จะเป็นยังไงถ้าเรามีคู่แท้แค่คนเดียวในโลก?

ทุกภาษาบนโลกใบนี้มีลักษณะหลายอย่างร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือทุกภาษามีไวยากรณ์ที่ใช้กล่าวถึงสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นหรือแม้แต่สิ่งที่ไม่เคยมี ราวกับว่าการคิดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงนั้นอยู่ในสมองมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์มาโดยตลอด

วิธีคิดในลักษณะนี้อาจเรียกรวมๆ ว่า ‘จินตนาการ’

หนึ่งในวิธีง่ายๆ ในการกระตุ้นสมองให้เกิดจินตนาการคือ การตั้งคำถามว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…’ ซึ่งคำถามนี้สร้างสรรค์แนวคิดปฏิวัติโลกได้มากมาย นับตั้งแต่ นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ถามว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของเอกภพ’ จากนั้นจึงลองวางดวงอาทิตย์ไว้กลางระบบเอกภพ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือความเรียบง่ายและการอธิบายตำแหน่งดาวเคราะห์ได้เป็นอย่างดี

เมื่อร้อยปีก่อน เด็กคนหนึ่งตั้งคำถามว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสง’ ต่อมาในวัยหนุ่มเขาได้นำปัญหานี้มาขบคิดและหาคำตอบด้วยการสร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special relativity) ซึ่งอธิบายได้ว่า ไม่มีวัตถุใดสามารถเร่งความเร็วจนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าแสงได้ (นอกจากแสงเอง) เขามีนามว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งจินตนาการ

จินตนาการอาจจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่าที่เราคิดแต่บางทีก็ไม่ต้องซีเรียสขนาดนั้นก็ได้ เพราะบ่อยครั้งการตั้งคำถามนี้ทำให้เราได้ผลลัพธ์สนุกๆ อย่างในหนังสือเรื่อง WHAT IF? ซึ่งเขียนโดย Randall Munroe

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยคำถาม ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…’ ซึ่งแต่ละคำถามล้วนมีความแบบบ้าบอหลุดโลกมากๆ เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทั้งโลกฉายเลเซอร์พอยเตอร์ใส่ดวงจันทร์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฝนตกลงมาทีเดียวเป็นหยดใหญ่ๆ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทั้งโลกกระโดดพร้อมๆ กัน ฯลฯ แต่ทั้งหมดจะถูกตอบด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ

หนึ่งในคำถามที่ผมชอบมากคือ ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรามีคู่แท้แค่คนเดียวในโลก’

ประเด็นนี้ถือกำเนิดขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพราะเพลงที่พูดถึงคู่แท้ (Soulmate) นั้นมีเยอะมาก จนผู้เขียนเขาอยากรู้ว่าถ้ามนุษย์เรามีคู่แท้อยู่บนโลกแค่คนเดียวจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น ก่อนจะตอบคำถามนี้ต้องเคลียร์ก่อนว่า ถ้าคู่แท้ของเรานั้นเกิดขึ้นอย่างสุ่มๆ (random) บางทีอาจไม่ได้เกิดในยุคเดียวกับเรา!

ปัจจุบันมนุษย์เรามีจำนวน 7 พันล้านคน แต่มนุษย์เราที่เกิดมาบนโลกใบนี้ตลอดประวัติศาสตร์มีมากมายนับแสนล้านคน ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงว่าคู่แท้ของเราอาจเกิดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคกรีกโรมันรุ่งเรือง ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นคือ บางทีคู่แท้ของเราอาจยังไม่เกิดก็ได้!

ถึงตรงนี้หลายคนอาจแย้งว่า คู่แท้ของเราต้องเกิดในยุคเดียวกับเราสิ ไม่เช่นนั้นจะเรียกคู่แท้ได้อย่างไร

โอเค เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายและน่าเศร้านัก งั้นสมมติว่าคู่แท้เกิดในยุคเดียวกับเรา แต่ปัญหาที่ตามมาคือ คู่แท้ของเราอายุห่างจากเราแค่ไหน ความห่างของอายุนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ถ้าผมสมมติว่าเราอายุ 20 แค่คู่ของเราอายุ 5 ขวบ มันคงฟังดูเสื่อมพิลึก แต่ถ้าเราอายุ 45 แล้วคู่เราอายุ 30 ค่อยโอเคหน่อย ดังนั้นคู่แท้ของเราควรมีอายุใกล้เคียงกับเราพอสมควร ไม่ฉีกห่างจนมากเกินไป ต่อมาเพื่อเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ทั้งหมด คู่แท้นั้นอาจมีเพศเดียวกับเราหรือตรงข้ามกับเราก็ได้ นอกจากนี้ยังอาจเป็นชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอะไรก็ได้

คำถามต่อไปที่ผู้เขียนถามคือ เรามีโอกาสจะพบคู่แท้ของเราแค่ไหน

สมมติว่าแค่เห็นหน้าก็รู้ได้ทันทีว่าคนนี้เป็นคู่แท้ของเราหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นแต่ละอาชีพย่อมมีโอกาสได้เห็นหน้าคนมากบ้างน้อยบ้างต่างกันออกไป ถ้าเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ ตำรวจจราจร หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย ก็อาจได้เห็นผู้คนเยอะหน่อย แต่ถ้าเป็นคนที่ทำงานในออฟฟิศหรือศิลปินที่ใช้ชีวิตแบบวิเวกหน่อย วันๆ อาจจะไม่ได้พบเห็นใครเลยในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม ผมจะลองสมมติว่าเราเจอคนตามท้องถนนเฉลี่ยวันละ 50 คน (บางคนอาจจะเจอมากและน้อยกว่านี้) 1 ปีเราจะเจอคนเกือบ 20,000 คน และถ้าเรามีอายุยืนถึง 100 ปี เราจะเจอคนมากเกือบ 20 ล้านคนตลอดชีวิตของเรา สมมติว่ามีเพียง
10 เปอร์เซ็นต์ที่อายุใกล้เคียงกับเรา ก็เท่ากับว่าเราต้องเจอคนมากถึง 2 ล้านคน

ตัวเลขนี้อาจจะฟังดูเยอะมาก แต่เมื่อเทียบกับประชากรทั้งโลกแล้ว บางทีคู่แท้ของเราอาจไม่ได้อยู่ใน 2 ล้านคนนั้นก็เป็นได้ และต่อให้คู่แท้ของเราอยู่ในจำนวน 2 ล้านคนที่เราเจอ เราก็ต้องแยกให้ออกว่าคนคนนั้นเป็นใครซึ่งน่าจะเป็นงานที่หนักหนาสาหัสเอาการ

โลกที่มีคู่แท้เพียงคนเดียวนั้นเสี่ยงต่อการต้องอยู่ตามลำพังและจับคู่กับคนที่ไม่เข้ากับเราอย่างยิ่ง

มันช่างเป็นโลกที่ฟังดูโรแมนติก แต่แท้จริงแล้วแสนจะเหงาเสียเหลือเกิน

AUTHOR