โบราณว่าที่ใดมีควัน ที่นั่นมีไฟ แต่สำหรับกลุ่มข้าวหลามหนองแฟบ จังหวัดระยอง ที่นี่ไม่มีควันในช่วงงานบุญข้าวหลามเหมือนเคย แต่ยังคงมีไฟในเตาเผาข้าวหลามแบบใหม่ที่ให้ความร้อนกำลังพอเหมาะ จากที่ตั้งใจทำให้การเผาข้าวหลามในงานบุญกลับมาคึกคักอีกครั้ง ไฟในเตาเผาข้าวหลามแบบใหม่ล่าสุดนี้ช่วยส่องทางให้ชาวบ้านมองเห็นโอกาสในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเองได้ยังไง เราจึงชวนให้ทุกคน ตั้งแต่บุคคลต้นคิด คนช่วยทำ คนลองใช้ มาช่วยกันเล่าให้เห็นภาพความร่วมมืออันแสนน่ารักนี้ไปพร้อมกัน
เริ่มต้นจากความคิดถึง
พระครูรัตนากรวิสุทธิ์ ผู้นำกลุ่มข้าวหลามหนองแฟบ เล่าให้เราฟังถึงวันชื่นคืนสุขที่เคยได้พบกับตัวเองในงานบุญข้าวหลามของจังหวัดระยอง ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ถือว่าเป็นประเพณีสำคัญของเกษตรกรไทยในหลายภาค หลายจังหวัด โดยจะมีรายละเอียดพิธีกรรมแตกต่างกันไป บางที่เรียกว่างานบุญข้าวใหม่ งานบุญผีเปรต ซึ่งล้วนแต่เป็นการทำขวัญข้าวก่อนเข้าฤดูฝน ให้เจ้าทุ่ง เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา คุ้มครองผลผลิตในไร่นาให้อุดมสมบูรณ์ แถมยังมีผลพลอยได้ทำให้คนในชุมชนที่ต่างคนต่างทำงานได้มาพบปะกันอีกด้วย
“ตอนเด็กๆ อาตมาจำได้ว่าช่วยแม่เผาข้าวหลามหลังบ้าน ถึงเวลาบุญข้าวหลามทีไรก็จะช่วยเผาช่วยกินมาตั้งแต่เด็กๆ ข้าวหลามของคนในพื้นที่ระยองจะรสคล้ายๆ กัน ต่างกันแค่เทคนิคการเผา สูตรแต่ละบ้านปรับนั่นนิดปรับนี่หน่อยให้หอมอร่อย แต่เดี๋ยวนี้พอจะถึงเดือน 3 อาตมาก็สังเกตว่าไม่มีใครเผาข้าวหลามเลย แต่เช้ามาญาติโยมทำบุญก็มีข้าวหลามหน้าตาเหมือนกันหมด รสชาติเหมือนกันหมด เพราะชาวบ้านเขาซื้อจากที่อื่นมา ไม่ได้เผาเอง
“อาตมาอยากอนุรักษ์ประเพณีบุญข้าวหลาม ซึ่งเชื่อมความสามัคคีทั้งพระ ทั้งฆราวาส อยากสืบสานประเพณีการเผาข้าวหลามในระยองไว้ให้ได้ อาตมาก็มาคิดกุศโลบายปีแรกว่า เราน่าจะลองเผาให้เด็กนักเรียนดู ตอนแรกคิดว่าง่าย พอไปเผาเองแล้วร้อนมาก เจอทั้งความร้อน ทั้งควัน เผาออกมาก็ดิบบ้าง สุกบ้าง จิตวิญญาณของข้าวหลามคือจะต้องเผาออกมาให้หวาน มัน อร่อย แล้วก็ไม่แฉะ ถ้าเละจะกินไม่อร่อยเลย”
แม้สิ่งที่ฝันไว้จะไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง แต่ในปีต่อมา ความฝันของหลวงพ่อก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เพราะพบว่าไม่ได้มีเพียงหลวงพ่อรูปเดียวที่อยากให้ประเพณีการเผาข้าวหลามยังคงอยู่คู่เมืองระยองต่อไป แต่ GC Glycol บริษัทธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่เน้นการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในทุกด้าน มองไกลในแง่การรักษาวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่จังหวัดระยองให้คงอยู่ต่อไป โดยได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการประกวดชิงถ้วยรางวัลการเผาข้าวหลามในระยอง จัดงานถนนคนเดินเป็นถนนข้าวหลาม ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว กลับมารวมตัวกันเผาข้าวหลามมากขึ้น เมื่อมองประเพณีนี้ในมุมใหม่ของทั้งคนในที่เห็นมาตั้งแต่เด็กและคนนอกที่มองผ่านแว่นแห่งความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทำให้เกิดเป็นเตาเผาข้าวหลามหนองแฟบ 4.0 จากความร่วมมือของทุกคน
เติมไฟให้ชุมชน
จากที่คิดว่าเพียงจัดงานประกวดเพื่อการอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ให้คงอยู่สืบไป ก็กลายเป็นโครงการที่พัฒนาเตาเผาข้าวหลามให้เป็นมิตรต่อคนเผาและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“การเผาข้าวหลามแบบที่ผ่านมาแต่ละที ต้องเกณฑ์คนเข้าป่าไปหาฟืน หาไม้ไผ่มาทำกระบอกอีก ถ้าจะเผาข้าวหลาม 300 กระบอก ต้องใช้คนอย่างน้อย 5-6 คน พอก่อฟืนก็มีเรื่องของสภาพอากาศอีก เวลาฝนตกฟืนดับ ข้าวหลามก็ดิบ ถ้าลมแรงไปก็ไหม้อีก ความสม่ำเสมอในการควบคุมคุณภาพมันไม่มี ก็เลยมานั่งคิดว่าเราจะทำยังให้มันง่าย สะดวก และประหยัด ตอนแรกอาตมาเข้าไปดูในอินเทอร์เน็ต ลองเอาถัง 200 ลิตรมาใส่ถ่านลงไป ก็เจอปัญหาว่าตรงกลางไหม้ พอปีต่อๆ มาก็ยังมีปัญหาเรื่องไหม้เหมือนเดิม จนได้ GC Glycol เขามาช่วยออกแบบเตาเผาข้าวหลามแบบใช้เตาแก๊ส เราก็เผาได้ดีขึ้น อาตมาให้เณรลองเผาก็ทำได้ ไม่ต้องนั่งเฝ้าตลอดเวลาเหมือนเตาถ่าน”
ธิป–คณาธิป เครือวงศ์บาน Senior Technician ประจำ GC Glycol ในฐานะช่างเทคนิค ผู้ศึกษาเรื่องเตาเผาข้าวหลาม มองเห็นความเป็นไปได้จากเตาที่วัดทดลองทำอยู่แล้ว เติมแนวคิดในการนำวัสดุที่มีมาพัฒนาต่อให้ใช้งานได้ง่ายและปลอดภัยต่อชุมชน โดยที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มันซับซ้อนมาก “พระอาจารย์มาปรึกษาว่าจะทำยังไงดี เราทำเรื่องเทคนิค เครื่องกล วิศวกรรมอะไรพวกนี้มาอยู่แล้ว คิดว่ามันไม่น่าจะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หลักการง่ายๆ คือเตาได้ความร้อนจากเปลวไฟของแก๊ส LPG แล้วเราก็ทำตัวท่อให้กระจายความร้อนภายในตัวถัง ให้ข้างบนและข้างล่างร้อนทั่วกันหมดทั้งถัง ข้อดีคือข้าวหลามจะสุกทั่วกันทั้งกระบอก ควบคุมง่าย มันเหมือนเตาอบที่กระจายความร้อน ควบคุมคุณภาพได้ ควบคุมเวลาในการเผาได้ จึงลองประดิษฐ์เตาสเตนเลสที่ไม่เป็นสนิม ไม่มีการปนเปื้อนของสิ่งเจือปนเข้าไปในข้าวหลาม” ธิปช่วยชาวบ้านผลิตเตาเผาข้าวหลามที่ไม่มีควัน ไม่มีความร้อนออกมาปะทะคนเผา สร้างความปลอดภัยให้ชาวบ้านในระยะยาวได้ 16 เตา รองรับงานบุญใหญ่ๆ ให้สามารถช่วยกันเผาข้าวหลามได้จำนวนมากๆ พร้อมกัน
“เราอยากให้ชาวบ้านรอบข้างมีชีวิตที่ดีขึ้น เราไปจดอนุสิทธิบัตรเตาเผาข้าวหลามนี้มาแล้ว และได้มอบให้ทางวัด ให้วัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ ใช้นวัตกรรมของเราเป็นโมเดลการเรียนรู้ที่จะแพร่กระจายต่อๆ กันไป”
เตาเติมไอเดีย
ป้าแอ๋ว สนิทวาจา แม่บ้านในท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการทดลองใช้เตาเผาข้าวหลามหนองแฟบ 4.0 เล่าถึงสูตรข้าวหลามเมืองระยองที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ขึ้นชื่อเรื่องความหวาน มัน หอม เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไปด้วยให้หอมหวานยิ่งขึ้น ป้าแอ๋วบอกสูตรแบบไม่มีหวงว่าต้องแช่ข้าวเหนียวไว้ก่อนประมาณ 3 ชั่วโมง ทำให้นุ่มพอดี จากนั้นใส่ถั่วดำ ส่วนผสมของน้ำกะทิก็จะใส่น้ำกะทิ น้ำตาลทราย แล้วก็น้ำตาลมะพร้าว ใส่เกลือนิดหน่อยเพิ่มความกลมกล่อม “ตัวป้าแอ๋วเองประยุกต์ใส่เผือก ใส่ฟักทอง ลงไปด้วย คนกินก็ชอบกัน ใส่ไว้ในเตาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งจะกำลังดี เตาหนึ่งเผาได้ 30 กระบอก เราใช้เตาเผาข้าวหลามหนองแฟบ 4.0 นี้มาได้ปีกว่าๆ ชอบที่ไม่ต้องกลับกระบอกข้าวหลามบ่อยๆ เหมือนเตาฟืน มือไม่ดำด้วย”
เปลี่ยนวิธีการเผาแล้ว แน่นอนว่าชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นจากการไม่ต้องดมควันหรือเลอะเขม่าฟืนก็จริง แต่ลูกค้าหลายคนก็อาจจะยังไม่มั่นใจว่าความหอมอร่อยแบบเดิมๆ จะหายไปด้วยหรือเปล่า
เรื่องนั้นหลวงพ่อยืนยันว่า “รสชาติเหมือนเดิม เพียงแต่บางทีคนเราติดว่าข้าวหลามต้องเผาด้วยเตาถ่านสิ ถ้าเราไม่บอกว่าเราเผาด้วยเตาแก๊ส คนกินก็แยกไม่ออกหรอก ตอนแรกที่เราเปลี่ยนมาใช้เตาของ GC Glycol ใหม่ๆ มีแต่คนบอกว่ามันไม่อร่อยหรอก ไม่หอมหรอก ด้วยความเคยชินคนก็อาจจะคาดหวังกลิ่นควันไม้แบบเดิม แต่พอหลังๆ ไม่มีเสียงตำหนิแบบนั้นแล้ว มีแต่คนถามพระอาจารย์ว่าเมื่อไหร่จะเผาอีก เรื่องรสชาติไม่มีเสียงบ่นเลย
“โอกาสที่เห็นคือเราสามารถสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนได้ กำลังพัฒนาว่าจะเก็บยังไงให้ได้นาน เพราะถ้าผลิตทีหนึ่งแล้วเก็บได้นานก็จะลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ ต่อไปเราอาจจะมีเครื่องซีลข้าวหลาม เพื่อให้คนกินได้สะดวก ไม่ต้องมานั่งทุบ นั่งผ่า ขายสะดวกขึ้น ถ้าจะทำให้ชุมชนมีรายได้จริงๆ เราต้องทำให้วางบนเชลฟ์ในร้านสะดวกซื้อได้ ให้สะดวกกับคนกิน ก็จะทำให้ข้าวหลามและงานบุญข้าวหลามไม่สูญหาย ถ้าเราจะให้มันยั่งยืน ต้องทำให้ทันสมัย ให้เด็กรุ่นใหม่อยากจับต้อง”
GC เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อศิลปวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบในจังหวัดระยอง เราขอชวนให้ทุกคนติดตามบทความอื่นๆ ที่สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวระยองได้ที่คอลัมน์ Rayong Time Ago และพบกับบทความที่นำเสนอระยองในแง่มุมอื่นที่น่าสนใจในเดือนพฤศจิกายน