ปฏิเสธไม่ได้ว่าใน 1-2 ปีมานี้เทรนด์หนึ่งที่มาแรงมากๆ และยังไม่มีท่าทีว่าจะน้อยลงคือกล้องฟิล์ม ไม่ว่าเด็กมัธยมฯ เด็กมหาวิทยาลัย หรือวัยทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็ล้วนแต่น่าจะเคยเป็นผู้ใช้หรือผู้ถูกถ่ายด้วยกล้องประเภทนี้
เสน่ห์ของกล้องฟิล์มอาจเป็นการต้องตั้งอกตั้งใจถ่ายเป็นพิเศษเพราะมีจำนวนภาพจำกัด หรือความเซอร์ไพรส์ที่ได้เห็นภาพทั้งหมดในมุมมองที่ต่างออกไปจากตาเห็น กระทั่งความผิดพลาดของภาพที่ล้างมาแล้วเบลอ ภาพขาด หรือแสงรั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่กล้องดิจิทัลให้ไม่ได้
แต่นั่นยังไม่หมด เพราะด้วยความที่กล้องฟิล์มบูมมากในเมืองไทย คอมมิวนิตี้ชาวฟิล์มจึงมักหาของเล่นใหม่ๆ มาแชร์กันเสมอ ยกตัวอย่างกล้องใช้แล้วทิ้ง แก็ดเจ็ตเสริมต่างๆ ไปจนถึงฟิล์มที่ให้สีสันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างฟิล์มบูด หรือฟิล์มที่ถ่ายออกมาแล้วภาพเป็นสีรุ้ง
ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง P/s/w ฟิล์มทำเองฝีมือ เตอร์–พรรษวุฒิ พฤกษา ที่ต่อยอดจากทีสิสมัยเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากฟิล์ม Spectra 200 ที่ปล่อยออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ และกลายเป็นไอเทมสุดฮิตของชาวกล้องฟิล์มแล้ว เขายังมีโปรดักต์อื่นๆ อย่างฟิล์ม Lunar 200 และฟิล์มรุ่นล่าสุดที่มีแผนปล่อยในเดือนนี้
แต่ฟิล์มตัวใหม่จะหน้าตาสีสันเป็นแบบไหน เราอยากชวนคุณไปคุยกับเจ้าของแบรนด์ P/s/w เสียก่อน
จุดเริ่มต้นคือความสนใจและทีสิส
แรกเริ่มเดิมทีเตอร์แค่ชอบถ่ายรูปดิจิทัลทั่วไป แต่ด้วยกระแสกล้องฟิล์มช่วงนั้นมาแรงมากๆ เขาที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาออกแบบสื่อสารดิจิทัล วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงเลือกลงเรียนวิชาถ่ายภาพ และศึกษาวิธีการล้างฟิล์มและอัดรูป จนต่อยอดทำเป็นโปรเจกต์จบการศึกษา
“ตอนปี 4 เทอม 1 มีวิชา Pre-Thesis ผมก็ทำเกี่ยวกับเรื่องฟิล์ม แล้วอาจารย์บอกว่าฟิล์มปกติมันธรรมดาไป ก็เลยจะทำฟิล์มกระจกแบบที่พี่ชาติฉกาจ ไวกวี เจ้าของ AIRLAB ทำ แต่มันยากเกินไป อาจารย์ก็เลยเอาเทคนิคหนึ่งมาให้ผมลองทำดู นั่นคือเทคนิคฟิล์มซุป เป็นการเอาฟิล์มมาแช่กับน้ำต่างๆ ให้มีสีหรือเอฟเฟกต์ขึ้นในฟิล์ม”
“ตอนนั้นเราไม่เคยได้ยินเทคนิคนี้มาก่อน ก็ไปศึกษาว่าทำยังไงและจะออกมาเป็นยังไง ทดลองทำดู แต่ข้อจำกัดคือฟิล์มซุปล้างร้านปกติไม่ได้ เพราะทำให้น้ำยาที่ร้านเขาเสีย เราก็ต้องไปเรียนล้างฟิล์มเพิ่มเพื่อมาทำเอง”
เตอร์ใช้เวลาทดลองทำฟิล์มประมาณ 2-3 เดือน โดยใช้วิธีการแช่ฟิล์มในน้ำสารที่มีฤทธิ์กรดเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อกัดฟิล์มให้เกิดเอฟเฟกต์ ซึ่งเขาก็ใช้ทุกอย่างที่หาได้ตั้งแต่น้ำยาล้างจาน ไวน์ น้ำมะนาว ชา เหล้าขาว จนไปถึงน้ำฝน
แต่กว่าจะได้สารตั้งต้นที่ใช้ได้จริงๆ เขาก็ทดลองกับฟิล์มเป็นสิบๆ ม้วนและหลายระยะเวลาจนได้ผลเป็นเอฟเฟกต์สีรุ้งที่น่าพอใจ
หลังปรึกษากับอาจารย์เรื่องทิศทางการใช้ฟิล์มแล้ว เตอร์เลือกแนวถ่ายภาพที่เหมาะกับฟิล์มนี้เป็นแนวแฟชั่น เนื่องจากเอฟเฟกต์รุ้งดูเข้ากับภาพคนได้ดี เป็นกิมมิกสร้างความรู้สึกฟุ้งๆ เหนือจริง แต่ถ้าคุณจะเอาไปถ่ายภาพวิวหรืออย่างอื่น เขาก็ไม่ว่ากัน
ขณะเดียวกันแม้ว่าฟิล์มที่ทำขึ้นจะน่าสนใจขนาดไหน เจ้าตัวก็ยังรู้สึกว่าข้อจำกัดเรื่องที่ต้องล้างฟิล์มเองยังเป็นเรื่องใหญ่อยู่ เตอร์จึงพัฒนาให้ฟิล์มสีรุ้งตัวนี้สามารถล้างที่แลปฟิล์มทั่วไปได้ในขั้นตอนทำทีสิสจริง และเกิดเป็นแบรนด์ในภายหลัง
กระจายสายรุ้งสู่โซเชียลมีเดีย
กลุ่มคนที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำให้ฟิล์มของเตอร์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างต้องยกเครดิตให้ ปุ๊–จักรพงษ์ ตะเคียนงาม และทีมผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Xanap ที่เสนอความเห็นให้ชายหนุ่มทำฟิล์มขาย เนื่องจากทุกคนเห็นเขาศึกษาทดลองทำมานานและใช้ที่นี่เป็นที่สแกนฟิล์มมาตลอด จนแน่ใจว่าสิ่งที่เขาทำมีศักยภาพพอที่จะสร้างมูลค่าได้
แต่กว่าจะออกมาเป็นฟิล์ม P/s/w แบบที่เห็น เตอร์บอกว่ามันไม่มีทางออกมาดูดีได้ขนาดนี้ ถ้าไม่ได้ แพร–ธันย์นภรณ์ สิทธิพรกูล แฟนสาวช่วยดูแลจัดการให้
ด้วยความที่เตอร์ชอบธีมอวกาศเป็นทุนเดิม เขาจึงให้เพื่อนช่วยออกแบบลายบนกลักฟิล์มเป็น UFO ส่องแสงลงมาเป็นฟิล์มเนกาทีฟ รวมถึงตั้งชื่อรุ่นฟิล์มให้ล้อไปด้วยกัน จากตอนแรกที่ตั้งไว้ว่าสายรุ้ง แฟนของเขาก็เสนอขอเปลี่ยนชื่อเป็น Spectra รวมถึงช่วยออกแบบหีบห่อให้ไม่ซ้ำใคร
“พอเป็นธีมอวกาศ แพรก็คิดว่าให้ทำเป็นถุงสุญญากาศคล้ายอาหารเวลานักบินพกขึ้นไปกินนอกโลก จากตอนแรกที่เป็นแค่กล่องพลาสติกใส่กลักฟิล์มธรรมดาแล้วติดสติ๊กเกอร์ส่งอาจารย์” เตอร์หัวเราะให้กับความไม่มีหัวด้านการออกแบบของตัวเอง
แต่ก่อนจะมาถึงขั้นตอนออกแบบ แพรในฐานะที่เรียนด้านโฆษณาก็อยากดูกระแสตอบรับกับฟิล์มรุ้งตัวนี้ก่อน เธอเริ่มจากการเปิดเพจเฟซบุ๊กและโพสต์รูปจากฟิล์ม Spectra 200 ที่ กานต์–ชัชนันท์ ฉันทจินดา ช่างภาพสายแฟชั่นเป็นคนถ่าย
“เขาเป็นรุ่นพี่ที่คณะเราเหมือนแก๊งพี่ๆ ที่ Xanap พอทำฟิล์มเสร็จ เทสต์คุณภาพจนคงที่แล้ว ก็ส่งไปให้เขาลองใช้ พอได้ภาพชุดนั้นมาก็ชอบมากเลยใช้ลงโปรโมต ตอนนั้นยังไม่ได้คิดแพ็กเกจจิ้ง ยังไม่มีอะไรเลย”
พอเห็นยอดไลก์ยอดแชร์ที่มากพอให้รู้ว่าโปรดักต์น่าจะไปต่อได้ ทั้งคู่ถึงได้ดำเนินการต่อทันที
“เริ่มแรกลองทำเป็นพรีออร์เดอร์ก่อน เพราะไม่มั่นใจว่าจะขายได้ ตั้งไว้ว่าจะรับแค่ร้อยม้วนเพราะมันใช้เวลา เป็นแฮนด์เมดทั้งกระบวนการ และเขาทำคนเดียวเพราะเราทำไม่เป็น จนถึงวันพรีออร์เดอร์ ผ่านไปแค่นาทีเดียว ยอดทะลุถึง 200 เกือบ 250 เราก็ตกใจมาก จากที่จะรับแค่ 100 ม้วน เลยเพิ่มเป็น 150 ม้วน” หญิงสาวอธิบาย
หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งคู่จึงเปิดพรีออร์เดอร์รอบที่ 2 และเริ่มวางขายแบบออฟไลน์ที่ร้าน Xanap เป็นที่แรก ก่อนขยายช่องทางเป็น Foto Club และ Toiletlab
ส่วนปัญหาที่เคยเจอก็มีบ้างอย่างเรื่องสีรุ้งบนภาพเข้มเกินไป ซึ่งเตอร์แนะนำวิธีการใช้ฟิล์มของเขาว่าให้ตั้งค่า ISO ต่ำๆ เพราะมันผ่านกระบวนการ Pre-Exposure มาแล้ว พูดง่ายๆ คือ ใช้วิธีการถ่ายแบบเดียวกับฟิล์มบูด
สถานีต่อไปของฟิล์มแห่งอวกาศ
สำหรับฟิล์มรุ่น 2 ที่เป็นโทนสีชมพูอมเขียว ความพิเศษของมันคือ ชื่อรุ่น Lunar ที่ไม่ได้มาจากเตอร์กับแพร แต่มาจากการอยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บ้าง
“เราทำกิจกรรม Give Away ขึ้นมา เพราะคิดชื่อกันไม่ออก เลยโยนให้เป็นหน้าที่คนซื้อแทน ก็โพสต์เซตรูปที่ถ่ายด้วยฟิล์มตัวนี้ และเปิดให้ทุกคนตั้งชื่อ ชื่อไหนที่ได้รับเลือกเราจะส่งฟิล์มตัวใหม่ที่ยังไม่วางขายไปให้ใช้ฟรีๆ แต่สุดท้ายก็ไปจบชื่อที่พี่หลิน–รินรดา พรสมบัติเสถียร ร้าน Xanap อยู่ดี” สิ้นคำหญิงสาว เตอร์ก็รีบอธิบายเพิ่มว่าไม่ได้ตั้งใจนะ แต่ชื่ออื่นยาวจนเรียกลำบาก ทำให้เราหัวเราะครืน
แม้กระแสตอบรับของฟิล์มรุ่น Lunar 200 จะไม่แรงเท่าฟิล์มรุ่น Spectra 200 แต่ก็ยังมีคนสนใจทักเข้ามาสั่งเรื่อยๆ แพรตั้งข้อสังเกตจากอินไซต์คนเล่นกล้องฟิล์มว่าการที่คนจะใช้ฟิล์มม้วนหนึ่งหมด และวนกลับมาเป็นลูกค้าอีกครั้งค่อนข้างใช้เวลานานอยู่เหมือนกัน บวกกับเอฟเฟกต์สีต่างๆ ที่ดูเหมาะกับการถ่ายเล่นๆ มากกว่าถ่ายจริงจัง ทำให้ยอดสั่งซื้อไม่ได้เยอะตลอด
เตอร์แง้มให้ฟังว่ามีแพลนจะปล่อยฟิล์มรุ่น 3 ที่มีชื่อว่า Beam เร็วๆ นี้ โดยจะเป็นโทนสีแดงๆ ฟ้าๆ คล้ายฟิล์มบูด แต่สิ่งที่เราสนใจมากๆ และอยากจะขอสั่งจองล่วงหน้าก่อนเลยก็คือ กล้องใช้แล้วทิ้งเวอร์ชั่นของ P/s/w ที่เป็นไอเดียของแพร
“มันมาจากการที่เพื่อนเราอยากใช้ฟิล์มของเตอร์ แต่ไม่มีกล้องฟิล์ม บวกกับเราเคยใช้กล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งของญี่ปุ่น รู้สึกว่าง่ายและสะดวกดี อีกอินไซต์หนึ่งที่รู้สึกได้คือ เราจะชอบค้างฟิล์มธรรมดาไว้ในกล้อง ซึ่งจริงๆ แล้วเราแทบไม่ได้ใช้ฟิล์มเขาเลยเพราะชอบสีรูปที่เป็นสีจริงมากกว่า แต่มันก็มีอารมณ์ที่อยากเอาฟิล์มเขาไปถ่ายแต่กล้องค้างฟิล์มเก่าอยู่ เลยคิดว่าถ้าเป็นกล้องใช้แล้วทิ้งที่สแนปแล้วจบกันในตอนนั้น ไม่ได้มายุ่งกับฟิล์มที่ค้างไว้ก็น่าจะดี หรือสมมติว่าวันนี้ไม่ได้เอากล้องมา เดินไปซื้อกล้องที่ร้าน Xanap ลงไปถ่ายที่สยามได้เลย ได้ทั้งกล้องทั้งฟิล์มครั้งเดียวจบ ส่วนฟิล์มที่ใส่ในกล้องก็เป็นรุ่น Spectra 200 รูปร่างหน้าตามันคงเป็นโทนอวกาศ มีสายรุ้ง แต่จะปรับลายให้แมสหน่อย เป็นลายน่ารักๆ ที่คนอยากเก็บกล่องด้วย”
ก่อนแยกกัน เราทราบมาว่ามีลูกค้าชาวเยอรมันกลุ่ม Street Photo ที่ร้าน Foto Club ซื้อฟิล์มของเตอร์กลับไปใช้ด้วย ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นฟิล์มฝีมือคนไทยไปเฉิดฉายระดับโลกก็เป็นได้
ถ้าเจอภาพฟิล์มที่มีเอฟเฟกต์สีรุ้งในอินสตาแกรมช่างภาพต่างประเทศเมื่อไหร่ ก็อย่าลืมแคปเจอร์มาบอกเจ้าของฟิล์มกันด้วยนะ
ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ P/s/w