บนข้อมือซ้ายของฉันมีรอยสักเล็กๆ เป็นสัญลักษณ์ ; (semicolon)
เมื่อราวๆ 7 ปีก่อนฉันตัดสินใจจารึกมันไว้บนร่างกายเพื่อเฉลิมฉลองให้กับชีวิต หรือถ้าพูดให้เจาะจงขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองที่ตัวเองลาขาดจากโรคซึมเศร้าที่กัดกินจิตใจและร่างกายมาเนิ่นนาน
ในเชิงไวยากรณ์ ; หมายถึงประโยคที่ยังไม่จบ ประโยคที่ยังมีตัวอักษรและถ้อยคำรอขยายความต่อ
ในเชิงชีวิต ; หมายถึงชีวิตที่ยังไม่จบ ชีวิตที่ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวและผู้คนให้พานพบ ชีวิตที่ยังไปต่อ
แม้ว่าหลังจากวันที่ได้รอยสักนี้มาฉันจะกลับไปเป็นโรคซึมเศร้าอีกหลายครั้ง แต่ฉันก็ยินดีที่มีรอยสักนี้ไว้เตือนใจ วันใดที่รู้สึกว่าชีวิตดำเนินมาถึงจุดจบ–จุดฟูลสต็อป ฉันจะเพ่งมองสัญลักษณ์เล็กๆ บนข้อมือแล้วไล่เรียงเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ในใจ
คงจะอาจหาญไปหน่อยหากฉันเที่ยวไปบอกใครต่อใครว่าฉันเองก็เขียนหนังสือแบบ แด่ผู้แหลกสลาย หรือ Reasons to Stay Alive ได้เหมือนกัน
แต่ฉันก็คิดเช่นนั้นจริงๆ
เปล่าเลย ฉันไม่ได้อยากยกตัวไปเทียบเคียง Matt Haig นักเขียนเลื่องชื่อชาวอังกฤษผู้โด่งดังจากฟิกชั่นหลายเล่มอย่าง The Humans, How to Stop Time และเล่มที่เพิ่งมีฉบับแปลไทยไปไม่นานอย่าง The Midnight Library หรือ มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน
ฉันเพียงแต่รู้สึกว่าเรื่องราวและความรู้สึกของเราช่างคล้ายคลึงกัน ถึงขั้นที่ว่าหากฉันจรดปากกาเขียนเรื่องราวของตัวเองลงบนกระดาษ มันก็คงจะออกมาเป็นอะไรทำนองเดียวกันนี้แหละ
ใน Reasons to Stay Alive แมตต์บอกเล่าประสบการณ์ช่วงที่ตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล เขาเปิดเรื่องโดยพาคนอ่านย้อนกลับไปยังบ่ายวันหนึ่งเมื่อ 14 ปีก่อน แมตต์เรียกวันนั้นว่า “วันที่ผมคนเก่าตาย” เพราะเป็นวันที่ความเจ็บปวดที่เปรียบดั่ง ‘ไฟล่องหนที่ลุกไหม้บนศีรษะ’ นั้นรวดร้าวเสียจนเขาอยากจบชีวิต
แมตต์เดินไปที่หน้าผา แต่ความกลัวรั้งเขาเอาไว้
“การฆ่าตัวตายนั้นไม่ง่ายเลย เรื่องแปลกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าคือ แม้ว่าคุณจะต้องการฆ่าตัวตายมากเพียงใด ความกลัวตายก็ไม่ได้ลดน้อยลง จะต่างออกไปก็เพียงความเจ็บปวดจากการมีชีวิตอยู่ซึ่งทบทวี ดังนั้นเมื่อได้ยินว่าใครฆ่าตัวตาย ขอให้คุณรู้ว่าความตายน่ากลัวสำหรับพวกเขาเช่นกัน”
เชื่อไหมว่าฉันถึงกับต้องหยุดพักเมื่ออ่านมาถึงพารากราฟนี้
แม้ฉันกับแมตต์จะแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ อายุ เพศ พื้นเพ แต่อย่างที่บอก เรื่องราวและความรู้สึกของเราช่างคล้ายคลึงกันเหลือเกิน ช่วงหนึ่งของชีวิตฉันเคยเห็นภาพตัวเองนอนจมกองเลือดซ้ำๆ
แต่โชคดีหน่อย เพราะความขี้ขลาด ฉันเลยยังอยู่ตรงนี้
“ผมยืนตรงนั้นสักพัก รวบรวมความกล้าตาย แล้วค่อยๆ รวบรวมความกล้าที่จะมีชีวิต” แมตต์เล่าต่อ
ฉันเชื่อมโยงได้ทันที แม้จะฟังดูย้อนแย้ง (หรือบางคนอาจจะว่าขี้เก๊กหรือเปล่า เขียนทำเท่ใช่ไหม) แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างฉัน ประโยคนั้นสมเหตุสมผลทุกประการ เพราะเมื่อเราสบตากับความตาย เมื่อนั้นเราสบตากับชีวิต ทั้งชีวิตที่เป็นมาและชีวิตที่มีสิทธิจะเป็นไป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจรวมเป็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่
“ผมคิดว่าชีวิตเสนอเหตุผลของการดำรงอยู่เสมอถ้าเราตั้งใจฟัง เหตุผลเหล่านั้นอาจมาจากอดีต จากคนที่เลี้ยงเรามา เพื่อน คนรัก หรือจากอนาคต นั่นคือความเป็นไปได้ที่เราจะหยุดคิดอยากตาย เช่นนั้นเองผมจึงอยู่ต่อ”
วันนั้นความกลัวรั้งขาแมตต์เอาไว้ก็จริง แต่เป็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ที่ชวนให้เขาหันตัวกลับแล้วทิ้งหน้าผาไว้เบื้องหลัง
ฉันอ่าน Reasons to Stay Alive จบแทบจะภายในวันเดียว ซึ่งต้องยกเครดิตให้แมตต์ผู้บอกเล่าช่วงเวลาที่มืดสุดมืดและลึกสุดลึกในชีวิตได้อย่างสละสลวย มีชั้นเชิง และเปี่ยมด้วยอุปมาอุปไมยราวกับเป็นฟิกชั่นสนุกๆ เล่มหนึ่ง เช่นว่า
ใน ‘บทสนทนาข้ามกาลเวลา’ เขาสมมติให้ตัวเองในอดีตและตัวเองในอนาคตคุยกัน
ใน ‘สิ่งที่ซึมเศร้าพูดกับคุณ’ เขาสมมติให้โรคนี้มีปากมีเสียง (ซึ่งฉันอ่านแล้วรู้สึกว่า โอ้โห เหมือนกับที่โรคซึมเศร้าของฉันพูดกับฉันเป๊ะเลย)
และบางครั้งแมตต์ก็ทั้งตลก ทั้งประชดประชันอย่างร้ายกาจ เช่นใน ‘สิ่งที่คนมักพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่ไม่พูดในสถานการณ์ร้ายแรงถึงตายอื่นๆ’ เขายกตัวอย่างไว้ว่า
“ทำไมถึงคิดว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารล่ะ”
“อา เยื่อหุ้มสมองอักเสบนี่เอง ถ้าจิตใจเข้มแข็ง เดี๋ยวก็หาย”
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ยังมีเทคนิคแพรวพราวอีกมากที่แมตต์งัดมาใช้ เช่น การเล่าสลับไทม์ไลน์ การหยอดข้อเท็จจริงและสถิติตามจุดต่างๆ แต่สิ่งที่ฉันชอบที่สุดกลับเป็นสิ่งธรรมดาๆ อย่างการเปิดเปลือยตัวตนโดยปราศจากความเขินอาย จุดนี้แหละที่ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนเจอเพื่อนสนิทที่คลิกกันมากๆ นึกออกไหม เพื่อนสนิทประเภทที่แค่มองตาก็รู้ว่าเราจะพูดอะไร ตัวอักษรของแมตต์ให้ความรู้สึกแบบนั้นแหละ
ตามที่ชื่อ Reasons to Stay Alive บอกใบ้ เพื่อนสนิทเล่มใหม่ของฉันบอกเล่าเส้นทางสู่การค้นพบเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ โดยฉันขอหยิบยกเหตุผลบางข้อที่ฉันสรุปออกมาเองไว้ตามด้านล่างนี้
1. ยังมีคนอีกมากที่เข้าใจคุณ คุณไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวผู้โดดเดี่ยวบนดาวเคราะห์ดวงนี้
อย่างที่ฉันบอกไปแล้ว หนังสือเล่มนี้จะเป็นเพื่อนที่เข้าใจคุณ และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วยังมีคนอีกมากที่เข้าใจหรือพร้อมทำความเข้าใจโรคล่องหนที่คุณกำลังเผชิญ อย่างที่แมตต์บอกไว้ว่า
“คุณรู้สึกเหมือนอยู่บนดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่ง ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังเผชิญ แต่แท้จริงพวกเขาเข้าใจ คุณคิดว่าไม่มีใครเข้าใจเพราะแหล่งอ้างอิงเดียวคือคุณเอง เพราะ คุณ ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อน ความหวาดผวาจากความเปลี่ยนแปลงนั้นจึงหลอกหลอนคุณ แต่คนอื่นก็เคยเป็นอย่างนี้เหมือนกัน คุณอยู่ในดินแดนมืดมิดที่มีประชากรหลายล้านคน”
2. ยังมีหนังสือดีๆ อีกหลายเล่มที่คุณไม่ได้อ่าน (รวมถึง Reasons to Stay Alive ด้วย)
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้แมตต์ก้าวผ่านช่วงเวลาที่อาการกำเริบหนักมาได้คือหนังสือ ใน Reasons to Stay Alive เขาจึงลิสต์รายชื่อหนังสือน่าอ่านเอาไว้หลายเล่ม เช่น เมืองที่มองไม่เห็น (Invisible Cities) ของ Italo Calvino, The Outsiders ของ S. E. Hinton และ คนนอก (The Stranger) ของ Albert Camus
หากคุณเป็นหนอนหนังสือล่ะก็ อ่านจบแล้วจะได้รายชื่อหนังสือมาอ่านต่ออีกเพียบเลยล่ะ
3. ยังมีคนที่รักและพร้อมอยู่เคียงข้างคุณเสมอ
หน้าแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้มีข้อความสั้นๆ ว่า
แด่ แอนเดรีย
ตอนแรกฉันพลิกผ่านไปอย่างไม่ใส่ใจนัก จนเมื่ออ่านมาเกินครึ่งเล่มฉันถึงได้เข้าใจว่าทำไมหนังสือเล่มนี้อุทิศแด่แอนเดรีย แฟนสาวในขณะนั้น และภรรยาและแม่ของลูก 2 คนของแมตต์ในปัจจุบัน
ถ้าไม่มีแอนเดรีย คงไม่มี Reasons to Stay Alive และหนังสือเล่มอื่นๆ ที่นักอ่านหลงรัก (ไม่มีแบบไม่มีจริงๆ เพราะเธอเป็นคนสนับสนุนให้แมตต์เริ่มต้นเขียนหนังสือ)
หรือแย่กว่านั้น ถ้าไม่มีแอนเดรีย คงไม่มีแมตต์ เฮก
แอนเดรียเป็นทั้งคนที่พาแมตต์ไปหาหมอ พาเขากลับบ้านไปหาพ่อแม่ อยู่กับเขาในวันแย่ๆ และพยุงให้เขาลุกขึ้นยืนอีกครั้ง
ความงดงามอย่างหนึ่งคือเมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เราจะได้รับรู้บางเหตุการณ์ที่แมตต์บอกตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นอีกนิด กล้าขึ้นอีกหน่อย เพื่อที่แอนเดรียจะไม่ต้องลำบากในการดูแลเขาไปมากกว่านี้
“…แต่ผมไม่ได้ติดค้างเธอแค่หนังสือเล่มนั้น ผมติดค้างเธอทั้งชีวิตต่างหาก” แมตต์ว่าอย่างนั้น
สำหรับฉัน ตอนที่ป่วยครั้งแรกฉันไม่มี ‘แอนเดรีย’ ของตัวเองเลย จนครั้งถัดๆ มาถึงได้เจอคนที่เป็นดั่งแอนเดรียผู้คอยอยู่เคียงข้างฉันเสมอ ดังนั้นสำหรับคุณที่อ่านอยู่แล้วรู้สึกว่าตัวเองไม่มีใคร ไม่ว่ายังไงฉันก็เชียร์ให้อยู่รอก่อน สักวันคุณต้องเจอแอนเดรียของคุณ เชื่อเถอะ
4. ยังมีโมเมนต์เล็กๆ อีกมากที่รอคุณไปสัมผัส
แมตต์มีเหตุผลของการมีชีวิตมากมายหลากหลายข้อ แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือพวกมันล้วนเป็นเหตุผลเล็กๆ น้อยๆ เป็นเหตุการณ์ธรรมดาๆ กิจกรรมเบสิกๆ อย่างเช่นที่แมตต์ลิสต์ออกมาในข้อ 10 ของบท ‘เหตุผลของการมีชีวิต’
“วันหนึ่งคุณจะค้นพบความสุขที่คุ้มค่ากับการทนเจ็บ คุณจะเสียน้ำตาแห่งความสุขให้วงเดอะบีชบอยส์ จะจ้องหน้าลูกสาวตัวน้อยที่ผล็อยหลับไปบนตัก จะเจอเพื่อนดีๆ จะกินอาหารอร่อยๆ ที่ยังไม่เคยกิน จะมองทิวทัศน์จากที่สูงได้โดยไม่คิดถึงการตกลงไปตาย มีหนังสือดีๆ ที่คุณยังไม่ได้อ่าน หนังที่คุณยังไม่ดูพร้อมข้าวโพดคั่วถังใหญ่พิเศษ คุณจะเต้นรำ หัวเราะ มีเซ็กซ์ ออกไปวิ่งริมแม่น้ำ มีบทสนทนาลึกซึ้งยามดึกแล้วหัวเราะจนปวดท้อง ชีวิตรอคุณอยู่ คุณอาจจะติดอยู่ที่นี่สักพัก แต่โลกไม่ได้หนีไปไหน สู้ต่อเถอะถ้าทนไหว ชีวิตคุ้มค่าเสมอ”
ฉันว่าเหตุผลของฉันก็เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกัน เป็นต้นว่า การได้ไปที่ใหม่ๆ กับคนรัก การพาแมวไปเดินเล่นในทุกๆ วัน การหัวเราะสุดปอดกับคนที่สบายใจจะอยู่ด้วย หรือการได้เจอเพื่อนเก่าอีกครั้ง
ดูเหมือนว่าเหตุผลของการมีชีวิตอยู่อาจไม่ใช่ดวงอาทิตย์ที่เจิดจ้า แต่เป็นดาวดวงเล็กๆ ที่เมื่ออยู่รวมกันแล้วก็พอจะให้แสงสว่างในวันคืนมืดหม่นได้เหมือนกัน
5. หากอดทนผ่านพายุนี้ไปได้ คุณจะได้พบตัวเองคนใหม่ที่เท่ไม่เบาเลยล่ะ
แม้ฉันจะไม่ใช่แฟนตัวยงของ Haruki Murakami และไม่ได้เคยอ่าน Kafka on the Shore แต่มีโควตหนึ่งจากเรื่องนี้ที่ฉันเคยอ่านเจอในอินเทอร์เน็ตแล้วชอบมากๆ
“…และเมื่อพายุจบสิ้นลง คุณจะจำไม่ได้ว่าผ่านมันมาได้ยังไง รอดชีวิตมาได้ยังไง จริงๆ แล้วคุณไม่แน่ใจกระทั่งว่าพายุจบสิ้นลงแล้วหรือยัง แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณมั่นใจ เมื่อคุณออกจากพายุนั้นมาแล้ว คุณจะไม่ใช่คนเดิมคนที่เดินเข้าไปในนั้น และนั่นคือคุณค่าของพายุ”
Reasons to Stay Alive อ้างถึงโควตนี้เช่นกัน ซึ่งฉันรู้สึกว่าเข้ากับบริบทของผู้ป่วยโรคจิตเภทได้เป็นอย่างดี สำหรับฉันเอง หลังจากรักๆ เลิกๆ กับโรคซึมเศร้าราวกับแฟนที่เลิกกันไม่ขาดมาหลายปี ก็รู้สึกเช่นกันว่าตัวเองเปลี่ยนไปเยอะ มีทั้งดีและไม่ดี แต่ฉันคิดเข้าข้างตัวเองว่าส่วนที่ดีนั้นเยอะกว่า
แมตต์เองก็ดูจะเห็นตรงกัน เขาบอกว่า “ผมเกลียดโรคซึมเศร้า ผมกลัวมันด้วย กลัวจับใจเลยล่ะ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ผมเป็นผม สำหรับผมมันเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้รู้สึกถึงชีวิต และนั่นคุ้มค่าเสมอ”
อย่างไรก็ดี ฉัน (และอาจจะแมตต์ด้วย) ไม่ได้จะบอกว่าโรคซึมเศร้าเป็นของขวัญหรอกนะ ถ้าเลือกได้ฉันก็ไม่ได้อยากเป็น และการเจอกับตัวว่าโรคนี้มันโหดร้ายแค่ไหนก็ไม่ได้อยากให้ใครเป็นด้วย การพยายามมองโรคในแง่ดีเป็นเพียงมุมมองเล็กๆ ของคนที่ดันเป็นโรคแล้ว และต้องทำใจเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไปสักพักจนกว่าจะรักษาหายเท่านั้นแหละ
สุดท้ายนี้ ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ หากคุณกำลังเดินฝ่าพายุฝน ขอให้บทความนี้เป็นดั่งมือที่ถือร่มคันเล็กยื่นออกไปหาคุณ คุณจะออกมาจากพายุบ้านั่นได้ และออกมาได้อย่างสง่างามเสียด้วย
ขอย้ำอีกครั้งอย่างที่แมตต์บอกไว้
“ชีวิตรอคุณอยู่ คุณอาจจะติดอยู่ที่นี่สักพัก แต่โลกไม่ได้หนีไปไหน สู้ต่อเถอะถ้าทนไหว ชีวิตคุ้มค่าเสมอ”