หลายคนรู้จักมารี-เตแรซ ในฐานะลูกสาวคนโตและทายาทคนเดียวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ที่รอดชีวิตจากการปฏิวัติฝรั่งเศส หลายคนรู้ว่ามารี-เตแรซ ถูกเนรเทศและได้ลี้ภัยไปอยู่ในราชสำนักเวียนนาภายใต้การดูแลของญาติฝ่ายพระมารดาในออสเตรีย แต่หลายคนไม่รู้ว่าชีวิตแสนเศร้าของเจ้าหญิงไม่ได้จบลงแค่นั้น
เจ้าหญิงมารี-เตแรซ ทรงมีชีวิตยืนยาวถึง 72 ปี ทรงมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสอีกหลายครั้ง และที่สำคัญ เคยได้ขึ้นเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสเป็นเวลา 20 นาที ก่อนถูกเนรเทศออกจากประเทศที่ทรงเป็นเจ้าหญิงโดยกำเนิดอีกครั้ง
เกิดอะไรขึ้นกับมาดามรอแยลคนสุดท้ายก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส
“เด็กน้อยที่น่าสงสาร แม้ไม่ได้เป็นลูกชายแบบที่คาดหวังแต่ก็ไม่ได้ทำให้ลูกเป็นที่รักน้อยลงเลยสักนิด หากเป็นเด็กชาย แม่จะต้องแบ่งลูกให้กับคนทั้งประเทศ แต่เมื่อเป็นลูกสาว ลูกจะเป็นของแม่แต่เพียงผู้เดียว”
มารี อ็องตัวแน็ต กล่าวไว้เช่นนี้ในปี 1778 เมื่อเจ้าหญิงมารี-เตเเรซ ลืมตาดูโลก แม้ไม่ใช่ทายาทเพศชายตามความคาดหวัง แต่การประสูติของพระธิดาองค์แรกหลังการแต่งงานที่ยาวนานถึง 8 ปี ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่ากษัตริย์และราชินีสามารถมีทายาทที่สมบูรณ์แข็งแรงได้อีกในอนาคต
มารี-เตเเรซ ได้รับการขนานพระนามตามสมเด็จยาย คือพระนางมาเรีย เทเรซา จักรพรรดินีแห่งออสเตรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ในฐานะลูกสาวของกษัตริย์ เจ้าหญิงมารี-เตเเรซ ได้รับตำแหน่งแต่กำเนิดว่า Filles de France (A Daugther of France หรือลูกสาวของฝรั่งเศส) และได้รับการเรียกขานตามศักดิ์ของลูกสาวคนโตว่า มาดามรอแยล (Madame Royale)
ชีวิต 10 ปีแรกของมารี-เตเเรซ พรั่งพร้อมไปด้วยความสุข เธอเป็นดวงใจของพระมารดาที่มักใช้เวลาส่วนตัวดูแลพระธิดาอย่างใกล้ชิด
มารี อ็องตัวแน็ต เป็นแม่ที่ทุ่มเทแต่เข้มงวด ต่างจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ผ่อนปรนมากกว่าและตามใจพระธิดาไปเสียทุกเรื่อง มารี อ็องตัวแน็ต ไม่ต้องการให้ลูกสาวเติบโตมาเป็นคนเย่อหยิ่งเหมือนบรรดาลูกสาวที่ไม่ได้แต่งงานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (ซึ่งมีศักดิ์เป็นสมเด็จอาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) จึงพยายามเลี้ยงดูลูกสาวให้เป็นคนติดดิน โปรดให้เชิญลูกหลานตระกูลสามัญชนมาร่วมงานเลี้ยงอาหารเย็น และทรงสอนให้เจ้าหญิงรู้จักแบ่งปันของเล่นแก่เด็กยากจน
ในความทรงจำของเจ้าหญิงมารี-เตเเรซ พระมารดาของพระองค์ทรงสอนให้ลูกสาวเห็นอกเห็นใจคนอื่น และมักใส่ใจกับความทุกข์ยากของประชาชน ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกับที่สังคมส่วนใหญ่มอบให้พระนาง
หนึ่งในบันทึกของมารี-เตเเรซ กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันคริสต์มาสปี 1784 หลังจากที่เธอได้รับของขวัญสวยงามมากมายจากขุนนางในราชสำนัก แต่กลับไม่ได้รับของขวัญจากพระมารดา พระนางมารี อ็องตัวแน็ต กล่าวกับลูกสาวว่า
“แม่ควรจะให้ของขวัญที่สวยงามกับลูกเหมือนคนอื่นๆ แต่ฤดูหนาวเป็นเวลาที่ยากลำบาก มีผู้คนมากมายกำลังทนทุกข์ พวกเขาไม่มีขนมปังกิน ไม่มีเสื้อผ้าใส่ และไม่มีไม้สำหรับเผาไฟสร้างความร้อน แม่ได้ให้เงินกับพวกเขาไปหมดแล้ว ไม่เหลือพอที่จะซื้อของขวัญให้ลูกในปีนี้”
อย่างไรก็ดี ชีวิตแสนสุขของเจ้าหญิงก็เป็นอันต้องจบลงในปี 1789 เมื่อฝูงชนผู้เกรี้ยวกราดเดินทางมาถึงแวร์ซาย ชะตาชีวิตของครอบครัวที่เคยมีอำนาจเหนือประชาชนหลายล้าน บัดนี้ตกอยู่ในกำมือของกลุ่มคนจากคณะปฏิวัติ
ในวันที่ 20 มกราคม 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกตัดสินว่าเป็นกบฏ โทษคือประหารชีวิต เย็นวันนั้นพระองค์ได้รับอนุญาตให้ใช้ค่ำคืนสุดท้ายอยู่กับครอบครัวเพื่อบอกลา
‘รถม้าของกษัตริย์เดินทางเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเพื่อไปยังตะแลงแกง สองข้างทางไม่มีอะไรนอกจากฝูงชนมากมายที่ถืออาวุธและมองมาด้วยสีหน้าโกรธเกรี้ยว บ้างถือหอก บ้างถือกระบอกปืน ไม่มีการลดเสียงเพื่อไว้อาลัย ใบหน้าเหล่านั้นเป็นของผู้คนที่สิ้นหวังที่สุดในกรุงปารีส’
ข้อความข้างต้นได้รับการบันทึกโดยเฮนรี เอสเซ็กซ์ เอดจ์เวิร์ท บาทหลวงคาทอลิกที่ติดขบวนไปส่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อดีตกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสถึงแดนประหาร
‘ขบวนรถม้าออกเดินทางราวแปดโมงเช้า มีทหารม้า 1,200 นายให้การคุ้มกัน ข้าพเจ้ามอบหนังสือสวดมนต์สั้นให้พระเจ้าหลุยส์ อดีตกษัตริย์รับหนังสือด้วยความยินดี เมื่อรถม้าจอดสนิท พระเจ้าหลุยส์ถูกพาตัวลงจากรถม้า ทหาร 3 นายพยายามถอดเครื่องทรงของพระองค์ แต่ทรงปฏิเสธและปลดเครื่องทรงต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงได้รับข้อเสนอให้ปิดตาก่อนขึ้นกิโยติน แต่ทรงปฏิเสธ
‘ความตายของข้าพเจ้าเป็นไปด้วยความสุขของราษฎร แต่ข้าพเจ้าเสียใจกับฝรั่งเศส และเกรงว่าประเทศนี้จะต้องระทมทุกข์ต่อไปด้วยความพิโรธของพระผู้เป็นเจ้า’ พระองค์ทรงประกาศว่าบริสุทธิ์จากอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา และภาวนาว่าพระโลหิตของพระองค์จะไม่ไหลหลั่งบนผืนแผ่นดินของฝรั่งเศส
ทันทีที่คมมีดตกลง หนึ่งในทหารที่น่าจะอายุไม่เกิน 18 ปี รีบวิ่งเข้าไป แล้วชูพระเศียรของอดีตกษัตริย์ให้เห็นโดยทั่วกัน ผู้คนโห่ร้องแสดงความยินดี หมวกถูกโยนขึ้นพร้อมกันในอากาศ คำประกาศว่า ‘Vive la République!’ (สาธารณรัฐจงเจริญ!) ก้องดังไปทุกหนแห่ง โลหิตของกษัตริย์หลั่งแล้ว ชัยชนะเป็นของคณะปฏิวัติฝรั่งเศส
หลังการสวรรคตของพระบิดา ครอบครัวของเจ้าหญิงถูกจับขังแยกกัน ไม่มีโอกาสได้พบหน้าคนในครอบครัว และได้รู้ชะตากรรมของสมาชิกคนอื่นๆ ผ่านคำบอกเล่าในภายหลัง เธอทราบว่าน้องชายเพียงคนเดียว เจ้าชายหลุยส์ ชาร์ลส์ ซึ่งบัดนี้ขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 ตามธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์สิ้นพระชนม์ในระหว่างถูกคุมขัง ในขณะที่มารี อ็องตัวแน็ต ผู้เป็นพระมารดา และเจ้าหญิงเอลิซาเบท ผู้เป็นสมเด็จอา (น้องสาวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) ถูกตัดสินประหารชีวิต
มีข่าวว่าอีกไม่นานมารี-เตแรซ เองก็ต้องถูกประหารด้วยเช่นกัน เจ้าหญิงที่เหลือเพียงลำพัง มีของใช้ติดกายเป็นหนังสือเพียง 2 เล่ม เธอเขียนบันทึกบนกำแพงที่คุมขัง
‘มารี-เตเเรซ ชาร์ลอตต์ เป็นบุคคลที่ไม่มีความสุขที่สุดในโลก เธอไม่รู้โชคชะตาของผู้เป็นแม่ และแม้จะขอร้องเป็นพันครั้งก็ไม่อาจพบหน้ากันได้อีก คุณแม่ผู้แสนดี! ฉันไม่มีโอกาสได้ยินข่าวคราวจากท่านแม้สักคำ คุณพ่อที่รัก! ขอทรงคุ้มครองปกป้องลูกจากบนสวรรค์ ถึงพระผู้เป็นเจ้า! โปรดให้อภัยพวกเขาเหล่านั้น ผู้ทำให้บิดา-มารดาของลูกต้องทนทุกข์ทรมาน’
ในปี 1795 มีข่าวว่าราชสำนักออสเตรียพยายามเจรจาเพื่อช่วยเหลือลูกสาวคนสุดท้าย สายเลือดพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มารี-เตเเรซ ปฏิเสธการย้ายไปเวียนนาเพราะรู้สึกว่าครอบครัวฝั่งออสเตรียของพระมารดาได้ละทิ้งครอบครัวของเธอตั้งแต่ต้น เธอประสงค์จะอยู่และตายในฝรั่งเศส แต่เมื่อการเจรจาจบลง เจ้าหญิงคนสุดท้ายได้รับการช่วยเหลือและส่งตัวออกจากฝรั่งเศสไปยังราชสำนักเวียนนา ขณะนั้นเธอมีอายุ 17 ปี รวมเวลาที่ถูกขังในฐานะนักโทษของคณะปฏิวัติทั้งสิ้น 3 ปี 4 เดือน กับอีก 5 วัน
มารี-เตแรซ มาถึงราชสำนักเวียนนาในวันที่ 9 มกราคม 1796 เจ้าหญิงที่บอบช้ำจากเหตุการณ์เลวร้ายปฏิเสธที่จะสวมเสื้อผ้าสีอื่นนอกจากสีดำ เธอกลายเป็นคนเก็บตัว พูดจาน้อย และแทบไม่สุงสิงกับญาติฝั่งพระมารดา เมื่อมีการกล่าวถึงการแต่งงานของเจ้าหญิงกับอาร์ชดยุกออสเตรีย เธอปฏิเสธคำขอแต่งงานทั้งหมดด้วยเชื่อว่าตัวเองควรแต่งงานกับทายาทราชวงศ์ฝรั่งเศสตามความคาดหวังของบิดา-มารดาผู้ล่วงลับ
ในปี 1799 เจ้าหญิงเดินทางไปลัตเวียเพื่อพบกับเจ้าชายหลุยส์ สตานิสลาส ซาเวียร์ เคานต์แห่งพรอว็องส์ น้องชายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งอ้างสิทธิเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส กษัตริย์ผู้ไร้บัลลังก์พำนักอยู่ใต้การคุ้มกันของจักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย ได้เสนอให้หลานสาวแต่งงานกับทายาทของพระองค์ คือเจ้าชายหลุยส์ อ็องตวน ดยุกแห่งอ็องกูแลม (พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ไม่มีลูกชาย แต่ได้เสนอให้มารี-เตแรซ แต่งงานกับหลานชายซึ่งมีสิทธิสืบทอดบัลลังก์หากระบอบกษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูในฝรั่งเศส) ทั้งสองแต่งงานกันในวันที่ 10 มิถุนายนปีเดียวกัน
เจ้าหญิงมารี-เตเเรซ ได้รับของขวัญงานแต่งงานเป็นแหวนที่พระบิดาของเธอเคยสวม ตัวแหวนสลักอักษร ‘M.A.A.A’ ย่อมาจาก Marie Antoinette Archiduchesse d’Autriche (มารี อ็องตัวแน็ต อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย) สลักวันที่ 6 พฤษภาคม 1770 มารี-เตแรซ ร้องไห้ด้วยความดีใจหลังได้รับแหวนที่เป็นตัวแทนของพ่อแม่ที่เสียชีวิต
ชีวิตแต่งงานของมารี-เตแรซ กับเจ้าชายหลุยส์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรักและห่างไกลกับคำว่ามีความสุข มารี-เตแรซ เป็นตัวแทนของระบบเจ้าขุนมูลนายแบบเก่า การถูกคุมขังและเหตุการณ์เลวร้ายทำให้เจ้าหญิงกลายเป็นคนอมทุกข์ เธอมีความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ เป็นสตรีที่น่านับถือ แต่ไม่ได้รับความรัก เจ้าชายหลุยส์ให้ความเคารพภรรยาเสมอและได้ความเคารพจากเธอเป็นการตอบแทน
ในปี 1815 มีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงหลังนโปเลียนลงจากอำนาจ พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้รับการยอมรับให้กลับมาปกครองฝรั่งเศส พร้อมกับมารี-เตแรซ ได้กลับฝรั่งเศสครั้งแรกในรอบ 20 ปี เธอไปเยี่ยมห้องขังที่น้องชายเสียชีวิตและเคารพศพพ่อแม่ที่สุสานแมเดลีน หนึ่งในสุสานที่ใช้ฝังศพเจ้านายและผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตในการปฏิวัติฝรั่งเศส
9 ปีต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 สวรรคต น้องชายของพระองค์และพ่อสามีของมารี-เตแรซ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ในที่สุดเจ้าหญิงแห่งฝรั่งเศสก็ได้กลับมายืนในจุดที่เธอคู่ควร
ในฐานะเจ้าหญิงรัชทายาทของราชบัลลังก์ ฐานะของเธอมั่นคงอยู่ 6 ปี ก่อนเกิดการปฏิวัติครั้งที่ 2 ในปี 1830 การปฏิวัติครั้งนี้มีชื่อเรียกในประวัติศาสตร์ว่า การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม สาเหตุหลักมาจากการที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ต้องการยกเลิก Charter of 1814 ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าระบอบกษัตริย์ของฝรั่งเศสจะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะทรงต้องการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์แบบดั้งเดิม นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนจนเกิดการปะทะรุนแรง
ชาร์ลส์ไม่มีทางเลือกนอกจากการสละราชสมบัติ และเนื่องจากคณะปฏิวัติต้องการสนับสนุนญาติของพระองค์ คือเจ้าชายหลุยส์-ฟิลิป แห่งออร์เลอ็อง ผู้สัญญาว่าจะปฏิวัติระบบราชการแบบอนุรักษนิยมไปสู่คณะรัฐบาลแบบเสรีนิยม เจ้าชายหลุยส์ พระสวามีของพระนางมารี-เตแรซ จึงขึ้นครองราชย์แต่ในนามเพื่อสละราชบัลลังก์ให้กษัตริย์ที่ประชาชนต้องการ
ในช่วงเวลาที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ประกาศสละราชฯ และก่อนที่เจ้าชายหลุยส์จะเซ็นเอกสารตามต่อ มีช่วงว่างอยู่ประมาณ 20 นาทีที่เจ้าชายหลุยส์ได้รับยกขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 19 และมารี-เตแรซ ได้ชื่อว่าเป็นราชินีของฝรั่งเศส (ตามหลัก comte d’Artois หรือการสืบบัลลังก์ทันทีที่กษัตริย์สละราชสมบัติหรือสวรรคต) พระนางมารี-เตแรซ ผู้มีความมุ่งมั่นสูงสุดในการฟื้นคืนระบอบกษัตริย์ได้แต่ร้องไห้อ้อนวอนขอให้พระสวามีคิดดูใหม่แต่ก็ไม่เป็นผล เหตุผลที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 19 ยอมสละราชสมบัติง่ายๆ ในเวลาไม่กี่นาทียังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน พระองค์ไม่เขียนบันทึกความทรงจำและเหตุการณ์ในวันนั้นก็ไม่ถูกเล่าซ้ำอีก
อดีตพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 และอดีตกษัตริย์หลุยส์ที่ 19 พาทั้งครอบครัวลี้ภัยอีกครั้งไปยังประเทศอังกฤษ เปิดทางให้เจ้าชายหลุยส์-ฟิลิป แห่งออร์เลอ็อง ขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปที่ 1 กษัตริย์องค์สุดท้ายจากสายราชวงศ์บูร์บง ปกครองประเทศอยู่ 18 ปี ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเกิดการปฏิวัติครั้งที่ 3 และเปลี่ยนระบอบการปกครองกลับมาเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง
มารี-เตแรซ และครอบครัวไม่ได้กลับไปฝรั่งเศสอีกหลังจากนั้น เธอใช้ชีวิตเพื่อดูแลอดีตพระเจ้าชาร์ลส์ผู้แก่ชรากระทั่งสิ้นพระชนม์ และเมื่อสามีของเธอจากไปในปี 1844 มารี-เตแรซ ย้ายกลับไปใช้ชีวิตตามลำพังในออสเตรีย เธอใช้เวลาที่เหลือไปกับการปลีกวิเวก อ่านหนังสือ และสวดมนต์
มารี-เตแรซ จบชีวิตแสนเศร้าในวันที่ 19 ตุลาคม 1851 เป็นเวลา 3 วันหลังครบรอบ 58 ปี วันสิ้นพระชนม์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต และเนื่องจากมารี-เตแรซ ไม่มีทายาท สายเลือดองค์สุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และราชินีมารี อ็องตัวแน็ต จึงจบลงที่ตรงนี้
อ้างอิง