ย้อนกลับไปเกือบสิบปีที่แล้วในงานเกมใหญ่ระดับประเทศ ถ้าเราลองไล่รายชื่อนักแข่งเกมในวันนั้น คุณจะพบว่ามีชื่อ เบอร์ดี้–บดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปรากฏอยู่
ในวันที่เครื่องแบบประจำตัวยังเป็นชุดนักเรียน เบอร์ดี้เป็นเกมเมอร์คนหนึ่งที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ในระดับที่เรียกได้ว่าเข้มข้น ฝีมือการเล่นเกมของเขาในวันนั้นไม่ได้น้อยหน้าใคร แข่งชนะมากกว่าแพ้ แถมบางคราที่ผู้เล่นมักรวมตัวกัน เขายังรับหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มในเกมอีกต่างหาก
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน สิ่งที่เขาทำอยู่มีความแตกต่างที่ไม่ค่อยต่างกับเด็กชายคนนั้นสักเท่าไหร่
ปัจจุบัน เบอร์ดี้–บดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ คือ CEO ของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (REAL ASSET) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ชีวิตของเขาเหมือนเล่นเกมด่านยากสุดตลอดเวลา ในฐานะของหัวหน้าทีม มีอะไรหลายอย่างที่เขาต้องสินใจในทุกๆ วัน แต่ถึงแม้การเป็นผู้ใหญ่จะหนักหนาขึ้นขนาดไหน ผลงานที่เขาเพิ่งสร้างขึ้นก็เป็นเหมือนหลักฐานว่าเด็กชายเกมเมอร์คนนั้นก็ยังอยู่
เมื่อไม่นานมานี้ REAL ASSET ภายใต้การนำของเบอร์ดี้เพิ่งจัดการแข่งขัน ‘RA Esports League’ ลีก eSports เกม ROV ขนาดย่อมที่มีจุดเด่นคือผู้ที่เข้าแข่งขันไม่ใช่นักกีฬา eSports แต่เป็นพนักงานออฟฟิศจากแต่ละที่ที่จัดทีมรวมกันเป็นตัวแทนจากบริษัทต่างๆ
ในวันนั้น ผู้ชนะคือทีม Emotional Moho ตัวแทนจากบริษัท Internet Thailand Public Company Limited (INET) แม้จะเป็นงานขนาดเล็ก แต่ยอดผู้ชมรวมถึงฟีดแบ็คที่ได้ เบอร์ดี้บอกกับเราว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยทีเดียวและเขามองเห็นความเป็นไปได้หลายๆ ทางสำหรับการขยับขยายเรื่องนี้ในอนาคต
สำหรับคนทั่วไป การต่อยอดจากงานพัฒนาอสังหามาสู่การจัดแข่ง eSports อาจเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนสงสัย แต่สำหรับตัวเบอร์ดี้ เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีคำว่าบังเอิญหรือชั่วครู่ชั่วคราว
เพราะเด็กชายผู้หลงรักเกมในวันนั้น ปัจจุบันเขากำลังเริ่มเล่นเกมใหม่ในด่านแรกที่มีชื่อว่า ‘การเริ่มต้น’
ทุกวันนี้คุณยังเล่นเกมอยู่ไหม
เล่นครับ แต่หลังๆ งานเยอะมากก็เล่นน้อยลง แต่ถ้าเล่นก็จะเล่น ROV นี่แหละ
จากการเล่นเกมธรรมดามาสู่การจัดแข่ง RA Esports League ได้อย่างไร
จริงๆ ต้องย้อนไปกลับช่วงหลายปีก่อนหน้า ผมเป็นเกมเมอร์คนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเล่นมาเกือบทุกเกม ตั้งแต่ Ragnarok, StarCraft I, StarCraft II, Warcraft, Dota, Counter-Strike, PangYa และ TS Online ผมเลยมีประสบการณ์คุ้นเคยว่าวงการเกมเป็นอย่างไร
จากตรงนั้นทำให้ผมเริ่มเห็นว่าเทรนด์ eSports แรงขึ้นมากโดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้กำลังโต มีเงินรางวัล สปอนเซอร์ และคนดูออนไลน์ที่โตกว่ากีฬาแบบเดิมเสียอีก เมื่อสิ่งนี้บวกรวมกับแพสชั่นที่มี ผมเลยเกิดความคิดว่าเราน่าจะลองลงมาทำอะไรดูไหมเพราะในแง่หนึ่งมันก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เราเองก็จะได้แบรนด์ดิ้งในเชิงบริษัทว่าเป็นบริษัทรุ่นใหม่ เราเลยจัดตั้งเป็น RA Esports League ขึ้นมา ถึงจะเป็นระดับเล็กแต่เราก็คิดว่าในอนาคตมันอาจเป็นอะไรได้มากกว่านั้น
การเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มาทำเกี่ยวกับ eSports ฟังแล้วดูห่างไกลอยู่เหมือนกัน ทำไมคุณถึงคิดว่าน่าจะทำได้
ผมว่ามันเป็นอะไรที่ท้าทาย ยิ่งถ้าเราตั้งเป้าว่านี่จะเป็น business model ที่หาเงินได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องท้าทายเสมอ
ตอนแรกเรามองถึงการสร้าง eSports stadium อยู่เหมือนกัน แต่เราคิดต่อว่าถ้าจะดึงคนให้ไปที่นั่นช่วงวันจันทร์-ศุกร์ หรือการจะทำให้คนมาดูจนเต็มช่วงมีอีเวนต์นั้นยากมาก เรายังไม่มีคอนเนกชั่น ยังไม่มีฐานแฟนหรือสัมพันธ์อันดีกับบริษัทเกม ดังนั้นเราเลยคิดว่าเริ่มจากการจัดแข่งเล็กๆ ในพื้นที่เราเองก่อนดีกว่า
พอจะจัดจริง เราโชคดีที่ได้พาร์ตเนอร์กับ GamingDose และ Kochii ที่เป็นเกมมิ่งแพลตฟอร์มที่มาช่วยเราจัดทุกอย่าง ทีมที่เข้ามาแข่งเราก็จำกัดอยู่ไม่กี่ทีมซึ่งก็เกิดจากการชวนบริษัทรอบข้างหรือบริษัทในเครืออุตสาหกรรมเดียวกันก่อน สุดท้ายงานออกมาราบรื่น ผลตอบรับค่อนข้างดีและเราก็มองเห็นว่ามันน่าจะไปต่อได้ เป็นพื้นที่ให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆ ด้วย
ทำไมตัดสินใจชวนพนักงานออฟฟิศมาแข่งเกม
เราคิดถึงการชวนนักแข่งอาชีพมาเหมือนกัน เพราะเขามีแฟนเบสอยู่แล้ว แต่เราก็สงสัยว่านั่นสร้างความต้องการให้คนดูมากพอหรือเปล่า เราเลยมามองตามความเป็นจริงในแง่ของคนที่รู้จักเกม เราจะเห็นว่าคนเหล่านี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือคนที่เก่งไปเลย คนที่ไม่สนใจเกมเลย และสุดท้ายคือคนที่รู้จัก อินอยู่บ้าง เคยเล่น เคยได้ยิน เคยดู กลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีจำนวนคนมากที่สุด ซึ่งเรามองว่ายังไม่มีคนลงมาจัดแข่งสำหรับคนกลุ่มนี้ ผมเลยตั้งคำถามว่าแล้วทำไมเราไม่หันมาทำตรงนี้แทนล่ะ เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่าคนหาเช้ากินค่ำ พนักงานออฟฟิศหรือคนที่ทำงาน เขาก็เล่นเกมกัน
แต่นั่นก็อาจจะมีคนสงสัยว่าโตแล้ว ทำงานแล้ว ทำไมยังสนับสนุนให้คนเล่นเกมอยู่อีก
จริงๆ ก็ตั้งแต่สมัยก่อนแล้วที่เราอาจเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า ‘เด็กติดเกมจะไปทำอะไรกินได้’ ขนาดตัวผมเองยังโดนเลย แต่ผมคิดว่าสังคมตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ในแง่หนึ่ง เราเห็นคนที่ทำอาชีพจริงจังเกี่ยวกับเกมแล้วทำเงินได้หลายแสน หลายล้านบาท โอเค มันอาจจะยังไม่ได้เยอะ แต่ผมมองว่าในอนาคตถ้าเราช่วยส่งเสริมและผลักดันคอมมิวนิตี้หรืออุตสาหกรรมเหล่านี้ให้โตต่อไปได้ นั่นน่าจะเป็นเรื่องดี
คุณเองเคยจริงจังกับการเล่นขนาดไหน
สมัยก่อนก็เล่นหนักครับ เฉลี่ยวันละ 4-5 ชั่วโมง เคยไปแข่งเกม StarCraft II ในงาน Thailand Game Show ด้วย เข้ารอบ 16 คนสุดท้ายจาก 64 คน
แต่พอมาถึงวัยทำงาน หรือแม้กระทั่งจัดแข่งเกมระหว่างพนักงานออฟฟิศด้วย คุณคิดว่าเราต้องหาสมดุลระหว่างการเล่นเกมและทำงานไหม
หลายคนน่าจะตั้งคำถามตรงนี้ ผมเข้าใจและพยายามเน้นอยู่ว่าเราต้องแยกแยะความรับผิดชอบและแบ่งเวลาให้ได้ องค์กรรุ่นใหม่บางองค์กรให้อิสระพนักงานในเวลางานให้งีบหรือเล่นเกมได้เพียงแต่ความรับผิดชอบต้องไม่ตก ผมว่านี่คือเรื่องสำคัญ บริษัทผมเองอาจยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้นแต่ก็ยังอนุญาตให้เล่นเกมได้บ้าง ขอแค่งานคุณเสร็จอย่างที่บอกไว้ ดังนั้นสำหรับผม คำว่า ‘โตแล้วเล่นเกมได้’ หมายถึงคุณต้องแยกแยะความรับผิดชอบ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เหมือนกัน
หลังจากจัดแข่งครั้งแรกผ่านไป คุณได้เรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง
จากผลตอบรับที่ค่อนข้างดี ผมก็เล็งเห็นว่านี่อาจเป็นไอเดียหนึ่งในอนาคตก็ได้ เราอาจจะเห็นเทรนด์เรื่องเกมใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา เราไม่ได้มองว่าสิ่งที่เราทำจะจำกัดอยู่แค่ eSports แต่เรามองไปถึงไลฟ์สไตล์ในสังคม สุดท้ายเกมอาจจะต่อยอดโดยการไปเป็น facility ในคอนโดก็ได้ หรืออาจจะเป็น eSports cafe หรือ eSports hotel เป็นต้น
คุณคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นเทรนด์ในระยะยาวแน่ๆ
ผมมองว่ามันจะโตขึ้น ยิ่งปัจจุบัน เราเห็นอยู่แล้วว่าเด็ก 7-8 ขวบเล่นเกมเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเทรนด์คงไม่ตก ยิ่งดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาในทุกอุตสาหกรรมแบบนี้ ยังไงเทรนด์ก็ยังอยู่ ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคอนโตต้องมีห้อง eSports ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ถ้ามีฐานแฟนและคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงพอรองรับ
สุดท้ายแล้วในฐานะเกมเมอร์คนหนึ่ง คุณว่าการเล่นเกมสำคัญอย่างไร
ถ้าอธิบายอย่างง่าย ผมคิดว่าในขั้นต้นเกมคือ work-life balance เกมช่วยเราผ่อนคลายได้ ถ้าเป็นวัยทำงานก็แค่แยกแยะความรับผิดชอบแค่นั้นเอง แต่ถ้ามองไปเรื่องที่ไกลกว่านั้น เดี๋ยวนี้เกมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไปแล้ว คนที่เล่นเกมเป็นอาชีพต้องมีการวางแผน ซ้อมและจริงจัง อย่างช่วงที่ผมเคยแข่งเกม ผมยังจำได้เลยว่าตอนนั้นเวลาใส่หูฟังเราเครียดขนาดไหน เกมต้องใช้ความทุ่มเทไม่แพ้กีฬาอื่นเลย
และอย่างสุดท้าย ผมว่าเกมกำลังจะสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ อุตสาหกรรมมากมายและ ecosystem จะเกิดขึ้นตามมาและเติบโตไปพร้อมๆ กับวงการ อย่างในไทย ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเกมอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมเหมือนกับที่เกาหลีใต้ก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่น่าจับตาดูกันต่อไป เพราะมันพิสูจน์แล้วว่าเกมก็สามารถพัฒนาประเทศได้เหมือนกัน
สุดท้าย คุณเมนฮีโร่ตัวไหนใน ROV
ผมเล่น Butterfly ครับ ฟาร์มป่าเร็วดี เวลาออกจากป่าตอนเลเวล 4 แล้วไปช่วยคนอื่นหรือไปไล่ฆ่าแล้วมันฟิน (หัวเราะ)