หลังจากทำงานต่อเนื่องยาวนานมาทั้งสัปดาห์ ในบ่ายวันหยุดนั้นฉันเบื่อเต็มทีกับการต้องไปเจอใครตามนัด เบื่อเต็มทนกับการต้องปั้นหน้าพบปะผู้คน สิ่งที่ฉันต้องการหลังจากนอนกลางวันมีเพียงที่นั่งหลบมุมในร้านกาแฟสักร้านที่ไม่มีใครรู้จักฉัน และหนังสือสักเล่ม
คงเป็นเพราะมวลอารมณ์เหล่านี้ บ่ายวันนั้นฉันจึงเลือกหยิบ Actually, I’m an Introvert ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ ออกไปกับฉันด้วย
ฉันซื้อหนังสือเล่มนี้ไว้นานแล้ว
อาจเป็นชื่อหนังสือที่ชักชวนให้เชื่อว่าเป็นพวกเดียวกัน หรืออาจเป็นภาพประกอบสีสันสดใสบนหน้าปก ฉันไม่แน่ใจนักในเหตุผลแรกที่เลือกซื้อ แต่รู้ตัวอีกทีหนังสือจากผลงานของ ‘นัมอินซุก’ เล่มนี้ก็มาอยู่ในมือฉันแล้ว
หลังจากละเมียดละไมกับกาแฟตรงหน้า ท่ามกลางเสียงผู้คนจอแจในร้านกาแฟ ฉันเริ่มพลิกหน้ากระดาษ สายตาจับจ้องไปที่แบบทดสอบสำหรับสำรวจตัวเองในบทเกริ่นนำ
- ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีมากหรือมีความสุขมากก็อยู่คนเดียวได้
- ชอบและเครียดไปพร้อมๆ กันเวลาจัดทริปไปเที่ยว
- มั่นใจว่าจะไม่รู้สึกเบื่อแม้ไม่ได้ออกจากบ้านและไม่ได้เจอใครเลยหนึ่งสัปดาห์
- หากต้องออกไปทำงานนอกสถานที่และมีเวลาว่างราว 2 ชั่วโมง คุณชอบอยู่คนเดียวในร้านกาแฟมากกว่าไปพบคนรู้จักในละแวกนั้น
- อยากอยู่คนเดียวเมื่อเจอเรื่องที่ทำให้โศกเศร้าเสียใจอย่างอกหักหรือถูกหักหลัง
- เหนื่อยกับการนัดเจอคนจำนวนมาก ชอบนัดพบกันเพียง 2 คนมากกว่า
- หากอีกฝ่ายคุยสนุกก็เป็นฝ่ายรับฟังได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกว่าต้องพูดอะไร
- มีหลายครั้งที่เสียใจกับสิ่งที่พูดออกไปแล้วและจำเรื่องนั้นฝังใจไปอีกนาน
- มีความสุขมากเวลาได้อยู่คนเดียวในห้อง
- รู้สึกอารมณ์ดีมากกว่าไม่พอใจเมื่อถูกยกเลิกนัดเพราะอีกฝ่ายติดธุระ (แต่ไม่ใช่ไม่อยากเจอ เพราะถึงได้พบกันก็คงมีช่วงเวลาที่สนุกอยู่ดี)
- ปวดศีรษะจากความเครียดบ่อยๆ
- ไม่ชอบเรื่องวุ่นวาย และถ้าสะสางเรื่องนั้นไม่ได้ก็จะรู้สึกเครียด
ในหนังสือบอกว่าถ้าฉันติ๊กถูกในข้อความข้างต้นนี้มากกว่า 10 ข้อ ฉันคือคนเก็บตัวอย่างแท้จริง
ถ้าตอบถูก 7-9 ข้อ ฉันคือคนชอบเก็บตัวปกติคนหนึ่ง
ถ้าตอบถูก 4-6 ข้อ ฉันคือคนที่อยู่กึ่งกลาง
ถ้าตอบถูกน้อยกว่า 3 ข้อ ฉันคือคนที่ชอบเข้าสังคม
ลองทำไปพร้อมกันก็ได้ แต่ในส่วนของฉันเอง ไม่ต้องบอกก็รู้ใช่ไหมว่าถูกจัดอยู่ในประเภทไหน
และนั่นทำให้ฉันลองค้นหาลึกไปกว่าที่แบบทดสอบนี้บรรยายไว้
ถ้าย้อนไปดูหลักฐานทางการแพทย์ คำว่า ‘introvert’ และ ‘extrovert’ ถูกใช้ครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง Carl G. Jung ในช่วง ค.ศ. 1920
ในตอนนั้นเขานิยาม 2 คำนี้ว่าเป็น ‘ประเภทของบุคลิกภาพมนุษย์ (personality)’ โดย introvert หมายถึงคนที่มีความคิดและความรู้สึกไปในทิศทาง ‘เข้าหาตัวเอง’ ส่งผลให้กลายเป็นคนชอบครุ่นคิด เก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม และแบกรับความเครียดได้ยาก ตรงกันข้ามกับ extrovert ที่มีความคิดและความรู้สึกไปในทิศทาง ‘ออกจากตัวเอง’ ส่งผลให้กลายเป็นคนชอบทำกิจกรรม ตัดสินใจเร็ว และชอบปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
การจัดประเภทบุคลิกภาพของคนออกเป็น 2 กลุ่มเช่นนี้ถูกพูดถึงเรื่อยมา หลายๆ แบบทดสอบ (รวมถึงที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้) ถูกนำมาใช้เพื่อจำแนก รวมถึงหลายงานวิจัยยังได้มีการศึกษาหาสาเหตุในการเป็น introvert หรือ extrovert ไว้ด้วย แต่จนถึงวันนี้ก็ยังระบุสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่ในแง่วิทยาศาสตร์อาจมีงานวิจัยบางชิ้นที่พอจะแสดงให้เห็นนัยสำคัญอยู่บ้าง
ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยเกี่ยวกับสมองของคนที่เป็น introvert และ extrovert พบว่าสมองส่วน frontal lobe ที่ควบคุมความจำ ความคิด และการวางแผนของคนที่เป็น introvert จะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากกว่าคนที่เป็น extrovert อย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะเดียวกันการตอบสนองต่อ dopamine หรือฮอร์โมนที่ช่วยให้มีความสุขของคนที่เป็น introvert ก็น้อยกว่าคนที่เป็น extrovert เช่นกัน
‘นี่สมองกำหนดให้ฉันมีความสุขน้อยกว่าคนอื่นเหรอ’ พออ่านข้อมูลมาถึงตรงนี้ ฉันคิดกับตัวเองแบบนั้น ก่อนที่จะเปิดอ่านหนังสือต่อเพื่อดูว่านัมอินซุกคิดเหมือนฉันหรือไม่
Actually, I’m an Introvert นำเสนอเนื้อหาผ่าน 4 พาร์ตหลัก
พาร์ตแรก–ผู้เขียนเล่าเรื่องการใช้ชีวิตแบบ introvert ของตัวเอง พาร์ตสอง–ผู้เขียนพูดถึงสภาวะยามเข้าสังคมของคน introvert พาร์ตสาม–ผู้เขียนอธิบายให้คนที่มองเข้ามาเข้าใจว่าควรทำยังไงกับคนที่เป็น introvert และพาร์ตสุดท้าย–ผู้เขียนเล่าในมุมกลับว่าคนที่เป็น introvert ควรทำยังไงเพื่ออยู่ในสังคมอย่างสมดุล
อาจเพราะผู้เขียนเรียงลำดับวิธีเล่าไว้แบบนี้เอง สำหรับฉัน หนังสือเล่มนี้จึงเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ยิ่งเสริมด้วยมุมมองทั้งในฐานะคนนอกและคนในจากผู้เขียน รวมกับภาษาและวิธีเขียนที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกตัวเอง ไม่วิชาการมาก ฉันจึงอ่านตัวอักษรของเธอได้อย่างลื่นไหล ไม่ติดขัดใดๆ
จนรู้ตัวอีกทีฉันก็อ่านหนังสือความยาวเกือบ 300 หน้านี้จบเสียแล้ว
หลังจากปิดหนังสือ ฉันถามตัวเองทันทีว่าตอนนี้ฉันรู้สึกและนึกคิดต่อหนังสือเล่มนี้ยังไงกันแน่
อย่างแรก–ฉันตอบตัวเองได้อย่างแน่ชัดว่า Actually, I’m an Introvert ไม่ใช่หนังสือที่เหมาะกับคนที่เป็น introvert อย่างเดียวตามที่หลายคนคิดเมื่อเห็นชื่อ ด้วยการนำเสนอที่พูดถึงทั้ง 2 มุม ฉันเชื่อว่าคนที่เป็น extrovert ก็สามารถอ่านได้และอ่านดี เพราะนี่ไม่ใช่หนังสือที่ผู้เขียนเอาแต่บ่นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจตัวเอง แต่เป็นการนำเสนอเพื่อทำให้คนทั้ง 2 ประเภทเข้าใจกันมากกว่า
อย่างที่สอง–แม้ผู้เขียนจะใช้ประสบการณ์ของตัวเองเป็นกรณีตัวอย่างในการอธิบาย แต่แทบทุกตัวอย่างนั้นฉันสามารถจำลองตัวเองเข้าไปได้อย่างง่ายดาย ตั้งแต่การเปิดสวิตซ์ในตัวเพื่อปั้นหน้าเข้าสังคมไปจนถึงความเศร้าที่อยากให้คนอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่ใกล้จนเกินไป ยิ่งอ่านฉันก็ยิ่งค้นพบว่าตัวเองไม่ใช่ตัวประหลาดอย่างที่เคยคิด ยังมีคนอย่างน้อยหนึ่งคนที่อยู่ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตรที่รู้สึกคล้ายกัน
และอย่างสุดท้าย–ฉันค้นพบว่าหนังสือเล่มนี้ทำงานกับฉันมากๆ ด้วยการค่อยๆ บอกเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนของพวกเดียวกันว่าที่ฉันเป็นมันไม่ได้ผิดอะไร การเลือกมานั่งอ่านหนังสืออยู่ที่ร้านกาแฟตอนนี้มากกว่าจะไปเจอญาติผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันผู้เขียนก็ยังเป็นห่วงเป็นใยโดยการบอกว่าเมื่อจิตใจฉันโอเคแล้ว ก็อย่าลืมออกไปพบคนอื่นบ้าง เพราะสุดท้ายฉันเองนั่นแหละที่ต้องการคนเข้าใจในเวลาที่อยากอยู่คนเดียว
กาแฟหมดแก้วไปนานแล้ว แสงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ หลังจากทบทวนและตกตะกอนเสร็จ ฉันเก็บหนังสือที่เพิ่งอ่านจบเข้ากระเป๋า และมองผู้คนในร้านกาแฟที่พูดคุยกันอย่างออกรส
คงถึงเวลาแล้วที่ฉันต้องออกจากที่นี่
เพื่อกลับไปอยู่ร่วมโลกกับคนอื่นอีกครั้ง