หน้าหนาวที่แล้วยังจับผู้ร้ายไม่ได้ แล้วจะฝากความหวังไว้ที่ไหนในฤดูฝุ่นปีหน้า

อีกไม่กี่อึดใจเราก็จะผ่านฤดูกาลแห่งฝุ่นละออง กลับมามีท้องฟ้าสดใสเมื่อมองด้วยตาเปล่า เรื่องราวของ PM 2.5 จะกลายเป็นปัญหาของหน้าหนาวที่แล้ว และถูกดันลงไปต่อท้ายแถว รอคิวกลับมาให้เรากังวลใหม่ในปีหน้า

ไม่ต่างอะไรกับอีกหลายๆ ปัญหา หากสืบเสาะเรื่องมลภาวะทางอากาศในกรุงเทพฯ ไปเรื่อยๆ ก็จะเจอกับเรื่องราวคุ้นๆ อย่างความเนิ่นนานในการจัดการของรัฐ การบังคับใช้ไม่ได้จริงของกฎหมาย การที่รัฐรู้ว่าปัญหาคืออะไรแต่ก็ไม่มีทางเลือกทางเลี่ยงไว้รองรับ จะต่างกับอีกหลายปัญหาในเมืองอยู่หน่อยก็ตรงที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กในเมืองใหญ่นี้ส่งผลกระทบอย่างเท่าเทียมกันกับทุกคนที่ยังหายใจ

แทนที่จะปล่อยลมฤดูร้อนพัดพาให้วิกฤตนี้จบไปอย่างไร้ทางออก เราจึงอยากชวนมองย้อนกลับไปยังหน้าหนาวที่แล้วเพื่อเรียนรู้ว่าเราจะอยู่กับฝุ่นในปีหน้าให้ดีกว่าปีนี้ได้อย่างไร และกรุงเทพฯ ควรเดินไปทางไหนต่อ

ค่าฝุ่นที่เห็นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

ท้องฟ้าขมุกขมัวมองไประยะไกลไม่เห็น ทำให้คนกรุงเทพฯ ตื่นตัวเข้าเว็บไซต์เช็คคุณภาพอากาศกันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อนจะพบว่าค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เข้าใจกันว่าวิกฤตมลภาวะในอากาศปีนี้รุนแรงกว่าที่เคยเป็น แต่หากลองไปนั่งคุยกับหลายฝ่ายที่ตามศึกษาเรื่องนี้มาเป็นปีๆ จะพบว่าไม่ใช่อย่างที่คิด

ไม่ใช่ว่าอากาศไม่แย่เพียงแต่มันแย่แบบนี้เสมอมาหลายปีแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมแต่ไม่เคยมีใครบอกเราต่างหาก

สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย อธิบายว่าปกติอากาศบริเวณที่ร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นเพื่อให้อากาศเย็นเข้ามาแทนที่ แต่ช่วงหน้าหนาว อากาศเย็นจากด้านล่างลอยขึ้นไประดับหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้เพราะไปเจอกับอากาศข้างบนที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าจึงร้อนกว่า กลายเป็นสภาวะที่เหมือนมีฝาชีครอบมลภาวะที่มีเยอะเป็นปกติอยู่แล้วไม่ให้กระจายตัวไปไหน

ส่วนที่ปีนี้เรามองเห็นมลภาวะได้ชัดและนานต่อเนื่องกว่าทุกปี สนธิบอกว่าเป็นเพราะอากาศนิ่ง “ทุกปีอากาศเย็นแล้วยังมีลมพัด แต่ปีนี้อากาศเย็น มีละอองน้ำหรือความชื้นสัมพัทธ์สูง แต่ลมนิ่ง”

ในวิกฤตมีโอกาส สิ่งที่แลกมากับอากาศไม่บริสุทธิ์จนทำให้ใครหลายคนป่วยเมื่อต้นปีก็คือความเข้าใจเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นกับคำนี้ เราขออธิบายสั้นๆ ว่า มันคือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่าเส้นผมลงไปอีก 25 เท่า มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า กรองไม่ได้ด้วยขนจมูก และสามารถซอกซอนเข้าไปในกระแสเลือดจึงก่อให้เกิดได้หลายโรคโดยเฉพาะกับระบบทางเดินหายใจ

วิกฤตฝุ่นรอบนี้ทำให้ทั้งสื่อ นักวิชาการและ NGO ต่างร่วมกันออกมาให้ความรู้ว่า มีฝุ่นขนาด PM 2.5 ที่ตามองไม่เห็นแต่จำเป็นต้องตรวจวัดเพื่อระบุคุณภาพอากาศให้ถูกต้องอยู่

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้รวมค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ แม้ว่าจะมีสถานีที่ตรวจวัดได้อยู่แล้ว 26 สถานีใน 18 จังหวัด โดยให้เหตุผลว่ายังคงตรวจได้ไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะนำมารวม นั่นทำให้หลายครั้งอากาศคุณภาพแย่แต่ดัชนีคุณภาพอากาศก็ยังบอกว่าอยู่ในระดับดีหรือปานกลาง

เมื่อฝุ่นละอองปกคลุมท้องฟ้าจนกลายเป็นกระแสสังคมในเดือนมกราคม กรมควบคุมมลพิษจึงเริ่มเผยแพร่ปริมาณฝุ่น 2.5 ที่ตรวจวัดได้จาก 5 สถานีในกรุงเทพฯ ในแต่ละวัน แต่สนธิบอกว่าค่าเหล่านั้นก็ยังไม่ใช่ภาพแทนที่ถูกต้องเพราะเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ค่าแบบเรียลไทม์ จึงเป็นการแจ้งผลย้อนหลัง กว่าเราจะทราบ ภาวะอากาศแย่ก็อาจจะผ่านไปแล้ว ซ้ำร้ายสถานที่วัดก็เป็นพื้นที่ที่ยังไงก็ฝุ่นเยอะอยู่แล้วด้วย

“สถานีที่วัดของกรมควบคุมมลพิษคือริมถนน USEPA (องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา) เขาบอกว่า ถ้าจะบอกว่ากรุงเทพฯ มีปัญหารุนแรง ต้องตรวจวัดห่างจากถนน 100 เมตร เราไปวัดริมถนนก็ได้แต่ฝุ่นริมถนนนั่นแหละ แล้วเราก็ไปออกข่าวว่าเป็นตัวแทนของกรุงเทพมหานคร”

ตัวอย่างการรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 โดยกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานีส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมถนน

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

หลากผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ถูกเอาผิด

แม้สภาพทางอุตุนิยมวิทยาในหน้าหนาวจะเป็นตัวกระตุ้นหลักที่ปัดฝุ่นใต้พรมออกฟุ้งให้เราเห็นบนท้องฟ้า แถมกรุงเทพฯ เองก็มีตึกสูงมากมายขัดขวางทิศทางลม แต่นั่นก็ไม่ใช่ผู้ร้ายตัวจริงที่ผลิตฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้นมา แล้วอะไรกันคือสาเหตุที่แท้จริงของฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ

งานนี้มีผู้ต้องสงสัยยืนเรียงรายให้ชี้ตัวอยู่หลายราย และด้วยความที่ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลในส่วนกลางจริงจังว่าฝุ่นละเอียดในกรุงเทพฯ มีที่มาจากไหนมากที่สุด การกล่าวโทษผู้ร้ายจึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะถามใคร

หากถาม ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เขาเห็นตรงกับสนธิและมีงานวิจัยหลายชิ้นมารองรับว่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรเป็นหลัก ทั้งการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของของเครื่องยนต์ดีเซล และการที่รถเคลื่อนตัวได้ช้าเพราะจราจรติดขัด

หากไปถามนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ก็อาจจะได้คำตอบว่าสาเหตุสำคัญมาจากการที่ประชาชนเผาตอซังฟางข้าว วัสดุเหลือใช้ในไร่นาต่างๆ ในช่วงนี้เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญในภาคเหนือ แต่อาจไม่ใช่ตัวการใหญ่นักในกรณีของกรุงเทพฯ ปีที่ผ่านมา เพราะแผนภาพจุดความร้อน (Hotspot) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไม่ปรากฏว่ามีการเผาไหม้บริเวณใกล้ๆ กรุงเทพฯมากเท่าไหร่นัก

แผนที่การประมาณค่าเชิงพื้นที่ของจุดความร้อน (Hotspot) ตรวจหาจากข้อมูลดาวเทียม TERRA-AQUA ระบบ MODIS แบบจำลอง MOD14 วันที่ 12 และ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ตรวจวัดได้เกินค่ามาตรฐานอย่างมากในกรุงเทพฯ ที่มา: ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือ

หากถาม ประพัทธ์พงษ์ อุปลา จากสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ เขาเห็นว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมากมายในกรุงเทพฯ ทั้งการสร้างคอนโดและรถไฟฟ้าเส้นใหม่ๆ น่าจะเป็นตัวการสำคัญของวิกฤตฝุ่นละอองปีนี้ เพราะหลายแห่งไม่ได้มีรั้วกั้นสูง 2 เมตรพร้อมผ้าคลุม และไม่ได้ราดน้ำล้างฝุ่นตามหลักการที่ควรจะเป็น

หากถาม Greenpeace พวกเขาบอกว่าอย่าลืมว่า PM 2.5 ตกค้างอยู่บนอากาศได้นานและลอยไปได้ไกล ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมามีพบว่ามีจุดความร้อน (Hotspot) ซึ่งบ่งชี้ว่าบริเวณนั้นน่าจะมีการเผาไหม้จากฝั่งกัมพูชาเป็นบริเวณกว้าง มลพิษข้ามพรมแดนจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้

แผนภาพจากข้อมูลดาวเทียมแสดงจุดความร้อน (Hot Spots) และทิศทางลมในวันที่ 11 มีนาคม 2561 โดยกรุงเทพฯสามารถวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้สูงเกินมาตรฐานมากในช่วงวันที่ 11-12 มีนาคม 2561 ที่มา: ASEAN Specialised Meteorological Centre

แต่หากถามคนเชียงใหม่ที่อยู่กับปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว คำตอบที่เราได้รับคือ “ถ้ายังหาตัวผู้ร้ายไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปชี้ว่าใครเป็นแพะ”

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าวิกฤตในกรุงเทพฯ ปีนี้มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ไม่เหมือนกับกรณีของเชียงใหม่ที่หลังจากเผชิญกับปัญหาหมอกควันมาเป็นสิบปีก็ระบุได้แน่ชัดแล้วว่าสาเหตุใหญ่มาจากการเผาในที่โล่งเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร การด่วนสรุปโดยไม่เก็บข้อมูลให้แน่ชัดไม่สามารถพาเราไปสู่ทางออกที่ถูกต้องได้จริง “ตอนนี้เราตัดสินใจบนข้อมูลที่น้อย เราต้องเก็บข้อมูลให้เยอะขึ้น ข้อมูลจะทำให้ภาครัฐตัดสินใจได้ถูกต้อง”

รู้ข้อมูลแล้วจะช่วยอะไร

ปัจจุบันดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยคำนวณจากความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 5 ชนิดคือ ก๊าซโอโซน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) โดยไม่ได้รวมฝุ่นขนาด PM 2.5 เข้าไปด้วย ส่วนมาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ที่เรามีอยู่ก็ต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด กล่าวคือ องค์กรอนามัยโลกกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไทยเรากำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้นผลการวัดส่วนใหญ่ของเราจึงออกมาว่า “ไม่เกินมาตรฐาน”

เมื่อหลายคนรู้ว่าดัชนีที่เราเห็นจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษไม่ได้สะท้อนสภาพอากาศที่แท้จริง เราก็เริ่มเห็นผู้คนในโลกออนไลน์หันไปพึ่งดัชนีจากเว็บไซต์ aqicn.org จากประเทศจีนกันบ่อยขึ้น เพราะมีการคำนวณรวมปริมาณฝุ่น PM 2.5 เข้าไปด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วเว็บไซต์นี้ก็ดึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษไปแปลผล

“ถ้าเว็บจีนทำได้ เว็บของกรมก็ควรทำได้” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ จาก Greenpeace บอก “สิทธิในการหายใจเข้าไปเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เรามีสิทธิจะรู้ว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปมีมลพิษแค่ไหน”

เก็บข้อมูลแล้วเผยแพร่ให้มากขึ้นช่วยอะไรได้ เศรษฐ์อธิบายโดยยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ปัญหาฝุ่นละอองในเชียงใหม่ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับปัญหารถติดในกรุงเทพฯ “เราแก้รถติดไม่ได้ แต่เราจะอยู่กับรถติดได้อย่างไร เช่นเดียวกัน เราอยู่กับฝุ่นมา 10 ปี ทุกคนรู้ว่าเกิดจากอะไรแต่แก้ไม่ได้ แล้วเราจะอยู่กับสภาพที่เกิดหมอกควันทุกปีโดยไม่ป่วยได้อย่างไร เราต้องมีข้อมูลที่จะบอกว่าคนต้องดูแลตัวเองอย่างไรในบริเวณที่เขาอยู่ เพื่อเตือนให้คนใส่หน้ากากเหมือนที่เราเตือนให้คนใส่หมวกกันน็อค”

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าเมืองที่เผชิญปัญหาสภาวะหมอกควันพิษมายาวนานอย่างเชียงใหม่ ปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งโดยกรมควบคุมมลพิษเพียง 4 แห่ง หลังรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐมายาวนาน ในที่สุดผลกระทบทางเศรษฐกิจก็ผลักให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกด้วยตัวเอง หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เดินเข้าไปหาเศรษฐ์ด้วยโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เชียงใหม่มีเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ครอบคลุมและเตือนคนได้ทันท่วงที

ในการเปิดตัวเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เชียงใหม่จึงกลายเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่มีดัชนีคุณภาพอากาศภาคประชาชน หรือ People AQI เป็นของตัวเอง โดยคำนวณรวมเอาค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 เข้าไปด้วย

ดัชนีคุณภาพอากาศภาคประชาชน หรือ People AQI ที่รวมเอาค่าฝุ่น PM 2.5 มาคำนวณด้วยโดยแสดงผลเป็นแถบสี

ที่มา: CCDC: Climate Change Data Center

ข้อมูลนั้นเก็บจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กชื่อน่ารักว่า DustBoy ที่ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ตรวจวัดได้ทั้ง PM2.5 และ PM 10 ที่เป็นฝุ่นขนาดใหญ่กว่า โดยตอนนี้ติดตั้งไปแล้ว 6 แห่งในเชียงใหม่และวาดฝันจะขยายเป็น 20 แห่งภายในปีนี้ ในจำนวนนี้ 11 เครื่องจะติดตั้งที่โรงพยาบาลในเชียงใหม่ เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของฝุ่น PM 2.5 กับกลุ่มโรค 4 โรค ได้แก่ ผิวหนัง ตา ทางเดินหายใจ และเลือด

“หอการค้าเขาเลือกสถานที่ที่คนเยอะและมีการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นที่ติดตั้งสถานี เช่น โรงเรียนอนุบาล บ้านพักคนชรา ตลาดวโรรส สนามกีฬาเทศบาลฯ รวมถึงด้านหน้าหอการค้าเอง” เศรษฐ์เล่า “ปีนี้เป็นปีแรกที่เราลองทำเครื่องเล็ก เพราะเราคิดว่าต้องราคาถูกเพื่อให้กระจายได้ทุกตำบลหรือทุกชุมชนยิ่งดี เมื่อเรามีสถานีเยอะ เราก็จะสามารถทำ ซิมูเลชัน ทำโมเดลอากาศได้เหมือนที่ญี่ปุ่นสามารถพยากรณ์การบานของซากุระหรือการพัดพาของเกสรดอกไม้”

เศรษฐ์บอกว่าเขาฝันจะเห็นเชียงใหม่เป็นเมืองที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องรอความหวังจากส่วนกลางเหมือนกับขอนแก่นโมเดล DustBoy เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะนอกจากจะได้ Chiang Mai Maker Club มาช่วยดูแลเซิร์ฟเวอร์แล้ว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็เข้ามาช่วยเสริมเรื่อง LINE Chatbot เพื่อให้เช็กคุณภาพอากาศได้ง่ายยิ่งขึ้นเพียงเพิ่มเป็นเพื่อนกับ @DustBoy แถมข้อมูลทั้งหมดที่เก็บแบบเรียลไทม์ทุก 10 วินาทียังถูกอัพโหลดเป็นบิ๊กดาต้าขึ้นไปบน cloud ให้ผู้สนใจดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก

เศรษฐ์อธิบายว่าการเก็บข้อมูลที่ละเอียดและเผยแพร่ข้อมูลให้เข้าถึงได้ง่ายนี้ วันหนึ่งก็จะย้อนกลับไปให้การศึกษากับคนที่เป็นต้นทางของฝุ่นด้วย

“วันหนึ่งผมลองเอาเครื่องไปตั้งที่เชียงดาว คนเชียงดาวเห็นค่าที่ออกมา เขาจะได้รู้ จะได้เลิกการเผา ปรากฏว่านายอำเภอและผู้ว่าฯ โทรมาให้เอาเครื่องออกเพราะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการท่องเที่ยว”

(ล่าสุดเชียงใหม่เป็นข่าวใหญ่ไปถึงต่างประเทศ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สั่งการให้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กับผู้วาดและผู้เผยแพร่ภาพอนุสาวรีย์สามกษัตริย์สวมหน้ากากป้องกันมลพิษซึ่งวาดขึ้นเพื่อรณรงค์เรื่องคุณภาพอากาศ เมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ลบหลู่และอาจส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ เป็นผลร้ายต่อการท่องเที่ยว)

ฟังดูแล้วการวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ดูเหมือนไม่น่าใช่เรื่องยาก แล้วทำไมกรมควบคุมมลพิษจึงขอเวลาเสียนานถึง 3 ปีกว่าจะติดตั้งเครื่องตรวจได้ครบและพร้อมรวม PM 2.5 เข้าไปในดัชนีคุณภาพอากาศ? เศรษฐ์บอกว่าส่วนหนึ่งแล้วความคล่องตัวของการจัดหาอุปกรณ์ในฝั่งรัฐก็มีต่ำกว่ามาก

ต้นทุนอุปกรณ์ตรวจวัดของเศรษฐ์อยู่ที่เพียงไม่ถึง 20,000 บาท เพราะเขาเลือกใช้เซ็นเซอร์ราคาไม่แพงที่ทดสอบแล้วว่าเที่ยงตรงเทียบเท่ากับที่ USEPA รับรอง แต่สำหรับฝั่งรัฐ กฎหมายกำหนดให้ใช้เครื่องมือที่มีใบรับรองจาก USEPA โดยตรงเท่านั้นซึ่งหากจะเอาชนิดที่ส่งข้อมูลออนไลน์ได้ด้วยก็จะมีราคาแตะหลักล้าน

ข้อมูลผลการจัดซื้อจัดจ้างของกรมควบคุมมลพิษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ระบุวงเงินสำหรับสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 1 แห่งไว้ที่ 7 ล้านบาท ส่วนการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ที่เปิดให้ยื่นซองประมูลเมื่อปลายปีที่แล้วแต่ถูกยกเลิกไป กรมควบคุมมลพิษแจ้งกับเว็บไซต์ The Matter เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่าเป็นเพราะมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เปิดประมูลใหม่

สามเดือนอันตรายต้องใช้มาตรการพิเศษ

กลับมาที่กรุงเทพฯ เมืองที่เหมือนจะได้รับความสนอกสนใจมากกว่าเมื่อฝุ่นในอากาศหนาจนมองยอดตึกไม่เห็น แม้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษจะมีน้อย แต่กรุงเทพมหานครก็ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเองครอบคลุม 50 เขต และมีถึง 24 สถานีที่ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ได้ โดยเริ่มตรวจวัดมาตั้งแต่ปี 2559…แต่ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูล ส่วนปี 2560 นั้น…ไม่ได้รับงบประมาณ ปีนี้สำนักสิ่งแวดล้อมแจ้งว่าได้รับงบประมาณแล้ว และเตรียมจะเผยแพร่ข้อมูลกลางเดือนเมษายน

รู้ข้อมูลแล้วเป็นหลักประกันได้หรือไม่ว่าปลายหน้าหนาวปีหน้า ชาวกทม.จะไม่ต้องป่วยจากฝุ่นละอองอีก?

เหมือนกับที่สนธิ จากชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยบอกว่านี่ไม่ใช่ปีแรกที่ภาวะฝุ่นละอองของกรุงเทพฯ อยู่ในระดับเกินมาตรฐาน อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สุพัฒน์เห็นตรงกันว่าด้วยเงื่อนไขของสภาพอากาศ ภาวะนี้จะวนมาเกิดอีกทุกปีในช่วงเวลาเดิมระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมหรือหลายปีเริ่มตั้งแต่ธันวาคม การจัดการในช่วงเวลาดังกล่าวจึงต้องเป็นไปเพื่อภาวะแบบ ‘อุบัติภัย’ ไม่ต่างจากน้ำท่วม ภัยหนาว ภัยแล้ง ที่ต้องการมาตรการพิเศษมากกว่าแค่ขอความร่วมมือ

“สภาพอากาศเป็นตัวแปรสำคัญในช่วงต้นปี แหล่งกำเนิดไม่ได้เปลี่ยนไปมาก รถก็ยังเท่าเดิม โรงงานอุตสาหกรรมก็ยังเท่าเดิม อาจจะมีเรื่องการเผาเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงนี้ แต่สภาพอากาศในช่วงหน้าแล้งและหน้าหนาวเป็นผลให้มลพิษไม่กระจายตัวออกไป ทำให้เกิดการสะสมอยู่ในท้องฟ้าด้านล่างของกรุงเทพมหานคร มาตรการระยะยาวก็ว่ากันต่อไป แต่ช่วง 3 เดือนที่มีปัญหานี้ต้องทำอะไรที่เป็นพิเศษ” สุพัฒน์กล่าวในเวทีเสวนา หาทางออกร่วมกันในการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ที่กรมควบคุมมลพิษจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา

เขาเห็นว่าในสถานการณ์อุบัติภัย รัฐต้องออกคำสั่งที่จริงจังขึ้นมาใช้เป็นพิเศษเพื่อลดแหล่งกำเนิดมลพิษมากไปกว่าการตั้งด่านตรวจรถควันดำ เช่น ต้องขยายเขตพื้นที่ที่มีการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกรุงเทพฯ ออกประกาศห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ไปจนถึงการจำกัดให้ใช้รถส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ สลับวันกันระหว่างรถที่มีเลขทะเบียนคู่และคี่เหมือนอย่างที่ทำในต่างประเทศ

ยิงปืนนัดเดียวได้ทั้งอากาศที่ดีและเมืองที่น่าอยู่

หากถามว่าในระยะยาว กรุงเทพฯ มีโอกาสเกิดวิกฤตมลภาวะทางอากาศในระดับที่แย่เท่ากรุงปักกิ่ง ประเทศจีนหรือไม่ สนธิบอกว่า “เป็นไปได้ ถ้าเราไม่ทำอะไร”

ไม่ต่างกับปักกิ่ง กรุงเทพฯ มีตึกสูงจำนวนมากทั้งบดบังทิศทางลม ขัดขวางการระบายความร้อน พื้นผิวของเมืองแทนที่จะเป็นต้นไม้ที่คอยช่วยดูดซับมลพิษก็กลับกลายเป็นถนนคอนกรีตที่ดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์แทน จึงทำให้กรุงเทพฯ ร้อนกว่าบริเวณอื่นๆโดยรอบ เกิดเป็นภาวะเกาะความร้อน (urban heat island) เมืองที่ร้อนขึ้นทำให้เราใช้พลังงานมากขึ้นแล้วก็วนกลับมาสร้างมลพิษในอากาศมากขึ้นอีกนั่นเอง

แม้จะเป็นปัญหาฝุ่นละอองเหมือนกัน แต่ความแตกต่างทางลักษณะภูมิศาสตร์และแหล่งกำเนิดของฝุ่น ทำให้แต่ละเมืองต้องมีแผนรับมือกับมลภาวะของตัวเอง และกรุงเทพฯเองก็สามารถยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะการลดความเสี่ยงของปัญหาฝุ่นละอองก็เป็นแนวทางเดียวกันกับการทำเมืองให้น่าอยู่

สนธิบอกว่า หน้าที่หลักของกรุงเทพมหานครในฐานะคนดูแลเมืองคือการจัดวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพ ควบคุมโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน เช่น การมีผ้าใบคลุมการก่อสร้างตึก รถบรรทุกต้องล้างล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ใต้รางรถไฟฟ้าต้องมีพัดลมระบายอากาศ และจัดสรรพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำว่าเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างต่ำ 9 ตาราเมตรต่อประชากรในระยะที่เดินถึงจากที่พักได้ภายใน 15 นาที

“ระยะยาวคือการไปแก้ผังเมืองว่าตึกริมถนนควรจะสูงเท่าไหร่” สนธิบอก “ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ตอนนี้กทม.มีเพียง 5 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้นเอง”

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการมีตัวเลือกในการเดินทางสาธารณะให้ประชาชนอย่างครอบคลุมและไม่แพงจนเกินไปเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงให้น้อยที่สุด แม้จะรณรงค์กันมากแค่ไหน หากรถไฟฟ้ายังราคาสูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ และไม่ครบลูบ นั่งไปแล้วต้องไปต่อแท็กซี่อีกไกล ก็ยากที่จะบอกให้ทุกคนเลิกถอยรถคันใหม่

“จริงๆ แล้วอยากให้ลดที่ต้นเหตุ ถ้าปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นจากคมนาคม ก็ต้องลดการใช้รถในวันที่เรารู้ว่ามีวิกฤตฝุ่นละอองเยอะแล้ว หันมาใช้รถสาธารณะ แต่ถ้ารัฐไม่ได้เอื้อระบบสาธารณะให้ดี คนก็จะใช้ได้ยาก” รัตนศิริ จาก Greenpeace กล่าว “ไม่อยากจะให้คนแค่ใส่หน้ากากเพราะมันเป็นการป้องกันตัวเองที่ปลายเหตุมากๆ เหมือนเป็นการที่ภาครัฐผลักภาระให้ประชาชนดูแลตัวเอง”

AUTHOR