Ride or Die : รักผิดที่ผิดทางของหญิงสาว และรอยยิ้มของเธอที่ทำลายชีวิตฉัน

ride or die

1. Ryuichi Hiroki

ชื่อของ Ryuichi Hiroki อาจไม่ใช่คนแรกๆ ที่เรานึกถึงเวลาต้องลิสต์รายชื่อ ‘ผู้กำกับหนังญี่ปุ่น’ แต่ฮิโรกิมีโปรไฟล์ที่แน่นหนาพอสมควร เขาทำหนังมาตั้งแต่ยุค 80s โดยเริ่มจากหนังวาบหวาม (หรือที่เรียกว่า pink film) จากนั้นก็หันมาทำหนังในกระแสในช่วงยุค 90s แต่กว่าเขาจะเป็นที่รู้จักก็ปาเข้าไปปี 2003 ตอนทำ Vibrator หนังที่เล่าเรื่องราวของหญิงสาวว่างเปล่าผู้พบรักกับคนขับรถบรรทุกในร้านมินิมาร์ต

นับจากนั้นฮิโรกิทำหนังมากมายหลายแนวทั้งแมสและอินดี้ จนตอนนี้เขามีผลงานกว่า 50 เรื่อง (!) ที่ชาวไทยพอจะคุ้นบ้างก็เช่น หนังบีบเค้นน้ำตา April Bride (2009) หรือหนังวัยรุ่นตาหวานแบบ Strobe Edge (2015) และ Wolf Girl and Black Prince (2016) แต่ในความเห็นของผู้เขียน งานเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนถึงตัวตนของฮิโรกิสักเท่าไหร่ ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจมันก็เป็นงานประเภท ‘คนเราต้องทำมาหากิน’

Vibrator (2003)
Side Job (2017)

เอาเข้าจริงแล้วจริตของฮิโรกิน่าจะเอนเอียงไปทางอินดี้ ท่ามกลางหนังแมสมากมายที่เหมือนงานรับจ้าง ฮิโรกิก็สร้างงานชั้นดีที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ อย่าง River (2012) ว่าด้วยหญิงที่สูญเสียคนรักจากเหตุฆาตกรรมหมู่ที่อากิฮาบาระ หรือ Side Job (2017) ที่เล่าถึงหญิงสาวผู้ต้องดำรงชีพด้วยการเป็นสาวไซด์ไลน์ ซึ่งทั้งสองเรื่องยังโยงเข้ากับเหตุการณ์สึนามิ 3.11 ด้วย เนื่องจากบ้านเกิดของฮิโรกิอยู่ที่จังหวัดฟุกุชิมะ หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

จากหนังเด่นๆ ของเขาที่กล่าวมา เราจะพอเห็นได้ว่าลายเซ็นของฮิโรกิคือการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงผู้เจ็บช้ำ แปลกแยกกับคนรอบข้าง สังคม และโลกทั้งใบ ซึ่งธีมที่ว่ายังปรากฏใน Ride or Die (2021) ผลงานล่าสุดของเขา

ride or die

2. Kiko Mizuhara

เป็นการยากที่เราจะนิยามสถานะของ Kiko Mizuhara เธอเป็นทั้งนางแบบ นักแสดง พิธีกร อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ แต่หลายคนมักมีภาพจำของเธอในฐานะคนเซ็กซี่ ฉูดฉาด หวือหวา บ้างก็มองว่าเธอแรง แต่จากการติดตามเธอมายาวนานเกินทศวรรษ จุดเด่นของกิโกะคือการที่เธอเป็นคนมีหลายเฉด พิสูจน์ง่ายๆ ด้วยการเข้าไปดูอินสตาแกรมของเธอ คุณจะพบกับกิโกะในหลากหลายโหมด ร้อนแรง สดใส หรือกระทั่งติงต๊อง 

ผู้คนมักไม่จดจำเธอในฐานะนักแสดงสักเท่าไหร่ อาจเพราะเธอดันไปอยู่ในหนังที่ล้มเหลวสุดขีดอย่าง Attack on Titan ภาคไลฟ์แอ็กชั่น (2015) แต่ผู้เขียนยืนยันกับคนอื่นเสมอว่ากิโกะเป็นนักแสดงที่ดี อย่างเช่นผลงานเดบิวต์ของเธอที่รับบทเป็นมิโดริใน Norwegian Wood (2010) ท่ามกลางความไม่เข้าท่ามากมายของหนังจนทำเอาแฟนคลับมูราคามิกำหมัดแน่น การแสดงของกิโกะก็ดูจะเป็นสิ่งดีงามไม่กี่อย่างของหนังเรื่องนี้

Dream Blue

ปี 2021 ถือเป็นปีที่กิโกะทำหลายสิ่งที่ดูท้าทาย เธอนำแสดงในหนังเรื่อง Aristocrats โดยรับบทเป็นสาวต่างจังหวัด ฐานะยากจน เรียนเก่ง ทำงานในบริษัทไอที ซึ่งดูเป็นคาแร็กเตอร์ที่ไม่มีอะไรเหมือนกับตัวเธอเองเลย ต่อมาเธอออกโฟโต้บุ๊กชื่อ Dream Blue ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาได้อย่างมาก เพราะภาพในเล่มนี้ไม่ใช่แค่ ‘เซ็กซี่’ แต่เป็นภาพนู้ด ถึงกระนั้นก็ได้รับคำชื่นชมว่าถ่ายทอดเรือนร่างของผู้หญิงและภูมิทัศน์ธรรมชาติได้อย่างสมจริง

และอีกหนึ่งผลงานสำคัญปีนี้ของเธอคือการรับบทเลสเบี้ยนในหนังเรื่อง Ride or Die 

ride or die
Image : Aiko Nakano/NETFLIX © 2021

3. Ride or Die 

ภาพยนตร์เรื่อง Ride or Die ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อเมษายน 2021 ดัดแปลงจากการ์ตูนลายเส้นดิบกร้านของ Chin Nakamura ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบหญิง-หญิงของของเร (กิโกะ มิซูฮาระ) ศัลยแพทย์ผู้มาจากครอบครัวร่ำรวย กับนานาเอะ (โฮนามิ ซาโตะ) หญิงสาวยากจนที่ถูกสามีทุบตีเป็นประจำ ทั้งคู่เป็นเพื่อนสมัยมัธยมที่ห่างเหินกันไปนาน อยู่ดีๆ วันหนึ่งนานาเอะก็ติดต่อหาเรและขอร้องให้ช่วยฆ่าสามีของเธอ ด้วยเหตุผลกลใดมิอาจทราบแต่เรย์ก็ทำตามคำขอของนานาเอะ

ride or die

จากนั้นทั้งคู่ขับรถหนีไปด้วยกัน จน Ride or Die กลายสภาพเป็น Thelma & Louise (1991) เวอร์ชั่นญี่ปุ่น อ่านเพียงเรื่องย่อหลายท่านคงเดาได้ว่าหนังเรื่องนี้บอกเล่าถึงสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงที่ถูกความเป็นชายกดทับ สถานะเลสเบี้ยนที่เป็นคนนอก ซึ่งผู้เขียนคงไม่ลงลึกถึงประเด็นเหล่านั้นเพราะหนังบอกเล่าอย่างชัดเจนอยู่แล้ว จึงอยากจะเขียนถึงแง่อื่นมากกว่า

อย่างแรกที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจสำหรับหนังเรื่องนี้คือเทคนิคภาพยนตร์ที่เน้นการถ่ายแบบ long take หรือการถ่ายยาวโดยไม่ตัดต่อที่ปรากฏอยู่หลายฉาก จุดประสงค์ของการลองเทคในเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการโชว์ความอลังการของการเคลื่อนกล้องแต่เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครอย่างต่อเนื่อง ฉากสำคัญน่าจะเป็นฉากเซ็กซ์ระหว่างตัวละครนำ ในเวลาประมาณสิบนาทีกิโกะต้องเล่นทั้งฉากหัวเราะ ถึงจุดสุดยอด ร้องไห้ ถือเป็นฉากที่ซับซ้อนสับสนแต่ก็น่าประทับใจเช่นกัน

ลักษณะเด่นชัดอีกอย่างของหนังคือ ‘ความผิดที่ผิดทาง’ อาจจะเริ่มตั้งแต่การที่คนอย่างเร–ผู้ซึ่งเพียบพร้อมทุกอย่างยอมทิ้งอาชีพและฐานะมาร่วมหัวจมท้ายกับนานาเอะที่เหมือนอยู่คนละโลกกับเธอ เรพูดในฉากหนึ่งว่าตัวเธอนั้นเหมือนค้นพบความรักตอนวัยใกล้สามสิบ หนังย้ำสารตรงนี้ด้วยการใช้เพลง CHE.R.RY (2007) ของ YUI เพลงป๊อปว่าด้วยอาการเขินอายของวัยรุ่นที่ดันกลายเป็นเพลงธีมของผู้หญิงวัยเลขสามคู่หนึ่งที่เพิ่งฆ่าคนตายมา 

‘ความคลุมเครือ’ ยังเป็นอีกหัวใจของ Ride or Die ความสัมพันธ์ของเรกับนานาเอะไม่เคยถูกระบุชัดเจนว่าเป็นคู่รัก พวกเขาเปลี่ยนนิยามของมันไปมาระหว่างเพื่อน คนรัก และครอบครัว จุดที่ดีคือนี่ไม่ใช่เรื่องราวความสัมพันธ์สุดแสนโรแมนติก แต่มันแฝงด้วยการใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน นานาเอะต้องพึ่งพาเรเพราะเธอรวยกว่าและใจกล้ากว่า ส่วนเรก็ใช้นานาเอะเป็นข้ออ้างในการหลุดจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ถึงจุดหนึ่งทั้งคู่ก็ไม่ปิดบังความเห็นแก่ตัวที่มีต่อกัน ตามมาด้วยการด่าทอตบตีอันแสนเจ็บปวด

สิ่งสำคัญสุดท้ายที่หนังจงใจทิ้งไว้ให้ผู้ชมถอดรหัสคือเรื่องของ ‘รอยยิ้ม’ เรบอกว่าเหตุผลที่เธอยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อนานาเอะก็เพราะเรื่องง่ายๆ (และอาจฟังดูโง่สำหรับบางคน) ว่าตอนที่นานาเอะยิ้มให้เธอวันที่เจอกันครั้งแรก นับจากนั้นการรับรู้ของเธอก็ถูกทำลายและมอบหัวใจให้อีกฝ่ายทันที ส่วนในช่วงท้ายของหนังเราก็ได้เห็นรอยยิ้มของฝ่ายเรบ้าง แม้จะดูเป็นการฝืนยิ้มเพื่อให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับอีกฝ่าย (และตัวเอง) แต่ไม่ว่าจะมองยังไง นั่นคือรอยยิ้มของคนที่ชีวิตถูกทำลายไปแล้วเสียมากกว่า

Image : Aiko Nakano/NETFLIX © 2021
ชื่อของ Ryuichi Hiroki อาจไม่ใช่คนแรกๆ ที่เรานึกถึงเวลาต้องลิสต์รายชื่อ ‘ผู้กำกับหนังญี่ปุ่น’ แต่ฮิโรกิมีโปรไฟล์ที่แน่นหนาพอสมควร เขาทำหนังมาตั้งแต่ยุค 80 โดยเริ่มจากหนังวาบหวาม (หรือที่เรียกว่า Pink film) จากนั้นก็หันมาทำหนังในกระแสในช่วงยุค 90s แต่กว่าเขาจะเป็นที่รู้จักก็ปาเข้าไปปี 2003 ตอนทำ Vibrator หนังที่เล่าเรื่องราวของหญิงสาวว่างเปล่าผู้พบรักกับคนขับรถบรรทุกในร้านมินิมาร์ต
นับจากนั้นฮิโรกิทำหนังมากมายหลายแนวทั้งแมสและอินดี้ จนตอนนี้เขามีผลงานกว่า 50 เรื่อง (!) ที่ชาวไทยพอจะคุ้นบ้างก็เช่น หนังบีบเค้นน้ำตา April Bride (2009) หรือหนังวัยรุ่นตาหวานแบบ Strobe Edge (2015) และ Wolf Girl and Black Prince (2016) แต่ในความเห็นของผู้เขียน งานเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนถึงตัวตนของฮิโรกิสักเท่าไร ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจมันก็เป็นงานประเภท ‘คนเราต้องทำมาหากิน’
เอาเข้าจริงแล้วจริตของฮิโรกิน่าจะเอนเอียงไปทางอินดี้ ท่ามกลางหนังแมสมากมายที่เหมือนงานรับจ้าง ฮิโรกิก็สร้างงานชั้นดีที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ อาทิ River (2012) ว่าด้วยหญิงที่สูญเสียคนรักจากเหตุฆาตกรรมหมู่ที่อากิฮาบาระ หรือ Side Job (2017) ที่เล่าถึงหญิงสาวผู้ต้องดำรงชีพด้วยการเป็นสาวไซด์ไลน์ ซึ่งทั้งสองเรื่องยังโยงเข้ากับเหตุการณ์สึนามิ 3.11 ด้วย เนื่องจากบ้านเกิดของฮิโรกิอยู่ที่จังหวัดฟุกุชิมะ หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
จากหนังเด่นๆ ของเขาที่กล่าวมา เราจะพอเห็นได้ว่าลายเซ็นของฮิโรกิคือการถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงผู้เจ็บช้ำ แปลกแยกกับคนรอบข้าง สังคม และโลกทั้งใบ ซึ่งธีมที่ว่ายังปรากฏในผลงานล่าสุดของเขา
เป็นการยากที่เราจะนิยามสถานะของ Kiko Mizuhara เธอเป็นทั้งนางแบบ นักแสดง พิธีกร อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ แต่หลายคนมักมีภาพจำของเธอในฐานะคนเซ็กซี่ ฉูดฉาด หวือหวา บ้างก็มองว่าเธอแรง แต่จากการติดตามเธอมายาวนานเกินทศวรรษ จุดเด่นของกิโกะคือการที่เธอเป็นคนมีหลายเฉด พิสูจน์ง่ายๆ ด้วยการเข้าไปดูอินสตาแกรมของเธอ คุณจะพบกับกิโกะในหลากหลายโหมด ร้อนแรง สดใส หรือกระทั่งติงต๊อง
ผู้คนมักไม่จดจำเธอในฐานะนักแสดงสักเท่าไร อาจเพราะเธอดันไปอยู่ในหนังที่ล้มเหลวสุดขีดอย่าง Attack on Titan ภาคไลฟ์แอ็คชั่น (2015) แต่ผู้เขียนยืนยันกับคนอื่นเสมอว่ากิโกะเป็นนักแสดงที่ดี อย่างเช่นผลงานเดบิวต์ของเธอที่รับบทเป็นมิโดริใน Norwegian Wood (2010) ท่ามกลางความไม่เข้าท่ามากมายของหนังจนทำเอาแฟนคลับมูราคามิกำหมัดแน่น การแสดงของกิโกะก็ดูจะเป็นสิ่งดีงามไม่กี่อย่างของหนังเรื่องนี้
ปี 2021 ถือเป็นปีที่กิโกะทำหลายสิ่งที่ดูท้าทาย เธอนำแสดงในหนังเรื่อง Aristocrats โดยรับบทเป็นสาวต่างจังหวัด-ฐานะยากจน-เรียนเก่ง-ทำงานในบริษัทไอที ซึ่งดูเป็นคาแรกเตอร์ที่ไม่มีอะไรเหมือนกับตัวเธอเองเลย ต่อมาเธอออกโฟโต้บุ๊กชื่อ Dream Blue ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาได้อย่างมาก เพราะภาพในเล่มนี้ไม่ใช่แค่ ‘เซ็กซี่’ แต่เป็นภาพนู้ด ถึงกระนั้นก็ได้รับคำชื่นชมว่าถ่ายทอดเรือนร่างของผู้หญิงและภูมิทัศน์ธรรมชาติได้อย่างสมจริง

AUTHOR