ใบหน้าของผู้คนคือพื้นท่ีศึกษาทดลองทางศิลปะของ มานพ โมมินทร์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เขาลุ่มหลงในการลอบสังเกตริ้วรอย มัดกล้าม สีหน้าท่าทางของทุกคนที่ได้พบเจอในชีวิต แอบสังเกต จินตนาการเรื่องราวที่ก่อให้เกิดร่องรอยบนกล้ามเนื้อ แล้วนำผู้ที่พบเห็นมาถ่ายทอดเป็นภาพพอร์เทรตบนผืนผ้าใบภาพแล้วภาพเล่า
เช่นภาพ ‘คุณยายบัวผัน’ ผลงานที่เขาออกตระเวน ขับรถไปทั่วเมืองเพื่อตามหาผู้คนและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ก่อนจะเจอหญิงชราผู้ประกอบอาชีพโสเภณี อาชีพที่เป็นทางเลือกของใครหลายคน แต่สำหรับคุณยายบัวผัน ชีวิตแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนี้
เรื่องราวของคุณยายบัวผันกระทบใจมานพเข้าอย่างจัง ส่วนภาพของเขาก็กระทบใจกรรมการเวทีประกวด RCB Portrait Prize งานประกวดภาพพอร์เทรตระดับประเทศครั้งแรกของไทยที่จัดโดย River City Bangkok จนทำให้เขาได้รับรางวัลอันดับ 1 ไปครอง
ทันทีที่เขาลงจากเวทีรับรางวัล เราก็รีบชวนเขามาเล่าเรื่องราวข้างหลังภาพ ชี้รายละเอียดบนผืนผ้าใบที่ทุกฝีแปรงเต็มไปด้วยปัญหาในสังคมไทยจนไม่อาจละสายตา
เส้นทางศิลปะที่ผ่านมาของคุณเป็นยังไง
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบวาดรูปตั้งแต่เมื่อไหร่ จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีครูประจำชั้น เรียนจบจากเพาะช่าง ท่านฝีมือดีมาก ผมอยากวาดภาพได้แบบนั้นบ้างแต่ก็ทำไม่ได้ ขณะที่เพื่อนคนหนึ่งวาดภาพเก่งมาก ผมจึงไหว้วานให้เพื่อนช่วยวาดให้ แต่สุดท้ายเมื่อครูถามผมก็ยอมรับว่าไม่ได้วาดเอง หลังจากนั้นมาผมก็พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าต้องวาดรูปให้ได้ เป็นที่มาของความชอบวาดรูปจนได้เข้าเรียนที่เพาะช่าง
คุณเริ่มวาดพอร์เทรตตั้งแต่เมื่อไหร่
หลังจากเรียนเพาะช่างจนจบปริญญาตรีผมก็เริ่มฝึกฝนด้วยตัวเองอย่างจริงจัง วาดพอร์เทรตมาโดยตลอด วาดประกอบอาชีพด้วย วาดตามความชอบด้วย วาดสัก 10 รูป อาจจะเสียไปสัก 6 รูป มีสัก 4 รูปที่เห็นผลว่าดี ลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลาหลายปีเหมือนกัน
ด้วยรสนิยมเกี่ยวกับงานศิลปะมันเคลื่อนไปตลอดทำให้ผมกลับมาครุ่นคิดมากขึ้น เอาใจใส่มากขึ้น ระหว่างเรียนปริญญาโทผมพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราใช้ถ่ายทอดประเด็นทางสังคมได้ แต่ในท้ายที่สุดผมเชื่อมั่นว่าผมต้องกลับมาหาพอร์เทรต
ทำไมต้องพอร์เทรต
มันคือสัญชาตญาณที่ผมถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีที่สุด ผมรักในผู้คน รักการสังเกตผู้คน รักใบหน้า อากัปกิริยา บวกกับความชำนาญส่วนตัวที่เข้าใจทุกกล้ามเนื้อบนใบหน้าของคนได้ดีมากๆ ผมหมกมุ่นกับมันมากๆ เวลาออกไปข้างนอก พบเจอคน ดูหนังก็จะโฟกัสที่คนไปโดยอัตโนมัติ
เคยส่งผลงานประกวดมาก่อนบ้างไหม
เคยช่วยงานอาจารย์บ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้ประกวดอะไรเป็นกิจจะลักษณะครับ งานนี้เป็นครั้งแรกที่ส่งงานตัวเองเข้าประกวด ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเห็นประกาศการประกวดนี้ผมดีใจมาก ผมมีความฝันว่าถ้ามีโอกาสสักครั้งหนึ่งจะส่งงานไปประกวดที่เมืองนอก แต่โอกาสนั้นมันมาถึงเมืองไทยแล้ว รู้สึกว่านี่แหละเวทีของเรา อยากจะพูดในสิ่งที่เราคิด และอยากจะแสดงออกในสิ่งที่ต้องการจริงๆ
งานประกวดกำหนดให้ศิลปินวาดภาพจากต้นแบบที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือคนธรรมดาก็ตาม แต่ต้องทำให้ผู้ชมภาพเข้าใจสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ด้วย จากโจทย์นี้คลี่คลายออกมาเป็นกระบวนการทำงานยังไง
ด้วยสถานการณ์โควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถที่จะโกหกตัวเองได้ว่าสังคมไทยมันเกิดอะไรขึ้น ผมเริ่มจากดูข่าวเก็บข้อมูลก่อนส่วนหนึ่งแต่ก็ต้องไปเจอผู้คนด้วยตัวเองจริงๆ จึงจะได้ความรู้สึก ได้รับรู้สีหน้าแววตาของบุคคลในพื้นที่ว่าเขารู้สึกยังไง บริเวณถนนราชดำเนิน ตรอกสาเกมีคนจำนวนไม่น้อยที่รอโอกาสหรือรอรับข้าวบริจาคทุกๆ วัน คนเหล่านั้นล้วนไร้ทิศทางที่จะดำเนินชีวิตต่อไป พวกเขาไม่มีความฝันแล้ว เขาแค่อยู่รอดไปวันๆ จนผมตกผลึกว่าภาพที่เห็นทำให้ผมรู้สึกถึงความโหยหาอิสรภาพบางอย่างของคนในพื้นที่นั้น เป็นความเศร้าที่อึดอัด
ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องลงพื้นที่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อเก็บข้อมูลว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ แต่ก็ตัดสินใจว่าผมอยากจะทำเรื่องนี้ ผมขับรถวนอยู่ย่านนั้นหลายสัปดาห์ ตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น จนค่ำ บอกกับตัวเองว่าจะนำเรื่องของคนเหล่านี้มาสื่อสารกับคนทั้งประเทศให้ได้รับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ที่ผ่านมาผมมักไปดูงานแสดงของศิลปินคนอื่นๆ ทั้งที่เป็นครูอาจารย์ เพื่อนฝูง หรือนักศึกษาด้วยกัน เพื่อที่จะได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ของตัวเอง แต่ภาพพอร์เทรตชิ้นนี้ผมไม่สนใจใครเลย ผมสนใจตรงที่ว่าคนกำลังรอความช่วยเหลือคือใคร ผมไปเจอชีวิตจริง มันคือแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากจะถ่ายทอด ทำให้ผมสะท้อนออกมาจากใจได้ตรงไปตรงมา
รู้จักกับคุณยายบัวผัน ผู้เป็นแบบในภาพวาดได้ยังไง
คุณยายบัวผันท่านนั่งอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน เห็นแววตานั้นแล้วผมจอดรถเลย หลังจากที่ผมเทียวไปเทียวมาอยู่หลายสัปดาห์ ผมเข้าไปพูดคุยกับคุณยายบัวผันว่ามีเจตนาอยากจะมาวาดรูปเพื่อประกวด คุณยายก็ค่อนข้างระแวงว่าเราจะเป็นมิจฉาชีพไหม หรือว่าเราจะเป็นคนที่ไม่ดีไหม ผมยืนยันว่า “เชื่อผมนะครับผมจะเอาเรื่องที่คุณยายประสบพบเจอไปสื่อสารสู่สาธารณะ”
คุณยายบัวผันมาเป็นโสเภณีด้วยความจำเป็น ตอนสมัยวัยรุ่นคุณยายเดินทางจากโคราชเข้ามาทำงานเป็นสาวโรงงานในกรุงเทพฯ จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุแขนหักเมื่ออายุประมาณ 30-40 ปี แต่ทางโรงงานไม่รับกลับเข้าไปทำงานอีก คุณยายเคยอาศัยอยู่กับลูกชายแต่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับลูกสะใภ้จึงตัดสินใจออกมาอยู่คนเดียว ท่านต้องขวนขวายทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองรอด เลี้ยงดูตัวเองด้วยอาชีพโสเภณีมาตลอด ได้บ้างไม่ได้บ้าง วันไหนฝนตกก็ลำบากหน่อย
เมื่อได้คุณยายบัวผันเป็นแบบของภาพพอร์เทรตแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นอะไร
เรานัดหมายกันไปดูสถานที่ทำงานของคุณยายในวันรุ่งขึ้น เพื่อเข้าไปดูภาพรวมว่าห้องในโรงแรมม่านรูดมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ผมบันทึกเสียงและบันทึกภาพไว้ ในครั้งต่อไปก็เตรียมเฟรมผ้าใบ อุปกรณ์มาสเกตช์ภาพคุณยาย เก็บรายละเอียดตามความเป็นจริงตามที่ตาเห็นว่าความรู้สึกคุณยาย สีหน้าคุณยาย ท่านั่งของคุณยายที่ผมพบครั้งแรกเป็นยังไง บรรยากาศภายในห้องจะค่อนข้างอึมครึม มีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกหม่นหมอง อะไรสักอย่างที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ผมทำได้ดีที่สุดก็คือถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะที่เห็นนั่นแหละครับ
แต่เวลาที่ลงสีผมไม่อยากทำให้รู้สึกหดหู่หรือเศร้าเกินไป ผมอาจจะเพิ่มรายละเอียดบางจุดหรือว่าลดบางอย่างนิดหน่อยให้มีความงามทางศิลปะอยู่ด้วย ให้คนที่เสพผลงานได้เข้ามาชม แล้วค่อยๆ คิดว่าคุณยายท่านนี้เป็นใคร นั่งทำอะไร อยู่ที่ไหน
ระหว่างที่วาดภาพยังพอจำได้ไหมว่าคิดถึงอะไร รู้สึกยังไง
ผมคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ ณ ปัจจุบัน สะท้อนกลับมาที่ภาพตรงหน้า ปัญหาที่ทำให้เขามานั่งอยู่ตรงนี้มันเกิดขึ้นจากอะไร คนสูงอายุอย่างคุณยายควรได้อยู่อย่างสุขสบายในพื้นที่อบอุ่นปลอดภัยของตัวเอง ถ้ามีรัฐสวัสดิการที่ดีคุณยายจะไม่ต้องแบกร่างของตัวเองมานั่งริมถนน ท่ามกลางการระบาดของโควิดแบบนี้
อยากให้คนที่ได้มีโอกาสเห็นภาพนี้มองเห็นอะไร
ผมค่อนข้างคาดหวังสูงครับ ผมคาดหวังมากกว่ารางวัลเยอะเลยครับ อยากให้คนดูภาพนี้แล้วตั้งคำถามว่าทำไมจึงมีภาพนี้เกิดขึ้นได้ เชื่อมโยงกับปัญหาโครงสร้างอะไรบ้าง ครอบครัวของเขามีปัญหาหรือเปล่า สังคมของเขามีปัญหาหรือเปล่า รัฐสวัสดิการมีความสำคัญมากน้อยขนาดไหน คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่ผมคาดหวังกว่ารางวัลที่ได้รับมา
พอร์เทรตสำหรับผมไม่ได้เป็นแค่ภาพเหมือน ไม่ได้เป็นแค่ความสวยงาม ไม่ได้เป็นแค่บันทึกประวัติศาสตร์ แต่พอร์เทรตในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นอะไรที่ขับเคลื่อนสังคมได้ไม่มากก็น้อย ผมอยากทำให้สิ่งที่ผมพบเห็นและรู้สึกสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ความรู้สึกของผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประกวดวาดภาพพอร์เทรตครั้งแรกในประเทศไทยเป็นยังไงบ้าง
ภูมิใจในตัวเองมากครับ ดีใจที่คณะกรรมการเห็นถึงความตั้งใจที่ผมต้องการนำเสนอประเด็นทางสังคม ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเห็นประกาศการประกวดนี้ผมดีใจมาก ผมมีความฝันว่าถ้ามีโอกาสสักครั้งหนึ่งจะส่งงานไปประกวดที่เมืองนอก แต่โอกาสนั้นมันมาถึงเมืองไทยแล้ว รู้สึกว่านี่แหละเวทีของเรา อยากจะพูดในสิ่งที่เราคิด และอยากจะแสดงออกในสิ่งที่ต้องการจริงๆ
คาดหวังอะไรในเส้นทางข้างหน้าที่กำลังมุ่งไป
ก่อนที่ผมจะมาร่วมประกวด RCB Portrait Prize ผมยอมรับว่าค่อนข้างท้อกับการเรียน ท้อกับชีวิต เนื่องจากการเรียนออนไลน์ช่วงโควิดมันบั่นทอนจิตใจนักศึกษา ผมเองต้องหาเลี้ยงชีพไปด้วยเรียนไปด้วย ก็ลำบากเหมือนกัน การที่ผมเจอกับคุณยายบัวผันที่ชีวิตแทบจะเลือกอะไรไม่ได้เลยทำให้ผมรู้สึกว่าต้องสู้เพื่ออะไรสักอย่าง อย่างน้อยก็อยากเอาเงินรางวัลที่ได้รับซื้ออาหารอร่อยๆ ไปมอบให้เขาสักครั้งหนึ่ง
ผมอยากประสบความสำเร็จครับ อยากมีชื่อเสียง อยากมีเงินเหมือนกับศิลปินคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันผมก็อยากทำให้สังคมมันดีขึ้น อยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้งานศิลปะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้คนได้ตระหนักรู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาของสังคมไทยมันมีอะไรบ้าง เกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมอยากเปลี่ยนแปลงมัน
อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบแล้ว ใครอยากสัมผัสภาพพอร์เทรต ‘คุณยายบัวผัน’ และภาพอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวดอีกนับร้อยชิ้นด้วยตาของตัวเอง มาพบกันได้ตั้งแต่วันนี้ – 7 ธันวาคม 2021 ในนิทรรศการ Portrait Prize 2021 ที่ River City Bangkok โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และร่วมเป็นคณะกรรมการลงคะแนนภาพที่ชื่นชอบที่สุด สำหรับ People’s Choice Prize ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัลถึง 100,000 บาท ภายในนิทรรศการจะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการลงคะแนนด้วยการสแกน QR code
สำหรับศิลปินที่สนใจเข้าร่วมประกวดใน RCB Portrait Prize 2022 ก็ไม่ต้องรอนาน เตรียมตัวเตรียมใจ เริ่มลงมือและส่งผลงานเข้าประกวดได้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2022 ติดตามรายละเอียดและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการประกวดได้ทางเว็บไซต์ rivercitybangkok.com/th และอินสตาแกรม @portraitprize