การเติบโตของอาชีพ ‘รุกขกร’ และเหล่าต้นไม้ในเมือง

อาชีพรุกขกรเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมตามหน้าสื่อต่างๆ

หลายคนรู้ว่า ‘รุกขกร’ หรือหมอต้นไม้ คือผู้ที่ทำหน้าที่เยียวยา รักษา และดูแลต้นไม้ตามที่ต่างๆ แต่วิธีการหรือรายละเอียดเชิงลึกนั้นยังเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ความเข้าใจแค่ภายนอกนี้ทำให้เราอยากจะเข้าใจอาชีพนี้มากขึ้นจากภายใน รวมถึงประเด็นสำคัญที่เราอยากรู้ว่า ในฐานะผู้เฝ้ามองต้นไม้ พวกเขามีความเห็นอย่างไรกันบ้างต่อพื้นที่สีเขียวในเมืองที่เกิดขึ้นจนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

เพื่อตอบข้อสงสัยหลายอย่างนี้ เราจึงชวน ปู่-ฐณภณ สมาธิ รุกขกรแห่งองค์กรเอกชน BIG Trees มาตอบปัญหา เรานั่งคุยกันบนพื้นหญ้าท่ามกลางเงาของต้นไม้ที่สวนรถไฟในช่วงเย็นวันหนึ่ง บรรยากาศเย็นสบายรอบตัวที่เกิดขึ้นสร้างบทสนทนาที่ตอบข้อสงสัยทั้งเรื่องอาชีพของเขาและเหล่าต้นไม้ที่เรากำลังแนบกายอยู่

รดน้ำพรวนดินให้กับเรื่องราว เรากำลังดูและฟังพวกมันเบ่งบานตอบคำถาม

‘รุกขกร’ เริ่มต้นอย่างไรดี

ถ้ามองด้วยสายตาคนนอก เราอาจคิดว่าคนที่จะเป็นรุกขกรต้องมีความรู้และความสนใจเกี่ยวกับต้นไม้เป็นพื้นฐาน แต่หลังจากสนทนากับปู่ เขาบอกว่าวัตถุดิบเริ่มต้นที่มีค่าสำหรับรุกขกรนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความสนใจในต้นไม้และเมือง

ความสนใจที่ว่าไม่จำกัดอยู่แค่เชิงบวกอย่างความรักในธรรมชาติ หรือเชิงตั้งคำถามถึงการตัดต้นไม้จนเหลือแต่ตอตามแนวสายไฟ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ร่วมที่ดีสำหรับการเริ่มต้นอาชีพรุกขกร ปู่บอกเราว่าหลายคนที่มาเป็นรุกขกรก็เริ่มก้าวแรกจากความคิดนี้ทั้งนั้นรวมถึงตัวเขาเองด้วย

ถ้าฉันอยากเป็นรุกขกร ต้องทำอย่างไรบ้าง

ข้อมูลน่าสนใจที่เราพบคือ ปัจจุบันการจะเป็นรุกขกรนั้นเปิดกว้างมาก ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงองค์ความรู้นี้ได้ผ่านการอบรมโดยภาคเอกชนต่างๆ เช่น การอบรมการเป็นรุกขกรที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ และ BIG Trees คอร์สนี้กินความยาวตั้งแต่ 2-7 วัน ผู้เรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับองค์ความรู้ทุกภาคส่วนของต้นไม้ ได้ลองดูแลต้นไม้ผ่านวิธีการต่างๆ อย่างการตัดแต่งพุ่มเล็ก ล้อมหน้าดิน ไปจนถึงการขึ้นต้นไม้สูงไปตัดกิ่ง เมื่อจบหลักสูตรจะได้ประกาศนียบัตรการผ่านเข้าร่วมการอบรมและความรู้วิชาอย่างครบถ้วนที่สามารถเอาไปประกอบอาชีพรุกขกรได้

เมื่อไหร่จะเรียกตัวเองว่า ‘รุกขกร’ ได้

สิ่งหนึ่งที่ทำเราประหลาดใจคือมาตรฐานและกฎหมายที่รองรับอาชีพรุกขกรยังไม่ถูกพูดถึงและจัดระเบียบมากนัก ดังนั้นคนที่จบหลักสูตรการอบรมรุกขกรมาแล้วมักเกิดคำถามเดียวกันว่า ‘เราเรียกตัวเองว่าเป็นรุกขกรได้หรือยัง’

ว่ากันตามจริง ระบบของอาชีพรุกขกรในไทยนั้นต่างกับต่างประเทศอยู่มาก ในยุโรปจำแนกคนที่อยู่ในสายอาชีพนี้ชัดเจน มีทั้ง Tree Worker Climber ซึ่งหมายถึงคนที่เน้นการปฏิบัติงานในการจัดการต้นไม้ กับ Aborist ที่แปลว่ารุกขกรโดยตรงที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการ ในการปฏิบัติงานรวมถึงการจะประกอบอาชีพนี้ในต่างประเทศต้องสอบรับใบอนุญาตเสมอ ยิ่งการปฏิบัติงานที่ยาก ก็ยิ่งต้องสอบใบอนุญาตที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้ทำให้การจัดการงานรุกขกรในต่างประเทศเป็นระบบและเชื่อถือได้

หันกลับมามองประเทศไทยที่ยังไม่มีระบบมาตรฐานรองรับอาชีพรุกขกรขนาดนั้น งานรุกขกรเลยคล้ายกับงานช่างที่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง หลังจากจบอบรมไปก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนแล้วที่ต้องหมั่นฝึก หมั่นหาความรู้ เพื่อให้วันหนึ่งพวกเขาสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นรุกขกรได้อย่างภูมิใจ

‘รุกขกร’ ประเมินและเยียวยาต้นไม้อย่างไรบ้าง

การเติบโตและหักโค่นลงของต้นไม้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามป่าเขา แต่เมื่อมีการเกิดขึ้นของเมืองเข้าไปอาศัยแนบสนิทกับต้นไม้ วัฏจักรเหล่านี้จึงเปลี่ยน และคนที่จะจัดการความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือหน้าที่ของรุกขกรนั่นเอง

เวลาที่รุกขกรประเมินต้นไม้สักต้น พวกเขาจะมอง 2 สิ่งหลักๆ คือตัวต้นไม้และความเป็นอยู่ของเมือง จากต้นไม้ พวกเขาจะเริ่มประเมินตั้งแต่ราก ไล่ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ข้อมูลเหล่านี้บอกถึงความแข็งแรงและความเสี่ยงที่ต้นไม้นั้นมี ซึ่งแต่ละต้นจะใช้เกณฑ์วัดไม่เหมือนกัน เช่น ในต้นไม้ใหญ่ถ้าลำต้นเอียงประมาณ 45 องศาถือว่ามีความเสี่ยงแล้ว แต่ถ้าต้นไม้เล็กก็สามารถเอียงได้ถึง 60 องศา หรือการเผยของรากที่ควรมากพอให้รากรับน้ำและอากาศเพื่อยึดหน้าดินที่ดี ทั้งหมดนี้คือการประเมินความเสี่ยงที่ตามมาด้วยวิธีจัดการ

น่าตกใจที่การจัดการต้นไม้ต้นหนึ่งมีหลากหลายวิธีมากๆ ไม่ใช่แค่การตัดกิ่งอย่างที่เราคิดเพียงอย่างเดียว วิธีการมีตั้งแต่การล้อมหน้าดิน การตัดแต่งกิ่ง การทำค้ำยัน การปิดโพรงไปจนถึงการตัดทิ้งทั้งต้นก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง สิ่งสำคัญที่เหล่ารุกขกรพิจารณาคือการจัดการที่ต้องปลอดภัยต่อต้นไม้และต่อคนที่จะมาใช้ชีวิตอยู่รอบๆ ต้นไม้นั้น ความยากง่ายจะไม่เหมือนกันตามแต่ละชนิดและสถานการณ์ที่เจอ ดังนั้นประสบการณ์จึงเป็นเหตุผลหลักที่จะช่วยให้การเยียวยาต้นไม้เป็นในทางที่ถูกต้อง

สถานการณ์ปัจจุบันของต้นไม้ในเมืองเป็นอย่างไรบ้าง

ปัญหาต้นไม้ในเมืองดูจะเป็นปัญหาที่ได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ แต่ในฐานะมุมมองคนใน ปู่บอกกับเราว่าทุกวันนี้ดีขึ้นมากแล้วถ้าเทียบกับอดีต

ต้องขอบคุณข่าวการตัดต้นไม้ผิดๆ ที่ถูกพูดถึงและบอกต่อ ทำให้ภาครัฐหลายภาคส่วนเริ่มหันมาใส่ใจต้นไม้ในเมืองกันอย่างจริงจัง ภาครัฐเริ่มผสานงานกับคนนอกเพื่อให้มาช่วยแบ่งปันความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบ ปัจจุบันจึงเริ่มมีการดูแลต้นไม้อย่างเข้าใจมากขึ้นจนเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่ใช่ว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นจะไม่มีปัญหา

การสำรวจต้นไม้ในกรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อนกับปัจจุบันพบว่าในตอนนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามคือจำนวนเจ้าหน้าที่หรือผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่สีเขียว BIG Trees ก็พยายามจัดอบรมเพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถตรงนี้อยู่ตลอด รวมถึงผู้ใหญ่ที่พยายามจะผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่รัฐบาล แต่ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ดังนั้นจำนวนงานที่มากกว่าจำนวนคนจึงยังคงเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้

สถานการณ์ปัจจุบันของรุกขกรเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากรุกขกรที่ควรจะเพิ่มจำนวนขึ้น มาตรฐานวิชาชีพคือสิ่งที่เหล่ารุกขกรกำลังผลักดัน

ปู่บอกเราว่าตอนนี้ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะผลักดันให้อาชีพนี้มีสมาคมหรือกฎหมายรองรับ แต่ความพยายามในปัจจุบันถูกส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญและกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ รวมถึงหลายหน่วยงานที่เริ่มหันกลับมามองและให้ความสำคัญกับองค์ความรู้รุกขกรรมมากขึ้น ความสนใจนี้เริ่มขยายไปสู่เมืองใหญ่ๆ จนแนวโน้มถือว่าดีมากถ้าเทียบกับเมื่อก่อน อีกทั้งผู้ที่ให้ความสนใจลงเรียนในคอร์สอบรมก็เต็มจนล้นทุกครั้ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกว่าถึงแม้จะต้องใช้เวลา แต่มันยังคงมีความหวังที่อาชีพรุกขกรจะอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐานในสังคมไทย

ภาพสุดท้ายที่รุกขกรอยากเห็นคืออะไร

หลายคนอาจจะพอนึกคำตอบนี้ได้เพราะภาพที่พวกเราทุกคนอยากเห็นคงไม่มีอะไรมากไปกว่าต้นไม้ที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคน

แต่สำหรับเหล่าผู้เยียวยาต้นไม้ ภาพที่พวกเขาคาดหวังนั้นลึกลงไปถึงรายละเอียด เพราะเหล่ารุกขกรต่างอยากเห็นการอยู่ร่วมกันนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืนผ่านแกนกลางแห่งความเข้าใจ สำหรับปู่เอง ภาพที่เขาอยากเห็นคือภาพที่คนในเมืองมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะเข้าใจต้นไม้ได้อย่างแท้จริง สิ่งนี้จะนำมาซึ่งการตระหนักรู้ถึงปัญหาและวิธีจัดการอย่างรู้เท่าทันเวลาเราเห็นต้นไม้ต้นเดียวกัน

ปัจจุบันเราอาจยังเดินไม่ถึงภาพนั้น แต่น่าดีใจที่เหล่ารุกขกรต่างพยายามสร้างการรับรู้ให้ผู้คนอยู่เสมอ กับต้นไม้เอง พวกเขายังคงทำหน้าที่เป็นหมอช่วยเยียวยาและบรรเทาอาการป่วยไข้ของต้นไม้ให้อยู่กับเมืองอย่างมีความสุขเช่นเคย

เพราะสำหรับรุกขกรแล้ว ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการทำให้ต้นไม้ที่สุขภาพไม่ดีกลับมามีสุขภาพดีและยิ้มได้อีกครั้ง

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, นิติพงษ์ การดี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี