หาคำตอบบทบาทของศาสนากับสังคมไทยไปกับ ไก่–ณฐพล ผู้กำกับเอหิปัสสิโก

3 ปีก่อนในวาระที่หนังสารคดี 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าวใกล้เข้าฉาย เราได้พูดคุยกับ ไก่–ณฐพล บุญประกอบ ว่าด้วยเบื้องหลังการถ่ายทำสารคดีวิ่งของตูน บอดี้สแลม บทสนทนาในตอนนั้นทำให้เราได้รู้ว่าด่านยากในฐานะผู้กำกับของเขาคือการลุ้นผลว่าตูนจะพอใจในหนังเรื่องนี้ไหม

3 ปีต่อมา เรานัดหมายกับเขาอีกครั้งที่ออฟฟิศย่านซอยศูนย์วิจัยที่เขาเช่าพื้นที่ร่วมกับเพื่อนบริษัทอื่น เพื่อคุยในเรื่องที่เราก็ไม่คาดคิดว่าจะเป็นประเด็น เมื่อ Come and See เอหิปัสสิโก สารคดีว่าด้วยวัดพระธรรมกายที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องพุทธศาสนาในสังคมไทย มีแนวโน้มจะถูกสั่งห้ามฉาย หลังจากส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ก่อนเจ้าหน้าที่จะเรียกไก่เข้าไปชี้แจง แต่ไม่ทันที่เขาจะอธิบายอะไร คณะกรรมการฯ ก็ประกาศให้หนังได้เรตทั่วไปในที่สุด

ถ้าย้อนไปตั้งแต่เป้าหมายแรก ไก่ยืนยันว่าหนังสารคดีเรื่องนี้มีหน้าที่เดียวคือทำให้เขาเรียนจบ เขาไม่ได้คิดว่าจะต้องออกฉายโรงภาพยนตร์จริงๆ จังๆ แม้ว่า Come and See จะไปปรากฏสู่สายตาต่างประเทศในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 24 ประเทศเกาหลีใต้มาแล้ว 

แต่มาถึงตอนนี้ สารคดีที่ก่อนหน้านี้ไม่มีเทรลเลอร์ให้ดู มีเพียงโปสเตอร์หนึ่งใบ กับข่าวที่ว่าจะถูกห้ามฉายกลายเป็นประเด็นที่คนช่วยกันจับตามากขึ้น จนเปลี่ยนความตั้งใจของไก่ จากตอนแรกจะเป็นเพียงอีเวนต์เล็กๆ ที่ House Samyan ตอนนี้กระจายออกฉาย 16 โรงภาพยนตร์ใน 7 จังหวัด 

ในยุคสมัยที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรายวัน เราคิดว่าปรากฏการณ์ของเอหิปัสสิโกช่วยอธิบายความสัมพันธ์ของประเด็นต่างๆ รวมกันได้ ทั้งเสรีภาพของการสื่อสาร ศาสนากับสังคมไทย และพื้นที่ที่ให้คนมาตั้งคำถามและหาคำตอบกับสถาบันใหญ่ๆ ในสังคม 

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราอยากคุยกับเจ้าของสารคดีที่คนจองตั๋วดูเต็มโรงตั้งแต่วันฉายครั้งแรก

ตอนที่หนังสารคดีเกือบจะถูกเซนเซอร์เป็นเรื่องที่อยู่ในการคาดการณ์ของคุณไหม

ไม่ (ตอบทันที) ไม่เลย คือย้อนตั้งแต่ตอนแรกเราไม่เคยคิดว่าจะฉายโรง เพราะตั้งใจทำเป็นหนังทีสิสเรียนจบปริญญาโทที่อเมริกา คิดแค่ว่าทำให้กูเรียนจบก็พอ ซึ่งทำเสร็จก็ฉายที่อเมริกา แล้วก็เอามาอินเสิร์ตเพิ่ม ทำสี ทำเสียง ไปฉายปูซานอีกปี 2019 ได้ฉายในไทยบ้างก็เป็นวงปิด อีเวนต์เล็กๆ ในคาบเรียนแค่นั้น

ทีนี้ต้องมาส่งเซนเซอร์เพราะเราอยากทำอีเวนต์ชวนคนที่ช่วยเหลือ เคยสนับสนุนเรา มาดูหนังด้วยกัน เลยส่งหนังไปให้พี่จ๋อง (พงศ์นรินทร์ อุลิศ) ดู เขาชอบ เชียร์ให้ฉายแบบสาธารณะเลย ตอนนั้นเรายังลังเล แต่ยังไงถ้าฉายเป็นแค่อีเวนต์ก็ต้องส่งให้กองเซนเซอร์ก่อน เพราะมันฉายโรง ก็คิดว่าส่งแล้วเรื่องจะเงียบๆ ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะหนังมันทำเสร็จมา 2-3 ปีแล้ว 

เรื่องมันเกิดขึ้นเพราะเราส่งหนังให้กองเซนเซอร์ แล้วเจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งผลประมาณว่าคณะกรรมการเราประกอบด้วยคนนี้ๆ ฝ่ายนี้ๆ เขามีความกังวลว่าไม่อยากให้ฉายได้ไหม เพราะว่ามันมีเรื่องคดีที่ยังไม่จบ มันจะไปยกประเด็นขึ้นมาทำให้เกิดความคิดที่แตกต่าง จะเสียหายไหมถ้าไม่ได้ฉาย 

เขาถามแบบนี้เลยนะ เราก็ตอบว่า ‘ครับ คือหนังก็ทำมาก็อยากให้คนดู มันก็เสียหายแหละครับ’ แม้ว่าเราจะไม่ใช่ค่ายหนังใหญ่ มีมาร์เก็ตติ้งแพลน มีทุนที่แบกไว้ มันเป็นงานเล็กๆ ของเราเอง แต่มันก็เสียหายอยู่ดีในแง่หนังมันไปไม่ถึงคนดู เราก็พูดไปตามตรง 

เขาก็บอกว่าเดี๋ยวไปแจ้งกรรมการ สักพักโทรมาอีกตอน 6 โมงบอกว่าเดี๋ยวแจ้งผลใน 15 วัน ซึ่งพี่ๆ ในสมาคมผู้กำกับบอกว่าเป็นเคสที่แปลก เพราะว่าปกติถ้าจะแบนก็แบนเลย จะเรตอะไรก็ต้องพูดเลยวันนั้น วีคถัดมาเขาโทรมาบอกให้เข้าไปชี้แจง แล้วเขาจะนัดกรรมการมาตัดสิน เราก็บอกข่าวกับสมาคมฯ เขารู้สึกว่ามีแนวโน้มจะโดนแบนเลยประกาศออกไปให้คนช่วยกันจับตาดู ปรากฏว่ามันไปไกลมาก ไม่คิดว่าคนจะมาสนใจหนังขนาดนั้นเพราะเทรลเลอร์ยังไม่มีเลย โปสเตอร์ก็มีใบเดียว สุดท้ายจากจะทำเป็นอีเวนต์เล็กๆ ฉายที่ Houseโรงเดียว ตอนนี้ก็ไม่เล็กแล้ว (หัวเราะ)

คุณคิดว่าอะไรไปเข้าตาให้คณะกรรมการฯ ต้องใช้เวลาพิจารณานานขนาดนั้น

ไม่รู้เลย คิดแบบกองเซนเซอร์ก็คิดไม่ออก เพราะเรารู้สึกว่าหนังไม่มีปัญหา เลยไม่รู้ว่ามันไปกระทบอะไร เราแค่ถ่ายทอดความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง คือบางคนอาจจะกังวลตรงที่ว่าธรรมกายดูนอกรีต ดูลัทธิ เอาสิ่งนี้มาอยู่บนจอภาพยนตร์ คนจะเอาไปทำตามไหม แตกแยกไหม แบบนี้หรือเปล่า เดา ไม่รู้เลย เราคิดแบบเขาไม่ได้จริงๆ  

แล้วในมุมของคุณเอง อะไรในวัดธรรมกายที่เข้าตาจนต้องเลือกเรื่องนี้มาทำเป็นหนังสารคดี

ย้อนกลับไปตอนเห็นข่าวครั้งแรก เราไปเรียนที่นิวยอร์ก กลับมาไทยช่วงซัมเมอร์ ตอนนั้นเป็นช่วงทำทีสิสพอดี แล้วกำลังทำเรื่องชายเล่นดนตรีกับแมวอยู่ ทีนี้ก็มีข่าวว่ามีเหตุการณ์คนนั่งสมาธิขวางตำรวจ เอารถแทร็กเตอร์มาปิดหน้าวัด เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย คนเยอะขนาดนี้เลยเหรอวะ แต่คนเยอะไม่เซอร์ไพรส์เท่าคนยอมทำสิ่งนี้เพื่อปกป้องเจ้าอาวาสเลยเหรอวะ วัดนี้มีอะไรกันแน่ ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อ

เราเลยสนใจคนศรัทธามาก เฉพาะคนเลย คนที่เป็น frontier ของวัดในการดึงคนเข้าวัด เขาทำอะไร เขาอยู่ยังไง เขาต้องต่อสู้กับคนที่ด่าเขา ล้อเขา หรือสังคมที่แอนตี้วัดพระธรรมกายยังไง 

ธงที่ตั้งไว้ตอนจะทำสารคดีนี้ก็คือคนที่ศรัทธา

ธงแรกคือคนศรัทธาวัดอย่างเดียว ชีวิตของเขาในการอยู่วัด ชวนคนเข้าวัด ช่วงวิกฤตมากินนอนอยู่วัด ตำรวจบุก เขาไปสู้กับตำรวจ เราโฟกัสแค่นี้ 

แต่พอทำไปมันมีข้อจำกัด ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของการทำสารคดีนะ ตั้งธงไว้แล้วล้มธงทิ้งทุกครั้ง เป็นเรื่องธรรมดามาก เราจินตนาการไปอย่างหนึ่งว่ามันจะต้องมีซีนนั้นซีนนี้ สุดท้ายมันก็ไม่ได้ เราก็ตั้งธงใหม่ขึ้นมา เพราะบางอันถ่ายได้ บางอันถ่ายไม่ได้ บางอันต้องถ่ายเพิ่มเพื่อความเข้าใจของคนดู เช่น ตอนแรกมีแค่ฝั่งศรัทธา ตอนหลังต้องเพิ่มฝั่งแอนตี้วัดเพื่อเพิ่มความขัดแย้งนี้ให้คนดูเข้าใจ เสร็จแล้วต้องมีนักวิชาการเพื่อมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในระนาบความขัดแย้งเดียวกัน มันเป็นพัฒนาการที่เราค่อยๆ เรียบเรียงแล้วก็คิดโครงสร้างไปเรื่อยๆ ในขณะทำงานนี้

แต่เอาเป็นว่ามันมหากาพย์มากเลยสารคดีนี้ มันใหญ่มาก ประเด็นเยอะมาก คือมันไม่ใช่การทำวัดดอนแถวบ้าน มีอยู่ 10 คน นึกออกไหม นี่แม่งมีคนเป็นล้าน คดีระดับประเทศ แล้วประเด็นเยอะจนสาวไปตั้งแต่ต้นเรื่องธรรมกาย ประวัติมีความขัดแย้งมากี่ครั้ง มีเรื่องพระสังฆราช คือมันเยอะจนเราต้องตัดสินใจว่า เรื่องนี้กูเล่า เรื่องนี้กูไม่เล่า กูข้าม นี่คือยากที่สุดแล้วกับการบาลานซ์ว่าเราจะไปมิติไหน แค่ไหนกันแน่ คือดูหนังตอนนี้ทุกคนอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันยากแต่ว่าตอนทำทางแยกมันมีล้านทาง จะเลี้ยวไปไหนวะ

อย่างในหนังมันก็มีองค์ประกอบของคดี แต่เราคิดว่าไม่น่าเป็นส่วนสำคัญของหนัง เลยเป็นแค่แบ็กกราวนด์ที่ทำให้คนเข้าใจที่มาที่ไปของอีเวนต์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเราไม่มีทางรู้ก้นบึ้งของมัน ไม่ได้ไปหาว่าที่ทางเงินมันไปไหน คดีไปไหน เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นมันไม่น่าสนใจสำหรับเรา สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้คนอินกับสิ่งนี้มากถึงขนาดยอมอุทิศตัวเองในการไปนั่งสมาธิขวางตำรวจ แล้วการนั่งสมาธิมันมีองค์ประกอบที่น่าสนใจมากในฐานะมนุษย์ด้วยกัน 

แต่เรื่องที่หลายคนน่าจะสงสัยคือเราสามารถเข้าไปถ่ายในวัดได้ง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ

เราขออนุญาตวัดอย่างตรงไปตรงมาเลย บอกว่าอยากได้อะไร แต่ความยากของหนังคือเราไม่สามารถจะไปอยู่วัด 2-3 เดือนได้ มันเป็นการทำงานแบบเราจะถ่ายอะไรบ้าง นัดวันไหนบอกมาเขาจะจัดให้ ซึ่งอันนี้ก็น่าสนใจว่าตอนขออนุญาต เขาส่งคนมาช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่าย คือคัดเลือกสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุดในสายตาเขามาให้ ตอนแรกเราก็ตั้งคำถามว่าแม่งดีเปล่าวะเนี่ย (หัวเราะ) เพราะเราต้องเป็นคนที่มีอิสระในการเลือกหรือเปล่า 

แต่ว่าพอคิดอีกด้าน งั้นเอามาเลย เอาคนที่ the best represent วัดมาเลย ถือว่าวัดรับผิดชอบที่จะเลือกคนที่ดีที่สุด แล้วให้เราเป็นคนตั้งคำถาม ซึ่งเราว่าเวิร์กแน่นอน แฟร์ทั้งกับเขาและกับเรา เพราะเราก็อยากได้คนที่ศรัทธาสุดๆ อยู่แล้วไง เราไม่ได้ต้องการไปจับผิดว่าคนนี้มีนอกมีในหรือเปล่า พี่เอาคนที่ดีที่สุดมา เพราะเราอยากเข้าใจว่าอะไรคือฟังก์ชั่นของวัดนี้ในชีวิตเขา 

เอาจริงๆ ตอนคุยกับคนเยอะๆ มีโน้มเอียง คล้อยตามในสิ่งที่เขาพูด หรือทำให้มุมมองศาสนาของคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม

คนที่อยู่ในระนาบความขัดแย้ง เราเฉยๆ ฟังแล้วก็สนุกดี ประสบการณ์ที่เขามีต่อคนคนหนึ่งเป็นแบบหนึ่ง อีกฝั่งอาจจะมีอีกแบบหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องธรรมดา 

คือสุดท้ายมุมมองที่เปลี่ยนกับการทำเรื่องนี้คือมันนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้น ทำเรื่องนี้แล้วคำตอบของเรามันย้อนกลับไปตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราสงสัยในตอนแรกว่าบทบาทของพุทธศาสนากับรัฐไทยคืออะไร กับสังคมมีฟังก์ชั่นแบบไหน ศาสนามีฟังก์ชั่นยังไงกับชีวิตเรา พุทธคืออะไรกันแน่

แล้วอีกด้านหนึ่ง เวลาฟังข้อมูลความเชื่อที่มีสองฝั่งขัดแย้งกัน คุณมีวิธีจัดการกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังไง 

เราทำเรื่องนี้ด้วยความคิดที่ว่ามาเลย โม้อะไรก็ได้ หลวงพี่ดียังไง หลวงพ่อดีแค่ไหน พูดออกมา อยากฟัง เกลียดธรรมกายแค่ไหน พูดมาเลย เราจะไม่หาอะไรมาคานเทียบชน แต่อยากให้มีพื้นที่ 

พอมันเป็นหนังที่เป็นความคิดเห็น ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล มันไม่ได้เป็นหนังข้อมูล เราก็เลยไม่ได้ fact check ซึ่งเราก็สนใจความคิดเห็นส่วนบุคคลนั้นมากกว่า แต่ถ้าถามว่าความเชื่อที่ไม่ตรงกับเรามันมีผลต่อการตั้งคำถามหรือสัมภาษณ์คนในหนังเรื่องนี้ไหม เราอาจจะอธิบายเป็นจุดเฉพาะไม่ได้ เพราะมันมาจากตัวเรา คำถามของเรามันเป็นเพราะความอยากรู้ อยากเข้าใจประสบการณ์ของคนอื่น คนที่ศรัทธามาก คนที่อินมากเขาคิดอะไร เขารู้สึกอะไร เขาเชื่ออะไร 

แล้วเราไม่ดูถูกความเชื่อคนอื่น เราเข้าใจมากๆ ว่าทุกอย่างมันมีฟังก์ชั่นของมัน เรื่องเล่าสตีฟ จอบส์ ตายไปเจอพระพุทธเจ้ามันมีฟังก์ชั่นของมัน เราว่ามันทำให้เข้าใจมากขึ้นมากกว่าว่าเรื่องเล่าแบบนี้มีฟังก์ชั่นแบบไหนในสังคม แล้วคนยึดถือมันเพราะอะไร เพื่ออะไร แล้วมันก็กลับมาถามตัวเองว่าเราจะยึดถือมันไหม เพราะอะไร เพื่ออะไร แล้วขอบเขตมันอยู่ตรงไหน

ตอน 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว คุณเคยบอกว่าชอบฉากที่ได้สัมภาษณ์ครอบครัวตูน บอดี้สแลมมาก เพราะมันคือการประกอบสร้างว่าอะไรทำให้เขาเป็นคนแบบนั้น แล้วเรื่องนี้ล่ะ คุณชอบฉากไหน

(คิดนาน) ไม่เคยมีใครถามคำถามนี้เลย เออ ชอบพาร์ตไหนนะ เอาจริงประสบการณ์ที่เปิดตาเราที่สุดคือการไปสัมภาษณ์นักวิชาการ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

ด้วยความที่ตอนหลังเรามาคิดว่า ในสารคดีต้องมีนักวิชาการเพื่อปูที่มาที่ไปให้คนดูฝรั่งเข้าใจ เพราะต้องฉายที่อเมริกา คำถามคือ ศาสนากับสังคมไทยมีบทบาทเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันยังไง แล้วธรรมกายมีบทบาทยังไงในสมการนี้ ซึ่งเราก็เลือกไปสัมภาษณ์อาจารย์นิธิ ตอนแรกกลัวการสัมภาษณ์เขานะ (หัวเราะ) คิดว่าการไปคุยกับนักวิชาการ ถ้าไม่มีความรู้ปริมาณใกล้ๆ กันก็ต้องมีประเด็นอะไรที่ท้าทายความคิด เลยกลัว แต่ตอนคุยก็ถามเบสิกเลยว่า ‘อาจารย์ครับ พุทธศาสนามีบทบาทยังไงกับสังคมไทย อาจารย์ช่วยบรีฟนิดหนึ่งได้ไหม สั้นๆ’ อาจารย์ก็ตอบว่า ‘เหอะ ไม่มีบทบาท’ 

เราก็เออะ กูถามอะไรที่โง่มากใช่ไหม (หัวเราะ) เลยอธิบายอาจารย์ว่าพอดีผมอยากอธิบายให้ฝรั่งเข้าใจ เขาใจดีนะ อาจารย์ก็อธิบายว่า เมื่อก่อนศาสนามันทำหน้าที่หลายอย่างมากในสังคม เป็นโรงพยาบาล เป็นโรงเรียน เป็นศูนย์รวมจิตใจในแหล่งชุมชน แต่เดี๋ยวนี้รัฐสมัยใหม่มีสถาบันอื่นมาทำแทนหมดแล้ว ศาสนามันเลยต้องดิ้นรนเพื่อจะมีตัวตนอยู่ในสายตาของคน ธรรมกายก็เป็นการดิ้นรนแบบหนึ่ง อาจารย์นิธิก็บอกว่าถ้าทำลายธรรมกายไปจริงๆ สุดท้ายคำถามก็ยังอยู่ ว่าพุทธศาสนากับสังคมไทยมีบทบาทไหม เขาก็ยังบอกว่าไม่มี (หัวเราะ) มันก็ยังเป็นการดิ้นรนให้มันมีอยู่ต่อไปแหละ ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่เป็นหัวใจของหนังเลย 

ฟังแล้วก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับรูปคดีอย่างที่เจ้าหน้าที่โทรมาถามตอนแรก

ใช่ มันจะชวนคนพูดคุยถกเถียงเรื่องศาสนากับสังคมไทยมากกว่า การ handle ความเชื่อที่แตกต่าง เราหวังว่ามันจะเกิดบทสนทนานั้นขึ้น อย่างมีช่วงหนึ่งที่มี clubhouse น่าสนใจมาก มีพระวัดพระธรรมกายเข้ามาเต็มเลย แล้วมันมีประเด็นเรื่องคนธรรมกายโดนบูลลี่เยอะมาก ทั้งชีวิต รู้ว่าเข้าวัดนี้ก็โดนล้อ โดนด่า แล้วเราว่าสังคมไทยตอนนี้ตระหนักและตื่นตัวเรื่องการกีดกันคนออกไป เด็กรุ่นใหม่ไม่เอายุคของการแปะป้าย แล้วชี้ว่ามึงเป็นคนแบบนี้ 

เราว่าธรรมกายมันเป็นกลุ่มความเชื่อที่อยู่ในพื้นที่น่าสนใจ คนยังไม่ค่อยพูดถึงด้วย มันเป็นพื้นที่ dilemma ที่คนรุ่นใหม่จะชาเลนจ์สิ่งนี้ยังไง เพราะถ้าเขายังรู้สึกว่าคนธรรมกายเป็นคนนอกรีต มันอาจจะทำให้เขากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขามองโลกยังไง ในเมื่อตัวเองเชื่อในความเท่าเทียมเรื่องการเมือง เรื่องสิทธิ ชาติพันธุ์ต่างๆ แล้วมิติศาสนาล่ะ เขาจะรับมือกับธรรมกายยังไง เราหวังว่าเรื่องนี้จะชวนคนคุยกัน แต่ก็ไม่มีคำตอบนะว่ามันจะต้องไปยังไงต่อ หรือไม่ได้เชียร์ว่าทุกคนต้องโอบรับธรรมกายเข้าไปเป็นพระในใจ แล้วแต่คนดู รับหรือไม่รับก็คุยกัน

พูดได้ไหมว่าการเอาเรื่องนี้มาฉายในตอนนี้ก็เพราะสังคมพร้อมเปิดพื้นที่คุยในประเด็นนี้แล้ว

ก็เกี่ยวนะ การที่เรากล้าเอาหนังเข้าฉายมันก็เป็นเพราะเรารู้สึกว่าสังคมเปิดขึ้น หมายถึงอย่างน้อยก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากพูดถึงสิ่งที่ดูอันตรายกว่านี้ สิ่งที่ดูเซนซิทีฟกว่านี้ เราเลยรู้สึกว่าความกลัวมันน้อยลงไปตาม พัฒนาการนี้เหมือนกัน จากสองปีที่แล้ว ไม่ได้เลยว่ะ เรื่องนี้เซนซิทีฟมาก ตอนนี้รู้สึกว่าเฉยๆ เหมือนเห็นเส้นชัดขึ้น

แล้วการผ่านเซนเซอร์นี้เป็นหมุดหมายอะไรให้การทำหนังไหม

จริงๆ ตอนแรกเราบอกทุกคนเลยนะว่าถ้าหนังจะโดนแบนจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เราจะได้เป็นตัวแทนในการพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ แล้วมีคนถามว่าที่เขาให้เรตทั่วไปมามันเกี่ยวกับพลังมวลชนไหม เราไม่รู้ว่าในห้องนั้นเขาคุยอะไรกันบ้าง แต่ก็จะบอกว่าจงเชื่อเถอะว่าสิ่งที่เราทำมันมีผลเพราะว่าจะเชื่อเป็นแบบอื่นก็ไม่มีประโยชน์

สุดท้ายไม่รู้ว่าผลลัพธ์ของคนดู ฟีดแบ็กที่จะเกิดขึ้น หรือหนังมันจะไปถึงไหน แต่เราแค่หวังว่าอย่างน้อยมันจะเป็นจุดอ้างอิงให้คนทำหนังรู้ว่าอย่างน้อยที่สุดมีหนังที่พูดเนื้อหาประมาณนี้ ด้วยท่าทีแบบนี้ มันเคยถูกอนุญาตให้ฉายได้นะ คาดหวังอะไรไปไม่ได้มากกว่านั้น 

ทีนี้ถ้าต้องทำเรื่องต่อๆ ไปจะยังกังวลกับเรื่องเซนเซอร์อีกไหม

มันไม่ควรต้องมากังวลเลยเนอะ (นิ่งคิด) ตราบใดที่กฎยังมีก็คงต้องมากังวล แต่มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความสนใจเราได้อยู่ดี เราก็สนใจในสิ่งที่เราสนใจ มันไม่ใช่ว่าโอ๊ะ มีกองเซนเซอร์แล้วกูไปสนใจอย่างอื่นดีกว่า 

และการทำหนังไม่ได้ทำให้เครียดน้อยลง มันคือการใช้ทุน เวลา แรงงานเพื่อน แรงงานทีมงานทุกอย่าง มันคือการลงทุนมหาศาล พาร์ตหนึ่งในชีวิตต้องโฟกัสกับสิ่งนี้ กว่าจะทำเสร็จใช้เวลาเป็นปีๆ ยังต้องมาลุ้นเซนเซอร์อีก ลุ้นทำไมวะ ไหนจะมาลุ้นโรงหนังโดนถอดเมื่อไหร่ ได้เงินมากี่บาท ฟีดแบ็กคนดูเป็นยังไง ความยากลำบากในการทำหนังไม่เคยลดลง ไม่ว่าจะทำมากี่ร้อยเรื่อง 

ฟังที่คุณเล่าแล้วก็อยากถามว่าคุ้มไหมกับการทำงานที่ทุ่มเทขนาดนี้

คุ้มสิ รวยขนาดนี้ ดูออฟฟิศใหญ่โต (ชี้ไปที่ห้องเล็กๆ ของเขาที่เป็นออฟฟิศร่วมกับบริษัทอื่นๆ) ล้อเล่น คือมันก็ต้องดูแหละว่ามองคุ้มในมุมไหน ในเชิงเศรษฐศาสตร์นี่ขาดทุนเหี้ยๆ แต่ถ้ามองมุมตัวเองก็ต้องทำออกมาเพราะมันอยาก ห้ามไม่ได้

คำถามสุดท้าย คุยกันมานาน นั่งจ้องคอมฯ คุณอยู่ด้วย รูปพระพุทธเจ้าที่แปะอยู่ด้านหน้านี่เกี่ยวกับงานไหม

ไม่เกี่ยว ไอ้เอ็มไปอินเดียแล้วซื้อมาฝาก มันเป็นกิมมิก เราแปะเพราะว่าตลกดี ดูสิ (เขาเปิดหน้าจอแล็ปท็อปขึ้น แล้วจะมีแสงสว่างตรงวงกลมด้านหลังศีรษะพระพุทธเจ้าพอดี) แล้วคนก็ถามว่าศรัทธามากเลยเหรอคะ ซึ่งเราจะตอบประชดไปว่า ‘ศรัทธามากครับ’

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย