ประทีป สุธาทองไทย กับการค้นพบบาดแผลในประวัติศาสตร์ไทยผ่านการวาดปกหนังสือเก่า

ศิลปินบางคน มองปราดเดียว ก็รู้ว่างานใคร

หม่อม-ประทีป สุธาทองไทย เป็นศิลปินที่กำลังก้าวสู่จุดนั้น นิทรรศการใหม่ของเขาชื่อว่า แผลเก่า ที่ SAC Gallery ประทีปวาดภาพปกนิตยสาร หนังสือ และแบบเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อนในรูปแบบงานจิตรกรรม เขาเคยทำงานแนวนี้ในนิทรรศการชื่อว่า ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ครั้งนี้เขาต่อยอดผลงานให้กว้างขึ้น และยังน่าสนใจเช่นเคย

ประทีปสนใจภูมิภาคอีสาน ชอบประวัติศาสตร์ เขาพบว่าสิ่งพิมพ์ในอดีตเล่าเรื่องคนและพื้นที่นี้ไว้อย่างน่าสนใจ ประทีปเลือกปกหนังสือมาวาดได้คมคาย ยั่วล้อ ภาพและตัวหนังสือในอดีตเชื้อเชิญให้เกิดการตีความ เหมือนกำลังเล่าสังคมในปัจจุบันผ่านเรื่องเล่าในอดีต

เวลาดูงานของประทีป ภาพของเขาเหมือนชวนเราคุยตลอดเวลา สร้างบทสนทนาอย่างที่เราคาดไม่ถึง 

ประทีปไม่ได้ทำนิทรรศการบ่อยนักเพราะงานของเขาล้วนเกิดจากการค้นคว้าเอกสารและสิ่งพิมพ์ในอดีต เขาทิ้งช่วงจากงานที่แล้วถึง 2 ปี ในเวลาที่ผ่านมาเขาค้นพบเรื่องราวหลายอย่างที่เป็นเหมือนแผลเก่าในสังคมไทย 

แม้ผ่านมานาน มองปราดเดียวก็เห็นว่าแผลนั้นยังไม่หายจนถึงทุกวันนี้ 

การค้นหาที่ยังไม่สิ้นสุด

‘ภาพวาดในนิทรรศการครั้งนี้ได้กลายเป็นสัญญะที่มองเห็นได้ ทั้งชัดเจน และไม่ผิดเพี้ยน สามารถเชื่อมโยงสื่อความไปยังสิ่งที่มองไม่เห็น วัตถุที่ถูกคัดลอกขึ้นใหม่เหล่านี้คือสัญญะที่สื่อสารกับผู้ชมอย่างมีทิศทาง หรืออาจจะไม่มีทิศทางก็ย่อมเป็นไปได้ จากยุคสมัยที่สิ่งพิมพ์เต็มไปด้วยเรื่องที่ถูกรับรู้ในระดับสาธารณะ หรือเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนหมู่มาก จิตรกรรมทำให้สิ่งที่ถูกถ่ายทอดมีความสำคัญเสมอ ไม่เว้นแม้แต่คำกำกับภาพบนปกหนังสือ สายตาของผู้ชมในฐานะของ ‘ตัวแปร’ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะขยายบาดแผล”

ขณะเดินชมงานในห้องโถงใหญ่ของแกลเลอรี่ เราคิดถึงข้อความท่อนหนึ่งในเอกสารที่ SAC Gallery ส่งมาให้ก่อนชมงาน 

งานของประทีป เริ่มที่ห้องสมุด การค้นของเขาเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2561 เขาเขียนบทความเรื่อง ภาพถ่ายอีสานสมัยสงครามเย็น : ชนบทที่ไม่โรแมนติค ให้กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น งานชิ้นนั้นทำให้เขาได้พบภาพถ่ายชนบทในหนังสือ สังคมวิทยาในหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนังสือที่ศึกษาหมู่บ้านชนบทในภาคอีสานด้วยหลักวิชาการศึกษาทางมานุษยวิทยาเล่มแรกๆ ของประเทศ 

การทำงานชิ้นนี้พาให้เขาได้พบกับ สุเทพ สุนทรเภสัช บรรณาธิการหนังสือ และ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ สองคนนี้จุดประเด็นให้เขาได้ค้นคว้าหนังสืออีกมากมายในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนกระทั่งเกิดเป็นนิทรรศการ ประเทศเล็กที่สมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2561 แสดงที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ประทีปวาดภาพหนังสือและนิตยสารในรูปแบบงานจิตรกรรม 

สาเหตุที่ประทีปสนใจการวาดภาพปกสิ่งพิมพ์ ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงที่เขาเริ่มศึกษาภูมิภาคอีสานจากมุมมองของคนกรุงเทพฯ เขาจากบ้านเกิดไปทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แม้จะอยู่มานานแต่เขายังรู้สึกว่าเป็นคนนอก ส่วนหนึ่งเขาคิดว่าความจำและความรู้ที่มีต่อภูมิภาคนี้ของตัวเอง มาจากการเข้าใจอีสานผ่านภาพที่ได้จากการเรียนหรือเห็นผ่านสื่ออะไรมาก่อน หนังสือหรือสื่อมีผลในการสร้างภาพเหล่านี้ขึ้นมาให้กับสิ่งที่เรายังไม่เคยมีประสบการณ์ 

“ผมสืบค้นดูว่าภาพเหล่านี้สร้างขึ้นมาได้ยังไง หนังสือและความรู้เริ่มผลิตตั้งแต่เมื่อไหร่ มันถูกปรับแก้ไปตามสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมอย่างไร มีนักเขียนฝ่ายไหนที่ shape หรือฟอร์มความรู้พวกนี้ขึ้นมา ก็เลยเป็นไอเดียที่ทำให้ผมอยากกลับมาเขียนรูป” 

ในงานล่าสุดอย่าง แผลเก่า ประทีปตามรอยเส้นทางเดิม สิ่งที่ต่างคือเขาหาปกหนังสือมาวาดหลากหลายขึ้น ไม่ได้มีแค่สมุดจดหรือแบบเรียน แต่มีทั้งนิตยสารไลฟ์สไตล์อย่าง คู่สร้างคู่สม ไปจนถึงหนังสือนิยายและสื่อสิ่งพิมพ์ที่แฝงนัยน่าสนใจ เขาเจอสิ่งเหล่านี้จากการค้นในห้องสมุดเช่นเคย

ประทีปบอกว่า การไปอยู่ห้องสมุด เป็นเหมือนการท่องเที่ยว “มันจะพาเราไปที่ไหนต่อที่ไหนได้ ดูจากเล่มนึงพาไปอีกเล่มนึง เล่มที่ไม่ได้คิดจะเจอก็เจอจากการไปค้นในชั้น” เขาอธิบายขยายความ

“เราค้นให้เจออะไรบางอย่าง แล้วให้มันนำทางไปเรื่อยๆ วันนึงมันจะเหมือนปะติดปะต่อเป็นแง่มุมอะไรบางอย่าง เป็นข้อสังเกตที่เราอยากเอามาใช้ทำงาน เพราะมันมีน้ำหนักพอจากหลักฐานที่เราเจอ เป็นมุมมองที่เรามีต่อเรื่องนั้น แล้วเรามั่นใจที่จะพูด

“ผมรู้สึกผมไปเจอชิ้นส่วน เหมือนเราไปผจญภัยหาชิ้นส่วน ที่ปกติค้นเรื่องนี้ต้องมุ่งไปทางนี้ เราก็จะไปค้นจนไปเจอของที่มันยังไม่ถูกกระจายอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ไปเติมมิติหรือไปสร้างมิติให้กับเรื่องนั้นได้” ประทีปเล่าวิธีการทำงานซึ่งส่งผลต่องานในยุคหลัง

ประทีปบอกว่า การวาดรูปปกหนังสือ แทนที่จะถ่ายภาพ เป็นเหมือนการถ่ายทอดความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เจอหนังสือที่คาดไม่ถึง

“การเขียนรูปเหมือนเราเขียนวัตถุที่เห็นว่าสำคัญ เหมือนคนส่วนใหญ่วาดภาพทิวทัศน์ที่สวยงาม ผมคิดว่าปกหนังสือที่เราวาดมีค่าโดยตัวมันเอง และมีค่าจากการผ่านกาลเวลา การที่มันเก่าและโทรมแสดงว่ามันมีคุณค่านะ มันต้องถูกใช้เยอะแน่ หนังสือที่ไม่เคยถูกยืมผมคิดว่ามันคงไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่” เขาเล่า

ร่องรอยและบาดแผลที่ยังคงชัดเจน

ประทีปให้ความสำคัญกับการวาดร่องรอยบนปกหนังสือมาก ถ้าคุณมาดูงานเองจะเข้าใจว่าการเก็บเนี้ยบของเขาโหดแค่ไหน 

“การเขียนภาพปกมันไม่ได้หมายถึงเราให้ความสำคัญกับปก เราให้ความสำคัญกับสภาพด้วย เพราะมันบอกทั้งเวลาและความเป็นวัตถุของสิ่งที่เราเขียนถึง มันเป็นวัตถุหรือสิ่งของที่เคยถูกทำขึ้นมา อย่างนิยายชุด สี่แผ่นดิน ในตลาดสะสมใครมีสภาพดีๆ นี่แพงมาก คนอ่าน สี่แผ่นดิน เยอะมาก ถูกพิมพ์ออกมาเยอะมาก เพราะฉะนั้นการเห็นสภาพมันก็เพิ่มความหมายให้กับภาพในชิ้นงานด้วย” 

ในภาพที่ประทีปวาด มีภาพนิยาย แผลเก่า ซึ่งเขาชอบและใช้เป็นชื่อนิทรรศการ เพราะคิดว่าชื่อนี้น่าจะครอบคลุมกับเนื้อหา เป็นคำที่ทำให้คนคิดถึงระหว่างดูงานได้ 

อีกด้านหนึ่ง ภาพปกหนังสือที่เลือกมาเล่า เชื่อมโยงกับเรื่องประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และสิ่งที่เคยมีผลกระทบกับสังคมไทยในช่วงเวลา 50-60 ปี มันเป็นบาดแผลที่กระตุกให้เราคิดถึงและมองมันอย่างจริงจัง

“สถานการณ์วันนี้ที่ผู้คนตื่นตัวทางการเมือง ทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์และความทรงจำมากขึ้น เริ่มอยากรู้เรื่องที่ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นที่สนใจแค่กับคนกลุ่มเล็กๆ ทำให้เกิดการค้นเรื่องในหนังสือเก่าอย่างคึกคัก แล้วก็ทราบกันดีว่าหลายเรื่องเราก็ค้นแต่ไม่ได้คำตอบ มันเลยทำให้หลายเรื่องยังอยู่ในความสนใจ ผมก็มองว่า แผลเก่า น่าจะเหมาะกับบรรยากาศและสถานการณ์หลายๆเรื่องที่คนก็คงจะตีความคำนี้ได้เองว่าแผลเก่าอาจจะหมายถึงเรื่องที่เป็นแผลเก่าที่ไม่อยากให้รู้หรือไม่อยากพูด” หม่อมเล่า 

เรื่องการเลือกหนังสือที่กว้างขึ้น ทำให้งานมีหลายอารมณ์มากขึ้น เราได้เห็นเรื่องเดียวกันถูกมองจากสื่อต่างประเภท ทำให้เกิดมิติน่าสนใจขึ้น “นิยายหลายเรื่องก็มีผลในการสร้างความจริงกลับเข้ามาได้ด้วย เหมือนคนดูละคร ความฝันจากสิ่งที่เห็นในตัวละครมันเข้ามาเติมเต็มชีวิตจริง หนังสือหลายเล่มก็อยู่กับคนยาวนานจนกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในอีกแง่หนึ่งได้ด้วย” 

ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นเวลาดูนิทรรศการนี้ คือเรามักคิดเรื่องที่ไม่ตรงปก ภาพที่เห็น ตัวหนังสือที่ได้อ่าน ชวนให้เราคิดถึงนัยอื่นๆ ในสังคมเสมอ 

“ผมชอบการที่คนดูแล้วรู้สึกแบบนี้แหละ” ประทีปยิ้ม 

“ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะพูดตรงๆ ได้ งานทำให้คนรู้สึกแบบเดียวกับเรา งานในชุดนี้มีจุดที่ผมสนใจเป็นพิเศษแต่คิดว่าถ้าเน้นเรื่องนั้นอาจจะบดบังทางอื่นๆ ที่ควรมอง ผมเลยเลือกปกให้มันไปได้ในหลายๆ ทาง 

“ผมจะให้ความสำคัญกับภาพปก ในองค์ประกอบจะมีภาพกับข้อความซึ่งอาจจะเป็นชื่อหนังสือหรือชื่อเรื่อง มันทำงานร่วมกันตลอด ภาพอาจจะมาเสริมข้อความ แต่หลายเล่มผมรู้สึกว่ามันขัดแย้งกัน หรือพอมาดูในวันนี้มันสื่ออีกอย่างหนึ่ง พูดอีกเรื่องนึงเลย”

ประทีปยกตัวอย่างปกนิตยสารประชาชาติ ที่มีคำโปรยว่า เราจะไปทางไหนกัน ฉบับนี้ออกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2519 ไม่นานก่อนเกิดโศกนาฏกรรมในเดือนตุลาคม

“มันเป็นเรื่องของการหาทางออกที่ไม่ได้ไปซ้ายหรือขวา มันเป็นเรื่องของการเมืองยุคนั้นในปี พ.ศ. 2519 แต่พอมาดูวันนี้ผมคิดว่าคนนึกไปอีกเรื่อง ผมไปเปิดดูในเล่ม มันเป็นเรื่องของการหาทางที่สามซึ่งเป็นสันติวิธี ลดความรุนแรงของคนที่แบ่งชั้นมาก ตอนนั้นคือซ้ายหรือขวา ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับปก แต่วันนี้เนี่ยมันหลุดออกจากบริบทหรือช่วงเวลามันกลายเป็นพูดขึ้นมาอีกเรื่องนึง” 

ประทีปยังพูดถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการวางตำแหน่งภาพในนิทรรศการ สมัยนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งในสังคม สื่อที่พูดถึงไม่ได้มีฉบับเดียว บางครั้งก็มีสองเล่มที่พูดมุมต่างกัน เป็นเหมือนคู่ขัดแย้งในยุคนั้น เช่น ใน พ.ศ. 2475 อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เขียนหนังสือชื่อ พระเจ้าช้างเผือก ในขณะเดียวกันก็มีหนังสือชื่อ บุกบรมพิมาน ทั้งคู่เป็นหนังสือแนวสารคดีแต่เล่าคนละแบบ 

“ตอนติดตั้งงาน ผมอยากให้ผนังด้านหนึ่งเป็นปกที่เล่าเรื่องเหตุการณ์หนึ่ง อีกด้านก็อีกเหตุการณ์หนึ่ง เอื้อให้คนหาความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงระหว่างงานชิ้นต่างๆ ผมไม่อยากวางให้อ่านง่ายไป มันน่าจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์คนในแต่ละวัยได้หลายๆ แบบ คนที่รู้ก็ดูงานได้ คนที่ไม่รู้ก็จะรับสารต่างจากคนที่รู้ เขาจะหาทางตีความในแบบของเขาเอง” 

“งานทำให้คนสนใจว่ามีหนังสือแบบนี้ด้วยเหรอ ด้วยวิธีทำงานแบบนี้มันมีผล ล่อให้คนสนใจ การวาดรูปแต่ละชิ้นสำหรับผมมันเป็นหนังสือสำคัญ แล้วพอมาอยู่ในสถานะของจิตรกรรม มันมีค่าขึ้นมา ฉะนั้นมันถึงต้องเป็นจิตรกรรม ถ้าผมถ่ายรูป มันจะไม่มีค่าเท่ากับผมทำให้มันเป็นจิตรกรรม ด้วยฝีมือหรือเวลาที่เราลงไปกับมัน”

ประทีปยังสับขาหลอกคนดูด้วยการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ภาพใหญ่ดูเหมือนจะสำคัญแต่ศิลปินบอกว่าไม่จำเป็น

“สิ่งที่คิดกับมันก็คือ ไซส์ใหญ่แปลว่าอะไร มันถูกขยายขึ้น แต่อยากให้มันพูดอะไร ความสวยของรูปนั้น หรือเล่มนั้นสำคัญที่สุดในโชว์นี้ ผมก็ลองหลายแบบ ฉะนั้น ถ้าคนจะเปรียบเทียบไซส์ใหญ่ในงานนี้และคิดว่ามันเป็นเล่มที่พิเศษหรือสำคัญก็อยากให้คิดว่าไม่แน่ใจ เพราะว่ามันก็มีเล่มที่ซีเรียส กับเล่มที่ผมก็ชอบ ปกหนังสือ ประชาชาติ กับ คู่สร้างคู่สม ผมก็ชอบเท่ากัน เพราะมันก็เป็นเรื่องสำคัญทั้งหมด จริงๆ แล้วเรื่องสำคัญที่คนไปบอกว่าสำคัญ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์ที่ซีเรียส แต่เป็นเรื่องที่แบบ เรื่องผัวๆ เมียๆ สำคัญนะ สังคมไทยเรื่องดราม่าสำคัญมากให้เวลาเรื่องดราม่าเยอะมาก ก็อาจจะทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่าชีวิตเราก็อยู่กับความสัมพันธ์หลายเรื่องเหมือนกัน บางเรื่องเราก็เลือกได้เอง บางเรื่องก็มีคนคอยกระตุ้นมาบอกว่าสำคัญ สับขาหลอก คนจะได้สนุกกับการหาคำตอบ อย่างนั้นมากกว่า”

มีแนวโน้มว่าเราจะได้เห็นประทีปทำงานชุดนี้อีกในอนาคต พออยู่ในโลกหนังสือเขาก็ยังค้นพบสิ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ประทีปยังสนใจต่อยอดจากงาน ดุสิตธานี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ายังค้างกับการค้นคว้า ดูเหมือนว่ายิ่งค้นก็ยิ่งพบเรื่องราวในอดีตที่ยังคงมีพลังอยู่จนถึงปัจจุบัน

นิทรรศการ แผลเก่า ยังจัดแสดงที่ SAC Gallery ถึงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2566

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ