามสุดท้ายนี่เองที่สร้างเรื่องราวประทับใจให้กับนะอย่างไม่มีวันลืม

“ผมเริ่มศึกษาวงการมาราธอนโลกจนพบว่าสนามที่ยากที่สุดคือบอสตันเพราะเราต้อง qualified เข้าไป ต่างกับอีก 5 สนามที่คัดคนวิ่งด้วยระบบจับฉลาก เกณฑ์การคัดเลือกของบอสตันคือต้องเคยจบมาราธอนภายในเวลา 3 ชั่วโมง 30 นาทีจึงมีสิทธิ์ยื่นสมัคร เราเลยตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าเราจะทำเวลาในสนามแข่งอื่นเพื่อไปบอสตันให้ได้

“เวลาผ่านมาจนถึงงานโตเกียวมาราธอน งานนี้แหละคืองานที่ผมตั้งใจไว้ว่าจะทำเวลาให้ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง 30 นาทีให้ได้ ก่อนหน้าวันแข่งผมซ้อมวันละ 30-40 กิโลเมตร ซ้อมไปเรื่อยๆ เก็บสะสมไปเรื่อยๆ จนวันจริงผมสามารถจบโตเกียวมาราธอนได้ภายในเวลา 3 ชั่วโมง 20 นาที 43 วินาที

“มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากหลังเข้าเส้นชัย ผมร้องไห้เลยนะ ตะโกนดังๆ บอกกับตัวเองว่า ‘ไอ้อ้วน มึงทำได้แล้ว!’ ตะโกนตรงเส้นชัยที่โตเกียวนั่นแหละ ร้องไห้เหมือนเด็กตลอดทางหลังจากเข้าเส้นชัย สำหรับผมมันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เราเคยเกือบตาย หนักร้อยกิโลกรัมแต่เรากำลังจะได้ไปบอสตันซึ่งเป็นมาราธอนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก”

สุดท้ายวินัยและสองเท้าของนะก็พาเขาไปวิ่งที่สนามเก่าแก่ที่สุดของโลกอย่างที่เขาตั้งใจ เรื่องราวของคนไทยในบอสตันมาราธอนถูกพูดถึงตามสื่อต่างๆ มากมาย รวมถึงสนาม World Marathon Majors หลังจากนั้น นะก็ไปเข้าร่วมแข่งจนครบ เรียกได้ว่าปีที่แล้วมาราธอนพาเขาไปทั่วโลกพร้อมเหรียญรางวัลการเป็น finisher ในทุกสนาม เมื่อบวกกับการซ้อมทุกวันไม่ขาด ตัวเลขสะสมกิโลเมตรตลอดปีของเขาก็ขึ้นไปแตะระดับที่มนุษย์น้อยคนจะทำได้

10,000 กิโลเมตร

“บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไม แต่ผมคิดว่าทั้งมาราธอนหรือหมื่นกิโลเมตรที่ผ่านมา มันต้องใช้วินัยเยอะมาก ใจต้องแข็งแรง ต้องสู้ แต่เวลาที่เราทำอย่างนี้ มันได้ต่อร่างกายเรา จิตใจเรา ขอเพียงแค่ให้เวลากับมันหน่อยเท่านั้นเอง”


after 10,000 km

Life is the marathon. Life can sometimes be difficult, challenging and present obstacles, however; if you believe in your dreams and never ever give up, things will turn out for the best.

Meb Keflezighi

ถ้าชีวิตเหมือนกับการวิ่ง

หมุดหมายสำคัญในชีวิตของเราคงเปรียบเหมือนมาราธอน

ถ้าเทียบกับก้าวแรกและเรื่องราวของนะ ต้องบอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเขาอย่างมาก เราคิดว่ามันมากพอที่จะพูดว่าชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไปเพราะการวิ่งอย่างแท้จริง จากเป้าหมายแรกเพื่อสุขภาพที่ดี วันนี้นะไปไกลกว่านั้นมาก แล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่ทำให้เขายังคงวิ่งต่อไปในระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

“สำหรับผม มันคือความอยากแบ่งปัน” นะตอบเราพร้อมอธิบายต่อ

“ผมวิ่ง World Marathon Majors ได้ วิ่งหนึ่งหมื่นกิโลฯ ได้โดยไม่ได้มีพื้นฐานอะไรมาก่อนเลย แถมเคยอ้วนมากอีกต่างหาก ผมแค่ขยันซ้อมและมีวินัย สิ่งนี้แหละสิ่งที่เราอยากส่งต่อ อยากวิ่งต่อไปเพื่อให้คนที่เห็นเรารู้ว่าเขาก็ทำได้ มีคนถามผมเยอะว่าหลังจากจบมาราธอนโลกมาทุกสนามแล้วเนี่ย ผมจะทำอะไรต่อ คำตอบของผมก็ไม่มีอะไรมาก แค่วิ่งในสนามแปลกๆ ใหม่ๆ เชิญชวนคนให้เห็นความสวยงามของการวิ่งไปเรื่อยๆ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจก็พอแล้ว เราทำแล้วมีความสุขน่ะครับ

“เคยมีคำพูดหนึ่งที่หลายคนบอกแล้วผมก็เห็นด้วยมากๆ คือถ้ามีคนหนึ่งวิ่ง จะต้องมีอีกอย่างน้อยสามถึงสี่คนมาวิ่งด้วย ตอนนี้ตัวผมเองน่ะอยู่ตัวแล้ว แต่การที่เราเป็นโมเดลให้หลายๆ คนออกมาวิ่ง ผมดีใจมาก เพราะถ้าเราแข็งแรง ครอบครัวเราก็แข็งแรง องค์กรเราก็แข็งแรง ประเทศเราก็แข็งแรง มันยั่งยืนที่สุดแล้ว ดังนั้นตอนนี้เหมือนผมวิ่งเพื่อคนอื่นแล้วล่ะ” นะกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงใจ

ผลทางรูปธรรมที่สุดที่เราเห็นคงเป็นภายนอกที่เปลี่ยนไปของนะ แต่จากเรื่องราวของเขาทำให้เรารู้ว่าจริงๆ ภายในของเขาต่างหากที่แข็งแรงขึ้นจนน่าเอาเป็นแบบอย่าง

เส้นทางในอนาคตอีกหลายหมื่นกิโลเมตรของเขายังคงดำเนินต่อไปด้วยต้นทุนทางกายและใจที่เพียบพร้อม เมื่อเสริมกับเรื่องราวระหว่างทางที่เขาฝากไว้ เรามั่นใจว่าตัวเลขระยะทางที่มากขึ้นคงไม่ใช่แค่ของนะคนเดียวแน่ แต่มันยังเพิ่มให้กับอีกหลายๆ คนที่เฝ้าติดตามและอยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาสองขาของตัวเอง

ขอเพียงแค่มีก้าวแรก หมื่นกิโลเมตรของเราก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

my total distance
00.01 km

ภาพ พชรธร อุบลจิตต์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พชรธร อุบลจิตต์

เป็นช่างภาพที่เรียนการเมืองแต่ชอบเดินทางเป็นอาชีพแถมยังชอบทำขนมเป็นงานอดิเรก กำลังเก็บเงินไปเอเวอเรสต์และซื้อตู้เย็น