นักโบราณคดีใต้น้ำ (Underwater Archaeologist)

ลึกลงไปใต้ผืนน้ำ แหล่งขุมทรัพย์มากมายคอยให้ถูกค้นพบ โบราณวัตถุ ซากเรือจม ร่องรอยทั้งหลายในประวัติศาสตร์ที่อาจนำไปสู่การไขปริศนาเพื่อทำความเข้าใจอดีต ทั้งหมดถูกฝังอยู่ท่ามกลางแรงกดดันของกระแสธาร แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับอาชีพสายผจญภัยอย่างนักโบราณคดีใต้น้ำ อาชีพที่พาเราย้อนไปสำรวจประวัติศาสตร์ผ่านโบราณวัตถุที่หลับใหลอยู่ใต้น้ำนับพันปี

แม้ด้านหนึ่งจะเป็นนักผจญภัย แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาคือนักวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดีใต้น้ำทำงานให้กับกองโบราณคดีใต้น้ำ สังกัดกรมศิลปากร ซึ่งในประเทศไทยมีนักโบราณคดีใต้น้ำอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่วันนี้เราขอมาพูดคุยกับ สิร พลอยมุกดา นักโบราณคดีใต้น้ำที่มีประสบการณ์ทำงานมานานกว่า 7 ปี ท่ามกลางกล้องจุลทรรศน์และโบราณวัตถุมากมาย เขาพร้อมอธิบายให้เราฟังเรื่องราวใต้น้ำทั้งหมดแล้ว

1. จุดเริ่มต้นคือความหลงใหลในเรือ

หัวใจของงานโบราณคดีใต้น้ำคือการสำรวจเรือจม ต้องรอบรู้เรื่องเรือและวาดแผนผังของเรือที่พบใต้น้ำเพื่อศึกษาโครงสร้าง นักโบราณคดีใต้น้ำต้องเชี่ยวชาญระดับแค่เห็นซากเรือบางส่วนก็สามารถบอกได้ว่าส่วนนี้คืออะไร กง (ไม้รูปโค้งที่ตั้งเป็นโครงเรือ) กระดาน หรือกระดูกงูที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเรือ การวาดผังโครงสร้างเรือจมจึงเปรียบเสมือนการวาดแผนที่เพื่อกรุยทางหาคำตอบที่ต้องการ

2. ลูกครึ่งนักผจญภัยและนักวิจัยในห้องแล็บ

หน้าที่ของนักโบราณคดีใต้น้ำมีทั้งลุยภาคสนาม กระโจนลงน้ำสำรวจแหล่งเรือจม และยังต้องนำโบราณวัตถุที่เจอมาส่องกล้องในห้องแล็บเพื่อดูองค์ประกอบทางเคมีของชิ้นส่วนต่างๆ พวกเขาจึงต้องจดจำไทม์ไลน์ทางประวัติศาสตร์ให้ได้อย่างแม่นยำเพื่อขัดเกลาสายตาอันแหลมคมในการแยะแยะวัตถุทางศิลปะว่าถ้วยแบบนี้ ชามแบบนี้ เป็นของยุคสมัยไหน อาชีพนักโบราณคดีใต้น้ำจึงเป็นอาชีพที่ผสมผสานทักษะหลากหลายไว้อย่างลงตัว

3. น้ำน้อยน้ำมากให้เป็นงานของเรา

น่านน้ำทั้งประเทศไทยถือเป็นส่วนรับผิดชอบของกรมโบราณคดีใต้น้ำ นอกจากโครงการสำรวจที่กำหนดว่าต้องทำปีต่อปีแล้ว ยังมีงานที่อาจถูกเรียกด่วนจากทางนู้นทางนี้ โดยเฉพาะจากชาวประมงที่มักลากอวนไปพบโบราณวัตถุเวลาจับปลา บางทีน้ำแค่เข่าแค่แข้ง ขอแค่มีน้ำ ก็ต้องยกให้เป็นงานของนักโบราณคดีใต้น้ำแล้ว ทั้งนี้ฤดูการลงภาคสนามส่วนใหญ่คือช่วงที่อากาศไม่แปรปรวน ส่วนฤดูมรสุม นักโบราณคดีใต้น้ำจะพักการออกเรือและขลุกตัวอยู่ในห้องแล็บเพื่อวิเคราะห์โบราณวัตถุทั้งหลายที่เก็บมา

4. นักแกะรอยปฏิสัมพันธ์ทางทะเล

หากงานของนักโบราณคดีคือการศึกษาโบราณวัตถุที่อยู่บนบก ความพิเศษของนักโบราณคดีใต้น้ำคือการศึกษาสิ่งของวัตถุบนบกที่ไปอยู่ในเรือ พวกชิปยูส เตา หม้อไห ของใช้ต่างๆ ทำให้เราอ่านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนเรือนั้นได้ เช่น ถ้าเจอเครื่องมือช่างทองก็หมายความว่ามีการซ่อมเครื่องประดับในเรือ รวมไปถึงการศึกษาผังเรือจมที่เผยให้เห็นโครงสร้างและวิธีการต่อเรือที่แต่ละชาติมีหลักการไม่เหมือนกัน ต่อแบบนี้เป็นเรืออังกฤษ ต่ออีกแบบเป็นเรือดัตช์ การดูท้องเรือ ดูการต่อไม้แบบต่างๆ ทำให้นักโบราณคดีใต้น้ำสามารถระบุสัญชาติของเรือได้ หรือถ้าเรือเป็นของประเทศหนึ่งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในเรือเป็นของอีกประเทศหนึ่งก็สามารถลากเส้นต่อจุดไปได้อีกว่าเราเกี่ยวข้องกับชนชาติใดบ้างในอดีต

5. ประวัติศาสตร์อันเปราะบาง

โบราณวัตถุจากใต้น้ำมีวิธีการสงวนรักษาที่แตกต่างจากบนบก โดยเฉพาะโบราณวัตถุที่นำขึ้นมาจากทะเลซึ่งมีเจ้าเกลือตัวร้ายแทรกตัวเข้าไปอยู่ในเนื้ออณูวัตถุจนอิ่มตัว ถ้าเอาขึ้นมาแล้วทำให้แห้งเลย เกลือก็จะฟู นึกภาพเป็นน้ำทะเลที่ตากแดดจนแห้งไปเหลือแต่ผลึกเกลือ วัตถุโบราณจะแตกเสียหายทั้งหมด วิธีที่ถูกต้องคือนำมาเข้ากระบวนการสงวนรักษาด้วยการแช่น้ำไว้ วัดค่าความดันไฟฟ้า วัดก๊าซ คอยถ่ายน้ำเรื่อยๆ เพื่อรักษาโบราณวัตถุให้มีสภาพเหมือนตอนอยู่ใต้น้ำที่สุด การขุดโบราณวัตถุขึ้นมาจึงเป็นการทำลายวัตถุนั้น เลยมีกฎเหล็กอยู่ว่าให้เลือกขุดแต่วัตถุโบราณชิ้นสำคัญขึ้นมาเท่านั้น

6. การทำงานภายใต้ความกดดัน (ของน้ำทะเล)

นักโบราณคดีจะมีคู่หูเป็นช่างสำรวจที่ลงดำน้ำพร้อมกัน ดังนั้นจึงต้องพูดคุยกันให้รู้เรื่องตั้งแต่อยู่บนบกเพราะเมื่อลงไปใต้น้ำแล้วจะไม่สามารถพูดกันได้ และสื่อสารกันได้เพียงแค่ภาษามือที่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ปากก็ต้องคาบที่ช่วยหายใจ มือก็ต้องเร่งทำงานให้ทันเวลา รวมถึงเมื่อดำน้ำลึก ร่างกายจะไม่สามารถทนแรงดันน้ำได้นานนัก 3 ชั่วโมงคือเวลาทั้งหมดที่นักโบราณคดีอยู่ใต้น้ำ แต่เวลาทำงานจริงมีแค่ 30 นาทีเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นเวลาที่ค่อยๆ ลงและขึ้นจากน้ำเพื่อให้ร่างกายได้คลายแรงกดดันและก๊าซต่างๆ ที่สะสมในร่างกาย หากรีบลงหรือขึ้นจากน้ำทันที ร่างกายอาจช็อกไปดื้อๆ ในหนึ่งวันจึงดำน้ำได้แค่ 1 ไดรฟ์ (3 ชั่วโมง) เท่านั้น เพื่อป้องกันการสะสมของออกซิเจนหรือไนโตรเจนในเลือดที่มากเกินไป

7. หมั่นคอยดูแลร่างกายและหัวใจ

นักโบราณคดีใต้น้ำจะต้องฝึกดำน้ำทบทวนและตรวจร่างกายปีละ 2 ครั้ง โดยที่ศูนย์ฝึกของกองโบราณคดีใต้น้ำจะมีสระจำลองสภาพใต้ทะเลที่มีความลึกถึง 13 เมตร เพื่อฝึกหัดนักประดาน้ำสำหรับงานโบราณคดี ไฮไลต์สำคัญคือการตรวจ Oxygen Totalling เพื่อเช็กความอึดของร่างกาย โดยนักโบราณคดีใต้น้ำที่เข้ารับการทดสอบจะต้องเข้าไปอยู่ในห้องที่อัดออกซิเจนเข้าไปจำลองสภาพการดำน้ำจนร่างกายน็อคไป เพื่อดูว่าจะทนต่อระดับออกซิเจนที่สะสมอยู่ในเลือดเวลาดำน้ำได้เท่าไหร่ ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะทนได้มาก ที่ต้องทำเช่นนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเวลาลงทำงานภาคสนาม ร่างกายจะพร้อมสำหรับการดำน้ำเป็นเวลานาน ฟังดูเสี่ยงอันตรายแต่นักโบราณคดีใต้น้ำก็พร้อมแลก การได้ผจญภัยลงภาคสนามจนถึงเก็บตัวอย่างมาวิจัยเองจึงเป็นเสน่ห์ของวิชาชีพนี้ซึ่งยังคงมีอยู่ต่อไปเพื่อไขปริศนาทางประวัติศาสตร์ให้แก่คนรุ่นหลัง

ภาพ กฤต วิเศษเขตการณ์ และกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร

AUTHOR