9 เหตุผลทางกฎหมายที่ไม่ควรสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ก่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเริ่มก่อสร้าง a day พูดคุยกับ พงษ์สวัสดิ์
อักษรสวาสดิ์
นักกฎหมาย ทนายความ
และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน พบว่ายังมีกฎหมายหลายฉบับที่ทางเลียบแม่น้ำไม่อาจถมทับแล้วพาดผ่านไปเฉยๆ
อย่าเพิ่งทดท้อใจว่ากฎหมายเป็นเรื่องซับซ้อน
เข้าใจยาก หรือน่าพิศวงงงงวย เราสรุปใจความของกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องคุ้มครองรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิของประชาชนต่อแม่น้ำไว้ที่นี่

1. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ลำน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและที่ชายตลิ่งริมฝั่งถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ที่จะต้องสงวนรักษาไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
เว้นแต่มีความจำเป็นทางสาธารณะอย่างยิ่งยวด เช่น รักษาความปลอดภัยของประชาชน จัดการเรื่องภัยพิบัติ
ฯลฯ กล่าวคือ เฉพาะเรื่องที่จำเป็นต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติและประชาชนเท่านั้น

แม่น้ำถือเป็นสมบัติร่วมกันของคนในชาติ
แต่ประชาชนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่าสมบัติของแผ่นดิน รัฐบาลเป็นเจ้าของ จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่จัดการตามกฎหมาย
แต่ไม่ใช่เจ้าของ ประชาชนทั้งหมดเป็นเจ้าของร่วมกัน เหมือนอุทยานแห่งชาติน้ำตกทีลอซู
ใครจะไปตกแต่งเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของน้ำตกไม่ได้ เพราะเป็นสมบัติของแผ่นดินที่ต้องสงวนรักษาไว้ตามธรรมชาติ
เหมือนรัฐธรรมนูญที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีบุคคลใดสามารถล้มล้างเปลี่ยนแปลงได้
เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดและมาจากอำนาจของประชาชน

2. โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะเริ่มต้นจากมติ
ครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557
เรื่องจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานพักผ่อนหย่อนใจ และให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร
ไปออกแบบศึกษาโครงการ โดยว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังให้ศึกษาวางระบบอีกทอดหนึ่ง
กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ไม่ใช่เจ้าของแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. มีหน้าที่ดูแลรักษาเส้นทางน้ำ
ไม่ใช่ทำทางเลียบแม่น้ำ

3. แม่น้ำและบริเวณโดยรอบ
มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยดูแลรักษา เช่น กรมที่ดิน สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลที่ดินชายตลิ่งและที่ดินใต้แม่น้ำเจ้าพระยา
เพราะที่ดินที่เป็นที่สาธารณะหรือที่ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ กรมที่ดินจะต้องดูแล
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน, กรมเจ้าท่า สังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดูแลทางน้ำ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย,
กรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
มีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, กรมโยธาธิการและผังเมือง สังกัดกระทรวงมหาดไทย
มีหน้าที่ดูแลการผังเมืองและการควบคุมอาคาร
ตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองและการควบคุมอาคาร และ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีหน้าที่ดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

จะเห็นว่ากรมต่างๆ
มีอำนาจหน้าที่ดูแลเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อป้องกันไม่ให้สมบัติของแผ่นดินถูกรุกล้ำทำให้เสียหาย
การทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐดังกล่าว

4. ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย
พ.ศ. 2456 เป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกรมเจ้าท่า สังกัดกระทรวงคมนาคม
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามผู้ใดปลูกสร้างอาคารขวางกั้นแม่น้ำ เว้นแต่อธิบดีจะอนุญาต ดังนั้นหากโครงการนี้เป็นการจัดทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจริง
จะถือเป็นการสร้างทาง หรือ ถนน หรืออาคาร ที่ไม่ใช่การปลูกสร้างอาคารขวางกั้นแม่น้ำแต่จะเป็นการรุกล้ำเส้นทางน้ำและที่ชายตลิ่งยาวติดต่อกันถึง
14 กิโลเมตร
ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ที่จะสามารถอนุญาตให้ดำเนินการตามโครงการนี้ได้

5. ตามพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518
กำหนดให้กรุงเทพมหานครจัดทำผังเมืองเพื่อการดูแลจัดระเบียบเมืองของกรุงเทพมหานครทั้งหมด
เช่น ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดพื้นที่ย่านพาณิชย์เป็นสีแดง
หรือพื้นที่เกษตรกรรมเป็นสีเขียว แต่กรุงเทพมหานครไม่สามารถไปจัดทำผังเมืองในทางน้ำสาธารณะอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติได้
ต้องคงสภาพไว้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะทางน้ำและที่ชายตลิ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของแผ่นดินที่ต้องสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
จะไปสร้างอะไรที่อยู่นอกเหนือขอบเขตบังคับของกฎหมายผังเมืองไม่ได้

6.ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุณภาพรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
พ.ศ. 2535 แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่ต้องดูแล
โครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม
และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนไม่สามารถทำได้ โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าสามารถจะป้องกันน้ำท่วมได้
หรือมีวิธีแก้ไขจัดการเมื่อน้ำท่วมได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบรุนแรงดังกล่าวต่อชุมชนและประชาชน

7. ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีวัดวาอาราม โบราณสถาน
และสถานที่ต่างๆ หลากหลายที่บูรณาการผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี อยู่ในความคุ้มครองของ
กรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หรือ สผ. สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำทางเลียบแม่น้ำจะกระทบต่อสถานที่มากมายที่ได้รับการอนุรักษ์คุ้มครอง
และไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาให้เป็นเหมือนเดิมได้

8. สภาองค์กรชุมชน ชุมชนโบราณ และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแล รัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ให้สิทธิชุมชนในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนมีสิทธิของตัวเองที่จะดูแลรักษาแม่น้ำ
ประชาชนที่รวมตัวกันเป็นชุมชนอยู่ริมแม่น้ำ เช่น ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนวัดระฆัง
ไม่ต้องไปลงทะเบียนอะไร ก็มีสิทธิตัดสินใจต่อการเปลี่ยนแปลงรอบบ้านของตัวเองได้

9. ประชาชนชาวไทยมีสิทธิของตนเอง
นอกจากคนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีสิทธิ์ดูแลพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำร่วมกันแล้ว
คนทั้งประเทศก็มีสิทธิร่วมตัดสินใจด้วย เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของแผ่นดิน
ต้องสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อรัฐบาลมีแนวความคิดว่าจะทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาให้ประชาชนเข้าถึงแม่น้ำ
มาปั่นจักรยาน พักผ่อนหย่อนใจ รัฐบาลได้ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือยัง

แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาจากนนทบุรี
อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่
ไล่มากว่าครึ่งประเทศที่ชาวไทยดูแลรักษา ส่วนที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น
แต่โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำทั้งหมด ถ้าจะดำเนินโครงการ
ก็ต้องให้คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย

“ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นรัฐบาล ยิ่งต้องทำตามกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันทุกประการ
เพราะ
ต้องถือตามหลัก The Rule of Law (หลักนิติธรรม)
ไปเปลี่ยนกฎหมายเพื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะประเทศไม่ได้นำด้วยเศรษฐกิจเท่านั้น
แต่ต้องนำด้วยหลายอย่างมากมาย ทั้งมิติทาง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและชุมชน
ต้องบูรณาการทั้งหมด”

ทุกแรงโหวตของทุกคนมีค่า ร่วมลงชื่อยับยั้งการสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้ที่นี่ : chn.ge/1tlD153

ภาพ กานต์ วรรธนะพินทุ และ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR