ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีตัวตน พ่อแม่บังคับ โดนเพื่อนแบน – ผมควรทำอย่างไร?

‘เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย’

หลายความคิดและความขัดแย้งเกิดขึ้นในหัวเราช่วงวัยรุ่น วุฒิภาวะกับประสบการณ์ที่ยังน้อยทำให้บางครั้งความคิดเหล่านี้นำพาไปสู่ปัญหาใหญ่ เกิดบาดแผลในชีวิตที่ติดตัวไปถึงตอนโต

เราคิดว่าคงดีถ้านำปัญหาชวนปวดหัวของวัยรุ่นไปถามผู้รู้เพื่อให้ได้คำแนะนำที่ตรงเป้ากว่าคิดเอาเอง หลังสอบถามประสบการณ์จากเพื่อนเจน Z และกลั่นกรองจนเหลือ 4 ปัญหาหลัก เราเลยมาคุยและรับคำแนะนำจาก หมอมินบานเย็น – พญ. เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ ผู้ที่ผ่านการให้คำแนะนำวัยรุ่นและผู้ปกครองมาแล้วหลายต่อหลายคน

หากคุณเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งหรือผู้ปกครองของเด็กคนนั้นที่กำลังเจอปัญหาเหล่านี้ นี่คืออีกแง่มุมหนึ่งจากผู้เชี่ยวชาญที่เราอยากให้คุณได้ลองอ่าน


“ฉันไม่ชอบสิ่งที่เรียนอยู่เลย แต่ฉันไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร”

“หมอว่ามันธรรมดานะ ตอนเป็นเด็กเราอาจจะอยากเป็นในสิ่งที่เราคิดว่ามันเท่ แต่พอโตขึ้น มันมีบริบทอื่นๆ เข้ามา เช่น ความคาดหวังจากพ่อแม่และสังคม ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ได้มาก ก็ไม่แปลกเลยที่วัยรุ่นจะยังไม่รู้จักตัวเอง

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอบริบทต่างๆ เข้ามา สิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เด็กทุกคน ความฝันของเด็กบางคนอาจไม่ใช่ความร่ำรวย ไม่ใช่ชื่อเสียง การไปขีดเส้นให้เด็กมากเกินไปทำให้เด็กรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เป้าหมายของฉัน ฉันไม่ได้เลือก ซึ่งนำมาสู่การไม่รู้จักตัวเอง เพราะฉันรู้สึกว่าพ่อแม่และสังคมรู้จักฉันดีกว่า

“หมอว่ามันมีทางเลือกนะคะ การเลือกที่จะทนกับความคาดหวังของพ่อแม่ก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดี เด็กหลายคนเรียนตามที่พ่อแม่คาดหวังและสุดท้ายชอบสิ่งนั้น แต่ก็มีเด็กที่พอเรียนไปแล้วไม่ไหวจริงๆ หมอคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องทนอยู่กับมัน ลองออกมาเลือกคณะใหม่มั้ย หรืออาจจะไปเรียนเพิ่มในสิ่งที่เราชอบ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับพ่อแม่ให้เข้าใจและร่วมกันไตร่ตรองเพื่อเลือกทางที่เหมาะ เราอายุเท่านี้เอง ยังมีทางเลือกอีกเยอะ”

“กรณีแบบนี้นอกจากพ่อแม่ที่ต้องพยายามเข้าใจลูก วัยรุ่นเองก็ต้องเห็นใจพ่อแม่เช่นกัน หมอว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูกนะ เขาห่วงและอยากให้ลูกมีความสุข เลยเอาไม้บรรทัดแห่งความสุขของเขามาวัดเรา สิ่งที่เราต้องทำก็แค่อธิบายว่าความสุขของฉันไม่ได้อยู่ที่ไม้บรรทัดอันนี้ ค่อยๆ พูด ค่อยๆ เข้าใจ ฟังเขาให้มาก เขาห่วงตรงไหนก็ลองให้เขาอธิบาย เราจะคุยกับเขาได้ง่ายขึ้น

“บางครั้งมันอาจไม่ได้จบที่ความเข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็สร้างโอกาสให้เราได้ทำให้เขาเห็น ว่าเรามีความสุขได้โดยที่ไม่ตรงกับความคาดหวังเขา ดังนั้นการที่ยังไม่รู้ว่าชอบอะไรหรือเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ มันไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ชีวิตเราผิดกันได้ ไม่ใช่ว่าเราตัดสินใจกันวันนี้แล้วมันจะเป็นอย่างนั้นตลอด สุดท้ายหมอเชื่อว่าพ่อแม่พร้อมอยู่เคียงข้างลูก ขอแค่เราสื่อสารกับเขาให้เข้าใจ”


“ผมไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับที่บ้าน ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับที่ไหนเลย”

“ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หลักๆ คือช่องว่างระหว่างวัย (generation gap) มุมมองความคิดของคนยุคหนึ่งกับอีกยุคบางทีต่างกัน อีกอย่างคืออย่าลืมว่าเราเป็นคนละคนกัน ดังนั้นเรากับพ่อแม่คิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

“ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งแบบนี้เข้าใจได้ถ้าจะเกิดขึ้น หลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนเด็ก เราอาจยังไม่ได้คิดอะไร แต่พอโตเป็นวัยรุ่น พัฒนาการทางความคิดเรามากขึ้น การคิดเชิงเหตุผลตรรกะก็เริ่มมากขึ้น มุมมองต่างๆ จากคนรอบข้าง ประสบการณ์ดี-ไม่ดีที่เราสัมผัสก็ทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนและมองพ่อแม่เปลี่ยนไปได้”

“คำถามต่อมาคือความไม่เหมือนกันตรงนี้ เราจะยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้หรือเปล่า ถ้าเป็นครอบครัว เราก็ต้องสื่อสารความรู้สึกกันอย่างจริงใจ หมอคิดว่าความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งกับที่ไหน มันคือการที่เรารู้สึกจริงใจกับที่ตรงนั้นได้ เราเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเราแบบไม่ต้องเฟค กับครอบครัวก็น่าจะเป็นแบบนั้น เราควรจะเปิดเผยกับเขาได้

“หมอคิดว่ามันไม่สายไปหรอกที่จะคุยกัน เพียงแต่เราต้องมองหาอะไรลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ การไปหาจิตแพทย์ร่วมกันก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะบางทีตัวเราก็ไม่รู้ตัวว่าไม่พอใจหรือเกลียดอะไรบางอย่างในตัวพ่อแม่ เราต้องรู้ความไม่พอใจนี้ก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจและยอมรับตัวเองเราก็ไม่มีวันจะไปเข้าใจพ่อแม่เลย คนเรามีทั้งจุดดีและไม่ดี ทั้งพ่อ แม่ เรา หรือคนรอบข้าง ทำไมเราถึงเอาจุดไม่ดีบางจุดมาตัดสินว่าเราไม่รักเขาแล้ว ไม่เคารพเขาแล้ว จริงๆ มันมีปัญหาอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่าที่เราต้องปรับต้องแก้”


“ผมไม่ใช่ผู้ชาย และพ่อแม่ไม่เข้าใจ”

“หมอคิดว่าการเป็น LGBT ไม่ใช่สิ่งผิด เราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง ไม่ได้เบียดเบียนคนอื่นและไม่ได้เบียดเบียนตัวเอง การที่เราเลือกจะเป็นอะไร เป็นเพศไหน เป็นสิทธิของเรา เพียงแต่การยอมรับในสังคมทุกวันนี้ถึงจะมากขึ้น คนที่ยังคงดูถูกและไม่เข้าใจ LGBT ก็ยังมี ทุกวันนี้พ่อแม่ที่พาลูกมาหาจิตแพทย์เพราะการเป็น LGBT ก็ยังคงมี”

“แต่ในมุมพ่อแม่ที่มา หมอคิดว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ดูถูกเหยียดหยามลูกเลยนะ ส่วนใหญ่ที่เหมือนกันคือความเป็นห่วง เขาห่วงว่าลูกต้องเจอกับอะไร โตขึ้นลูกจะเป็นยังไง เพียงแต่วิธีการแสดงออกของเขาอาจจะไม่ตรงใจเราเท่าไหร่ สิ่งที่หมอทำคือต้องให้ความมั่นใจกับพ่อแม่ว่าการที่ลูกเป็น LGBT ไม่ได้แปลว่าชีวิตที่เหลือของเขาจะแย่ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ LGBT อยู่ในสังคมได้คือการยอมรับตัวเอง ไม่มองว่าตัวเองผิด ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับสิ่งที่ตัวเองเป็นและมีคนรอบข้างที่เข้าใจเขา สิ่งนี้จะทำให้เขาผ่านอุปสรรคไปได้แม้ว่าคนภายนอกเหยียดหยามเขายังไง ขอแค่เขากลับบ้านมาแล้วคนรอบข้างเข้าใจเขาก็พอ”


“ผมโดนแบน”

“ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งมีมานาน และหมอคิดว่ามันแก้ไม่ได้ด้วยตัวคนเดียวแน่ๆ ทั้งระบบควรรับรู้และลงมือแก้ไขปัญหานี้ ครู ผู้บริหารและผู้ปกครองควรมองเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง ไม่ใช่มองเป็นเรื่องเล็กว่าเด็กแกล้งกันเป็นปกติ

“ตัวอย่างเช่นประเทศฟินแลนด์มีสิ่งที่เรียกว่า ‘KiVa antibullying program’ เขาจะสอนเด็กตั้งแต่อายุยังน้อยโดยมีเกมให้เล่น เกมนี้จะสอนว่าคนที่แกล้งคนอื่นรู้สึกยังไง คนที่โดนแกล้งจะรู้สึกยังไง และคนที่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวจะรู้สึกยังไง ทำให้เราเห็นมุมมองและเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น ทั้งครูและพ่อแม่ต่างสนับสนุนและเข้าใจโปรแกรมการสอนนี้ซึ่งทำให้การกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียนลดลงจริงๆ นอกรั้วโรงเรียน พ่อแม่ก็สอนทักษะจัดการเวลาถูกแกล้ง เขาใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์แก้ปัญหานี้ได้

“กลับมามองที่ประเทศเรา หมอคิดว่าเราต้องแก้ไขกันอีกเยอะ ส่วนใหญ่ตอนนี้เวลาเด็กถูกแกล้งแล้วบอกครู ครูก็จะบอกว่าเฮ้ย ไม่เห็นมีอะไรเลย ต้องมาบอกครูด้วยเหรอ เด็กเลยต้องแก้ปัญหากันเองโดยรวมกลุ่มหรือตอบโต้ออกไปบ้าง แต่หมอคิดว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันนะ เราต้องสร้างความตระหนัก ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของเด็กคนเดียว”


“เด็กสมัยนี้จะอะไรกันนักกันหนา ทนๆ ไปเถอะ คนอื่นเขาก็ผ่านกันมาทั้งนั้น”

“หมอเองก็เคยได้ยินคำพูดนี้เหมือนกัน มันเป็นชุดความคิดที่ส่งทอดกันมา ตัวหมอไม่เห็นด้วยนะ ถ้าเป็นอะไรที่ไม่ดี ทำไมเราถึงต้องทนล่ะ? การที่มีคนทนมาก่อนหน้านั่นก็เป็นทางเลือกที่เขาเลือกเอง ถ้าเราเกิดเลือกที่จะไม่ทนและเลือกที่จะทำอะไรสักอย่างก็เป็นสิทธิของเราเหมือนกัน ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันเราก็จะมีแนวร่วม แต่ถ้าทุกคนเลือกที่จะทน พอมีลูกหลานก็ให้ทน ปัญหาเหล่านี้ก็จะประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่”

ถามจริงๆ ว่าเราอยากให้มันเป็นแบบนั้นเหรอ?

ภาพประกอบ Faan.peeti

AUTHOR