รศ.ประภาภัทร นิยม : บทเรียนชีวิตจากลูก สู่การก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณที่เชื่อในเด็กทุกคน

Highlights

  • โรงเรียนรุ่งอรุณ คือโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธที่ก่อตั้งโดย รศ.ประภาภัทร นิยม เมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยผู้ที่จุดประกายให้เกิดโรงเรียนรุ่งอรุณคือลูกๆ ของอาจารย์
  • ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ลูกชายของอาจารย์ประภาภัทรมีอาการในข่าย Asperger Syndrome ทำให้เกิดความยากในการเรียนในโรงเรียนทั่วไป ในขณะที่ลูกสาวคนโตเห็นเพื่อนร่วมห้องพากันไปกวดวิชาอย่างหนักจนเกิดคำถาม สองแม่ลูกจึงออกตระเวนตามหาโรงเรียนที่มีวิธีการสอนแบบที่ใช่
  • ในที่สุด โรงเรียนรุ่งอรุณจึงเกิดขึ้นด้วยความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีวิธีการเรียนรู้เป็นของตัวเอง โรงเรียนแห่งนี้จึงไม่บังคับให้เด็กต้องเรียนรู้ด้วยวิธีท่องจำเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในวิธีแบบของตัวเองบนพื้นที่โรงเรียนที่อุดมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์
  • จากวันนั้นถึงวันนี้ โรงเรียนรุ่งอรุณค่อยๆ เติบโตขึ้นจนเป็นกรณีศึกษาให้หลายโรงเรียนในประเทศไทย หากแต่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดในชีวิตของอาจารย์ประภาภัทรคือความสุขที่เพิ่มขึ้นทั้งของตัวเองและครอบครัว

“เราไม่ได้เสาะแสวงหาโรงเรียนวิเศษให้ลูก”

รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้เป็นแม่ตอบขึ้นอย่างเรียบง่าย เมื่อเราถามถึงการเข้าโรงเรียนของลูกชายคนเล็กซึ่งมีอาการในข่ายของ Asperger Syndrome

เมื่อรับรู้ว่าลูกรักมีอาการผิดปกติทางการเรียนรู้ ซึ่งโดยทั่วไปคนเป็นพ่อแม่อาจจะหัวใจสลาย คิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับอนาคตของลูกไปต่างๆ นานา และอาจจะวิ่งวุ่นหาโรงเรียนเฉพาะทางหรือโรงเรียนที่ออกแบบการเรียนรู้เป็นพิเศษให้ลูก แต่ไม่ใช่กับแม่คนนี้

รศ.ประภาภัทรส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐซึ่งเป็นโรงเรียนสวัสดิการของมหาวิทยาลัยที่เธอสอนหนังสืออยู่ เธอสารภาพถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ไม่ได้คิดขวนขวายหาโรงเรียนพิเศษให้ลูก ไม่ได้เป็นเพราะเธอไม่คิดจะหา แต่เพราะ ‘มันไม่มี’

หากย้อนไปเมื่อยี่สิบปีก่อน โรงเรียนทางเลือกยังมีให้เห็นไม่มากนักในเมืองไทย ระบบการศึกษายังผูกติดอยู่กับส่วนกลางซึ่งยัดเยียดให้เด็กนักเรียนแออัดกันอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม พันธนาการความคิดสร้างสรรค์ด้วยกฎเกณฑ์ล้าหลัง ตีกรอบความคิดด้วยตำราสำเร็จรูป และพิพากษาระดับความรู้ด้วยข้อสอบท่องจำ ไม่ต่างจากนกแก้วนกขุนทอง

คล้ายอยู่ในสถานกักกันในนามของ ‘ห้องเรียน’

จากบทเรียนที่ได้เห็นในโรงเรียนของลูกๆ ทั้งเหตุการณ์ที่ลูกชายคนเล็กไม่สามารถเรียนได้ตามปกติ ทั้งเพื่อนร่วมชั้นของลูกสาวคนโตที่ก้มหน้าก้มตากวดวิชาอย่างบ้าคลั่ง ทำให้ รศ.ประภาภัทรกลับมาฉุกคิดว่าโรงเรียนไม่ควรเป็นพื้นที่แห่งความหวาดกลัวหรือทำให้เด็กต้องสูญเสียเวลาทั้งหมดไปกับการตั้งหน้าตั้งตาเรียนพิเศษ

เด็กนักเรียนจำนวนมาก รวมถึงลูกๆ ของเธอ ทุ่มเทเวลามหาศาลหมดไปกับโรงเรียนในช่วงต้นของชีวิต แต่ยังห่างไกลจากแก่นแกนของการเรียนรู้ที่แท้จริง และได้เลาะเล็มแค่เพียงเปลือกผิวของการศึกษาเท่านั้น

รศ.ประภาภัทรจึงกลับมาทบทวนและพยายามสร้างหลักสูตรการศึกษาที่ดึงเด็กกลับเข้ามาสู่การเรียนรู้โดยเนื้อแท้อีกครั้ง

โรงเรียนในฝันที่มีการออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง หรือโรงเรียนที่เปิดพื้นที่ให้เด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้น รศ.ประภาภัทรกล่าวว่าในเวลาเมื่อยี่สิบปีก่อน เธอยังหาไม่พบ

เพราะอย่างนั้น เธอจึงสร้างมันขึ้นมาเอง

หลังจากรวบรวมคำแนะนำจากผู้รู้และครูบาอาจารย์หลายท่าน 1 พฤษภาคม 2540 ‘โรงเรียนรุ่งอรุณ’ ก็ถือกำเนิดขึ้นบนพื้นที่ 50 ไร่ ย่านบางขุนเทียน โรงเรียนนี้ไม่มีรั้วคอนกรีต แต่มีรั้วต้นไม้เขียวขจีและมีพื้นที่กลางแจ้งให้เด็กๆ ได้ออกมาทำกิจกรรม ทุกตารางเมตรของโรงเรียนคือพื้นที่การเรียนรู้ หลุดกรอบออกจากห้องเรียนมุมฉากในภาพจำของโรงเรียนทั่วๆ ไป

วิชาการศึกษาที่แม่เรียนรู้จากลูก

รศ.ประภาภัทรเล่าด้วยน้ำเสียงสงบถึงอาการผิดปกติด้านการสื่อสารของลูกชายคนเล็ก  

“เราเริ่มรู้ว่าลูกมีความผิดปกติ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่รู้ว่าเป็นความไม่ปกติของการสื่อสาร ไม่มีการสบตา ไม่สื่อสารตรง คือมีแต่การรับเข้าข้อมูลแต่ไม่มีการส่งออก ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับข้อมูลตรงหน้าอย่างทันทีเหมือนเด็กทั่วไป เป็นอาการ learning disorder ในตอนนั้นยังไม่มีคำว่าออทิซึม และยังไม่มีการระบุว่าเป็นโรคด้วยซ้ำ”

พอเริ่มเข้าวัยอนุบาลก็เริ่มเกิดปัญหาในเรื่องการเรียน ลูกชายของเธอไม่สามารถนั่งนิ่งๆ เรียนร่วมกับเพื่อนๆ ได้ ไม่สื่อสารกับครูและเพื่อน ซึ่งครูประจำชั้นก็ยื่นคำขาดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะไม่สามารถเรียนร่วมกับเพื่อนได้

ด้วยหัวอกคนเป็นแม่ เธอจึงกลับมาหาวิธีการว่าจะสื่อสารและดูแลลูกยังไงดี เธอจับพลัดจับผลูไปพบเข้ากับหนังสือเล่มหนึ่งที่พลิกความคิดเรื่องการเรียนรู้ของเด็กบนพื้นฐานของพุทธศาสนา นั่นเป็นจุดแรกที่ทำให้เธอเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์และทางออกในการดูแลลูกซึ่งมีวิธีการสื่อสารแตกต่างจากคนอื่นๆ

“เราไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่หน้าปกเป็นภาพเขียนหน้าเด็กแบบต่างๆ อยู่ในช่องตาราง ผู้เขียนคือ อาจารย์ประมวญ ดิกคินสัน หนังสือเล่มนั้นพูดถึงการดูแลเด็กที่ยอมรับความแตกต่างในการเรียนรู้และการสื่อสาร โดยเริ่มปรับที่จิตใจและสายตาของครูและพ่อแม่ น้อมใจกลับมาตั้งหลักที่ตนเอง ด้วยสติสัมปชัญญะและมีเมตตา มองเห็นว่าคนที่มีวิธีการสื่อสารที่ต่างออกไป ไม่ได้หมายความว่าเรียนรู้ไม่ได้ แต่เพราะคนเราเรียนรู้และสื่อสารไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่ฉุกคิดเรื่องนี้ เราก็จะเผลอไปตัดสินคนอื่นที่เขาไม่เหมือนเราว่าเขาไม่ได้มาตรฐาน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันทำให้เราเข้าใจลูกมากขึ้น”

เมื่อเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ครูประจำชั้นก็สนใจทำวิจัยและศึกษาเรื่องภาษากับการสื่อสารสำหรับลูกชายของเธอโดยเฉพาะ โดยครูจะสอนแบบกลับกัน เพราะปกติมนุษย์จะสื่อสารสิ่งที่เป็นนามธรรมในความคิดออกมาในรูปภาษา แต่ลูกชายของเธอเริ่มเรียนจากภาษาของสัญญะที่เป็นระบบแล้ว เพื่อแทนที่ความหมายซึ่งอยู่ในใจ จนทำให้เรียนรู้ได้อย่างก้าวกระโดด สามารถอ่านหนังสือพิมพ์และอ่านหนังสือได้ เหมือนกับข้อมูลที่มีอยู่มาก่อนได้มีสะพานเชื่อมกับสื่อตรงหน้าได้ เธอจึงพบว่าปัญหาของลูกชายคือติดขัดเรื่องสัญญะทางภาษา

แต่ในคาบภาษาอังกฤษก็มีปัญหาในช่วงต้นเช่นกัน จนทำให้ไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษ

“ลูกปิดตัวเองไปเลย ไม่เรียน ไม่ฝืน เขาปฏิเสธไปเลยเพราะวิธีการเรียนรู้มันไม่เข้าทาง คือไม่ได้ภาษาอังกฤษเลยแม้กระทั่ง a, an, the ง่ายๆ จนกว่าจะขึ้นชั้นมัธยมตอนที่ตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณแล้ว ตอนนั้นที่ยอมเรียนเพราะครูภาษาอังกฤษแสนสวยคนหนึ่งเป็นแรงจูงใจให้อยากเข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้น เขาดูตั้งอกตั้งใจเรียนมาก ขยันอ่านขยันท่องศัพท์ เปิดพจนานุกรมเองขึ้นมาเฉยเลย (หัวเราะ) เราไม่มีทางรู้เลยว่าใครมีวิธีการเรียนรู้แบบไหน”

เมื่อมองย้อนกลับเข้ามาในการเรียนในระบบ เปรียบเทียบกับวิธีเรียนของลูก เธอค่อยๆ ตั้งคำถามว่าการศึกษาควรมีพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายมากกว่านี้ไหม

“ครูก็ตัดสินเด็ก ข้อสอบก็ตัดสิน แล้วคนที่จะไปใช้ศักยภาพของตัวเองในด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเวทีการศึกษาปกติล่ะ เขาจะไม่มีโอกาสเลยเหรอ เราเลยรู้สึกว่าระบบการเรียนในโรงเรียนแบบนี้มันไม่น่าจะใช่”

รศ.ประภาภัทรตกผลึกว่า ความแตกต่างไม่ใช่ความผิดแปลก แต่การศึกษาต้องออกแบบมาดีพอเพื่อจะรองรับความแตกต่างหลากหลายของเด็กๆ ที่มีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกัน

การศึกษาต้องตั้งต้นที่ผู้เรียน ผู้เรียนที่แตกต่างอย่างลูกชายก็ใช่ แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณคือลูกสาวคนโต

รุ่งอรุณแห่งการเรียนรู้

หากลูกชายคนเล็กเป็นเหมือนมวลความคิดที่ทำให้เริ่มฉุกคิดว่าการศึกษาควรมีทางเลือกให้ความหลากหลาย ลูกสาวคนโตคงเป็นเหมือนอิฐก้อนแรกที่ทำให้เธอมองเห็นที่ทางในการวางอิฐก้อนต่อๆ ไป จนเกิดเป็นโรงเรียนรุ่งอรุณที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้

รศ.ประภาภัทรเล่าถึงลูกสาวคนโตว่า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือกสายการเรียนตอนมัธยมปลาย ลูกก็เคว้งคว้างไม่รู้จะเลือกอะไร ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องเลือก สิ่งที่ผู้เป็นแม่เริ่มมองเห็นว่าเป็นความผิดปกติของการเรียนในระบบคือ เพื่อนร่วมชั้นของลูกสาวต้องแห่แหนไปเรียนพิเศษกันอย่างหนัก

“ลูกสาวไม่เคยขอสตางค์เรียนพิเศษเลย แต่เรียนได้คะแนนดีพอควร เพราะแอบไปนั่งเรียนกับเพื่อนที่เรียนพิเศษ ซึ่งสิ่งที่เพื่อนๆ ไปเรียนคือเรื่องที่จะเรียนวันรุ่งขึ้น เด็กแทบทุกคนเรียนพิเศษ เราเลยคิดว่า อะไรกัน เด็กๆ เสียเวลาในห้องเรียน 12-15 ปี แล้วยังต้องไปเรียนพิเศษ

“ลูกสาวก็ถามเราว่า ‘มันเป็นอย่างนี้ทุกโรงเรียนไหมแม่’ ปรากฏว่าพอมาดูโรงเรียนอื่นๆ ในเมืองไทยก็เหมือนๆ กัน ลูกก็ถามต่อว่า ‘แล้วมันเป็นอย่างนี้ทั้งโลกไหมแม่’ เราก็ไปหาข้อมูล ปิดเทอมก็ตระเวนไปดูโรงเรียนที่อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ”

ในระหว่างที่สองแม่ลูกสำรวจโรงเรียนไปเรื่อยๆ ก็พบกับโรงเรียนที่ยึดแนวการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ ซึ่งเป็นแนวการศึกษาที่บูรณาการวิชาการเข้ากับกิจกรรรมต่างๆ มีครูคอยดูแลและอำนวยความสะดวก เน้นการจัดบรรยากาศในการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติในพื้นที่กลางแจ้งด้วย ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน พัฒนาให้เด็กมีบุคลิกภาพที่สมดุลกลมกลืนไปกับโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ลูกสาวจึงตัดสินใจเลือกเข้าโรงเรียนวอลดอร์ฟในชั้นมัธยมปลาย

รศ.ประภาภัทรเชื่อว่าคนเราควรมีพื้นที่การเรียนรู้ที่ตัวเองเลือกได้ ไม่ใช่แบบบังคับให้เหมือนกันทั้งประเทศ เธอเริ่มตั้งคำถามว่า “โรงเรียนในโลกนี้ก็มีตั้งหลายแบบ แต่ทำไมในเมืองไทยมีแบบเดียว มันเป็นไปได้ยังไง เราก็ปรึกษาหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ ประชุมกับผู้รู้ นักวิชาการ” จึงเป็นที่มาของการตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณขึ้น

รศ.ประภาภัทรเล่าให้ฟังถึงกระบวนการตั้งไข่ทำหลักสูตรแบบลองผิดลองถูกเอง ลุยทำกันไปแบบไม่มีต้นแบบที่ไหนให้ดู “เราก็ลองหาทีมงานมาจัดร่างหลักสูตรแรกขึ้น แล้วก็จัดประชุมผู้รู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับฟังความคิดเห็น แต่ครั้งแรกก็ต้องฉีกหมด เพราะยังติดอยู่ในกรอบเยอะ”

ต่อมาจึงเริ่มทำห้องเรียนจำลองโดยให้ครูสอนแล้วก็ถ่ายวิดีโอมาดู แล้วค่อยๆ ปรับจนมั่นใจ จึงประกาศรับสมัครนักเรียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

“ตอนแรกๆ ผู้ปกครองก็ไม่เชื่อมั่น เราเลยไปยืมสำนักงานขายของหมู่บ้าน เอาเต็นท์มากางทำห้องเรียนจำลอง ให้ครูของเราลองสอนผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึงเข้าใจว่าการสอนที่เอาเด็กเป็นศูนย์กลางเป็นแบบนี้นี่เอง ตั้งคำถามแล้วทดลอง ผู้ปกครองก็ชอบการเรียนแบบนี้ เพราะมนุษย์ทุกคนชอบการศึกษาที่ตัวเองได้ลุกขึ้นเรียน ตรงนี้เป็นกุญแจที่เปิดทางให้การศึกษาที่แท้จริงของมนุษย์ ใครที่ได้มาสัมผัสก็โดนใจ”

ด้วยหลักสูตรยังใหม่เอี่ยมอ่องและยังไม่มีใครกล้าหาญลงมาทำโรงเรียนทางเลือกให้เห็นเป็นตัวอย่างมาก่อน อุปสรรคใหญ่คือความเชื่อมั่นจากผู้ปกครอง เพราะการเรียนการสอนแบบที่คณาจารย์รุ่งอรุณร่วมกันออกแบบนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการรื้อหลักสูตรและแหกคอกจากการเรียนในระบบมากทีเดียว

โดยการเรียนรู้แบบเอาเด็กเป็นศูนย์กลางจะแตกต่างจากระบบการศึกษาแบบขนบ ที่โดยมากครูจะถือตำราเข้าไปในห้องแล้วก็สอนไปตามนั้น หรือเขียนกระดานให้เด็กลอกไป แต่ รศ.ประภาภัทรคิดกลับกัน คือไม่ใช้แผนการสอนสำเร็จรูป ให้ครูคิดเรื่องบทเรียน โดยคิดว่าเด็กควรได้อะไรจากชั่วโมงนั้น มีเป้าหมายใด ชุดความรู้หรือทักษะใดที่เด็กจะได้รับจากการเรียน อีกทั้งเด็กต้องมีส่วนร่วมและตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง

การจัดสรรให้เด็กมากเกินไปแบบที่การศึกษาในระบบทำมาตลอดจึงกลับไม่ใช่ผลดี เพราะจะทำให้เด็กไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย เป็นผู้รับอย่างเดียวแบบ passive learning แต่ต้องให้เด็กลุกขึ้นไปเรียนรู้และหาคำตอบเองบ้าง

รศ.ประภาภัทรอธิบายต่อว่าพฤติกรรมและอาการของเด็กที่เรียนแบบ active learning จะแตกต่างจากเด็กทั่วไป วิธีการเรียนแบบนี้คือเด็กไม่ใช่แค่ผู้รับสาร แต่เอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้วต้องถ่ายทอดออกมาได้

“ตัวครูเองก็ต้องเปิดเวทีให้เด็กแสดงออกและเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าเพื่อนตอบว่ายังไง เด็กจะประกอบองค์ความรู้ขึ้นมาเป็นของตัวเอง ซึ่งเรื่องการศึกษาแบบเอาเด็กเป็นศูนย์กลางเป็นเรื่องที่นักการศึกษาไทยรู้กันมานานมากแล้ว แต่น่าเสียดายที่ยังไม่เคยมีใครทำ”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ราวสองทศวรรษแล้วที่โรงเรียนรุ่งอรุณยังยืนเด่นตระหง่านในเรื่องการเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และบรรยากาศการเรียนที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก

รุ่งอรุณแห่งความสงบสุข

อีกส่วนผสมสำคัญที่ทำให้อิฐแต่ละก้อนเชื่อมผสานกันเป็นรากฐานการศึกษาอย่างแข็งแรงตามแบบฉบับของโรงเรียนรุ่งอรุณคือ การผสานวิถีพุทธลงไปในการศึกษา

“โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ความเป็นพุทธคือการรู้จักตัวเอง สมเหตุสมผล รู้จักสิ่งแวดล้อม พอดีๆ อย่างมีความสุข คำว่าวิถีพุทธไม่ได้จำกัดอยู่แค่หลักศาสนา เพราะคนจะเข้าใจหลักศาสนาสักกี่คน แต่เราจะใช้ในหลักปฏิบัติ อย่างเช่นการมีสัมมาทิฐิจะไม่เกิดเลยถ้าไม่มีการเรียนรู้ร่วมกัน ถ้าเราทำเหตุดี ผลก็จะดี ครูในโรงเรียนของเราปฏิบัติธรรมด้วยเพื่อให้มีสติ เพราะครูเป็นสารตั้งต้นให้แก่นักเรียน ถ้าตัวครูมีสติก่อนจึงจะแผ่ไปสู่คนที่แวดล้อม ไปสู่นักเรียนได้ นี่คือวิถีพุทธในแนวปฏิบัติ ไม่ใช่ท่องคาถา”

อีกสิ่งที่ รศ.ประภาภัทรเชื่อมั่นอย่างยิ่งคือเรื่องศักยภาพการเรียนรู้อันไม่จำกัดของมนุษย์ เธอจึงพยายามสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น หากเราอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในระดับสูงมาก การศึกษาก็จำเป็นจะต้องเปิดกว้างเพื่อให้มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้ เธอเชื่อในการเติบโตจากภายในเพราะแม้แต่คนที่ดูเหมือนจะบกพร่องที่สุดก็ยังเรียนรู้ได้ และนี่เป็นสิ่งที่ครูในโรงเรียนพยายามสอดแทรกให้แก่นักเรียน ไม่ใช่แค่สอนวิชาการในห้องเรียนเท่านั้น

วิชาชีวิตที่แม่เรียนรู้จากลูก

“ครอบครัวเรามีความสุขมากขึ้น”

เป็นคำตอบสั้นๆ เมื่อถามถึงการเปลี่ยนชีวิตที่มีลูกๆ ทั้งสองเป็นคนจุดประกายให้เปิดโรงเรียน

บทเรียนเปลี่ยนชีวิตสำหรับใครบางคนอาจพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่กับ รศ.ประภาภัทร สิ่งที่ลูกๆ เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของคนเป็นแม่กลับเรียบง่าย นั่นคือความสุขที่เรียบง่ายในทุกๆ วัน มีความมั่นคงในงานที่ทำ ไม่เรียกร้องสิ่งที่เกินกำลัง

ในบทบาทแม่ เธอได้เรียนรู้บทเรียนของความอดทนและความใจเย็นจากลูกชาย ลามไปถึงบทเรียนเรื่องการสื่อสารที่เธอสามารถปรับวิธีการสื่อสารให้เหมาะกับแต่ละคนได้ เพราะจากตอนแรกที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน แม่และลูกต้องหาวิธีทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจนกลายเป็นความรู้ใจราวกับอ่านความคิดกันออก

“เราทำตัวเหมือนเป็นสะพานให้ลูกเดินออกมาจากสิ่งที่มันติดอยู่ข้างใน ลูกก็ไว้วางใจที่จะปรึกษาเรา บางครั้งต้องบอกเขาว่าไม่หันหน้ามาฟังแม่ก็ไม่เป็นไร ฟังด้วยท้ายทอยก็ได้ เราจะเลือกคำมาพูดแทนสิ่งที่ลูกแสดงออก เดาใจจนแม่นขึ้นเรื่อยๆ ว่าลูกคิดอะไรอยู่ มันทำให้เราเชื่อมกันมากขึ้น

“เราเรียนรู้จากลูกเยอะมากโดยที่เขาไม่รู้ตัว เราพยายามหาวิธีสื่อสารกัน เลยเชี่ยวชาญว่าจะปรับวิธีการสื่อสารกับใครและด้วยวิธีไหน” รศ.ประภาภัทรอธิบาย

ในบทบาทแม่ที่เริ่มลื่นไหลสู่บทบาทครู จากคำถามเล็กๆ ของลูกสาวคนโตที่ถามว่า “มันเป็นอย่างนี้ทุกโรงเรียนไหมแม่” เธอได้ค้นพบคำตอบและทำให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้างผ่านการลงมือทำว่า “โรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียวเสมอไป”

ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างของลูกชาย และด้วยคำถามเล็กๆ ของลูกสาว แม่คนหนึ่งกล้าหาญลุกขึ้นมาเปิดโรงเรียนทางเลือกแนวใหม่ จุดและส่งต่อไฟแห่งความหวังเรื่องการศึกษาจากรุ่นสู่รุ่น แล้วเปลี่ยนชีวิตเด็กนักเรียนอีกเป็นพันเป็นหมื่นให้เข้าถึงแก่นของการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงเเทะเล็มที่เปลือกผิวของการศึกษาอีกต่อไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด