ฝ้าย–ภัทชา ด้วงกลัด กับช่วงเวลาในต่างประเทศที่ช่วยฟูมฟักสายตาที่เห็นความสำคัญของ ‘สาธารณะ’

Punch Up

ว่ากันว่าองค์ความรู้และใบปริญญาไม่ใช่สาระสำคัญเพียงอย่างเดียวของการได้ไปร่ำเรียนในต่างประเทศ ประสบการณ์นอกห้องเรียนและบรรยากาศก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันในการเปิดหูเปิดตาและทำให้คนคนหนึ่งรู้จักตัวเองมากขึ้น

เราได้มีโอกาสนัดหมายพูดคุยอดีตนักศึกษาทุน Erasmus+ ในโปรแกรม Development Studies และ Public Policy ฝ้าย–ภัทชา ด้วงกลัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Punch Up บริษัท Data Storyteller ของในเมืองไทย

ความน่าสนใจของฝ้ายคือเธอเป็นคนที่ชัดเจนในเส้นทางของตัวเอง เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอสนใจประเด็นทางสังคม จากนั้นก็ได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขานโยบายสาธารณะในต่างประเทศเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งเธอเล่าว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการฟูมฟักตัวตนของเธอ

หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย เส้นทางชีวิตอาชีพของฝ้ายมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมเสมอๆ ตั้งแต่การทำงานในแวดวงวิชาการ สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และล่าสุดคือ Punch Up–บริษัท Data Storyteller ที่จับประเด็นทางสังคมมาเล่าอยู่บ่อยครั้ง

วันนี้เราจึงอยากชวนผู้อ่านไปสัมผัสประสบการณ์ในและนอกห้องเรียนของฝ้าย เพื่อสำรวจว่าอะไรที่ทำให้เธอมีสายตาที่มองเห็นความสำคัญของเรื่องราวสาธารณะอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มสนใจในเรื่องนโยบายสาธารณะ

ครั้งแรกที่สนใจเป็นช่วงตอนที่เราเรียนอยู่ปี 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นมุมมองต่อเศรษฐศาสตร์ของเราก็ยังมีแค่เรื่องของการเงินและเศรษฐกิจ 

แต่มันมีวิชาหนึ่งที่เปิดหูเปิดตาให้กับเราคือวิชาสัมมนาการคลัง ซึ่งผู้สอนในตอนนั้นคืออาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เขาสอนโดยการให้นักศึกษาเอานโยบายจากภาครัฐมาวิเคราะห์กันในห้อง ซึ่งมันจะเป็นการใช้วิธีการมองแบบเศรษฐศาสตร์ไปจับกับเรื่องนโยบายสาธารณะ 

วิธีการมองแบบนี้ทำให้เราเห็นมิติใหม่ๆ ของเศรษฐศาสตร์ เช่น เราจะมองเรื่องเรื่องหนึ่งในแง่ของประสิทธิภาพหรือจะมองมันในแง่ของความเสมอภาคดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสนใจและอยากเรียนต่อทางนี้

คุณเลือกมหาวิทยาลัยสำหรับเรียนต่อยังไง

ตอนนั้นมันมีสองฝั่งหลักๆ คือฝั่งอเมริกาที่โดดเด่นในแง่ของการเอาคณิตศาสตร์เข้ามาใช้ในการวางนโยบาย รวมถึงการสร้างโมเดลขึ้นมา ขณะที่ฝั่งของยุโรปจะเน้นในเรื่องสวัสดิการที่มีกลิ่นอายของมนุษยนิยมกว่า ซึ่งเราก็รู้ตัวว่าความสนใจเรามาทางยุโรป ประกอบกับตอนนั้น EU มีนโยบายระดับภูมิภาคที่น่าสนใจและมีประเด็นให้ศึกษาเยอะ

พอเลือกภูมิภาคได้ก็เริ่มมองหาทุน ตอนนั้นทำลิสต์ออกมายาวมาก ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยในอังกฤษ แต่เราก็ค่อยๆ ตัดโปรแกรมที่ไม่ตรงกับความต้องการของเราออกไป พอดูอังกฤษเสร็จก็ลองขยายดูว่าในยุโรปมีตัวเลือกอะไรบ้าง ปรากฏว่าได้เจอโปรแกรมที่น่าสนใจมากๆ เป็นของมหาวิทยาลัย ISS (International Institute of Social Studies) ที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในโปรแกรมของทุน Erasmus+ เราก็เลยสมัครเข้าไป

Erasmus+ คือทุนแบบไหน

จริงๆ มันแล้วแต่โปรแกรม แต่แนวคิดโดยรวมของทุนคือการส่งเสริมการศึกษาในยุโรป โดยมีการโคฯ กันระหว่างมหาวิทยาลัยในภาคพื้นยุโรป โดยแบ่งตามหลักสูตรวิชา เช่น Public Policy ก็จะมีหลายๆ มหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมแล้วให้เราเลือกลงเรียนได้ หรือบางหลักสูตรก็จะมีการแชร์ความรู้กันระหว่างมหาวิทยาลัย ทำให้เราได้ไปเรียนในหลายประเทศ ได้รู้จักหลายวัฒนธรรม

รายละเอียดของโปรแกรมที่คุณไปมาเป็นยังไง

ตอนนั้นเราได้ทุนในโปรแกรมแบบ Double Degree Program คือเรียน 2 ประเทศ 2 ปี และได้ใบปริญญา 2 ใบ 

ปีแรกเราไปเรียน Development Studies ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปีที่สองไปเจาะลึกเรื่อง Public Policy ที่บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ซึ่งความรู้ที่ได้จากทั้งสองแห่งเป็นสิ่งที่เอามาประยุกต์ใช้ด้วยกันได้

การไปครั้งนี้ถือว่าเป็นการไป ‘อยู่’ ต่างประเทศที่นานที่สุดของคุณเลยใช่ไหม

ใช่ เป็นครั้งแรกที่ได้อยู่ต่างประเทศนานถึง 2 ปีโดยไม่ได้กลับไทยเลย 

ชีวิตระหว่างการอยู่อาศัยและร่ำเรียนที่นู่นเป็นยังไงบ้าง

เป็นช่วงชีวิตที่รู้สึกว่าเราได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างแล้วก็ได้เจอกับโลกจริงๆ ว่ามันเป็นยังไง ก่อนที่เราไปก็รู้สึกว่าเรามีสังคมแบบหนึ่ง เจอกับคนที่มีความคิดแบบหนึ่ง ทั้งจากเพื่อนเราหรือสังคมที่อยู่รอบตัวเรา พอไปแล้วมันมีความหลากหลายมาก อย่างคอร์ส Development Studies ที่ไปเรียนใน ISS เขาเรียกกันว่า Mini UN เนื่องจากมีนักเรียนมาจากหลายประเทศมาก แต่ละคนเหมือนเป็นตัวแทนหมู่บ้านที่มาอยู่ด้วยกัน 

บรรยากาศของการพูดคุยในชั้นก็เข้มข้นมาก หลายๆ ครั้งที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทุกคนจะขึ้นต้นว่า “In my country…” แล้วก็เล่าเหตุการณ์ของประเทศตัวเอง ตัวแทนหมู่บ้านแต่ละคนก็จะมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่ามันสนุกมาก มันไม่ใช่แค่ว่าเราได้เรียนรู้จากอาจารย์หรือจากหนังสือตำรา แต่เราได้เรียนจากประสบการณ์ของเพื่อนในชั้นด้วย ซึ่งมันเป็นอะไรที่เติมเต็มเรามาก 

นอกจากนี้ความหลากหลายของที่นั้นมันไม่จำกัดแค่เชื้อชาติ แต่ว่ามีความหลากหลายในเชิงประสบการณ์ สถานะ หรือตำแหน่งด้วย มันมีทั้งคนที่เป็น NGO มีคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง มีคนเป็นผู้พิพากษา มีคนที่ทำงานบริษัทเอกชน เพราะฉะนั้นเราก็ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ สิ่งที่เขาแลกเปลี่ยนมามันก็เป็นมุมมองจากประสบการณ์เขา และจากเราเองที่เป็นคนไทย ซึ่งก็เพิ่งเรียนจบมาเท่านั้นเอง มันก็เลยเป็นเหมือนกับแบ่งกันคนละครึ่ง เราเรียนรู้ เขาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกัน

บรรยากาศในห้องเรียนของแต่ละที่เป็นยังไงบ้าง

ที่ ISS เราเรียนเรื่อง Development Studies จุดเด่นคือความหลากหลายของคนในคลาส เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ในห้องที่มีมุมมองต่อประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องประชาธิปไตย เรื่องเด็ก เรื่องผู้หญิง เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องโลกาภิวัตน์ ซึ่งวิธีการเรียนมันคือการที่ให้คนมาถกเถียงกัน จริงๆ 

มันจะมีวิชาหนึ่งที่เขาจะรวมทุกคนจากแต่ละคลาสให้มานั่งเรียนด้วยกัน แล้วเขาจะแจกหัวข้อให้ทุกคนก็ไปเตรียมมาคุยกัน ซึ่งประเด็นมันจะไม่ได้อยู่แค่เฉพาะในตำราเรียนหรือหนังสืออย่างเดียว แต่ว่ามันจะเป็นการตั้งคำถามถึงหัวข้อต่างๆ ที่มันถูกกำหนดมา สุดท้ายสิ่งที่ได้จากคลาสจะไม่ได้มีอะไรถูกผิด แต่ว่ามันจะเป็นเพียงมุมมองที่ไม่เหมือนกัน

ส่วนในปีที่สอง เราไปเรียน Public Policy ที่ Central European University ประเทศฮังการี อันนี้จะค่อนข้างลงลึกถึงวิธีและกระบวนการกำหนดนโยบายในเชิงปฏิบัติ เช่น เรื่องจริยธรรม หรือเรื่อง Policy Network ว่าเป็นยังไง ต้องทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่ามันเป็นสองปีที่เป็นส่วนผสมที่ดี ตอนปีแรกเราก็ได้เปิดโลกทางความคิด พอปีที่สองก็เริ่มจับต้องได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น 

ในเชิงการใช้ชีวิต สองประเทศที่คุณได้ไปมีความแตกต่างกันมากน้อยยังไง

สองประเทศที่เราไปค่อนข้างต่างกันมาก สิ่งหนึ่งที่รู้สึกกับเนเธอร์แลนด์ก็คือ การมีรัฐที่ดีมันช่างดีจังเลย ประเทศมันดี๊ดี ทั้งปลอดภัย การคมนาคมขนส่งก็ดี หรือแม้แต่เรื่องสวัสดิการต่างๆ มันก็ดี เหมาะกับการอยู่อาศัยมาก แต่ว่าโดยส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันเงียบเหงาไปหน่อย อาจเพราะเราไปอยู่ที่กรุงเฮก ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลางของระบบราชการในประเทศ ทำให้พอสองทุ่มปุ๊บ ทุกอย่างเงียบกริบไม่มีคนเดินบนถนนแล้ว แต่เราคือชาวไทยจากกรุงเทพฯ ที่มีร้านค้าเปิดตลอด 24 ชั่วโมง อยากกินอะไรก็ออกไปกินก็เลยไม่ชิน

แต่พอย้ายไปที่ฮังการีก็เหมือนพลิกเลย บูดาเปสต์เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวามาก ทุกคนสนุกสนาน ชอบดนตรี เที่ยวแหลก ผับแหลก คัลเจอร์ก็คนละแบบ เพื่อนก็เป็นคนละกลุ่มกัน เพื่อนที่เรียนที่บูดาเปสต์ก็จะเป็นแบบเพื่อนโซนยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้ไปผับแล้วฟังดนตรี Balkan หรือดนตรีเฮฟวีเมทัลภาษารัสเซีย ทำให้รู้สึกว่าที่ฮังการีมันมีวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอยู่มาก

การได้ไปเรียนกับทุน Erasmus+ เปิดหรือเปลี่ยนมุมมองของคุณที่มีต่อประเด็นสาธารณะมากน้อยแค่ไหน

มันทำให้เรารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง ปัญหาต่างๆ มีที่มาที่ไปยังไง ซึ่งเวลาได้ยินจากปากของคนที่อยู่ที่นั่นจริงๆ มันก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจประเด็นปัญหาต่างๆ ในมิติที่กว้างขึ้นและก็เสริมให้เราเข้าใจประเด็นนโยบายสาธารณะได้ดีขึ้นด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกคือมันเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก จากก่อนที่เราไปเรารู้สึกว่าเราอยู่ในบับเบิล คือเรารับรู้เหตุการณ์รอบตัวผ่านสื่อไทยหรือหนังสือตำราเป็นหลัก แต่ว่าการที่เราสัมผัสกับคนจากที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ และได้แลกเปลี่ยนกันโดยตรง มันทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของปัญหา และรู้สึกเชื่อมโยงได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เรามีเพื่อนที่มาจากโคลอมเบีย เขาเล่าเรื่อง child soldier ที่ใช้เด็กมาเป็นทหาร เขาก็เล่าให้ฟังว่ากระบวนการมันเป็นยังไง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ตอนแรกเรารู้สึกว่ามันไกลตัวเรามากเลย นึกไม่ออกเลยว่าสถานการณ์จริงๆ ที่มันบีบบังคับให้เด็กต้องไปอยู่สถานการณ์แบบนั้นมันเป็นยังไง แต่พอเราได้ฟัง ได้แลกเปลี่ยนกับเขา ก็ทำให้เราเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น ซึ่งบางทีมันก็เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากในคลาสหรือจากที่เราคุยกันนอกห้องเรียน ที่ทำให้เราเข้าใจคนอื่น เข้าใจบริบทของสิ่งนั้นมากขึ้น

ถ้าอยากให้นิยามประสบการณ์สองปีที่นั่นสั้นๆ คุณจะนิยามมันยังไง

คิดว่ามันเหมือนการเปิดโลก ทำให้เราได้พบกับความหลากหลายที่เราน่าจะไม่สามารถหาได้จากที่อื่น ซึ่งทำให้เราเข้าใจคำว่า world citizen ได้ชัดมาก เพราะพอเราอยู่ท่ามกลางความหลากหลาย เราก็รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบใหญ่ มันไม่ได้แบ่งแยกเรา-เขาขนาดนั้น คนแต่ละคนที่เราได้เจอก็มีการแชร์ประเด็นระดับโลกบางอย่างร่วมกัน หรือเรื่องบางเรื่องที่มันเกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง มันก็เกิดขึ้นในประเทศอื่นเหมือนกัน มันจึงเป็นความเชื่อมโยงของมนุษย์ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้จากกรอบของประเทศ

หลังจากที่กลับมาคุณได้มีโอกาสทำงานตรงกับสายที่เรียนมาไหม

ตอนช่วงปีแรกที่กลับมาก็มาทำสายนโยบายสาธารณะเลย ตอนนั้นไปอยู่หน่วยงานที่ชื่อว่า มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ มสช. โดยมีหน้าที่หลักคือทำการรวบรวมข้อเสนอทางนโยบายต่างๆ ทั้งจากฝั่งวิชาการ และฝั่งภาคประชาชน แล้วรวมเป็นข้อเสนอให้กับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน เรื่องสิทธิแรงงาน หรือเรื่องการแข่งขันทางการค้า

หลังจากที่ทำงานแรกมาได้ประมาณ 1 ปี วาระงานของคณะฯ ก็หมดลง พอดีมีอาจารย์ที่รู้จักกันชวนไปทำรายการทีวี ซึ่งอันนี้ค่อนข้างข้ามสายเลย จากสายวิชาการ จู่ๆ ก็ต้องมาเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของรายการทีวี แต่โชคดีที่รายการที่ทำตอนนั้นคือ ‘สยามวาระ’ ซึ่งมันมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้เรายังต่อได้ติดอยู่ จนเราก็ได้พบว่าจริงๆ แล้วมันก็เป็นงานที่คล้ายเดิม แค่เปลี่ยนรูปแบบเท่านั้นเอง คือแทนที่จะสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายก็มาสื่อสารกับคนทั่วไปให้เข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาแทน 

หลังจากนั้นก็อยู่ในแวดวงของสื่อมาตลอด ได้มีโอกาสทำรายการทีวีอีกรายการหนึ่งคือวัฒนธรรมชุบแป้งทอด ทำสื่อออนไลน์สองสามแห่ง จนสุดท้ายเมื่อหลายๆ อย่างเริ่มพร้อม เราก็เลยมาทำ Punch Up ซึ่งก็ยังเป็นการทำงานกับประเด็นในสังคมผสมกับการเล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่าย

ทุกวันนี้อิทธิพลจากสมัยที่คุณได้เรียนในต่างประเทศยังส่งมาถึงการทำงานอยู่ไหม

เราคิดว่ามันอาจไม่ได้ส่งมาโดยตรง เพราะระหว่างทางที่ผ่านมาเป็นสิบปี มันก็มีอย่างอื่นที่ก็หล่อหลอมและส่งอิทธิพลให้กับเราด้วยเหมือนกัน

แต่ในเวลานั้นมันช่วยให้เราชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น มันเป็นรากฐานที่สำคัญของตัวเราในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้ เพราะเราอาจไม่ได้ใช้ความรู้ในตอนเรียนมากขนาดนั้น แต่ว่ามันทำให้เรารู้ตัวเองว่าเราสนใจอะไร เราให้คุณค่ากับอะไร แล้วเราอยากทำอะไรต่อ ซึ่งคำตอบของมันยังอยู่กับเราจนถึงวันนี้ คือเราสนใจในประเด็นสังคม ประเด็นสาธารณะ 

คุณคิดว่า Punch Up สามารถทำคอนเทนต์ขายของได้ไหม

จริงๆ แล้วงานของ Punch Up มันคือส่วนผสมของ data, story, design และ tech ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้สามารถเอาไปทำเรื่องอะไรก็ได้ จะขายของก็ได้เช่นกัน แต่ว่าเราเลือกแล้วว่าจะใช้เครื่องมือนี้เล่าประเด็นสังคม เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของเรา รวมถึง Founder ทุกๆ คนด้วย

เรารู้สึกว่า Data มันเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์และมีพลัง ถ้าเอาไปใช้กับเรื่องที่เราเห็นความสำคัญมันน่าจะดีกว่าการขายของที่เราอาจจะไม่ได้อิน


ถ้าใครอยากมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้คนด้วยการไปเรียนต่อ ก็สามารถรอฟังเรื่องเล่าประสบการณ์ตรงพร้อมข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจของทุนการศึกษา The Erasmus Mundus Joint Masters (EMJM) จากบรรดาศิษย์เก่ารวมถึงตัวฝ้ายเองได้ทางเพจ The Momentum ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เวลา 19:00-20:00 น.

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ