โอนิกิริ – ปรากฏการณ์ปั้นความสุขของเหล่าโอตะที่อยากผลักดันไอดอล BNK48 ให้ถึงฝัน

BNK48 ไม่ได้มี 48 คน

สิ่งที่เราทุกคนรับรู้กันแรกๆ ในวงสนทนาหลังเพลง
คุกกี้เสี่ยงทาย แพร่เชื้อไวรัสเอียร์เวิร์มไปทั่วบ้านทั่วเมือง ความบันเทิงจากวัฒนธรรมใหม่ที่ทุกคนกำลังทำความเข้าใจ ไอดอลที่มีจุดขายเป็นพัฒนาการและเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างทาง ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ทั้งหมดของวง แต่ยังมีจักรวาลที่เพิ่งสร้างจากความสัมพันธ์ระหว่างไอดอลกับแฟนคลับที่ให้เราติดตามเพิ่มขึ้นมาอีก

แฟนคลับหลายคนเริ่มสร้างสถานะเป็นแหล่งผลิตคอนเทนต์ใหม่ เกิดเป็นปรากฏการณ์สื่อหลากหลายรูปแบบจากแฟนคลับ ทั้งเพลงที่แต่งขึ้นให้ไอดอลแต่ละคน บุ๊กเล็ตที่แจกเป็นของที่ระลึก หรือแม้แต่การทำป้ายอวยพรวันเกิดติดที่สถานีรถไฟใต้ดิน ทั้งหมดทำให้คนทั่วไปได้ลองเปิดใจทำความรู้จักเด็กกลุ่มหนึ่งที่พวกเขาหลงรักและหวังช่วยเพิ่มศักยภาพของไอดอลมากกว่าแค่สถานะผู้ติดตาม

“เรามีความคิดว่าอยากแต่งเพลงจากเฌอปรางอยู่แล้ว เพราะจากมุมแฟนคลับ เราได้เห็น ได้รับพลังงานบางอย่างจากผู้หญิงคนนี้จริงๆ อย่างงานจับมือรอบล่าสุดที่ปกติจับมือได้ครั้งละใบ แต่ครั้งนี้มีรอบรวมบัตรที่ทำให้มีเวลาพูดมากขึ้น เรามีโอกาสได้พูดในสิ่งที่คิดมากขึ้น ภาพของเฌอที่เรามอง พอเราได้พูดตรงนั้นกับเขาจริงๆ มีเขายืนฟังอยู่ข้างหน้า เรารู้สึกว่าพลังงานบวกตรงนี้ต้องเอาไปต่อยอด เหมือนกับวาดรูปแฟนอาร์ต แต่ต่างตรงที่เราเป็นคนทำเพลง เลยกลายมาเป็นงานตรงนี้” มาร์ก เจ้าของเพลง
แคปเฌอ (Capture) เล่าถึงเหตุผลในการทำเพลงให้เฌอปราง BNK48 ให้เราฟัง

แต่ถ้าเหตุผลที่ง่ายที่สุดนั้น มาร์กแค่บอกเราว่า “ก็เป็นโอชิ (คนที่ชื่นชอบ) อ่ะ”

การตกผลึกผ่านเวลา บทเพลงที่กลั่นกรองออกมาเป็นตัวแทนของความรัก ความชื่นชอบที่มีต่อไอดอล อีกทั้งสไตล์ เนื้อหาของเพลง องค์ประกอบที่บ่งบอกถึงตัวตนของเมมเบอร์นั้นๆ ได้แบบตรงไปตรงมา จนเราสามารถพูดได้ว่า ‘เพลงที่แฟนคลับแต่งให้ไอดอลก็คือตัวตนของไอดอล’ ได้ไม่ยาก ความชื่นชอบในลักษณะนี้ถือเป็นความสัมพันธ์ต่อแฟนคลับที่มีโอชิคนเดียวกัน เราอาจจะไม่อินกับเพลงอีกสิบกว่าเพลงตอนนี้หรือหลังจากนี้ของสมาชิกในวงคนอื่นเท่าเพลงของโอชิตัวเอง ทำให้เพลงที่แฟนคลับแต่งให้เมมเบอร์เองก็เป็นตัววัดความนิยมว่าฐานแฟนมีจำนวนมากน้อยเพียงใดอีกด้วย

“ด้วยความที่แฟนคลับของ BNK48 หลายคนหลายกลุ่มพร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อส่งผ่านความรู้สึกดีๆ กลับไปให้ไอดอลอยู่แล้ว เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงก่อนงานจับมือก็เป็นโอกาสดีที่จะลองทำอะไรให้น้อง เป็นอะไรที่สนุกด้วย เพราะเราพูดไม่เก่งเหมือนมิวสิคด้วย ถ้าไปพูดในงานจับมือคงสื่อความรู้สึกให้น้องได้ไม่ดีพอ เลยเลือกทำอะไรก่อนงานจับมือซะเลย” คือประโยคบอกความเชื่อมโยงเล็กๆ ของมิวสิค BNK48 กับวิว หนึ่งในทีมทำ
How to Listen to Music Vol.1 บุ๊กเล็ตที่ระลึกสำหรับแจกให้แฟนคลับที่มางานจับมือมิวสิค หนึ่งในของที่ระลึกกว่าร้อยชนิดทั้งตุ๊กตากระดาษ 3D เข็มกลัด การ์ดเกม พวงกุญแจ ฯลฯ จำนวนเกินหมื่นที่เหล่าแฟนคลับสร้างสรรค์ขึ้น อีกทั้งวิวเองก็ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพลง คุณพระอาทิตย์ ที่แต่งให้มิวสิคอีกด้วย

ความพิเศษเหล่านี้เกิดจากการมองภาพไอดอลเหล่านี้เป็นตัวแทนของความฝันหรือภาพหวังบางอย่างสำหรับตัวเอง ตามคำที่เรามักได้ยินในหมู่แฟนคลับเสมอๆ อย่าง “โอชิเป็นอย่างไร โอตะ (แฟนคลับ) ก็เป็นอย่างนั้น” ด้วยจำนวนสมาชิกวงกว่า 28 ชีวิต เราจึงค้นพบความเป็นตัวเองอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งจากเมมเบอร์สักคนเสมอ (และอาจพบตัวเองในรุ่น 2 ที่กำลังจะมาอีก 30 คน) รายการเรียลลิตี้ที่ไม่มีตอนจบรายการนี้จะยังเปลี่ยนฤดูกาลไปในทุกซิงเกิล ให้เราคอยผลักดันสิ่งที่คิดว่าเป็นศักยภาพที่มีอยู่ในเมมเบอร์แต่ละคนให้ขยับขึ้นยอดพีระมิดไป ดังที่เราเห็นปรากฏการณ์ห้างแตกตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดในการต่อแถวซื้อของที่ระลึกของวงทุกครั้งที่มีโอกาส

เรื่องทำป้ายมันเริ่มมาจากพวกเราประชุมกันว่าจะทำโปรเจกต์อะไรในวันเกิดปูเป้ดี ก็มีเสนอกันมาหลายอย่างแต่ก็เดิมๆ ซึ่งมันจำเจ แต่มีน้องคนหนึ่งในกลุ่มที่เป็นติ่งเกาหลีมาก่อน เสนอให้ทำป้ายแฮปปี้เบิร์ธเดย์ที่รถไฟฟ้า ไอเดียต่อมาเลยต่อยอดขึ้นไปอีกว่าอยากให้มันเป็นมากกว่าป้าย ให้เป็นมีเดียเพื่อเพิ่มพื้นที่สื่อ เพื่อให้คนเห็น ชอบ และมาติดตามปูเป้ได้มากขึ้น บวกกับเรื่องราคาก็ไม่ได้แพงมาก ช่วงอีเวนต์ระหว่างทางก่อนวันเกิดปูเป้ตั้งแต่ช่วงสิงหาคม เราเลยทำถุงผ้าเพื่อขายเอาเงินบริจาคมาทำโปรเจกต์นี้อย่างที่ได้เห็นตอนเดือนมกราคมที่ผ่านมา” ผู้ออกแบบป้ายไวนิลให้กับแฟนด้อม ‘ฝูงเป็ดแฟมิลี่’ ของปูเป้ BNK48 เล่าให้เราเห็นถึงการสร้างความเหนียวแน่นและความแข็งแกร่งของกลุ่ม อีกทั้งยังหวังดึงคนใหม่ๆ เข้ามาตามโอชิของตัวเองเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ในการเชียร์ไอดอลที่ชื่นชอบซึ่งคล้ายกับการเชียร์ทีมกีฬาที่ตัวเองรัก

ประโยคอย่าง ‘ของมันต้องมี’ ที่แฟนคลับใช้เป็นเหตุผลพื้นฐานในการอุดหนุนสินค้าของวง ฝูงเป็ดแฟมิลี่ทำให้เราคิดว่าอาจต้องเพิ่มคำว่า ‘ของมันยังไม่เคยมี’ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนโอชิอีกวิธีหนึ่ง

โปรเจกต์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงด้านหนึ่งในการสนับสนุนเหล่าไอดอลวง BNK48 ที่กำลังเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในไทย ซึ่งยังมีเหล่าช่างภาพและชาววิดีโอแฟนแคมเป็นหน้าด่านคอยดึงผู้คนใหม่ๆ เข้ามาสนใจในไอดอลวงนี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง เตรียมขุมกำลังในการแข่งขันที่แท้จริงของ ‘ซิงเกิลเลือกตั้ง’ ซิงเกิลวัดความนิยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ถือเป็นที่สุดของการเป็นไอดอลนามสกุล 48 ไม่นานต่อจากนี้

“ให้เธอได้ก้าวเดินต่อ ก้าวเดินต่อ หัวใจ

ให้เราได้ฝันกันต่อ ฝันกันต่อ แสนไกล

วันนี้ได้ร้องเพลงอยู่ ร้องเพลงอยู่ หัวใจ

เฝ้ารอแค่ สักวันหนึ่ง สักวันหนึ่ง ไม่ไกล”

คำนิยามง่ายๆ ของไอดอลสำหรับแฟนคลับคงแปลว่า ‘ความสุข’ แต่เพราะความสุขนั้นไม่ได้มีเพียงไอดอล เราจึงตีความและสร้างสรรค์ความสุขออกมาได้ไม่จำกัดรูปแบบ ซีรีส์ความยาวหนึ่งช่วงชีวิตความฝันนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงไอดอลผู้เดินตามความฝัน แต่ยังมีแฟนคลับที่เดินตามและคอยสนับสนุนอีกทอดคอยประกอบเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน กลายเป็นจักรวาลคู่ขนานที่ทำหน้าที่เป็นดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ดึงดูดซึ่งกันและกันไว้

ถ้าให้เราตอบแบบขำๆ ว่าทำไมแฟนคลับถึงต้องทำอะไรเพื่อไอดอลนักหนา

ก็คงเป็นเพราะ BNK48 ไม่ได้มี 48 คนนั่นแหละ

AUTHOR