เมื่อข้าวพื้นบ้านก้าวเข้ามาอยู่ในสปอตไลต์ ในฐานะความหวังใหม่ท่ามกลางวิกฤตอาหาร

วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี เชื่อมโยงถึงราคาข้าวสาลีและข้าวโพดที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ยังไม่นับปัจจัยการผลิตสำคัญอย่างปุ๋ยที่ยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ปรับราคาขึ้นเช่นกัน และทำให้สายพานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารทั่วโลกสั่นสะเทือนรุนแรง จนแวดวงอุตสาหกรรมอาหารต้องจับเข่าคุยกันจริงจังและฉายสปอตไลต์แห่งความหวังไปยังพืชชนิดอื่นๆ ที่ประเมินกันว่าจะเป็นวัตถุดิบแทนข้าวสาลีและข้าวโพดในการผลิตอาหารได้ในอนาคต และหนึ่งในพืชสำคัญนั้นก็คือ ‘ข้าว’

พี่ใหญ่อันดับ 1 และ 2 ในการปลูกข้าวป้อนตลาดโลกอย่างอินเดียและเวียดนามจึงถูกจับตามองขึ้นมาทันใด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่วิกฤตอาหารทำท่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับว่าในอนาคตใครผลิตอาหารได้มาก ย่อมมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ถึงตรงนี้หลายคนอาจนึกถึงฉายา ‘อู่ข้าว อู่น้ำ’ ของประเทศไทยขึ้นมา และคิดไกลว่าความต้องการข้าวที่พุ่งสูงนั้นก็น่าจะเป็นโอกาสของไทยในเวทีโลกกับเขาเหมือนกัน

แต่ถ้ากลับมามองสถานการณ์ราคาข้าวในบ้านเราที่ต่ำแล้วต่ำอีกจนรัฐต้องออกมาตรการพยุงราคาหลายระลอก ก็ชวนให้สงสัยว่าข้าวไทยที่ว่ากันว่าคุณภาพดีลำดับต้นๆ ของโลกนั้นก้าวพลาดตรงไหน ทำไมราคาข้าวถึงยังไม่กระเตื้องแม้กระทั่งในจังหวะที่ดูเหมือนจะเป็นโอกาสทองของประเทศผู้ผลิตข้าวอย่างในตอนนี้

มากกว่านั้น การเกิดขึ้นของกระแสข้าวทางเลือกในระยะหลัง ทั้งการเลือกใช้ข้าวพื้นบ้านในร้านอาหารระดับพรีเมียม และการเกิดขึ้นของแบรนด์ข้าวพื้นบ้านและคาเฟ่กลางเมืองใหญ่ที่เลือกใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก ก็เหมือนจะเป็นสัญญาณบางอย่างที่ใครหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าหรือนี่จะคือความหวังเล็กๆ ในการออกจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่ทุกตัวละครในวงการข้าวไทย โดยเฉพาะชาวนารายย่อย ต้องเผชิญมาทุกยุคทุกสมัย

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราอยากชวนย้อนกลับไปดูเส้นทางข้าวไทยกันสักนิด

หากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ประเทศไทยนั้นจะมีข้าวเติบโตอยู่ราว 20,000 สายพันธุ์ ความหลากหลายเหล่านี้เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมเขตร้อนชื้นเอื้อกับการเพาะปลูก และเกิดจากเพราะตรงนี้เป็นจุดบรรจบของข้าว 2 ชนิดหลักของโลกอย่างข้าวจาปอติกา (japotica) ต้นทางของข้าวเมล็ดสั้นป้อมแบบข้าวญี่ปุ่น และข้าวอินดิกา (Indica) ต้นทางของข้าวเมล็ดยาวรีแบบที่เรามักพบในร้านอาหารอินเดีย เกิดเป็นข้าวลูกผสมที่มีกลิ่นรสเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไม่เหมือนใคร และข้าวก็ได้กลายมาเป็นหัวใจของสังคมเกษตรกรรมไทยเรื่อยมา แม้ในปัจจุบันนี้พื้นที่ปลูกข้าวก็ยังกินสัดส่วนถึง 46 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ

ถึงข้าวจะไม่เคยหายไปจากท้องนาไทย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็มีไม่น้อย

เริ่มต้นจากยุคสงครามเย็นช่วงทศวรรษที่ 60 เมื่อการช่วงชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลก มหาอำนาจฝั่งทุนนิยมอย่างอเมริกาเดินหน้าสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางตลาดเสรี เทคโนโลยีและนวัตกรรมหลากหลายถูกส่งเข้าภาคเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต แน่นอนว่าไทยคือหนึ่งในประเทศเหล่านั้น และข้าวไทยก็เป็นหนึ่งในพืชที่ถูกหยิบมาวิจัยว่าน่าจะทำกำไรได้ดี จนเกิดการคัดสายพันธุ์ข้าวที่ต้านโรคเยี่ยม ให้ผลผลิตเยอะ และอร่อยถูกปากคนส่วนใหญ่ นำมาปรับปรุงสายพันธุ์และขยายการผลิตไปทั่วประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘ข้าวหอมมะลิ’

จากนั้นไทยก็กลายเป็นแหล่งผลิตข้าวลำดับต้นๆ ของโลก กระทั่งช่วงทศวรรษที่ 90 เมื่ออินเดียและเวียดนามเดินเข้าสู่สนามการค้าข้าวระดับสากล ผ่านการส่งออกข้าวคุณภาพกลางๆ ใกล้เคียงกับไทยแต่ราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาด ไทยจึงเพิ่มการส่งออกข้าวคุณภาพสูงอย่างข้าวหอมมะลิเพื่อหนีไปเล่นในตลาดบน แต่ก็หนีไม่ได้นาน เพราะก้าวเข้าต้นศตวรรษที่ 21 อินเดียและเวียดนามก็ตามมาประกบด้วยการเริ่มพัฒนาข้าวคุณภาพดีไม่แพ้กันออกสู่ตลาด—ในวงเล็บว่าด้วยราคาที่ถูกกว่าข้าวไทยมาก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเราหลายเท่า ทั้งจากเรื่องค่าแรงและการได้รับเงินทุนอุดหนุนภาคเกษตรจากรัฐและแหล่งทุนต่างชาติจำนวนมหาศาล ทำให้อินเดียและเวียดนามสามารถขายข้าวในราคาถูกได้แบบไม่ค่อยเจ็บตัวเท่าไหร่

ผลก็คือที่ยืนของข้าวไทยในตลาดโลกมีแต่จะเล็กลงเรื่อยๆ ยิ่งในแต่ละปีชาวนาบ้านเราผลิตข้าวเกินความต้องการของคนในประเทศถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเมื่อส่งออกไปสู้ราคากับคู่แข่งในตลาดโลกไม่ไหว ข้าวจำนวนมหาศาลเหล่านั้นจึงหมุนเวียนอยู่ในประเทศ และราคาก็ร่วงตามระยะเวลาที่ถูกเก็บไว้ในคลัง

ทางออกของวงจรนี้อยู่ตรงไหน?

เรื่องนี้มีคำตอบสำเร็จรูปที่พูดกันทุกยุคทุกสมัย คือ ต้องทำให้ชาวนาไทยผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลงผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการผลิต แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขข้อสำคัญ คือ โครงสร้างของภาคเกษตรต้องเปลี่ยนแปลงด้วย

คำใหญ่ๆ อย่าง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตร’ นั้นแปลให้ง่ายก็คือการ ‘ลดปริมาณและเพิ่มคุณภาพ’ ปริมาณในที่นี้รวมตั้งแต่ขนาดของพื้นที่ทำเกษตร จำนวนเกษตรกร จำนวนผลผลิต ผ่านการถ่ายโอนแรงงานภาคเกษตรให้ไปอยู่ในส่วนอื่นของสังคมอย่างมีศักยภาพ เช่น พัฒนาการศึกษาให้ดี ให้คนมีทางเลือกในอาชีพที่หลากหลาย หรือการพักชำระหนี้ ปฏิรูปที่ดิน และนโยบายสวัสดิการต่างๆ ที่ช่วยเอื้อให้เกษตรกรมีต้นทุนมากพอที่จะเลือกรูปแบบชีวิตอื่นๆ นอกภาคเกษตรได้อย่างอิสระ

เมื่อภาคเกษตรค่อยๆ มีขนาดเล็กลง คราวนี้การพัฒนาคุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป

คุณภาพที่รวมตั้งแต่คุณภาพของผลผลิตและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร อย่างที่ญี่ปุ่นสามารถผลิตองุ่นกิโลละหลายหมื่นบาทขายได้ หรืออย่างที่เกาหลีนำเสนอโสมและสมุนไพรพื้นบ้านออกสู่ตลาดโลกได้ในราคาสูงลิบ

และพูดอย่างไม่เกินเลย ต้นทุนเรื่องสินค้าเกษตรของไทยนั้นก็ไม่น้อยหน้าใครเหมือนกัน

โดยเฉพาะ ‘ข้าวพื้นบ้าน’ ที่รุ่มรวยความพิเศษโดยธรรมชาติอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ไม่ว่าจะกลิ่นรสอันหลากหลายเป็นเอกลักษณ์ หรือถ้าอยากจะขายเรื่องราว วัฒนธรรมท้องนาบ้านเราก็มีเรื่องให้หยิบมาเล่าไม่รู้จบ

และในวันนี้ ขณะที่วงการอาหารบ้านเรากำลังตื่นเต้นกับข้าวพื้นบ้านกันชนิดว่าคึกคัก ย่อมเป็นสัญญาณยืนยันให้มั่นใจว่าข้าวไทยนั้นมีจุดขายหลากหลายกว่าที่คิด และอาจเป็นจุดขายที่พาเราออกจากวงจรการแข่งขันเดิมๆ ไปสู่มาตรฐานการแข่งขันเชิงคุณภาพแบบใหม่ๆ และเป็นความหวังว่าทุกตัวละครในเส้นทางผลิตข้าวไทยจะสามารถก้าวออกจากปัญหาเรื้อรังหลายยุคหลายสมัยได้ในเร็ววัน—ความหวังที่ต้องการเชื้อเพลิงสนับสนุนผ่านนโยบายพัฒนาภาคเกษตรที่เข้าอกเข้าใจ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในแบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อ้างอิง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

รัชดาภรณ์ เหมจินดา

นักออกแบบกราฟิก และภาพประกอบ จากย่านลาดพร้าวที่ปวดร้าวทุกเช้าเย็น (จากสภาพการจราจร)